Skip to main content
sharethis

พูดถึงการเมืองระบอบลูกผสม หรือ 'Hybrid regime' ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งต้นจากการเลือกตั้งกัมพูชา ที่ฮุนเซนและพรรคประชาชนกัมพูชาควบคุมเบ็ดเสร็จ และพิจารณาบทเรียนการปฏิรูปของมาเลเซียเมื่อพรรค 'พันธมิตรแห่งความหวัง' นำโดยแนวร่วมฝ่ายค้านที่หันมาจับมืออดีตนายก 'มหาธีร์ โมฮัมหมัด' พลิกชนะพรรครัฐบาล 'แนวร่วมแห่งชาติ' ที่ครองอำนาจมากกว่า 61 ปี ซึ่งต้องกระเด็นออกจากอำนาจเมื่อเผชิญวิกฤตศรัทธาและข้อครหาทุจริต

ASEAN Weekly เทปนี้พูดคุยกับ ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช เรื่องการเลือกตั้งกัมพูชาที่จัดขึ้นเมื่อ 29 กรกฎาคมที่จะเป็นการขยายเวลาอยู่ในอำนาจของพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) และฮุนเซน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชามาแล้ว 33 ปี และทำท่าว่าจะได้เป็นยาวๆ หลังกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองก่อนเลือกตั้ง อันได้แก่ยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านคู่แข่ง จับกุมแกนนำฝ่ายค้าน กวาดล้างเครือข่ายพรรคสงเคราะห์จนทำให้แกนนำพรรคลี้ภัยไปต่างประเทศ รวมทั้งสม รังสี โดยพรรคสงเคราะห์ชาติได้ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ทำให้เหลือพรรคฝ่ายค้านเล็กๆ เป็นคู่แข่งของพรรคประชาชนกัมพูชาเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด รวมทั้งปิดสื่อทั้งวิทยุเอเชียเสรี (RFA) วิทยุวอยซ์ออฟอเมริกา (VOA) เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐจากหนังสือพิมพ์เดอะ แคมโบเดีย เดลี ส่งผลให้หนังสือพิมพ์ต้องยุติการตีพิมพ์ และยังได้นักลงทุนชาวมาเลเซียซึ่งใกล้ชิดกับรัฐบาลกัมพูชายังเข้าซื้อกิจการ "พนมเปญโพสต์" หนังสือพิมพ์อิสระภาษาอังกฤษฉบับสุดท้าย ตามด้วยการไล่บรรณาธิการ และทีมงานอีก 4 ราย

กัมพูชา

แรงงานกัมพูชาร้องเลขาฯ ยูเอ็น ไม่รับรัฐบาล-การเลือกตั้งที่หลอกลวง, 27 ก.ค. 2561

เลือกตั้งกัมพูชา 101: ใครเป็นใครในมหกรรมเข้าคูหาที่อาจไม่เสรี-ไม่แฟร์, 24 ก.ค. 2561

พร้อมกันนี้ยังชวนเปรียบเทียบระบอบการเมืองลูกผสม (Hybrid regime) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายประเทศยังอยู่ใน "พื้นที่สีเทา" หรือ "Grey zone" คืออยู่ระหว่างระบอบอำนาจนิยมเต็มพิกัดหรือเข้าสู่การแนวทางประชาธิปไตยแบบอ่อนๆ

โดยพื้นที่สีเทายังแบ่งออกเป็นกลุ่มแรก Hegemonic Electoral Authoritarianism หรือระบอบการเมืองอำนาจนิยมที่ผู้ปกครองได้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง แต่ควบคุมกลไกสถาบันการเมือง-สังคมได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งกัมพูชาจัดอยู่ในกลุ่มนี้

ในขณะที่มาเลเซีย มีแนวโน้มเป็นประเทศกลุ่มที่ 2 คือ Competitive Authoritarianism ซึ่งผู้ปกครองเดิมอย่าง "พรรคแนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional) ภายหลังได้รับเอกราช ก็ตั้งรัฐบาลและคุมกลไกราชการปกครองมาเลเซียมาตลอด 61 ปีนั้น 

อย่างไรก็ตามความเสื่อมศรัทธาและข้อครหาในตัวนายกรัฐมนตรีนาจิป ราซัก ก็ทำให้พรรคฝ่ายค้าน "พันธมิตรแห่งความหวัง" (Pakatan Harapan) ซึ่งเป็นการรวมตัวของฝ่ายค้านเดิมและอดีตผู้นำฝ่ายรัฐบาลคือ "มหาธีร์ โมฮัมหมัด" สามารถพลิกชนะการเลือกตั้งได้เป็นผลสำเร็จ โดยแนวโน้มการเมืองมาเลเซียอันใกล้นี้ยังคงอยู่ในเส้นทางปฏิรูป หากรัฐบาลชุดใหม่แข็งขันที่จะปราบทุจริต รวมทั้งยกเครื่องกลไกภาครัฐและมาตรการปฏิรูปประเทศหลายด้าน จนทำให้มาเลเซียออกจาก "พื้นที่สีเทา" ในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net