ศาลฏีกานัดฟังคำพิพากษา 'ชาวบ้านบ่อแก้ว' จะถูกให้ออกจากที่ทำกินหรือไม่ 2 พ.ค.

ศาลฏีกานัดฟังคำพิพากษาคดีระหว่างองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฟ้องขับไล่ชาวบ้านบ่อแก้ว ออกจากพื้นที่ทำกินซึ่งตั้งรกรากถือครองทำประโยชน์มาแต่บรรพบุรุษ จะออกมาในรูปแบบใด ถือเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งในกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านจะถูกอพยพจากที่ทำกินเดิมอีกหรือไม่รู้ผล 2 พ.ค. นี้
 
 
กว่า 30 ปี ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ดิน และเกือบ 8 ปี หลังจากเข้ายืดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมาพร้อมกับพลิกฟื้นชีวิตและรักษาผืนดินให้มีความมั่นคง ยั่งยืน สืบทอดไปยันรุ่นลูกรุ่นหลาน
 
ซะตากรรมชีวิตชาวบ้าน ชุมชนบ่อแก้ว จะเป็นอย่างไร หลังจากวันที่ 2 พ.ค.2560 นายนิด ต่อทุน จำเลยที่ 1 พร้อมพวกรวม 31 คน เดินทางไปยังศาลจังหวัดภูเขียว เพื่อเข้านัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา  ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไปว่า คำพิพากษา คดีระหว่างองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน ออกจากพื้นที่ทำกินซึ่งตั้งรกรากถือครองทำประโยชน์มาแต่บรรพบุรุษ  จะออกมาในรูปแบบใด ถือเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งในกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านจะถูกอพยพจากที่ทำกินเดิมอีก หรือไม่
 
ในส่วนของพื้นที่พิพาทนั้น เกิดขึ้นนับแต่ ปี พ.ศ. 2521 หลังจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ในบริเวณเนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ อย่างไรก็ตาม การปลูกสร้างสวนป่าไม่ได้ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย คือบริเวณป่าเหล่าไฮ่ แต่ได้นำไม้ยูคาลิปตัสเข้ามาปลูกทับที่ดินทำกินชาวบ้าน  จนนำมาสู่ปัญหาส่งผลกระทบให้หลายครอบครัวถูกอพยพออกจากที่ทำกิน  ชาวบ้านจึงได้ออกมาเคลื่อนไหวมานับแต่นั้น กลายเป็นข้อพิพาทและมีการบังคับ ข่มขู่ คุกคาม  ระหว่าง ออป.กับชาวบ้าน
 
ในปี 2547 ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามทับซ้อนที่ดินทำกินใน 5 ตำบล ของอำเภอคอนสาร ได้ร่วมกันจัดตั้ง “เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน (สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน คปอ.) เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกินพร้อมกับผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย และได้ร่วมกันชุมนุมที่หน้าสำนักงานสวนป่าคอนสาร เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 9 – 11 พ.ย. 2547 เพื่อให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และคืนที่ดินทำกินให้แก่ผู้เดือดร้อน
 
ต่อมาได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีกลไกรัฐร่วมกับฝ่ายประชาชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานระดับท้องถิ่น ผลปรากฏการตรวจสอบมีความเห็นตรงกันว่า “สวนป่าคอนสารปลูกสร้างทับที่ดินทำกินของประชาชน ให้ยกเลิกสวนป่าแล้วนำที่ดินมาจัดสรรแก่ผู้เดือดร้อนต่อไป” อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติจาก ออป. แต่อย่างใด
 
 
ในส่วนของการถูกดำเนินคดี เกิดขึ้นหลังจาก ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนเข้าปฏิบัติการยึดพื้นที่พร้อมกับจัดตั้ง “ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ”  ขึ้นมาเพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ และเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การปกป้องสิทธิในที่ดินของชุมชน นอกจากนี้เพื่อรอคำตอบในการแก้ไขปัญหาสวนป่าคอนสารจากรัฐบาล ภายหลังจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า  ตามที่ชาวบ้านมีข้อเรียกร้อง คือ ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด ให้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนในรูปแบบโฉนดชุมชน และในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน จำนวนเนื้อที่ 1,500 ไร่
 
นอกจากนี้ การเข้ายึดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการผลิตทางการเกษตร เป็นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมและเป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมของชุมชน
 
 
ผลการต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในสิทธิที่ดินทำกิน กลับกลายเป็นที่มาของการถูกดำเนินคดี  โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้ใช้กระบวนการทางกฎหมาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขับไล่ นายนิด ต่อทุน และพวกรวม 31 คน เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2552  ข้อกล่าวหาว่าจำเลยและบริวารได้กระทำการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม จึงขอให้ศาลได้มีคำสั่งขับไล่ออกจากพื้นที่ พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และไม้ผลไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้
 
แต่ด้วยความที่ชาวบ้านมีหลักฐาน ร่องรอย การถือครองที่ดินที่ชัดเจน มาแต่ปี 2496 เช่น หลักฐานประเภทใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ สค. 1 ใบแจ้งการครอบครอง และร่องรอยการทำประโยชน์ในพื้นที่พิพาท อีกทั้งความไม่เป็นธรรมที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินได้สร้างปัญหาผลกระทบให้กับการดำรงชีวิต ดังนั้น ชาวบ้านต่างยืนยันจะปักหลักอยู่ในพื้นที่ทำกินเดิมของบรรพบุรุษ และเพื่อรักษาผืนดินให้ดำรงอยู่สืบต่อไปถึงลูกหลาน
 
