ปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

ท่ามกลางความพยายามปฏิรูปการศึกษาด้วยวิธีต่าง ๆ ที่มักมาจากคนกลุ่มเดิม ๆ ราวกับว่า ผู้มีส่วนได้เสียกับการศึกษาเป็นเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ เสมือนคุณพ่อ/คุณแม่รู้ดี ที่สมานสามัคคีปฏิรูปการศึกษาบนความดีและความห่วงใย มากไปกว่าความต้องการของเด็กและความเป็นจริงของโลก โดยเฉพาะเมื่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษาถูกพูดผ่านรัฐหรือนักการศึกษาที่ยังคงยึดโยงกับโลกในอดีตอยู่ ไม่ว่าจะปฏิรูปกันอีกสักกี่ร้อยครั้ง สิ่งที่ยังคงเดิมตลอดกาล ไม่ถูกทำให้เปลี่ยนผ่านเสียที คือ สุดท้ายแล้วเราไม่ได้มีการศึกษาอย่างเป็นประชาธิปไตย

การศึกษาอย่างเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การศึกษาเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งควรต้องศึกษาอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แต่คือการศึกษาบนวัฒนธรรมประชาธิปไตย ตราบใดที่เรายังเชื่อว่า เด็กมันโกง (เราจึงบังคับให้เรียนหลักสูตรโตไปไม่โกง) เด็กมันเลว (เราจึงบังคับให้ทำสมุดความดี) เด็กมันบาป (เราเลยต้องแก้กรรม ทำพิธีล้างบาป) การศึกษาที่เรากำลังสร้าง ก็ไม่ใช่การศึกษาอย่างเป็นประชาธิปไตย เพราะมันคือ การศึกษาของเด็ก เพื่อเด็ก แต่โดยผู้ใหญ่ เมื่อเราสร้างการเปลี่ยนแปลงบนฐานคิดเช่นนี้แล้ว เราจึงเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า เรานั้นฉลาดกว่า เพียบพร้อมกว่า เก่งกว่า เข้าใจอะไรมากกว่าพวกเด็ก ๆ ทำให้เรารู้สึกว่า กำลังถูกท้าทายและกระทบกระแทกอย่างหนัก เมื่อเห็นสิ่งที่เราโง่กว่าอย่างปฏิเสธไม่ได้ กำลังมาแทนที่การศึกษาที่เราปรารถนาอย่างเพ้อฝันว่าจะเห็นมัน เช่น เกม อินเทอร์เน็ต โลกดิจิทัล การวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งคำถามต่อความเป็นชาติ ศาสนา ประวัติศาสตร์ในกระแสนิยม ไม่ทันที่เราจะใช้สติที่อุตส่าห์ไปฝึกภาวนามาหลายสิบปี เราก็ตีตราเด็กพวกนี้ไปแล้วว่า ก้าวร้าว หรือเสพติด

แม้เราจะหยั่งเสียงเด็ก ๆ ดูบ้าง เพราะหลัง ๆ มานี้ พื้นที่ในเฟซบุ๊กของนักปฏิรูปการศึกษาก็ถูกรบกวนจากความคิดเห็นของคนที่อยู่ในการศึกษาจริง ๆ อย่างคนรุ่นใหม่ ซึ่งตั้งคำถามจี้ใจดำ ทำนองว่า ที่นั่ง ๆ รับตังค์ค่าประชุมกันอยู่ ไม่เห็นมีพวกกูเลยสักคน ปฏิรูปการศึกษาแต่ละครั้ง ก็มีแต่นักอุดมคติการศึกษา ที่มักเทไปในทิศทางที่ฉุดรั้งอนาคตของประเทศ และปฏิเสธโลกสมัยใหม่ อาทิ อินเทอร์เน็ต หรือ เทคโนโลยีอย่างหนักแน่น ด้วยการหาผู้เชี่ยวชาญมาป้ายความป่วยใส่เด็กพวกนี้ เมื่อยอมรับในความจริงได้ระดับนึง วงปฏิรูปการศึกษาจึงคัดเลือกแล้วคัดเลือกอีก และเชิญเด็กที่ดูแล้วช่างถกเถียงในระดับที่ยังควบคุมได้ มานั่งโปะ ๆ เป็นตัวประกอบฉาก เพื่อจะได้อ้างอย่างเต็มอาญาสิทธิว่า นี่ไงเห็นมั้ย เรามีข้อเสนอจากเสียงเด็กด้วยนะ โดยลืมไปว่า เด็กที่คัดมานั้น ก็ล้วนแล้วมีแต่หน้าเดิม ๆ เป็นเด็กแห่งความประนีประนอม และจงใจลืมไปว่า เด็กเหล่านี้มาจาก ‘คอนเนคชั่น’ ล้วน ๆ คือรู้จักลูกเต้าเหล่าใครก็ลาก ๆ กันมา เหมือนเวลาไปก่อม๊อบ ไม่ใช่เด็กที่รู้สึกและเผชิญหน้ากับปัญหาจริง ๆ ยังไม่นับรวมวิธีการเลี่ยงไม่ให้มีความคิดเห็นเด็ก เช่นการจัดเวที จัดวงประชุม ช่วงกลางวันวันธรรมดาซึ่งตรงกับเวลาเรียน เป็นต้น

เมื่อเราปฏิรูปการศึกษา โดยไม่มีเด็กอยู่ในสมการจริง ๆ เพราะเราเชื่อว่า เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ได้ ทั้งที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงแทบจะทั่วทุกพื้นที่ เพราะถ้าเด็กเรียนรู้ด้วยตนเองเมื่อไร มันจะรู้จักวิธีการขายตัว มั่วสุมยาเสพติด ท้องก่อนแต่ง และอีกมากมายปัญหาเท่าที่พจนานุกรมจะบัญญัติไว้ นั่นทำให้เรามีมูลนิธิหรือนักการศึกษาหรือหน่วยงานที่เชื่อว่าตนเองกำลังปฏิรูปการศึกษา บนคำพูดสวยหรู ที่พูดอย่างไรก็ถูก เช่น การกระจายอำนาจ การจัดสรรงบประมาณ การประเมินผล ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันกลับบอกว่า การรณรงค์เรื่องบังคับตัดผมนั้นเป็นกระพี้ (จนกระทั่ง แม้แต่คนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิถือไมค์ในระยะหลังมานี้ ก็ล้วนแล้วแต่พูดเรื่อง การประเมิน งบประมาณทั้งสิ้น อ้อ การศึกษามันล้างสมองเราอย่างนี้นี่เอง)

โครงการที่สนับสนุนให้เด็กทำเอง จึงมีแต่โครงการลักษณะจิตอาสา พัฒนาท้องถิ่น ฯลฯ เพราะประเด็นเหล่านี้ช่วยขัดเกลาให้เด็กเจียมเนื้อเจียมตน ไม่เอาเวลาไปเรียกร้องอะไรที่ฟังแล้วบาดหูผู้ใหญ่ และเราก็มีแต่งานวิจัยที่มุ่งเป้าทำลายคุณค่าร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น เราจึงไม่เคยมีการสนับสนุนให้เด็กพูดเรื่อง คุณค่าของอินเทอร์เน็ตและเกม ,ความเป็นธรรมในโรงเรียน ,การละเมิดสิทธิโดยครู ,ความหลากหลายทางเพศ ,ความสำคัญของการคิดเชิงวิพากษ์ ,สิทธิทางเนื้อตัวร่างกาย ,การ Bully

โรงเรียนที่ไม่ว่าจะปฏิรูปจนช้ำเลือดช้ำหนองกันขนาดไหน จึงมีแต่การไปแตะ ๆ เขี่ย ๆ กันแค่เรื่องงบประมาณ การประเมิน เพราะเรื่องพวกนี้ปลอดภัยดี ในขณะที่ครูซึ่งใช้ความรุนแรงกับเด็กทั้งที่เป็นและไม่เป็นข่าวก็ยังคงสบายดี บางรายยังได้รับดอกไม้ให้กำลังใจอีกด้วย นักเรียนจึงถูกบอกผ่านกฎระเบียบเสมอว่า ถ้าทำผิดจะโดนอะไร แต่ไม่เคยมีกฎที่ชัดเจนข้อไหนบอกว่า ถ้าครูทำผิด ถ้าโรงเรียนทำผิด ถ้ากฎที่ใช้อยู่นั้นผิด เราจะทำอย่างไรได้บ้าง

ดังนั้น เราก็อย่าหลอกตัวเองอีกเลยว่า เรากำลังปฏิรูปการศึกษา เรามายอมรับกันตรง ๆ ดีกว่า ว่าเรากำลังทำธุรกิจบนปัญหาของเด็ก ๆ เว้นแต่ถ้าเรายังมีความจริงใจกันอยู่บ้าง ก็อาจเริ่มจากความเชื่อในการทำงานพื้นฐานในโลกสมัยใหม่คือ เชื่อว่าการศึกษาต้องดำเนินไปอย่างเป็นประชาธิปไตย เป็นการศึกษาของผู้เรียน โดยผู้เรียน และเพื่อผู้เรียน

ถ้าอ่านมาถึงจุดนี้แล้วยังเกิดอคติบังตาอยู่ว่า แหม บทความโลกสวย ถ้าผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตัวเองจริง ๆ มันจะเข้าสังคมกันได้อย่างไร ขอให้กลับไปอ่านใหม่ตั้งแต่ต้น

 

หมายเหตุ: บทความเผยแพร่ครั้งแรกในโครงการ Relearn ห้องเรียนเดินได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท