Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เครื่องมือทันสมัยและเชื่อมต่อโลกกว้างขึ้น แต่เนื้อหาของสื่อออนไลน์รุ่นใหม่กลับหดแคบลง ตอบสนองแค่ชนชั้นกลางมีความรู้และมีกำลังซื้อในเมือง

มีบางคนพยายามบอกว่าเทรนด์ของสื่อออนไลน์จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับ The Matter หรือ The Momentum และล่าสุดอย่าง The Standard ที่เริ่มเปิดตัวอย่างคึกคัก แต่ให้ลองมองย้อนกลับไปในยุคที่ a day ก่อร่างขึ้นในบรรณพิภพนิตยสารไทย ก็มีคนบอกว่า นั่นเป็นเทรนด์ใหม่ของวงการนิตยสารไทย แล้วยังไงต่อ? เราก็เห็นแล้วว่า a day ก็แค่ดึงกลุ่มคนมีรสนิยมเฉพาะซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มีกะตังค์ไปเป็นลูกค้าประจำ โดยสร้างภาพให้วงศ์ทนงค์เป็นตัวแทนของคนหนุ่มขบถแห่งยุคสมัย แต่ถามว่านั่นคือเทรนด์ที่วงการนิตยสารเมืองไทยต้องปรับตัวรับกับยุค a day หรือเปล่า?... ก็แค่มีนิตยสารบางหัวที่พยายามปรับเนื้อหาไปสู้แย่งลูกค้ากับ a day แต่มันก็ยังไม่ใช่เทรนด์ที่นิตยสารไทยทั้งหมดต้องปรับตัวตามทั้งหมด ต่างสื่อต่างรักษาฐานคนอ่านของตัวเองเข้มแข็งขึ้น ยิ่งลูกค้ากลุ่มใหญ่ของ a day เป็นคนรุ่นใหม่ นักศึกษา ที่มีแนวโน้มความไม่มั่นคงในการควักกระเป๋าซื้อจึงไม่มีเหตุผลให้ต้องไปแย่ง (เอาเรื่องความนิยม ยังไม่ต้องพูดถึงความอยู่รอดทางธุรกิจที่เราก็เห็นกันอยู่ว่า a day เจียนอยู่เจียนไปหลายครั้ง และสุดท้ายต้องไปพึ่งร่มโพธิ์ของนายทุนใหญ่ หุ้นตั้งต้นเป็นแค่การสร้างเรื่องราวดราม่าให้แบรนด์เข้มแข็ง)

วันก่อนเห็นคนระดับบรรณาธิการของหนึ่งในสื่อออนไลน์รุ่นใหม่กล่าวในเชิงเหยียดหยันคนทำสื่อเก่าทำนองว่าไม่ทันโลก เขียนภาษาเยิ่นเย้อ ขาดการสังเคราะห์ คิดไม่เป็น (ราวๆ นั้น) พร้อมกับกล่าวว่า ไม่อยากแยกสื่อเก่า-ใหม่ เพราะมาจากฐานเดียวกัน แต่ใบสมัครที่ส่งเข้าไปไม่น่าสนใจพอ สำหรับผมมองว่านั่นคือข้อเขียนที่ทำให้เห็น "จุดแยก" กันอย่างชัดเจน ระหว่าง สื่อเก่า และ สื่อใหม่ ซึ่งสิ่งที่เขากล่าวอย่างผิดพลาดมาก คือเรื่องฐานเดียวกัน จะบอกว่าสื่อเก่ามีฐานระบบความคิดและการทำงานจากวารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์ แต่สื่อใหม่ไม่ใช่ กลุ่มคนทำสื่อใหม่ในระดับบรรณาธิการน้อยคนที่จะมีพื้นฐานจากการจบวารสารศาสตร์หรือสิ่งพิมพ์ (มีส่วนน้อยเท่านั้น) ไม่ได้เป็นนักข่าวเก่า ส่วนใหญ่เป็นคอลัมนิสต์บทความ บทวิจารณ์ ทำนิตยสาร เป็นนักเคลื่อนไหว หรืออาจเอกอุทางข้อเขียนด้านใดด้านหนึ่ง แต่ไม่ใช่นักข่าวในความหมายของคนทำข่าว ลงพื้นที่ เกาะติดปัญหา ผลักดันประเด็นให้บรรลุจุดมุ่งหมายของข่าว

ทำให้เห็นภาพชัดว่า สื่อเก่า-ใหม่จากคนละฐาน ดูเหมือนจะยึดมั่นกฎหมายและจริยธรรมสื่อคนละฉบับ ยิ่งสื่อออนไลน์รุ่นใหม่ดังที่กล่าวอาจให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มากกว่าจริยธรรมสื่อด้วยซ้ำ เพราะมุ่งผลทางธุรกิจมากกว่าการเปิดพื้นที่สื่อสารมวลชนจริงๆ

เพียงแค่มีคำว่า "สำนักข่าว" ปะหน้า ไม่ได้หมายความว่าจะมีฐานเดียวกัน มิติที่ลึกลงไปจนกลายเป็นคำถามสำคัญ เช่น กลุ่มผู้รับสารที่จำกัดเนื้อหาเฉพาะแคบเกินไปหรือไม่ (ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือพ่วงอินเตอร์เน็ตแล้วจะ "เข้าถึง" เนื้อหานั้นๆ ได้ทั้งหมด มีข้อจำกัดอีกมากมายที่ต้องนำมาพิจารณา เช่นภูมิความรู้ของผู้รับสาร มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นข่าว ประเด็นหลักของพื้นที่ของผู้รับสาร ฯลฯ เพราะประเด็นต่อมาคือ เนื้อหาดังกล่าว รับใช้ประชาชนผู้รับสารอย่างไร?)

อีกคำถามที่สำนักข่าวออนไลน์อาจคำนึงถึงน้อยเกินไป เช่น อะไรคือข่าว เนื้อหาตรงไหนเป็นข่าว ตรงไหนเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน เพราะทุกข้อเขียนล้วนเป็นการสังเคราะห์ใหม่ขึ้นทั้งสิ้น มีการเขียนโปรยนำให้น่าสนใจดึงดูดคนอ่าน มีการชี้นำในบางประเด็น เช่นในคำถามบทสัมภาษณ์ หรือเขียนบทสรุป เรียกง่ายๆ ว่า เป็นการถอดแบบรูปแบบการนำเสนอมาจากนิตยสารมากกว่าจะเรียกว่าสำนักข่าว

และที่น่าสนใจกว่านั้น คือคำถามว่าพวกเขาเอาเนื้อหาข่าวเหล่านั้นจากไหนมาสังเคราะห์ หยิบฉวยมาจากในหน้าเว็บสำนักข่าว "สื่อเก่า" หรือมีการส่งนักข่าวลงในสนามจริงๆ

เท่าที่ผมอ่านวิธีการทำงานของกองบรรณาธิการ The Momentum เก่า (หรือที่ยกคณะมาทำ The Standard ในปัจจุบัน) ก็เป็นการหยิบฉวยเอาข่าวในอินเตอร์เน็ตมาสังเคราะห์หรือเขียนขึ้นใหม่ในรูปแบบของตัวเอง และเมื่อมองโครงสร้างการทำงานของ The Standard ปัจจุบันที่อัดแน่นไปด้วย editor in chife ปราศจาก Reporter คือการสร้างเนื้อหาเพื่อหวังผลการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอบสนองผลทางธุรกิจ แต่ประโยชน์ของมวลชนคือใคร กว้างแค่ไหน แล้วได้อะไร?

สำนักข่าวของสื่อเก่าลงทุนไปเยอะในโครงสร้างองบรรณาธิการ เครื่องมือ การจ่ายเงินค่าข่าวและภาพข่าวของสตริงเกอร์ รวมทั้งข่าวและภาพข่าวของต่างประเทศ แต่ผมไม่แน่ใจว่าสัดส่วนเงินลงทุนของสำนักข่าวออนไลน์ส่วนไหนมากกว่ากันระหว่างการทำตลาด คนหาโฆษณา กับโครงสร้างกองบรรณาธิการ ค่าเนื้อหา แต่ผมมั่นใจว่าการจ้างกราฟิกมือดีมาทำภาพประกอบแทนคุ้มค่ากว่าการซื้อภาพข่าว

หากเทรนด์ของสื่อใหม่ไปในทิศทางที่สำนักข่าวออนไลน์พยายามกำหนด หากสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ไม่ปรับตัวก็อาจล่มสลายหายไปในไม่ช้า (มหาวิทยาลัยเดิมของผมเป็นตัวอย่าง เพราะยุบภาควิชาวารสารศาสตร์ไป แล้วตั้งหลักสูตรการสื่อสารมวลชนและนวัตกรรมสื่อขึ้นมาแทน)

แต่หากเทรนด์นั้นสนับสนุนให้มีการผลิตสื่อแบบ "เด็ดยอด" สังเคราะห์เนื้อหาที่ไม่ได้สร้างขึ้นเอง ไม่ได้ผลิตผู้สื่อข่าวขึ้นมา อนาคตเนื้อหาของสื่อจะวิ่งวนอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย ไม่มีการลงพื้นที่ ไม่มีการลงไปพบปะแหล่งข่าวชั้นต้น การหยิบเนื้อหาที่ถูกนำเสนอมาแล้ว เป็นเพียงข่าวมือสองที่ขาดมิติของพื้นที่โดยสิ้นเชิง

เป็นการฆ่าตัดตอน Reporter ให้ตายลงช้าๆ แต่มองเห็นอนาคตว่า News ก็ไม่ New อีกต่อไป

ผมเห็นด้วยว่า สื่อเก่าต้องปรับตัว ปรับรูปแบบและกลยุทธ์สู้กับยุคสมัยของเทคโนโลยีและผู้คนในโซเชียลมีเดีย แต่พื้นฐานเดิมยังเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้ข่าวเป็นข่าว คำนึงถึงประโยชน์ของมวลชนผู้รับสารและประชาชน ส่วนผู้สื่อข่าวต้องรู้เท่าทัน มีความรู้ที่ลึกและกว้างขวางขึ้น รู้ภาษา รู้วิธีการเขียนเพื่อให้เหมาะสมกับการกระจายข่าวในโลกโซเชียล

มีคนถามผมว่า สื่อเก่าจะตายหรือไม่ เพราะผู้คนพากันฝากความหวังไว้ที่สื่อใหม่และบรรดาเพจรับร้องทุกข์สายดาร์กที่ใช้ทุกวิถีทางแม้แต่ละเมิดกฎหมายเพื่อดำรงความยุติธรรมในสังคม เรื่องสื่อใหม่ดังที่ผมเขียนไปแล้ว แต่สำหรับเพจรับร้องทุกข์ ผมมองว่า หากไม่ใช่เพจที่คนในวงการข่าวทำขึ้นมาเอง แล้วปราศจากการรับช่วงต่อมานำเสนอของสื่อให้เป็นข่าวดัง การผลักดันให้การแก้ปัญหาบรรลุผลโดยสื่อ เพจเหล่านั้นจะมีคุณค่าแค่การนำเสนอประเด็น การระดมทุนช่วยเหลือเหยื่อเท่านั้นเอง อาจมีความดีอยู่ในเรื่องดังที่กล่าวและการอาทรต่อความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ แต่ต้องดูวิธีการเป็นกรณีเฉพาะไปจึงจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่(มีบางกรณีที่ละเมิดกฎหมาย เช่น การหมิ่นประมาท เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่น การพิพากษาคนผิดโดยยังไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ) ฉะนั้นการดูแคลนสื่อเก่าของบรรดาผู้คนที่ติดตามเพจเหล่านั้น คือคนที่ไม่เข้าใจอะไรเลย

ผมเขียนทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว หากไม่เห็นด้วยก็สามารถแย้งได้ ผมเขียนขึ้นเพื่อชี้ว่าสื่อเก่ายังมีความสำคัญ เรายังต้องการอ่านข่าวสดใหม่ไร้ปรุงแต่งและอคติ ต้องการเสพสกู๊ปดีๆ เข้าถึงพื้นที่และประชาชน ในยุคที่ประเด็นสำคัญยังกระจายอยู่ทั่วประเทศ เราต้องพึ่งพา Reporter ที่ดีและเท่าทันโลก ยังต้องการ Gatekeeper ที่ดี และประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ

ตราบจนกว่าเรามองไม่เห็นความสำคัญ นั่นคือถึงกาลล่มสลายของวารสารศาตร์ และการตายของ Reporter จะปรากฎอย่างแท้จริง.

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก ณรรธราวุธ เมืองสุข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net