Skip to main content
sharethis

วิษณุ แจงวางระบบการติดตามผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว พร้อมกำหนดให้มีผู้กำกับดูแลผู้ได้รับปล่อยตัวชั่วคราวให้เป็นไปตามเงื่อนไข โดยได้รับค่าตอบแทน 

แฟ้มภาพ

5 เม.ย.2560  ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)มาตรการกำกับและติดตามการจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราว ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ ด้วยเสียง 173 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ออกเสียง 1 โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย จากผู้เข้าร่วมประชุม 176 คน

โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ  ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลที่เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ว่าจากเดิมเมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาลแล้ว มักมีผู้หลบหนีและติดตามตัวได้ยาก เป็นจำนวนสูงถึง 5 พันรายต่อปี ดังนั้น สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเห็นว่า เมื่อมีระบบการติดตามผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว Electronic Monitoring : EM) แล้ว ควรจะมีผู้ติดตามระบบดังกล่าวโดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งอาจเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเอกชน โดยได้รับค่าตอบแทนซึ่งมาจากเงินค่าปรับตามคำพิพากษาในคดีอาญาที่ศาลมีอยู่แล้ว เพื่อติดตามดูว่าผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวทำตามเงื่อนไข และหากมีการหลบหนีสามารถให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมตัวได้ โดยผู้แจ้งความนำจับมีสิทธิได้รับเงินสินบน และเจ้าหน้าที่ผู้จับมีสิทธิได้รับเงินรางวัล

อย่างไรก็ตาม สนช.ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในการให้ประชาชนผู้ชี้เบาะแสได้รับเงินรางวัล รวมถึงมาตรการติดตามตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีในชั้นอื่น เช่น ชั้นการสอบสวน เป็นต้น ซึ่งจากนี้ สนช. กำหนดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเปิดให้มีการแปรญัติได้ภายใน 15 วัน และมีกรอบการดำเนินงาน 60 วัน

 

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net