เมื่อการต่อสู้เรียกร้องจากการถูกละเมิดสิทธิด้านที่ดินทำกิน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในวันที่ 28 เม.ย.2553  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลย ที่ 1 ถึง 31 และบริวารออกจากพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร กับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ที่ได้นำไปปลูกไว้ในพื้นที่พิพาท  ซึ่งจำเลยได้อุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไว้ชั่วคราว แต่ในขณะเดียวกันโจทก์ยื่นคำให้การแก้อุทธรณ์และคัดค้านคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีชั่วคราว กระทั่งวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการบังคับคดีชั่วคราวตามที่จำเลยยื่นคำร้อง และโจทก์ได้วางเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อติดหมายบังคับคดีในพื้นที่พิพาท ในวันเดียวกัน 
 
ทำให้ชาวบ้านได้เคลื่อนไหว โดยการเดินเท้าทางไกลจากคอนสาร ถึง กทม. ในวันที่ 4 ก.พ. – 16 มี.ค. 2554 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการให้ ออป.ถอนการบังคับคดี และเร่งประกาศพื้นที่โฉนดชุมชนในพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร  ตามที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้นมีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดินดังกล่าว
 
ผลการเจรจาระหว่างผู้แทนชาวบ้านกับ อ.อ.ป. ในวันที่ 2 มีนาคม 2554 นำมาสู่ข้อตกลง 3 ข้อคือ 1. ออป.จะไม่เร่งรัดบังคับคดี  2. การนำพื้นที่จำนวนประมาณ 1,500 ไร่ ไปดำเนินการโฉนดชุมชน ให้ผู้แทน ออป. สำนักนายกรัฐมนตรี และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน และ 3. การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ให้นำข้อกำหนดของ ออป.มาปรับปรุงให้เกิดการยอมรับร่วมกัน แต่การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชนให้แต่อย่างใด  นอกจากจำนวนพื้นที่เดิม (ประมาณ 86 ไร่) ที่ชาวบ้านร่วมกันยึดเข้ามาได้ในวันที่ 17 ก.ค.2552
 
กระทั่ง ในวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม 2555 จำเลยได้ฏีกา
 
 
จากผลกระทบดังกล่าว ถือเป็นความไม่เป็นธรรมเชิงนโยบายจากภาครัฐที่กระทำต่อชาวบ้าน โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งมิได้คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านแม้แต่น้อย นอกจากความพยายามอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ รวมถึงการใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ชาวบ้านต้องดิ้นรนต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม สภาพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ ชาวบ้านต้องแบกรับทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม คดีความ รวมทั้งสิทธิที่ถูกลิดรอนไป
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเข้ายึดพื้นที่ ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการยกระดับเป้าหมายไปสู่การพัฒนาระบบการผลิตในพื้นที่โดยกำหนดเป็น “หมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์”เพื่อทำหน้าที่พัฒนาพลังการผลิตของสมาชิก  และเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศ เพราะจากผลผลิตจำพวกกล้วย ตะไคร้ งา ถั่วแดง ข้าวโพดและพืชผักบางชนิด เป็นต้น ซึ่งเปรียบเทียบกับสวนป่ายูคาลิปตัสของ ออป. จะเห็นว่ามีความที่แตกต่างกันมาก อีกทั้งการผลิตของชาวบ้านบ่อแก้วสามารถพึ่งตนเองในระดับครอบครัว โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก และสามารถนำออกขายเป็นรายได้ในครัวเรือน
 
 
แม้ชุมชนบ่อแก้ว จะได้รับผลกระทบอีกครั้ง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2557 เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดประกาศ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 ให้ รื้อสิ่งปลูกสร้าง ผลอาสิน อพยพออกจากพื้นที่ ภายใน 30 วัน ชาวบ้านจึงเดินทางไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ  เพื่อเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (ผบ.กกล.รส.จว.ชย) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์การสหประชาชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเนื้อหาระบุว่า ขอให้ทบทวนพิจารณายกเลิกสั่งที่จะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่
 
 
ต่อมา ได้มีการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในวันที่  7 ต.ค. 2557 ณ อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล  มติที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร โดยให้มีการชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งจนกว่ากระบวนการพิจารณาแก้ไขปัญหาจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป
 
กว่า 30 ปี ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ดิน และเกือบ 8 ปี หลังจากเข้ายืดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมาพร้อมกับพลิกฟื้นชีวิตและรักษาผืนดินให้มีความมั่นคง ยั่งยืน สืบทอดไปยันรุ่นลูกรุ่นหลาน ซะตากรรมชีวิตชาวบ้าน ชุมชนบ่อแก้ว จะเป็นอย่างไร หลังจากวันที่ 2 พ.ค.2560 นายนิด ต่อทุน จำเลยที่ 1 พร้อมพวกรวม 31 คน เดินทางไปยังศาลจังหวัดภูเขียวเพื่อเข้านัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา  ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไปว่า คำพิพากษา คดีระหว่างองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน ออกจากพื้นที่ทำกินซึ่งตั้งรกรากถือครองทำประโยชน์มาแต่บรรพบุรุษ  จะออกมาในรูปแบบใด ถือเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งในกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านจะถูกอพยพจากที่ทำกินเดิมอีก หรือไม่
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท