‘ฟอร์ตี้ฟายไรต์’ หนุน ส.ส.เห็นชอบร่าง ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ วาระ 2 และ 3

องค์กรด้านสิทธิ 'ฟอร์ตี้ฟายไรต์' หนุน ส.ส.เห็นชอบ ร่าง 'พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม' วาระ 2 และ 3 ระหว่างการเปิดประชุมสภาครั้งนี้ มองข้อเสีย 'พ.ร.บ.คู่ชีวิต' ให้สิทธิคู่รักเพศเดียวกันไม่เท่ากับคู่รักต่างเพศ 

 

1 พ.ย. 2565 องค์กร ‘ฟอร์ตี้ฟายไรต์’ รายงานต่อสื่อวันนี้ (1 พ.ย.) กล่าวว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ควรเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ระหว่างการเปิดประชุมสภาครั้งนี้ ทั้งนี้ รัฐสภาจะเปิดประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 2 ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย.นี้ และคาดว่าจะมีบรรจุร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เข้าสู่วาระการประชุม เพื่อพิจารณาเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎร 

“รัฐสภาต้องใช้โอกาสนี้เพื่อทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย” มุกภาดา ยั่งยืนภราดร เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว และระบุต่อว่า “สมาชิกรัฐสภาต้องให้ความสำคัญต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม และยุติการเลือกปฏิบัติอย่างยาวนานต่อคู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศ” 

ทั้งนี้ เมื่อ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับร่าง พ.ร.บ.ทั้งหมด 4 ฉบับ เพื่อขยายสิทธิการสมรสให้กับคู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 2 ฉบับ และ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้แตกต่างกันในแง่สิทธิ เพื่อคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาวาระแรก ด้วยเสียงรับรอง 210 ต่อ 180 เสียง เมื่อ 15 มิ.ย. 2565 ส่วนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตผ่านการรับรองด้วยเสียง 222 ต่อ 167 เสียงในวันเดียวกัน จากนั้น สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ได้ผ่านการแก้ไขแยกจากกันโดยคณะอนุกรรมาธิการ และพร้อมให้มีการเสนอเพื่อมีการพิจารณารายมาตรา  

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เสนอให้แก้ไขมาตรา 1448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ “กฎหมายว่าด้วยการสมรส” โดยให้ใช้คำว่า “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามี” และ “ภรรยา” ในประมวลกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฯ เสนอให้ใช้คำว่า “บุคคล” แทนคำว่า “ชาย” และ “หญิง” การแก้ไขเช่นนี้จะทำให้บุคคล 2 คนสามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ไม่ว่าจะมีเพศวิถี หรืออัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร ส่งผลให้คู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิในการสมรส สวัสดิการ การรับบุตรบุญธรรม การให้ความยินยอมต่อการรักษา การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การรับมรดก การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของการลดภาษี และบำนาญของคู่สมรส 

ในทางตรงกันข้าม ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต อนุญาตเฉพาะคู่ชีวิตเพศเดียวกันจดทะเบียนตามกฎหมายในฐานะเป็น “คู่ชีวิต” และให้สิทธิประโยชน์ที่จำกัดมากกว่ากับคู่ชีวิตเพศเดียวกันในแง่ของสิทธิในการรับบุตรบุญธรรม การให้ความยินยอมต่อการรักษา การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน และการรับมรดก ต่างจากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่คุ้มครองสิทธิของคู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียมกับคู่สมรสต่างเพศ โดยเฉพาะในแง่การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของการลดภาษี และบำนาญของคู่สมรส

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบต่อร่าง พ.ร.บ.ในวาระที่ 2 และ 3 ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งจะมีการออกเสียงเห็นชอบ ตามมาตรา 136 แห่งรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอมานั้นให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวัน” โดยคาดว่าการประชุมสมัยสามัญครั้งนี้จะยุติลงวันที่ 28 ก.พ. 2566

เมื่อ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยแพร่แถลงการณ์ เรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในวาระ 2 และ 3 เพื่อ “ยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และขจัดการเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุแห่งเพศในประเทศไทย”

แถลงการณ์ดังกล่าวยังเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขให้เนื้อหาของกฎหมายไทย ให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยที่มีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (ICCPR) และหลักการยอกยาการ์ตา ซึ่งเป็นมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้และเกี่ยวข้องกับเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ 

ข้อ 23 ของ ICCPR ให้การคุ้มครองสิทธิในการมีครอบครัว และการสมรส โดยกำหนดว่าสิทธิในการสมรส และมีครอบครัวของชายและหญิงในวัยที่อาจสมรสได้ ย่อมได้รับการรับรอง “ในฐานะรัฐภาคีของกติกา ICCPR ในประเทศไทย ต้อง “ดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อประกันความเท่าเทียมด้านสิทธิ และความรับผิดชอบของคู่สมรสในการสมรส ระหว่างการสมรส และการหย่าร้าง” ข้อ 26 ของ ICCPR ยังประกันการคุ้มครองที่เท่าเทียมต่อกฎหมายโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ หลัก การไม่เลือกปฏิบัติยังถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้ต่อทุกรัฐ ในทำนองเดียวกัน มาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ห้ามการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ

“ความเข้มแข็งเด็ดขาดของสมาชิกรัฐสภาไทยจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ประเทศนี้มีความพร้อมที่จะให้สิทธิที่เท่าเทียมอย่างสมบูรณ์กับคู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่ หรือจะยังคงปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนเป็นพลเมืองชั้น 2 ต่อไป” มุกดาภา กล่าว และระบุว่า “ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเป็นร่างกฎหมายที่เสนอฉบับเดียวที่จะประกันสิทธิขั้นพื้นฐานว่าด้วยการสมรสให้แก่บุคคลทุกคนในประเทศไทย และควรได้รับความเห็นชอบอย่างเร่งด่วน”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท