Skip to main content
sharethis

 

ในเวทีที่เจนีวา วันที่ 14 มี.ค. ช่วงหนึ่งตัวแทนจากศาลทหารกำลังชี้แจง
มาตรฐานความรับรู้ด้านสิทธิมนุษยชนของบุคลากรทหาร โดยชูหลักฐานเป็นหนังสือ และดีวีดี
เกี่ยวข้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ที่จัดทำให้บุคลากรด้านความมั่นคงศึกษาอย่างหลากหลาย 

 

จบลงไปอีก 1 เวทีสำหรับงานตอบคำถามโลกของรัฐบาล คสช. นั่นคือ การตอบคำถามด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง International Covenant on Civil and Political Rights) ต่อคณะกรรมการกลางและเหล่าผู้เชี่ยวชาญ ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ รอบของประเทศไทยคือ วันที่ 13 และวันที่ 14 มีนาคม คณะผู้แทนรัฐบาลไทยมี 46 คน ในจำนวนนั้นเป็นทหารตำรวจ 8 คน หัวหน้าคณะ คือ ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม

ขั้นตอนต่อไปที่ต้องจับตาคือ วันที่ 23 มี.ค.นี้ จะมีข้อสรุปเชิงเสนอแนะ (Concluding Observation) ออกมา เป็นคำแนะนำจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอิสระ มีเนื้อหาเป็นขั้นตอนที่รัฐบาลไทยพึงปฏิบัติเพื่อเติมเต็มพันธสัญญาที่ให้ไว้ตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่ให้สัตยาบันไว้

กระบวนการก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยจะต้องส่งรายงานไปก่อน 1 ฉบับ รายงานผลการปฏิบัติงาน สถานการณ์ หรือพัฒนาการในเรื่องสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ หลังจากนั้นในเวทีที่พบปะกันที่เจนีวานี้ ผู้เชี่ยวชาญฯ ตั้งคำถาม โดยข้อมูลส่วนหนึ่ง (ซึ่งอาจเป็นส่วนใหญ่) นำมาจาก “รายงานเงา” หรือ shadow report ที่ได้จากบรรดาเอ็นจีโอทั้งในและต่างประเทศรวมถึงภาคประชาสังคมที่ทำงานในประเด็นต่างๆ ในประเทศไทยส่งให้ ปีนี้มีการส่งรายงานไปทั้งสิ้น 14 ฉบับ มีทั้งเรื่อง สิทธิทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ สิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง สิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิแรงงานข้ามชาติ การซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย 

ก่อนการพูดคุยในวันที่ 14 มีนาคมที่เจนีวาไม่กี่ชั่วโมง ในกรุงเทพฯ เครือข่ายภาคประชาสังคมก็จัดงานใหญ่คู่ขนาน ทำความเข้าใจเรื่อง ICCPR และประเด็นสำคัญๆ กับสื่อมวลชน วิทยากรคือคนที่ทำงานด้านสิทธิและจัดทำรายงานเงาโดยตรง เช่น สุณัย ผาสุก เยาวลักษ์ อนุพันธ์ อดิศร เกิดมงคล ดารณี ทองสิริ จินดารัตน์ เพิ่มลาภวิรุฬห์

ก่อนจะไปสู่ประเด็นที่ทั้ง 4 คนนำเสนอ ประชาไทรวบรวม การถาม-ตอบ ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ-คณะผู้แทนรัฐบาลไทยมาให้อ่านเป็นน้ำจิ้ม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับพันการเมือง ผู้ที่ฟังการตอบคำถามอย่างใกล้ชิดบางคนก็เห็นว่าบางส่วนตอบได้ดี บางคนว่าบางทีก็ตอบแค่ครึ่งหนึ่ง บางส่วนบอกให้อารมณ์แบบสุภาษิตไทย “ไปไหนมา สามวาสองศอก” อีกคนบอก “ตอบเหมือนไม่ตอบ” ขณะที่บางคนหัวเราะชอบใจบอกว่า เข้าใจเลยว่าทำไมต้องไปกันเยอะ ปกติหัวหน้าคณะหรือคณะผู้แทนแค่ไม่กี่คนจะตอบคำถามแทนทุกหน่วยงานที่โดนถาม หน่วยงานนั้นๆ แค่ส่งคำตอบมา แต่ยุคนี้ผู้รับหน้าเสื่อน่าจะตอบยาก จึงต้องขนผู้ถูกถามไปตอบเองเสียให้หมด

ตัวอย่างการถามตอบในประเด็นการเมือง

  • คณะกรรมการสงสัยว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่และที่จะประกาศใช้จะมีคุ้มครองสิทธิของประชาชนไทยหรือไม่เพียงใด คณะผู้แทนฯ ตอบคำถามนี้โดยอ้างถึง มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว และบอกว่าในร่างที่กำลังจะประกาศใช้นั้น คุ้มครองสิทธิประชาชนอย่างมากมายไม่ต่างกับรัฐธรรมนูญก่อนๆ เลย
     
  • คณะกรรมการถามว่ามาตรา 44 จะยกเลิกเมื่อไร ขั้นตอนการยกเลิกเป็นอย่างไร แล้วคำสั่ง/ประกาศ ของ คสช.ทั้งหลายทั้งปวงจะทำอย่างไรต่อ มีอันไหนที่จะเป็นกฎหมายถาวรหรือไม่  คณะผู้แทนฯ ระบุว่า มาตรา 44  จะยกเลิกเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (ซึ่งการเลือกตั้งจะเกิดเมื่อใดนั้น คณะผู้แทนฯ ไม่ได้ตอบถึงช่วงเวลาที่ชัดเจน แต่อธิบายขั้นตอนต่างๆ ของรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการอยู่เพียงเท่านั้น)
     
  • คณะผู้แทนฯ บอกด้วยว่า มาตรา 44 นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของไทย จริงๆ ในอดีตรัฐธรรมนูญหลายฉบับก็เคยมีมาตราลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว เช่น รัฐธรรมนูญปี 2502, 2519, 2520, 2534 และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะประเทศอื่นในโลกก็มีการใช้อำนาจแบบนี้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน สถานการณ์สงคราม

    การใช้มาตรา 44 ของไทยเป็นไปอย่างจำเพาะเจาะจงมาก กระทบหรือจำกัดสิทธิประชาชนอย่างจำกัด และมีการทบทวนอย่างรอบคอบแล้ว หลัง คสช.หมดอำนาจ มาตรา 44 ก็จะไม่ถูกใช้อีก ส่วนคำสั่ง คสช.ขณะนี้มีจำนวน 119 ฉบับก็ออกมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล ความโปร่งใส และมีแค่ 4 ฉบับเท่านั้นที่เป็นเรื่องความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียบร้อย

    ที่ผ่านมาไทยก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น คำสั่งหลายฉบับก็ยกเลิกแล้ว เช่น เรื่องเคอร์ฟิว หรือการแบนการเดินทางออกนอกประเทศของปัจเจกบุคคล กฎอัยการศึกก็ยกเลิกหมดแล้วยกเว้นแต่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่สถานการณ์ยังมีความรุนแรง

    (ส่วนประเด็นที่ว่า มาตรา 44 ให้อำนาจหัวหน้า คสช.มากแค่ไหน ไม่มีการตอบอย่างชัดเจน)
     
  • ผู้เชี่ยวชาญสงสัยว่าเงื่อนไขใดที่จะใช้เพื่อเรียกตัวบุคคลมาปรับทัศนคติ คณะผู้แทนฯ ไม่ได้ตอบอย่างชัดเจนในเรื่องนี้
     
  • ผู้เชี่ยวชาญถามเรื่องพ.ร.บ.ประชามติว่ามีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกใช่หรือไม่ คณะผู้แทนฯ ตอบว่า ประเทศไทยพยายามสร้างบรรยากาศของการสนทนา หรือ ไดอะล็อก อย่างสร้างสรรค์ พ.ร.บ.ประชามติเป็นไปเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ว่า ส่วนมาตรา 61 ที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากนั้น เป็นเพียงการบอกว่าห้ามใช้เนื้อหาแบบไหน ตราขึ้นเพราะไม่ต้องการให้ประชาชนในความรุนแรง สำหรับประชาชนที่มีเจตนาดีก็จะไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนการจำกัดสิทธิในการแสดงออกก็เป็นไปตามกรอบ ICCPR คือ ส่วนที่เกี่ยวพันกับเรื่องความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย  บุคคลที่ถูกฟ้องผิดพ.ร.บ.ประชามติยังคงมีสิทธิเต็มที่ในการต่อสู้คดี (คณะผู้แทนฯ ย้ำหลายครั้งว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ มากกว่า 60% ของผู้ไปใช้สิทธิ)
     
  • ผู้เชี่ยวชาญถามว่าเหตุใดต้องให้คดีพลเรือนบางส่วนไปพิจารณาในศาลทหาร คณะผู้แทนรัฐบาลฯ ตอบว่า ศาลทหารก็ใช้หลักของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดำเนินการเป็นไปตามหลักสากล และการันตีสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม (fair trial) และผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิเหมือนขึ้นศาลยุติธรรมทุกประการ
  • ผู้เชี่ยวชาญสอบถามว่า คดีที่ตกค้างในศาลทหารจะมีการย้ายคดีไปศาลพลเรือนทั้งหมดอย่างไร คณะผู้แทนฯ อธิบายว่า ย้ายไม่ได้ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ

    1. ใช้เวลาเยอะ ต้องเริ่มคดีใหม่หมด เป็นผลเสียกับจำเลยเอง

    2. อาจทำให้เกิดโทษซ้ำซ้อนขึ้นได้ กรณีรับสารภาพในศาลทหารแล้ว

    3. เป็นเรื่องขนบธรรมเนียม ที่ผ่านมาไม่เคยมีการย้ายคดีระหว่างศาลลักษณะนี้มาก่อน การย้ายอาจเกิดความซับซ้อนและความยุ่งยากในชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ได้
  • ผู้เชี่ยวชาญถามเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและการฟ้องหมิ่นประมาท และแสดงความเห็นด้วยว่าการสอดแนมออนไลน์ไม่ได้ถูกดูแลด้วยความเข้าใจในประเทศไทย การเก็บ metadata โดยผู้ให้บริการการนั้นก็น่าวิตกกังวล พร้อมทั้งถามว่ามีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้รัฐต้องกำหนดให้ผู้ให้บริการเก็บข้อมูลยาวนานขึ้น และมันผ่านการตรวจสอบของศาลหรือไม่ การมอนิเตอร์โซเชียลมีเดียเพื่อจุดประสงค์ในการบ่งชี้ค้นหาถ้อยคำต้องห้าม ซึ่งรวมถึงการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ใช่หรือไม่ว่ากองทัพเข้าไปมีส่วนร่วมกับการสอดแนมโซเชียลมีเดีย และ ปอท.ก็จะทำหน้าที่ฟ้องคนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และจริงหรือไม่ที่เว็บไซต์ 5,000 แห่งถูกปิด

    คณะผู้แทนฯ ไม่ได้ตอบทั้งหมดอย่างชัดเจน แต่ยังคงตอบเรื่องพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยระบุว่า เรื่องพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ จะบังคับใช้เดือนพฤษภาคมนี้ มันไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเหตุผลด้านความมั่นคง แต่ต้องการจะจัดการกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและเริ่มความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมายอื่น รวมถึงกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องภาพโป๊เด็ก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่แก้ไขเรื่องสิทธิหลายอย่าง และเรื่องสิทธิส่วนบุคคลก็ได้รับการปกป้องภายใต้กฎหมาย 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่คณะผู้แทนฯ ตอบคำถามอีก เช่น

1.พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ใช้มาตั้งแต่ ส.ค.2559 และการอนุญาตก็เป็นไปโดยง่าย การต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่นั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการชุมนุมล้อมโรงพยาบาลหรือสถานที่สาธารณะสำคัญอื่นๆ จนถึงปัจจุบันมีคำร้องขอชุมนุมมา 53 คำร้อง และทั้งหมดได้รับอนุญาต

2.พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นใช้เฉพาะในสามจังหวัดชายแดนใต้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย วัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการควบคุมตัวผู้ก่อความรุนแรง เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงที่โจมตีพลเรือนและเจ้าหน้าที่ยังมีอยู่ ตอนนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาจะใช้กฎหมายอื่นแทนที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยเช่นกันเพื่อให้เกิดการผ่อนปรนมากขึ้น กฎอัยการซึกถูกใช้ใน 31 จังหวัดชายแดน ซึ่งมีปัญหาการค้ามนุษย์

3.เรื่องโทษประหารชีวิต ผู้ต้องโทษประหารชีวิตในไทยมี 194 คน ในจำนวนนี้ 92 คนเป็นคดียาเสพติด ผู้ต้องโทษประหารชีวิตสามารถขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อลดโทษได้เมื่อคดีถึงที่สุด

4.เรื่องพ.ร.บ.ต่อต้านการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย กำลังจะได้รับการพิจารณาใหม่ ซึ่งจะรวมถึงการเปิดให้สาธารณะร่วมทบทวนด้วย จริงๆ มีกฎหมายหลายฉบับที่แก้ไขอยู่และมันใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะเสร็จขั้นตอน ประเทศไทยกำลังพิจารณาจะให้สัตยาบรรณกับพิธีสารเลือกรับว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมานด้วย หลังปรึกษากับภาคประชาสังคมแล้วได้รับการตอบรับในทางบวก

5.เรื่องสภาพในเรือนจำ กฎกรุงเทพ (Bangkok Rules) ถูกนำมาประยุกต์ใช้รวมถึงมาตรฐานสากลต่างๆ ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาพยาบาล พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ไม่อนุญาตให้มีการทรมานหรือการลงโทษที่รุนแรงทางกายภาพ และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ผู้ต้องขัง 70% ของไทยเป็นคดียาเสพติด ตอนนี้รัฐบาลพยายามให้แยกผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีออกจากผู้ต้องขังที่คดีเด็ดขาดแล้ว ในเดือนมีนาคม 2017 มีสถานที่คุมขัง 63 แห่งที่ร่วมโครงการแยกผู้ต้องขังแล้วด้วย

6.เรื่องความเป็นอิสระของศาลทหาร ผู้พิพากษาในศาลทหารต้องมีประสบการณ์ในระบบศาลยุติธรรมไม่น้อยกว่า 20 ปี สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม (fair trial)ก็ได้รับการรับรอง ศาลจะพิจารณาคดีหากจำเลยไม่มีทนาย หากไม่สามารถจัดหาได้ ศาลก็จัดหาให้ และการพิจารณาคดีก็ยังเปิดให้ญาติจำเลยและสาธารณชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังได้ด้วย

7.ประเด็นกฎหมายมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขอชี้แจงว่าไม่ได้เป็นกฎหมายแยกออกมาต่างหากแต่เป็นมาตราที่อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งใช้ตั้งแต่ปี 2499 และแก้ไขในปี 2519 สถาบันกษัตริย์ของไทยเป็นตัวแทนถึงเสถียรภาพของประเทศไทย ผู้แทนทุกคนในวันนี้สวมชุดดำก็เพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักที่สวรรคตไปเมื่อปีที่แล้ว กฎหมายนี้คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทน และไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ข้อเท็จจริงและหลักฐานที่รวมรวบเพื่อฟ้องคดีต่างๆ จะถูกพิจารณาโดยอัยการ ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รับสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ต้องหาคดีอื่นๆ รวมถึงการเข้าถึง fair trial การมีทนายรวมถึงการขอพระราชทานอภัยโทษ

- - - - - - - - - - -

เก็บตกจากวงเสวนา จากกรุงเทพถึงเจนีวา:
ส่งสัญญาณ(เสียง)สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

สุณัย ผาสุก จาก Human Rights Watch เป็น 1 ใน 14 องค์กรที่เสนอรายงานตรวจสอบถามวงรอบของคณะกรรมการ ICCPR กล่าวว่า รายงานที่ส่งไปมันสะท้อนออกมาในคำถามที่กรรมการถามตัวแทนรัฐบาล

ประเด็นที่เป็นกรอบในรายงานเน้นเรื่องความถดถอยด้านสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางการเมือง มีจุดพลิกผันที่การทำรัฐประหาร 2557  มีการรวบอำนาจ ตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้ และไม่ต้องรับผิดชอบอะไร โดยเน้นที่ ม.44, 47, 48  ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้อยู่ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผลของการใช้อำนาจมาตราเหล่านี้ก็จะอยู่กับพวกเราต่อไป จนกว่าจะออกพ.ร.บ.ใหม่มาลบล้าง

“อำนาจลักษณะนี้ ตามกรอบ ICCPR เป็นอำนาจที่ทำให้เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราไม่สามารถเอาผิดหรือเยียวยาได้ ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้ นี่เป็นประเด็นใหญ่มาก จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมวันแรกคำถามถึงพุ่งเป้าที่การใช้อำนาจม.44, 47,48”

“คุณประยุทธ์ มีอำนาจสูงสุดในตัวเองเลย เป็นบุคคลที่รวบอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ทั้งนิติบุคคล ตุลาการ บริหาร ไว้กับตัวเองหมด แล้วไม่ต้องได้รับการถ่วงดุลตรวจสอบจากองค์กรใด อำนาจถือเป็นเด็ดขาด แล้วก็มีคำพิพากษาออกมารองรับการใช้อำนาจลักษณะนี้แล้วด้วย”

“รัฐบอกว่าใช้เฉพาะถอดปมวิกฤตประเทศ แต่เอาเข้าจริง ม.44   ถูกใช้เป็นรากฐานของการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของกลุ่มต่างๆ ที่มีความสำคัญในการทำตามคำสัญญาของ คสช.เอง ที่บอกว่ามีโรดแม็พจะนำประเทศสู่ประชาธิปไตย การแสดงความคิดเห็น  การชุมนุม ถูกจำกัดด้วยคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และภายใต้คำสั่งที่ 3   มีคำสั่งย่อยที่ไม่ให้สื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.”

นอกจากนี้ ม.44 ยังให้คุมตัวใครในที่ใดก็ได้ ไม่มีสิทธิมีทนายและพบญาติ คุมตัวปิดลับ สิ่งที่เกิดตามมา คือ ตอนที่เราไม่รู้เขาอยู่ไหนถือว่า เป็นการถูกบังคับให้สูญหาย จนกว่าเราละรู้ว่าเขาอยู่ไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไร เรื่องนี้ผิดกรอบกติการะหว่างประเทศอย่างชัดเจน

“ที่ผ่านมามีการร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานจากผู้ถูกคุมตัว คสช.ปฏิเสธหัวชนฝาโดยไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยัน หนักกว่านั้นมีสถานที่ควบคุมตัวพิเศษ ประกาศให้หน่วยทหาร มทบ.11 เป็นเรือนจำแต่ไม่เปิดให้มีการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระว่าเงื่อนไขการปฏิบัติกับผู้ถูกควบคุมตัวเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการเสียชีวิตในนั้น ประเทศอารยะอื่นต้องมีการเปิดสถานที่ให้ตรวจสอบ จัดระบบให้องค์กรต่างๆ เข้าถึงได้”

อีกประเด็นหนึ่งคือ ไม่กี่วันก่อน สนช.มีมติว่าจะให้สัตยาบรรณกับกฎหมายต่อต้นการบังคับสูญหาย แต่ในทางปฏิบัติไม่มีการแจ้ง UN ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องแจ้งก่อนจึงจะเป็นผลหลังจากนั้น ดังนั้นจึงเป็นการประกาศเพื่อตีกินเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะการจะรื้อฟื้นคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ในไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเอาผิดต่อการบังคับสูญหาย เช่นเดียวกับการซ้อมทรมาน และจากที่คณะกรรมการถามไปยังไม่มีคำตอบว่า สนช.ตีกลับร่างเดิมแล้วจะทำอย่างไรต่อ

ส่วนพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เราแสดงความเห็นว่ามันจะกลายเป็นเครื่องมือสกัดกั้นเนื้อหาในการทำรายงานตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแน่นอน ดูจากกรณีที่มีการฟ้องนักสิทธิที่ออกรายงานเรื่องการซ้อมทรมานในสามจังหวัดชายแดนใต้แม้ตอนหลังจะมีการถอนฟ้องก็ตาม

เยาวลักษ์ อนุพันธ์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในมุมมองของเธอคือ ศาลไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ใช้ ม.44, 47, 48  เราจะอยู่กันอย่างไรในเมื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งสุดท้าย

คำสั่งที่ 3/2558 ที่ควบคุมบุคคลในค่ายทหาร 7 วัน โดยไม่มีฐานความผิด เราพยายามยื่นคำร้องต่อศาลว่า ใช้คำสั่งที่ 3 ไม่ชอบ เสี่ยงต่อการถูกซ้อมทรมาน ปรากฏว่าศาลไม่ทำการตรวจสอบ เราเชื่อว่าศาลจะทำการตรวจสอบ แต่ตอนนี้มันไม่เป็นแบบนั้น เราอิจฉาประเทศสหรัฐอเมริกามาก ศาลอเมริกาทำงานเร็วมากตรวจสอบคำสั่งประธานาธิบดีในเรื่องการกีดกันคนเข้าเมือง  

อีกประเด็นที่ศูนย์ทนายฯ รายงานและเป็นประเด็นที่กรรมการตั้งคำถาม คือเรื่อง ศาลทหาร เราพบว่าคดีส่วนใหญ่ไม่ใช้คดีร้ายแรงอย่างที่รัฐบาลอ้าง แต่เป็นประเด็นของการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเสียมาก ความล่าช้าในการพิจารณา โดยเฉพาะคดี 112 ที่ไม่ได้ประกันตัว ทำให้จำเลยตัดสินใจรับสารภาพ ยกตัวอย่าง มีอยู่คดีหนึ่งผ่านมาเกือบ 3   ปีสืบพยานเสร็จสิ้นไปเพียง 2 ปาก

จินดารัตน์ เพิ่มลาภวิรุฬห์  เล่าเรื่องการต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ เธอเชื่อว่ารัฐบาลไม่มีทางยกเลิกโครงการ ทางกลุ่มจึงมุ่งเน้นที่การศึกษา EIA  ซึ่งมีการศึกษาผลกระทบแค่ 5 กม.โดยรอบเท่านั้น และแม้แค่นั้นก็ไม่ครอบคลุมทุกด้าน แม้ชาวบ้านจะได้ข้อเรียกร้องตอบรับจากรัฐบาล แต่ กฟผ.ก็ยังยืนยันจะทำแบบเดิมคือ จะจ้างบริษัททำ EIA ใหม่ มันแค่เป็นการนับหนึ่งใหม่ ผลกรรมก็ตกกับประชาชนเหมือนเดิม ทางกลุ่มจึงเสนอให้มีหน่วยงานที่เป็นกลางมาศึกษา EIA   ไม่ใช่เอาเงินเจ้าของโครงการไปจ้างบริษัท

เรื่องการคุกคาม ตอนที่ทำรายงาน EIA ฉบับก่อนมีการจัดรับฟังความคิดเห็น เวที ค.3 โดยให้กำลังทหาร 500-700 นายมาคุมไม่ให้กลุ่มต้านมาแสดงความคิดเห็น คนรับฟังก็เป็นพนักงานการไฟฟ้าเยอะมาก เราไปถึงไม่มีที่นั่งเลย แต่เราก็ยืนยันจะอยู่ตรงนั้นเพื่อจะเสนอความเห็น

นอกจากนี้ภาคประชาสังคมเคยเสนอยุทธศาสตร์ กระบี่โกกรีน (Krabi Go Green) เน้นการท่องเที่ยว พลังงานหมุนเวียน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะกระบี่มีศักยภาพในการใช้พลังงานหมุนเวียนได้เยอะ

ดารณี ทองศิริ เจ้าของร้านหนังสือบูคู นักรณรงค์สิทธิความหลากหลายทางเพศ กล่าวถึงประเด็นความหลากหลายทางเพศว่า ในภาพรวมสังคมโดยทั่วไปอาจคิดว่า การเลือกปฏิบัติและความรุนแรงที่มีต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีน้อย แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ Hate Crime ยังไม่ถูกนิยามและจัดการในไทยเพราะเราไม่มีกฎหมายเรื่องนี้ เวลาเกิดการทำร้ายหรือฆ่าผู้มีความหลากหลายทางเพศเรามักมองเป็นอาชญากรรมทั่วไป ทั้งที่จริงมีลักษณะโฮโมโฟเบีย (homophobia) เท่าที่พยายามรวบรวมกรณีที่เกิดขึ้นในไทย เข้าข่าย Hate Crime ประมาณ 18 เคส สิ่งที่ทำได้เป็นแค่การเก็บข้อมูล แต่เรียกร้องอะไรรัฐบาลไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ถูกนำเสนอในเวทีระหว่างประเทศตลอดเวลาว่าเป็นความสำเร็จความก้าวหน้าของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ แต่ความจริงแม้แต่ชายหญิงก็ไม่เท่ากันด้วยซ้ำ มีข้อยกเว้นหลายข้อ เช่น ศาสนา ความมั่นคง โดยถือว่าไม่เข้าข่ายการเลือกปฏิบัติ

การถูกคุกคาม แม้แต่ในหมู่นักกิจกรรมทางการเมืองก็มีให้เห็นเช่นกัน ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะเจอเยอะกว่าเช่น ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว จากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เจ้าหน้าที่มีการโทรถาม การไปหาที่บ้าน มีการพูดจาในลักษณะ sexual harassment เช่นเดียวกับที่เกิดกับภาคใต้กรณีของร้านหนังสือบูคู มีการข่มขู่ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่รัฐบอกว่ามีกลไกป้องกันพยาน ป้องกัน human rights defender แล้ว แต่ความเป็นจริงคือเราต้องดูแลตัวเอง ในอนาคตจะเสนอให้รัฐมีกฎหมาย Hate Crime  หรือ Hate Speech โดยอาจต้องเริ่มจากการสำรวจงานวิจัย

อดิศร เกิดมงคล นักรณรงค์สิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า คณะผู้แทนรัฐบาลไทยแถลงในวันแรกโดยค่อนข้างภูมิใจกับการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ มีการรักษาพยาบาลให้แรงงานข้ามชาติ เป็นเรื่องดีแต่เรื่องนี้คณะกรรมการไม่ได้ถาม เพราะเรื่องนี้พวกนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องมาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่กรรมการถามและเราเขียนในรายงานคือ ไทยเลือกปฏิบัติแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในไทยเป็นการชั่วคราว ในเรื่องพ.ร.บ.ประกันสังคม และพ.ร.บ.เงินทดแทนใช่หรือไม่ ตัวแทนรัฐบาลยอมรับว่าปฏิบัติไม่เหมือนกัน แต่เราให้ประกันสุขภาพเขา โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่ามันทดแทนกันไม่ได้ เพราะประกันสังคมมีสิทธิประโยชน์ 7 อย่าง และยังต้องร่วมกันรับผิดชอบจ่าย 3 ฝ่าย รัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง แต่ประกันสุขภาพลูกจ้างต้องซื้อเอง เป็นการผลักภาระให้พวกเขา นี่เป็นวิธีการตอบของรัฐที่ตอบไม่ตรงคำถาม

เรื่องเงินทดแทน กระทรวงแรงงานตอบว่า แรงงานข้ามชาติก็ได้รับการคุ้มครองตามพ.ร.บ.เงินทดแทน ซึ่งมีกองทุนเงินทดแทน เมื่อได้รับอุบัติเหตุในการทำงานโดยแรงงานจะต้องได้รับการดูแลรักษาพยาบาลและเงินชดเชย แต่กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยอยากได้การชดเชยต้องไปไล่บี้กับนายจ้างเอาเอง ไม่ได้คุ้มครองทันทีอัตโนมัติแบบแรงงานไทย สิ่งที่ปรากฏ คือ แรงงานข้ามชาติไม่เคยมีกรณีไหนไล่บี้นายจ้างสำเร็จหรือได้รับการคุ้มครองตามที่เขียนในกฎหมายนี้จริงๆ เลยสักราย

อีกประเด็นคือ สิทธิในการก่อตั้งสหภาพ ประเทศไทยกีดกันไม่ให้คนต่างชาติตั้งสหภาพ ตัวแทนรัฐบาลไทยคงตอบว่า แรงงานข้ามชาติเป็นสมาชิกสหภาพได้อยู่แล้ว แต่คำถามคือ ทำไมถึงรวมตัวกันเองในกลุ่มเขาเพื่อตั้งสหภาพไม่ได้ ในสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันกิจการหลายอย่างที่แรงงานต่างชาติทำ ไม่มีคนไทยทำแล้ว เช่น แรงงานประมง ดังนั้น จึงไม่มีคนไทยจะริเริ่มตั้งสหภาพ และมันจึงไม่มีสหภาพแรงงานไปโดยปริยาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net