สุเทพหนุนประยุทธ์อยู่ต่อหากปฏิรูปไม่เสร็จ ยิ่งลักษณ์หนุนตั้ง กก.กลางสร้างปรองดอง

สุเทพหนุน พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ หากปฏิรูปประเทศไม่เสร็จ ยันเป็นกองเชียร์อย่างเปิดเผย ไม่ลับๆ ล่อๆ แนะควรปฏิรูป 5 ด้าน ขณะที่ 'ยิ่งลักษณ์' หนุนข้อเสนอ 'เพื่อไทย' ตั้งกก.กลางสร้างปรองดอง

ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) 

17 มี.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.พร้อมด้วยกลุ่มแกนนำฯเดินทางเข้าพบ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พร้อมกับเข้าร่วมหารือแสดงความคิดเห็นในส่วนของ กปปส.ในการปฏิรูป ที่กระทรวงกลาโหม หลังจากนั้น สุเทพ กล่าวว่า มวลมหาประชาชนคาดหวังให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนจะมีการเลือกตั้ง เพื่อประเทศจะได้เดินหน้าต่อไปได้ แต่หากการปฏิรูปประเทศไม่แล้วเสร็จตามโรดแมปที่วางไว้ก็ให้อยู่ต่อได้ตนไม่ขัดข้อง แต่จะต้องทำงานต่อไปให้ดีที่สุด ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ ยอมรับว่าเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เพราะแก้ปัญหาได้ตรงใจประชาชน โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศ เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ

“พวกผมเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่แล้ว เราเชียร์แบบเปิดเผย ไม่ได้ลับๆ ล่อๆ เราเชียร์เลย และรู้ว่าสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิรูปประเทศตรงใจพวกเรา ไม่ต้องมา กล่าวหากัน เรารับเลย ชัดเจน ..ผมชื่นชม รัฐบาล และคสช.ที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาแสดงความคิดเห็น คนทำงานจะได้เข้าใจปัญหาลึกซึ้งถึงแก่นจริงๆ แต่ขอให้ดำเนินการที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ของประเทศไทย ตามขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อถื่อของสังคมไทย” สุเทพ กล่าว

สุเทพ กล่าวว่า ได้เสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ว่าควรปฏิรูป 5 ด้าน แต่ที่สำคัญที่สุดคือการปฏิรูปการเมือง ที่จะต้องให้เป็นการเมืองของประชาชน ไม่ใช่ของนักการเมือง ผู้บริหารของพรรคก็ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิกในพรรค การบริหารพรรคต้องเป็นไปตามนโยบายที่กำหนด คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องทำหน้าที่อย่างโปร่งใส ยุติธรรม เมื่อมีผู้ทุจริตต้องรับโทษตามที่กำหนด และหากเป็นเจ้าหน้าที่กกต. เสียเองจะต้องรับโทษ 2 เท่า

สุเทพ กล่าวถึงคำสั่ง ประกาศ และการใช้ ม.44 ของ คสช. ว่า ไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างความปรองดอง เพราะเป็นรัฐฐาธิปัตย์ ที่รัฐบาลและคสช.มีอำนาจใช้กฎหมายพิเศษได้

เจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศไทย

​​การลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องของมวลมหาประชาชนหลายล้านคนทั้งในประเทศ และคนไทยในต่างประเทศ เป็นระยะเวลายาวนานถึง 204 วัน เมื่อปี พ.ศ. 2556-2557 มีเจตนารมณ์ร่วมกันอย่างแรงกล้าที่จะให้มีการปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากสังคมไทยในยุคที่ผ่านมาตกอยู่ภายใต้สภาวะทางการเมืองที่ฉ้อฉล และทุจริตคอรัปชั่นมาเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งประเทศถูกกัดกร่อนเสียหายอย่างรุนแรง การนำนโยบายประชานิยมที่ไร้ความรับผิดชอบมา มอมเมาประชาชน ระบบราชการถูกแทรกแซง กระบวนการยุติธรรมถูกกดดัน ประชาชนที่รักความเป็นธรรมถูกข่มขู่ ระบบนิติรัฐ นิติธรรม ถูกละเมิดบิดเบือน ประชาชนถูกแบ่งแยกเป็น พวกเขา พวกเรา ด้วยการใช้ข้อมูลเท็จ แม้กระทั่งสถาบันเบื้องสูงก็ถูก ดึงเข้ามาอยู่ในสถานการณ์อย่างไม่บังควร และที่เลวร้ายที่สุดคือการทุจริตคอรัปชั่น ที่มีการสมคบกันระหว่างนักการเมืองเลวและข้าราชการชั่ว

​​มวลมหาประชาชนเห็นว่า มิอาจปล่อยให้ระบอบการเมืองที่ชั่วร้ายทำลายประเทศ ได้อีกต่อไป จึงได้ลุกขึ้นต่อสู้ เรียกร้อง ด้วยการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ อย่างสงบ สันติ อหิงสา ให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

​​ครั้นเมื่อ คสช. โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าควบคุมบริหารประเทศ และประกาศเจตนารมณ์ที่จะปฏิรูปประเทศ จึงได้รับการสนับสนุนจากมวลมหาประชาชนอย่างท้วมท้น เพราะมวลมหาประชาชนเห็นว่า นี่เป็นแนวทางเดียวตรงตามข้อเรียกร้องของมวลมหาประชาชนที่เรียกร้องมาโดยตลอด

​​มวลมหาประชาชน จึงขอสนับสนุนแนวทางการปรองดอง ที่ยึดการบังคับใช้กฎหมาย โดยนิติธรรม และขอสนับสนุนการปฏิรูปประเทศตามแนวทางที่ได้เสนอมานี้

ปฏิรูปการเมือง

ปฏิรูปกฎหมาย และองค์กร ที่มีหน้าที่ในการแก้ไขป้องกัน ปราบปราม การทุจริต

ปฏิรูประบบราชการและการกระจายอำนาจ ด้านโครงสร้างการบริหารราชการ

ปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม

ยิ่งลักษณ์หนุนข้อเสนอ 'เพื่อไทย' ตั้งกก.กลางสร้างปรองดอง

วันเดียวกันที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนพยานจำเลยครั้งที่ 12 คดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำข้าว เป็นการไต่สวนพยาน 3 ปาก ช่วงเช้า 2 ปาก คือ บุคคลจัดหาผู้ตรวจสอบบัญชี ตำรวจที่จับกุมคดีเกี่ยวกับจำนำข้าว และช่วงบ่าย คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี

ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ Yingluck Shinawatra

ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์กรณีเรียกเก็บภาษีจากหุ้นชินคอร์ปฯ  กรณีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษายึดทรัพย์ไปแล้ว 45,000 ล้านบาท ยังไม่รู้ว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้น การจะเรียกเก็บภาษีต่าง ๆ ทั้งที่ศาลฎีกาตัดสินไปแล้ว หวังว่าคงไม่ใช่การใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่ หรือกฎหมายที่ตัวเองมีอยู่ ไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง หรือเพื่อหาวิธีการทางกฎหมายไล่ล่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

“เห็นใจกันเถอะค่ะ ทุกอย่างดูจากมุมข้างนอก เราก็ยังไม่รู้ว่าในแง่ของรัฐบาล ในเรื่องข้อกฎหมายใด วิธีการใด รายละเอียดต่าง ๆ เราก็ยังไม่ทราบ ที่สำคัญมันเป็นเหมือนไล่ล่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็หวังว่ากฎหมายจะคำนึงถึงความยุติธรรม คำนึงถึงการที่จะบังคับใช้กับทุกคน อย่างเท่าเทียมกัน อย่าให้กฎหมายเป็นเครื่องมือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อไล่ล่า และเพื่อทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากขึ้น ดิฉันตั้งข้อสงสัยนี้ไว้ หวังว่าผู้ที่รักษากฎกติกาจะกระทำกับทุกคนอย่างเท่าเทียม” ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ส่วนรัฐบาลควรชี้แจงหรือไม่ว่าใช้กฎหมายข้อใดเพื่อความเป็นธรรมนั้น ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เชื่อว่าไม่ใช่แค่เพียงครอบครัวดิฉันหรือผู้ที่มีผลกระทบเท่านั้น เชื่อว่าประชาชนทุกคนคงอยากจะฟังคำชี้แจงจากรัฐบาล เราคงไม่อยากได้ยินคำว่าอภินิหารทางกฎหมายเกิดขึ้น เราอยากเห็นการใช้กฎหมายด้วยความสุจริตและเป็นธรรม

เมื่อถามย้ำว่าการดำเนินคดีหุ้นชินฯ จะกระทบการสร้างความปรองดองที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้หรือไม่นั้น ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นการไล่ล่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วไม่ได้เกิดความเสมอภาค  ก็ยังไม่เห็นว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราจะก้าวข้ามสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างไร เราเป็นผู้ที่ถูกกระทำอยู่ปลายทาง ผู้ที่ถือกติกาก็คงต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย

ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอตั้งกรรมการกลางเพื่อสร้างความปรองดอง ว่า เป็นเรื่องดี เพราะรัฐบาลต้องเปิดใจและในแง่การสร้างความบริสุทธ์ใจ อยากให้ผู้ที่มีความเป็นกลางมาร่วมดำเนินการด้วย เพื่อจะได้ไม่มองว่ารัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ถ้ามีกรรมการอิสระและเป็นกลาง ทุกคนจะเชื่อมั่นว่าคนที่เป็นกลางจะให้ความยุติธรรมถือเป็นสิ่งที่ดี และอยากสนับสนุนแนวคิดนี้

ส่วนกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบอยู่แล้ว  ซึ่งยังไม่ทราบว่าสิ่งที่สตง.จะส่งมาคืออะไร ขอให้ได้รายละเอียดก่อน

ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติแสดงความห่วงใยเรื่องการใช้มาตรา 44 ว่า เป็นความห่วงใยที่ส่งผ่านมานานแล้ว คงไม่ต้องพูดซ้ำ เชื่อว่ารัฐบาลทราบ แต่ทำอย่างไรที่รัฐบาลจะรีบคืนอำนาจให้กับประชาชน  อย่าใช้อำนาจที่มีอยู่ เพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะหากเกิดตรงนี้ได้ก็จะเกิดความเข้าใจและความสามัคคี

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย, มติชนออนไลน์, เฟซบุ๊กแฟนเพจ Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) และ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Yingluck Shinawatra

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท