ASEAN Weekly: มหาอำนาจและการเมืองสัจนิยมในทะเลจีนใต้

20 ก.ย. 2559 ASEAN Weekly สัปดาห์นี้พูดคุยกับ ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งล่าสุดระหว่าง 12 ถึง 19 กันยายน มีการซ้อมรบในทะเลจีนใต้ ระหว่างกองเรือจีนและรัสเซียภายใต้รหัส "Joint Sea 2016" ซึ่งมีภารกิจฝึกหลากหลายทั้งการกู้ภัย ต่อต้านเรือดำน้ำ ยกพลขึ้นบก รวมไปถึงจำลองภารกิจ "ยึดเกาะ"

โดยดุลยภาคนำเสนอว่า ในแง่โครงสร้างอำนาจเชิงเปรียบเทียบ ในพื้นที่ทะเลจีนใต้สะท้อนภาวะกระจกหลากสีของการเมืองระหว่างประเทศ มีรัฐชาติ รัฐอธิปไตยหลายรัฐพยายามเข้ามาปลดปล่อยสายป่านเชิงอำนาจให้ตกลงในทะเลจีนใต้ และมีจุดอ้างกรรมสิทธิ์ ที่มีระยะทางหรือรัศมีแตกต่างกันออกไป แต่ไม่มีแรงรวมเข้าสู่ศูนย์กลางที่มีความคมชัดหรือทรงอานุภาพ ตัวชี้วัดจึงอยู่ที่กำลังวังชา พลังอำนาจของแต่ละรัฐ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในบรรดารัฐที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักในทะเลจีนใต้ จีนคือรัฐที่ทรงพลังที่สุด มีนาวิกานุภาพ หรืออำนาจทางทะเล อำนาจของกองทัพเรือ ซึ่งจีนกำลังสร้างสมแสนยานุภาพ

อีกแง่มุมหนึ่งก็คือ ในด้านภูมิรัฐศาสตร์เปรียบเทียบ เมื่อพิจารณาพื้นที่ของมหาสมุทรแปซิฟิก ปีกของมหาสมุทรซีกหนึ่งถูกครอบไว้โดยสหรัฐอเมริกา ที่มีกองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิก (USPACOM) อยู่ที่ฮาวายคุมพื้นที่ตลอดมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะเดียวกันมีรัฐที่พุ่งทะยานอำนาจขึ้นมาในเอเชีย ก็คือ จีน และท้องทะเลสำคัญที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกคือทะเลจีนใต้ ซึ่งมีความขัดแย้ง และการอ้างกรรมสิทธิ์หลากหลาย ในทะเลจีนใต้ที่มีความสำคัญด้านทรัพยากร และจุดยุทธศาสตร์ในการเดินเรือมีความสำคัญในการเมืองเอเชีย

และเมื่อพิจารณายุทธศาสตร์ทางทะเลของ 2 รัฐมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกาและจีน กรณีของสหรัฐอเมริกา มีการวางสายโซ่ยุทธศาสตร์ในมหาสมุทรแปซิฟิกมาอย่างยาวนาน ผ่านกองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิก (USPACOM) เชื่อมโยงกับระเบียงเกาะและสันทรายต่างๆ คุมทะเลทั้งด้านเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์ปรับสมดุลใหม่เอเชีย กลับมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

การฝึกซ้อมในทะเลจีนใต้ระหว่างกองเรือจีนและรัสเซีย ภายใต้รหัส "Joint Sea 2016" ระหว่าง 12 ถึง 19 กันยายนที่ผ่านมา (ที่มา: Xinhua)

ในขณะที่ยุทธศาสตร์ของจีน ถูกเรียกว่า ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก (String of Pearls) หมายถึงการต้องการวางท่าเรือสำคัญทางพาณิชยกรรมและยุทธศาสตร์ทางทหารเอาไว้ตั้งแต่ทะเลจีนใต้ จนถึงมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้จีนยังมียุทธศาสตร์ด้านอำนาจทางเรือ ที่เริ่มพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบิน และพัฒนากองทัพเรือจากกองทัพเรือที่มีอำนาจเพียงตั้งรับแนวชายฝั่ง ไปสู่กองทัพเรือที่เป็นเจ้าทะเลน้ำลึก (Blue Water) ซึ่งความพยายามของจีนในปัจจุบันคือคุมพื้นที่ทะเลจีนใต้ไปจนจรดชายฝั่งเกาะบอร์เนียว ซึ่งจะสะบั้นสายโซ่ยุทธศาสตร์ทางทะเลของสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่น่าจับตาอีกเรื่องหนึ่งคือ การพัวพันในเวทีระหว่างประเทศในประเด็นทะเลจีนใต้ โดยจีนเน้นการทูตเชิงเอกภาคีนิยม คือเข้าดำเนินการฝ่ายเดียว ส่วนกรอบการเจรจาก็ให้ความสำคัญกับทวิภาคีนิยม มากกว่าพหุพาคีนิยม ส่วนชาติอาเซียนเอง บางชาติก็ใช้เวทีการทูตทั้งแบบพหุพาคี และทวิภาคี ขณะที่บางชาติเมื่อสบช่องสบจังหวะก็ใช้เอกภาคีนิยม เช่น กรณีของเวียดนามและฟิลิปปินส์ในการครอบครองบางพื้นที่ในทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นทะเลจีนใต้ หนีไม้พ้นเรื่องของธรรมชาติการเมืองระหว่างประเทศคือหลัก "สัจนิยม" ทั้งสัจนิยมคลาสสิกที่สะท้อนว่าระบบรัฐบนเวทีนานาชาติไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร ทุกรัฐทำไปหลายๆ ประการเพื่อความมั่นคง ความอยู่รอด รวมทั้งผลประโยชน์ รวมทั้งสัจนิยมเชิงโครงสร้างที่เสนอว่าพฤติกรรมของรัฐถูกกำหนดโดยโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ก็พิจารณาได้จากท่าทีของจีนที่สะท้อนต่อการกลับมาลงหลักปักฐานในเอเชียของสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่สัจนิยมยุทธศาสตร์ ที่แต่ละชาติก็มีนโยบายฉกฉวยชิงเชิงกันในทะเลจีนใต้ ทั้งการใช้นโยบายเรือดำน้ำติดหัวรบ นโยบายป้องปรามรัฐอื่น การสำแดงกำลังทางเรือทั้งการลาดตระเวน หรือใช้กำลังทางเรือปลดปล่อยพื้นที่ในทะเลจีนใต้ ซึ่งโลกของการเมืองในทะเลจีนใต้สะท้อนแนวทางการเมืองแบบสัจนิยมมากกว่าจะเป็นอุดมคติหรือเสรีนิยม

แผนที่แสดงการอ้างกรรมสิทธิ์ของชาติต่างๆ ในทะเลจีนใต้ (ที่มา: Wikipedia)

ทั้งนี้พื้นที่ทะเลจีนใต้ หรือที่จีนเรียกทะเลหนานไห่ หรือทะเลใต้ ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้า และเส้นทางผ่านของเที่ยวบินพาณิชย์ ในขณะที่มีหลายชาติอ้างกรรมสิทธิในทะเลจีนใต้ ทั้งจีน ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย

โดยสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่ ได้ยึด "เส้นประ 9 เส้น (nine-dash line หรือ 南海九段线) เป็นเส้นเขตแดนทางทะเล และอ้างว่ามีอำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณที่เส้นประ 9 เส้นครอบคลุมอยู่ โดยเป็นการอ้างกรรมสิทธิ์ต่อจากรัฐบาลจีนคณะชาติอ้างไว้เมื่อเดือนธันวาคมปี 2490

นอกจากนี้ จีนยังตั้งจังหวัดซานชา ขึ้นกับมณฑลไหหนาน เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2555 แบ่งการปกครองของจังหวัดใหม่ออกเป็น 3 อำเภอ คือ (1) อำเภอซีชา หรือหมู่เกาะพาราเซล (2) อำเภอหนานชา หรือหมู่เกาะสแปรตลี และ (3) อำเภอจงชา ซึ่งรวมเอาเกาะปะการังแมคเคิลส์ฟิลด์แบงค์ (Macclesfield Bank) และสันดอนสกาโบโร โชล (Scarborough Shoal)สำหรับเมืองใหญ่สุดของจังหวัดซานชา อยู่ที่เกาะย่งชิง หรือเกาะวู้ดดี้ (Woody Island) ซึ่งเป็นเกาะทางตอนใต้ถัดจากเกาะไหหนาน มณฑลไหหนานของจีน

ที่มาของภาพปก: (ภาพบนซ้าย) ผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 ของสหรัฐอเมริกา พลเรือโท Scott Swift ได้รับการต้อนรับจากทหารเรือเวียดนามระหว่างเยี่ยมเยือนท่าเรือดานัง เวียดนาม เพื่อแลกเปลี่ยนด้านการเดินเรือ เมื่อเมษายนปี 2012 (ที่มา: Flickr/Commander U.S. 7th fleet) (ภาพบนขวา) การฝึกซ้อมในทะเลจีนใต้ระหว่างกองเรือจีนและรัสเซีย ภายใต้รหัส "Joint Sea 2016" ระหว่าง 12-19 กันยายน 2016 (ที่มา: Xinhua) (ภาพล่างขวา) กองเรือที่ 7 ของสหรัฐอเมริการะหว่างปฏิบัติการในทะเลจีนใต้เมื่อ 27 เมษายน 2016 (ที่มา: Flickr/U.S. Pacific Command)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท