บิดา 'ไผ่ ดาวดิน' แถลงหลังศาลฝากขังบุตรผัด 5 “เรากำลังสู้กับกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ”

ศาลสั่งพิจารณาลับ ฝากขังผัด 5 คดีแชร์บทความบีบีซีไทย 'ไผ่ ดาวดิน' จำเลยแถลงค้านการพิจารณาลับ แต่ไม่เป็นผล จึงขอให้ทนายของตัวเองออกจากห้องพิจารณา ด้าน 'พ่อไผ่' แถลงไม่ได้สู้เรื่องการประกันตัวอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องสู้กับกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

ส่วนหนึ่งของผู้ที่มาเยี่ยม 'ไผ่ ดาวดิน' และรอฟังผลการพิจารณาคำร้องขอฝากขังผัดที่ 5 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น (จากซ้ายไปขวา) เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, ปิยบุตร แสงกนกกุล, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ วิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของไผ่ ดาวดิน 

20 ม.ค. 2560 เวลาประมาณ 13.15 น. ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ภายหลังจากที่ศาลได้พิจารณาคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งขอให้ศาลฝากขัง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษา นักกิจกรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งถูกจับกุมคุมขัง และถูกเพิกถอนสัญญาการประกันตัว จากฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai

โดยในวันนี้พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาฝากขังต่อไปเป็นผัดที่ 5 นับตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. – 1 ก.พ. 2560 โดยศาลได้สั่งให้การพิจารณาในวันนี้เป็นการพิจารณาลับและอนุญาติให้เพียงทนายความ และบิดา มารดา เท่านั้นที่สามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้

ด้านทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้แถลงข่าวหลังจากศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขังผัด 5 โดยกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความได้แถลงว่า วันนี้ศาลจังหวัดขอนแก่นได้นัดไต่สวนคำร้องของพนักงานสอบสวนว่าจะฝากขังไผ่ต่อในผัดที่ 5 หรือไม่ โดยวันนี้ได้มีญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ได้มาร่วมให้กำลังใจกับไผ่ ดาวดิน และคาดหวังว่าจะได้เข้าร่วมฟังการไต่สวนคำร้องในวันนี้ แต่ศาลได้สั่งให้การพิจารณาไต่สวนคำร้องขอฝากขังไผ่วันนี้เป็นการพิจารณาในทางลับ และขอให้ผู้ร่วมเข้าฟังที่ไม่มีส่วนเกียวข้องกับจำเลยให้ออกจากห้องพิจารณาคดี

กฤษฏางค์ กล่าวด้วยว่า ไผ่ ได้แถลงโต้แย้งคำสั่งพิจารณาลับของศาล เนื่องจากเห็นว่า การพิจารณาคดีในชั้นนี้ เป็นเพียงการพิจารณาว่า ตำรวจควรจะขออำนาจศาลเพื่อฝากขังเขาต่อไปอีก 12 วันหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอผัดฟ้องมาตลอด ตามคำร้องก็ระบุไว้ด้วยว่า สวบสวนเสร็จแล้ว และกำลังเสนอให้คณะทำงานของพนักงานสอบสวนว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งไผ่เห็นว่าการพิจารณาตรงนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในคดี แต่ศาลให้เหตุผลว่าต้องพิจารณาคดีในทางลับ เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งทางทนายความได้คัดค้านแล้วว่า การพิจารณาครั้งนี้ไม่ได้เป็นการพิจารณาที่เนื้อหาของคดี เป็นเพียงการพิจารณาว่าควรจะฝากขังไผ่ต่อไปหรือไม่เท่านั้น ซึ่งควรจะมีการเปิดให้ไต่สวนโดยเปิดเผย เพราะเราถือหลักตามประมวลกฎหมายการพิจารณาคดีอาญา การไต่สวน หรือการพิจารณาคดีอาญาจะต้องมีการพิจารณาโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน เพราะนี่คือหลักการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน

กฤษฏางค์ กล่าวต่อว่า หลังจากทนายความ และผู้ต้องหาได้คัดค้านการพิจารณาคดีในทางลับ ศาลได้เข้าไปประชุมกับองค์คณะ แล้วออกมายืนยันคำสั่งเดิมว่าให้การพิจารณาคดีเป็นไปในทางลับ และเชิญให้พูดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกไปจากห้องพิจารณา แต่ไผ่ ได้แถลงต่อศาลในทันทีว่า หากศาลยืนยันเช่นนั้น เขาก็ไม่ประสงค์ที่จะให้มีทนายความในห้องพิจารณา เพราะในเมื่อมีหรือไม่มีก็ตาม เขาก็ไม่สามารถที่จะขอให้เปิดพิจารณาคดีโดยเปิดเผยได้ ไผ่จึงขอให้ทนายความทั้งหมดของตัวเอง ออกจากห้องพิจารณาคดี โดยมีเพียงไผ่ กับวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดา เท่านั้นที่อยู่ในห้องพิจารณาคดี และสุดท้ายศาลได้สั่งให้ขังไผ่ เป็นผัดที่ 5 ทั้งหมด 12 วัน

กฤษฏางค์ กล่าวต่อไปว่า การที่ไผ่ ขอให้ทนายความออกจากห้องพิจารณาคดีเป็นเพราะเขาเห็นว่า การพิจารณาคดีในวันนี้ไม่ได้เป็นตามหลักการการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยตามที่เขาได้เรียนมา และเขาเองก็ไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาไต่สวนคำร้องขอฝากขังในวันนี้ จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่มาถามว่าทนายความจะเซ็นชื่อในเอกสารกระบวนการพิจารณาคดีในวันนี้หรือไม่ เราบอกว่า คงไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ เพราะเราไม่ได้อยู่ในกระบวนการพิจารณา เราไม่ทราบว่าไต่สวนอะไรไปบ้าง

“คุณไผ่ เขาก็บอกว่า เขาแทบไม่มีสิทธิเสรีภาพในการต่อสู้คดีอะไรอีกต่อไปแล้ว เขาจะทำอะไรก็ให้ทำไปเถอะ” กฤษฏางค์ กล่าว

ด้าน วิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของไผ่ ดาวดิน ระบุว่า ไผ่ได้กล่าวกับตนเองว่า การพิจารณาคดี ไต่สวนคำร้องของฝากขังของศาลในวันนี้ไม่เป็นธรรมสำหรับเขา เพราะเขาต้องการให้สาธารณชนได้เห็นว่ากระบวนของศาลเป็นอย่างไร แต่ศาลก็ระบุว่า ศาลได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องให้สาธารณชนเข้าฟังการพิจารณาคดี เพราะสามารถไปอ่านจากคำสั่งของศาลภายหลังได้ ด้านไผ่ก็ได้แถลงต่อศาลว่า สิ่งที่ผ่านมานั้นทั้งในรายงาน หรือคำสั่งของศาลไม่สามารถที่ที่จะเห็นกระบวนการพิจารณา และอากัปกิริยาของศาล ของพนักงานสอบสวน เช่นเวลาเบิกความพนักงานสอบสวนตอบคำถามอย่างติดๆ ขัดๆ หรือกรณีตัวอย่างคือกระบวนการพิจารณาฝากขังที่ศาลไปทำกับเขาในผัดที่ 3 ตัวไผ่เองยังไม่รู้เลยว่าศาลได้พิจารณาฝากขัง แต่กลับมีการยืนยันจากศาลว่าได้มีการแจ้งกับไผ่ และไผ่ได้เซ็นชื่อว่าไม่คัดค้านการฝากขัง

“เขา (หมายถึงไผ่) เห็นกระบวนการอย่างนี้มาตลอด เขาเลยต้องการให้คนอื่นเข้ามาช่วยกันดู ว่าจริงๆและกระบวนการพิจารณาเป็นอย่างไร ไม่ใช่เห็นเพียงแต่คำสั่ง ศาลก็ไม่ยอม ไผ่จึงไม่ต้องการทนายอีกต่อ เพราะเขาเห็นว่าไม่มีประโยชน์แล้ว ในเมื่อเริ่มต้นหรือที่ผ่านมาทั้งหมดไม่มีอะไรที่จะเป็นหลักประกันในกระบวนการยุติธรรม สำหรับเขาเลย ฉะนั้นการมีทนายหรือไม่มีทนายความก็ไม่มีความหมาย” วิบูลย์ผู้เป็นบิดากล่าว และยังกล่าวต่อว่า วันนี้ไผ่ ได้ทำหน้าที่ทุกอย่างเอง ทั้งการซักค้าน และการแถลงต่อศาล ในกระบวนการไต่สวนคำร้องของฝากขังของศาล

“วันนี้เขารู้ว่าสู้แล้วก็จะแพ้ แต่เขาทำ ซักค้านพนักงานสอบสวน ถามอะไรก็ตอบไม่ได้ พูดโยงนู่นโยงนี่ แล้วบางประโยคที่ไผ่ถามพนักงานสอบสวนใช้เวลากว่า 5 นาทีถึงจะตอบ ไผ่ก็บอกให้ศาลบันทึกไว้ด้วยว่าก่อนจะตอบคำถามใช้เวลานาน”

วิบูลย์ กล่าวต่อว่า ในกระบวนการพิจารณาฝากขัง ศาลได้ระบุว่า เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่สามารถขออำนาจฝากขังผู้ต้องหาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ทางไผ่ก็แถลงต่อศาลว่าตนเข้าใจข้อกฎหมายดี แต่การพิจารณาของศาลก็ควรที่จะคำนึงถือสิทธิของผู้ต้องหาด้วย หากไม่คำนึงถึงหลักการในข้อนี้ ศาลก็ไม่ควรที่จะนำตัวจำเลยมา และควรแก้กฎหมายเสียใหม่ว่าไม่ ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหา ให้เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนเพียงอย่างเดียว และสุดท้ายศาลก็ได้มีคำสั่งอนุญาตฝากขังในผัดที่ 5 ออกมา

วิบูลย์แถลงต่อว่า เรื่องการประกันตัวไผ่นั้น ต้องมาดูกันต้องว่าจะทำอย่างไรกับสถานการณ์กระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน แต่สิ่งที่รู้สึกว่าจะต้องต่อสู้กันต่อไปในเวลานี้ ไม่ใช่เรื่องการเรียกร้องสิทธิประกันตัว ไม่ใช่เรื่องการคัดค้านการฝากขัง แต่มองว่าเรากำลังต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

“เราก็ต้องมาคิดกันว่า ถ้าปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับไผ่ เป็นอย่างนี้ต่อไปสังคมจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ต้องกลับมาคิดกันต่อ แต่ตอนนี้ยืนยันได้เลยว่า เราไม่ได้สู้เรื่องการประกัน ไม่ได้สู้เรื่องคัดค้านการฝากขัง ไม่ได้สู้เรื่องว่าเรียนจบหรือไม่จบ แต่เรากำลังต่อสู้เรื่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศชาติ” วิบูลย์กล่าว 

พ่อโวย ศาลไม่ให้ไผ่ ดาวดิน กินอาหารกลางวัน

ต่อมาเวลา 16.00 น. วิบูลย์ ได้แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง จตุภัทร แล้วเสร็จ โดยที่ จตุภัทร์ ผู้ต้องหาและตนผู้เป็นบิดาได้ปฏิเสธที่จะลงลายมื่ชื่อรับทราบคำสั่งศาล เนื่องจากตัวเองและบุตรชายไม่เห็นด้วยต่อกระบวนการพิจารณาคำร้องขอฝากขังในวันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 12.40 น.
 
วิบูลย์ เล่าอีกว่า ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ได้คุมตัวผู้ต้องหาลงมาเพื่อคุมขังอยู่ในห้องขังใต้ศาล โดยที่ตนก็ได้แยกไปกินอาหารกลางวัน จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.00 น. ตนได้กลับมาเยี่ยมพูดคุยกับ จตุภัทร์ และ จตุภัทรได้แจ้งว่า ยังไม่ได้รับประทานอาหารกลางวันแต่อย่างไร ตนจึงได้จัดหาอาหารไปติดต่อที่เจ้าหน้าที่ศาลเพื่อขออนุญาตนำเข้าไปให้จตุภัทร์ได้กิน แต่เจ้าหน้าที่ศาล ได้ปฏิเสธ ที่จะนำเข้าไปให้โดยอ้างว่าต้องได้รับการอนุญาตจากศาลก่อน
 
วิบูลย์ เล่าต่อว่า ตนจึงได้เดินทางขึ้นไปติดต่อขออนุญาตจาก ผู้อำนวยการสำนักงานศาล แต่เจ้าหน้าที่ แจ้งว่า ผอ.ไม่อยู่ และได้แนะนำให้ไปติดต่อที่ รองผู้อำนวยการศาล จากนั้นจึงได้ไปติดต่อชี้แจงกับ รอง ผอ.ศาล (ผู้หญิง) ว่าต้องการขออนุญาตเอาอาหารส่งให้ จตุภัทร์ ผู้ต้องขังได้กิน ขณะที่ทาง รอง ผอ.ศาล ได้ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ได้กิน และทำไมตอนเที่ยงไม่ไปติดต่อดำเนินการ และกล่าวว่าเป็นเพราะว่าจตุภัทร์ปฏิเสธที่จะกินอาหารเองหรือไม่
 
โดย วิบูลย์ ยืนยันว่าจตุภัทร์ไม่ได้ปฏิเสธที่จะกินอาหาร แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดอาหารให้จตุภัทร์กิน และยังได้ชี้แจงต่อ รอง ผอ.ศาล ว่า ไม่ได้ต้องการมาท้วงติงแต่อย่างใด ให้บุตรชายได้กินอาหารเท่านั้น ว่าจะจัดการอย่างไร
 
วิบูลย์ เล่าอีกว่า จากนั้นทาง รอง ผอ.ได้เดินออกมาจากห้องพร้อมกล่าวว่า "มันเป็นสิทธิของชั้น คุณไม่มีสิทธิมาสั่งว่าชั้นจะทำตอนไหนก็ได้ ไม่ใช่ว่าเขาเอาอาหารไปให้แล้วลูกคุณไม่ยอมกินเองหรือ" จากนั้น ตน (วิบูลย์) ได้ตอบกลับไปว่า ตนไม่ได้ต้องการทราบว่าจะปฏิบัติอยู่ในขั้นตอนไหน แต่ตนต้องการให้ลูกตนได้กินข้าว มันเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้กินข้าว ไม่ใช่สิทธิของคุณที่จะทำอะไรก็ได้
 
สุดท้ายแล้วจตุภัทร์ได้กินอาหารกลางวันที่ทางศาลจัดให้เวลา 15.30 น.
 
วิบูลย์ กล่าวว่า ไม่ได้สรุปว่าเป็นการกลั่นแกล้งหรือความล่าช้า แต่ว่าเวลาที่ไปติดต่อเพื่อขออาหารให้ผู้ต้องขังกิน เมื่อทางศาลมีท่าทีอย่างนี้ ถือว่ามีปัญหาเรื่องวิธีคิดแล้ว มันเป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ต้องขังที่มาศาลทุกคน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท