จับตา สนช. ลงตรายาง พ.ร.บ.แร่ ท่ามกลางเสียงค้านของภาคประชาชน

จับตา สนช. พิจารณาวาระสาม พ.ร.บ.แร่ฯ ซึ่งทำโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาน เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ชี้ประเด็นปัญหา กฎหมายดังกล่าวมีช่องว่างที่เอื้อผลประโยชน์ให้เหล่านายทุนทำเหมือง

ภาพถ่ายขุมเหมือง เหมืองแร่ทุ่งคำ จังหวัดเลย (แฟ้มภาพประชาไท)

สำหรับการประชุมสภานิติบัญญัตแห่งชาติ (สนช.) ในวันพรุ่งนี้ (1 ธ.ค. 2559)  จะมีวาระสำคัญสำคัญที่สมาชิก สนช. จะต้องพิจารณาคือ วาระการพิจารณาพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... (พ.ร.บ.แร่ฯ) หลังจากที่ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ได้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของ สนช. เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการปรับปรุง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ.พิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2509 โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นผู้เสนอให้มีการบรรจุลงในวาระพิจารณา โดยถูกยกให้เป็นเรื่องเร่งด่วน

สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้จัดทำขึ้น โดยที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักวิชาการ นักอนุรักษ์ และเครือข่ายภาคประชาชน ว่าสาระสำคัญของกฎหมายนี้ได้เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ มากกว่าที่จะเป็นควบคุมการทำเหมืองแร่ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน

โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2559 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีการจัดรับฟังข้อเสนอแนะต่อร่างพ.ร.บ. แร่ โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะอนุกรรมการด้านเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และมหาวิทยาลัยรังสิต โดยนักวิชาการ นักอนุรักษ์ และเครือข่ายภาคประชาชนได้ ระบุว่าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาก็เท่ากับเป็นการยินยอมให้มีเกิดการตัดการมีส่วนร่วมจากประชาชน (อ่านข่าวเพิ่มเติมที่นี่)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2559 กลุ่มชาวบ้าน ในนามเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่แห่งประเทศไทย จากจังหวัดเพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ระยอง จันทบุรี สงขลา กว่า 70 คนยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการถอนร่าง พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. .... ออกจากการพิจารณาของ สนช. และร้องเรียกให้ยุติการสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ (อ่านข่าวเพิ่มเติ่มที่นี่)

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ ในงานให้รางวัลบุคลเกียรติยศ ของมูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี2558 (แฟ้มภาพประชาไท)

สำหรับประเด็นที่ยังคงเป็นปัญหาในร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ ได้ให้ข้อมูลว่า ประเด็นที่ยังเป็นข้อกังวัลของภาคประชาชนคือ มาตรา 13 ที่เปิดช่องทางให้มีการนำแหล่งแร่ไปประมูลได้ มาตรา 132 ที่ให้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่สามารถนำพื้นที่แหล่งแร่ที่เห็นว่ามีความสำคัญเอาไปทำ EIA และนำไปขอประทานบัตรด้วยตัวเองได้

“คือกรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล เป็นผู้พิจารณาการอนุมัติสัมปทาน ประทานบัตร แต่กลับดำเนินการของประทานบัตรเสียเอง และทำ EIA เสียเอง พอประทานบัตรผ่าน EIA ผ่าน ก็อาจจะนำแหล่งนั้นที่ผ่านกระบวนการต่างๆ แล้วไปให้เอกชนสัมปทานได้ ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างแปลกที่ต้องกรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ต้องทำหน้าที่นี้เอง คือเขาต้องทำ EIA ทำประทานบัตร แล้วเอาไปให้นายทุนมารับช่วงสัมปทานได้ประกอบกิจการอีกที ซึ่งมันเป็นข้อกังขาเชิงจริยธรรม และเรื่องของผลประโยชน์ทับซ่อนอยู่”เลิศศักดิ์ กล่าว

เลิศศักดิ์ให้ข้อมูลต่อไปว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังเป็นปัญหา เช่นการแบ่งเหมืองออกเป็น 3 ขนาด คือเหมืองขนาดเล็กที่มีพื้นที่ไม่เกิน100 ไร่ ขนาดกลางไม่เกิน 625 ไร่ และขนาดใหญ่ 625 ไร่ขึ้นไป โดยเขามองว่าประเด็นนี้อาจจะเปิดช่องให้ผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการดำเนินการของอนุญาติประกอบกิจการทำเหมืองขนาดใหญ่ ก็สามารถที่จะแยกขออนุญาตประกอบเหมืองแร่ขนาดเล็กหลายๆ กิจการได้ ขณะเดียวก็มีมาตรา 188 วรรคสองในบทเฉพาะกาล ซึ่งเขียนเพื่อคุ้มครองสัญญาสัมปทานผูกขาด โดยเฉพาะสัญญาการให้สัมปทานประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย เหมืองโปแตชที่จังหวัดอุดรธานี และเหมืองโปแตชบำเน็จณรงค์

“ทั้งที่สัญญาเหล่านั้นออกมา ในลักษณะที่อาจจะเรียกได้ว่าออกมาโดยมิชอบ คือเป็นการทำสัญญาโดยใช้มติ ครม. ซึ่งไม่มีบทบัญญัติมาตราใดในกฎหมายแร่ พ.ศ.2510 อนุญาติให้ทำสัญญาแบบนั้น ที่เมื่อจะแก้กฎหมายแร่ ก็คงกังวลว่าจะมีการตั้งคำถามว่าสัญญาเหล่านั้นออกมาโดยไม่ชอบหรือไม่ ก็เลยมีการออกบทเฉพาะกาลดังกล่าวขึ้นมา เพื่อให้สัญญานั้นเดินหน้าต่อไป”เลิศศักดิ์ กล่าว

เลิศศักดิ์กล่าวต่อด้วยว่า ร่างกฏหมายแร่ครั้งนี้ชัดเจนว่า เป็นการเอื้อหนุนให้การประกอบกิจการเหมืองแร่เป็นไปได้ง่ายคือ เพราะโดยปกติเมื่อผู้ประกอบกิจการได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ ตามกฎหมายแร่ 2510 หากจะดำเนินการแต่งแร่ หรือประกอบโลหะกรรม ถลุงแร่ จะต้องขอไปอนุญาติประกอบโลหะกรรมแยกออกจากใบประทานบัตรที่ได้ แต่ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ระบุว่า เมื่อผู้ประกอบกิจการได้ประทานบัตรไปแล้ว และต้องการที่จะดำเนินการถลุงแร่ ไม่จำเป็นต้องของใบอนุญาติประกอบโลหะกรรมอีกต่อไป เพราะถือว่าเป็นส่วนองค์ประกอบของเหมืองแร่อยู่แล้ว

“ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องที่สมควรจะยืนยันหลักการตามกฎหมายเดิม ที่จะต้องขอใบอนุญาติต่างหาก เนื่องจากว่า กระบวนการถลุงแร่หรือประกอบโลหะกรรม มันมีสารพิษสูง มีการใช้ไซยาไนด์และมีความเกี่ยวข้องกับสารหนู สารโลหะหนักประเภทอื่นๆ” เลิศศักดิ์ กล่าว  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท