‘ระบบลูกขุน’ คนธรรมดาเคียงบ่าตุลาการ

ระบบลูกขุนสอดคล้องกับประชาธิปไตย ในฝรั่งเศส คนธรรมดานั่งพิจารณาคดีเคียงข้างผู้พิพากษา เชื่อระบบลูกขุนจะช่วยเพิ่มความเป็นมนุษย์ให้ผู้พิพากษา ดึงสถาบันตุลากลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย สร้างการตรวจสอบ ถ่วงดุล และการมีส่วนร่วม เพราะกฎหมายคือความยุติธรรมของคนธรรมดาในสังคม ไม่ใช่ของนักกฎหมาย

“ผมคิดว่าผู้พิพากษาในระบบยุติธรรมของประเทศไทย มักจะทำตัวเหมือนเป็นขุนนาง คือเริ่มห่างเหินจากชีวิตของประชาชนโดยทั่วไป เริ่มจะไม่เข้าใจประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนที่ติดคดี ผมจึงอยากให้มีตัวแทนของประชาชนทั่วไป มนุษย์ที่เข้าใจชีวิตให้มีส่วนร่วมในการตัดสินคดี

“ระบบลูกขุนใช้วิธีการถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลของคณะลูกขุน ซึ่งต้องรับผิดชอบการตัดสินคดีของจำเลย ประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศในโลกก็ใช้ระบบลูกขุน ผมก็คิดว่ามีความเหมาะสม มันเป็นการคุ้มครองความยุติธรรม การที่จะตัดสินว่าคนคนหนึ่งมีความผิด จะต้องอาศัยทั้งคณะลูกขุนและผู้พิพากษาเห็นพ้องกัน”

จอน อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษาศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพหรือไอลอว์ แสดงทัศนะต่อสถาบันศาลและตุลาการไทย เขาเป็นคนหนึ่งที่สื่อสารกับสาธารณะว่า เมืองไทยควรใช้ระบบลูกขุนในการพิจารณาคดี

ระบบลูกขุนมาเป็นระบบที่เก่าแก่ที่สุดระบบหนึ่งในการพิจารณาคดี เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรีกและมีการพัฒนาเรื่อยมากระทั่งปัจจุบัน ในเชิงการเมืองการปกครอง การพิจารณาคดีด้วยระบบลูกขุนถือว่ามีความสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด

‘สังคมไทยพร้อมจะนำระบบลูกขุนมาใช้หรือยัง?’

เมื่อประชาชนนั่งเคียงข้างตุลาการ

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายระบบลูกขุนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิจารณาคดี

ระบบลูกขุนคืออะไร? หากตอบอย่างรวบรัดคือการให้ประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาคดี นอกจากจะสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังวางอยู่บนฐานความคิดที่ต้องการให้สะท้อนมุมมองของมนุษย์ได้หลากหลาย ความเข้าอกเข้าใจสถานการณ์ มุมมองด้านศีลธรรม-จริยธรรมในสังคม เข้าไปเสริมให้เกิดมิติที่รอบด้านในการพิจารณาคดี แทนที่จะอาศัยมุมมองของผู้พิพากษาเพียงลำพัง

ระบบลูกขุนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ สำหรับประเทศที่ใช้ Common Law หรือกฎหมายจารีตประเพณี เช่น อังกฤษ อเมริกา ผู้พิพากษาจะเป็นคนคอยคุมเกมให้การไต่สวนเป็นไปโดยเรียบร้อย โดยคณะลูกขุนจะเป็นผู้พิจารณาว่าจำเลยมีความผิดจริงหรือไม่ โดยมีการกำหนดสัดส่วนของคะแนนเสียง เช่น ต้องได้ 9 จาก 12 หรือ 10 จาก 12 เสียง จึงจะถือว่าจำเลยมีความผิด เป็นต้น โดยศาลไม่มีสิทธิร่วมโหวต มีหน้าที่เพียงกำหนดบทลงโทษเท่านั้น

“ผมมองว่ากฎหมายคือคอมมอน เซ๊นส์ คือสามัญสำนึก ของความถูกความผิดของคนธรรมดาที่ไม่ใช่นักกฎหมาย กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรมของนักกฎหมาย กฎหมายคือความยุติธรรมของคนธรรมดาในสังคม ถามว่าคนธรรมดาสามารถตัดสินโดยใช้สามัญสำนึกได้หรือไม่ ผมคิดว่าได้"

ส่วนระบบลูกขุนในประเทศที่ใช้ Civil Law หรือกฎหมายลายลักษณ์อักษรอย่างฝรั่งเศสหรือญี่ปุ่น เช่นเดียวกับประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ปกป้อง ศรีสนิท จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า

“ระบบฝรั่งเศสซึ่งผมมีข้อมูล ถ้าเป็นคดีที่มีโทษต่ำกว่า 10 ปี จะให้คณะผู้พิพากษาอาชีพ 3 คนทำหน้าที่ไป แต่คดีอุกฉกรรจ์ที่โทษสูงกว่า 10 ปีขึ้นไป จะมีคณะผู้พิพากษาอาชีพ 3 คนกับคณะลูกขุน 6 คนที่เป็นประชาชนทั่วไปมาร่วมกันพิจารณา ขึ้นนั่งบัลลังก์พร้อมกัน นั่งเสมอกันหมด เพียงแต่ลูกขุนไม่ใส่ชุดครุย”

คณะลูกขุน 6 คนจะมาจากประชาชนสัญชาติฝรั่งเศสที่มีสิทธิเลือกตั้ง ผ่านกระบวนการคัดสรรรายชื่อและอนุญาตให้ฝ่ายโจทก์และจำเลย สามารถคัดค้านได้ถ้าเห็นว่าลูกขุนคนไหนไม่เป็นกลาง นอกจากนี้ยังมีระบบการันตีเพื่อสร้างความเป็นอิสระและเป็นกลางของลูกขุน เช่น ห้ามผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ นักการเมือง รัฐมนตรี ไม่ให้เป็นลูกขุน

“ลูกขุน 6 คนขึ้นบัลลังก์พร้อมกัน เพียงแต่ผู้พิพากษาที่เป็นประธานเพียงคนเดียวจะเป็นผู้ซักถาม ค้นหาความจริง โดยที่ผู้พิพากษาอาชีพอีก 2 คนและลูกขุนอีก 6 คนนั่งฟัง ถ้าต้องการถามก็ส่งคำถามให้แก่ผู้พิพากษ์อาชีพที่เป็นประธานถามให้ ไม่มีสิทธิถามเองเพื่อป้องกันความสับสนวุ่นวาย”

เมื่อทำการไต่สวนเสร็จแล้ว คณะผู้พิพากษาและลูกขุน 9 คนจะโหวตว่าจำเลยมีความผิดจริงหรือไม่ โดยการจะตัดสินว่าใครผิดจะต้องใช้คะแนนโหวต 6 เสียงขึ้นไป เมื่อได้ผลคำพิพากษาแล้วจึงโหวตอีกครั้งเพื่อกำหนดบทลงโทษ รอบนี้จะใช้คะแนนเสียงข้างมากธรรมดา

ที่ต้องขีดเส้นไว้ตรงนี้ก็คือ คะแนนโหวตของผู้พิพากษามืออาชีพกับลูกขุนซึ่งเป็นประชาชนธรรมดามีค่าเท่ากัน คือ 1 คน 1 เสียง

กฎหมายคือความยุติธรรมของคนธรรมดาในสังคม

พลันที่พูดถึงการใช้ระบบลูกขุนในสังคมไทย ฝ่ายคัดค้านมักมีเหตุผลหลักๆ 2 ประการ หนึ่ง-กลัวว่าลูกขุนจะถูกซื้อหรือข่มขู่ และสอง-คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม ยังขาดความรู้เรื่องกฎหมายหรือพูดอย่างไม่อ้อมค้อมก็คงเข้าวาทกรรม ‘โง่’ นั่นเอง

สำหรับข้อแรก จอนตั้งคำถามกลับได้น่าคิดว่า

“ผมมองว่าการที่ผู้พิพากษาจะถูกซื้อหรือถูกข่มขู่ก็มีโอกาสพอๆ กัน การให้อำนาจตกอยู่ที่ผู้พิพากษาเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้แปลว่าระบบยุติธรรมจะดี อันนี้เป็นเรื่องของการถ่วงดุล ยังไงเราก็ต้องกำหนดโทษให้สูง ถ้าหากใครก็ตามให้สินบนหรือแทรกแซงคณะลูกขุน รวมถึงลูกขุนที่ร่วมมือด้วย ผมไม่เคยคิดว่าปัญหาของระบบลูกขุนคือลูกขุนจะถูกซื้อตัว ผมไม่ได้มองว่าประชาชนในประเทศไทยจะถูกซื้อตัวได้ง่ายกว่าข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ”

ประเด็นนี้ปกป้องเพิ่มเติมว่า การจะใช้ระบบลูกขุนต้องพัฒนาระบบคุ้มกันลูกขุนไปพร้อมๆ กัน สถานการณ์ปัจจุบันใช่ว่าผู้พิพากษาจะไม่ถูกขู่ เพียงแต่ผู้พิพากษามีระบบคุ้มครองได้มากกว่า คำถามจึงอยู่ที่ว่าจะระบบคุ้มครองประชาชนที่มาเป็นลูกขุนได้อย่างไร

“ผมคิดว่าผู้พิพากษาในระบบยุติธรรมของประเทศไทย มักจะทำตัวเหมือนเป็นขุนนาง คือเริ่มห่างเหินจากชีวิตของประชาชนโดยทั่วไป เริ่มจะไม่เข้าใจประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนที่ติดคดี ผมจึงอยากให้มีตัวแทนของประชาชนทั่วไป มนุษย์ที่เข้าใจชีวิตให้มีส่วนร่วมในการตัดสินคดี...มันเป็นการนำสถาบันตุลาการเข้ามาอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ในสังคมไทยเรามีสถาบันที่มีอภิสิทธิ์จำนวนมาก"

ข้อที่ 2 ปกป้องกล่าวว่า

“ผมมองว่ากฎหมายคือคอมมอน เซ๊นส์ คือสามัญสำนึก ของความถูกความผิดของคนธรรมดาที่ไม่ใช่นักกฎหมาย กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรมของนักกฎหมาย กฎหมายคือความยุติธรรมของคนธรรมดาในสังคม ถามว่าคนธรรมดาสามารถตัดสินโดยใช้สามัญสำนึกได้หรือไม่ ผมคิดว่าได้ กฎหมายส่วนใหญ่สอดคล้องกับสามัญสำนึกของคนทั่วไปอยู่แล้ว”

เขาถามกลับด้วยว่า “ถ้าไม่พร้อม แล้วเมื่อไหร่จะพร้อม?”

ดึงสถาบันตุลาการสู่ระบอบประชาธิปไตย

ปกป้องเสนอว่า หากประเทศไทยจะใช้ระบบลูกขุนก็อาจจะต้องเลือกเฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับของฝรั่งเศส แล้วพัฒนาดูว่าไปกันได้หรือไม่กับบริบทสังคมไทย โดยอาจเริ่มเป็นโครงการนำร่องและทำการศึกษาเปรียบเทียบไปพร้อมๆ กัน

จอนกล่าวว่า ต้องเริ่มต้นจากการเรียกร้องการปฏิรูประบบยุติธรรมอย่างจริงจัง ซึ่งเขาเชื่อโดยไม่กังขาเลยว่า สิ่งนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในยุคเผด็จการ แต่จะเกิดขึ้นได้ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

“ต้องมีการเรียกร้องของประชาชนจำนวนมากว่า ขณะนี้ระบบยุติธรรมของประเทศไทยมีปัญหา ควรต้องได้รับการแก้ไข มันจะเข้ากับการปฏิรูปในหลายเรื่อง ผมเชื่อว่าปัจจุบันนี้ คนไทยจำนวนมาก ไม่ว่าจะมีความเชื่อทางการเมืองซีกไหน ล้วนต้องการเห็นการปฏิรูประบบยุติธรรม ผมคิดว่าระบบลูกขุนจะเป็นวิธีปฏิรูปวิธีหนึ่ง แต่จะเริ่มต้นให้อำนาจคณะลูกขุนอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องทดลองดูได้ ผมไม่อยากให้มีการสรุปว่าทำไม่ได้ ผมเชื่อว่าการพิจารณาคดีของประเทศไทยจะดีขึ้น ถ้ามีคณะลูกขุนช่วยตัดสิน

“มันเป็นการนำสถาบันตุลาการเข้ามาอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ในสังคมไทยเรามีสถาบันที่มีอภิสิทธิ์จำนวนมาก สถาบันศาลหรือทหารก็เหมือนเป็นอภิสิทธิ์ชนอยู่เหมือนกัน สถาบันตุลาการมีเรื่องการละเมิดอำนาจศาลและมีการตีความเรื่องนี้กว้างขวางมาก ถึงเรื่องนี้จะไม่ง่าย แต่ผมคิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปของสังคมโดยรวม”

ไม่ง่าย, หากวิเคราะห์จากสถานการณ์ที่ดำรงอยู่ การถกเถียงกันว่าระบบลูกขุนของไทยควรมีกรอบกติกาอย่างไร อาจยังเป็นเรื่องไกลเกินไป การปฏิรูปศาล (และกองทัพ) ไม่เคยถูกเอ่ยถึงท่ามกลางคำโฆษณาชวนเชื่อของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะที่อำนาจของสถาบันตุลาการที่ลงหลักปักฐานอย่างแน่นหนายาวนานและโดยธรรมชาติมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงนั้น ก็ไม่แน่ว่าจะต้องการการปฏิรูป

มิพักต้องกล่าวถึงการเปิดพื้นที่บัลลังก์ให้ประชาชนธรรมดาเข้าไปนั่งเสมอหน้าเทียมบ่าเทียมไหล่ตุลาการเช่นในฝรั่งเศส เพราะในมิติทางการเมืองและอำนาจแล้ว นี่คือการลดทอนอำนาจตุลาการอย่างมีนัยสำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท