Skip to main content
sharethis

‘ประจักษ์’ ชี้ โลกเข้าสู่ภาวะไร้ระเบียบ สังคมไทยผันผวนแตกแยก ไม่มีหลักยึดร่วม คาดหวังสื่อเปิดพื้นที่สาธารณะ ไม่เลือกนำเสนอหรือเซ็นเซอร์ เสนอ สื่อสาธารณะต้องปรับตัว เพิ่มรูปแบบนำเสนอ จรรโลงประชาธิปไตย ย้ำ เนื้อหาที่ดีคนยังต้องการ

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ: ภาพจากเพจ นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)

"ปี 1922 มีสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของโลกคือ BBC ปี 1924 มี NHK สถานีโทรทัศน์สาธารณะของญี่ปุ่น ปี 2004 เรามีเฟซบุ๊กใช้ และตามมาติดๆ ในปี 2005 เรามียูทูบ สถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อเกิดขึ้นตลอดเวลาและในปี 2008 ไทยเราจึงมีไทยพีบีเอสซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรก

รัฐประหารครั้งที่ผ่านมา ตอนสถานีโทรทัศน์โดนปิดไม่มีใครเดือดร้อน แต่เมื่อเฟซบุ๊กล่ม ประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมาความโกลาหลเกิดขึ้นในเฟซบุ๊กเต็มไปหมด สถานการณ์ที่ผ่านมาสิ่งแวดล้อม สังคม สิทธิมนุษยชน สื่อสังคม สื่อสาธารณะกำลังเปลี่ยนแปลงไป"

นี่คือการเกริ่นนำของโกวิท โพธิสาร ซึ่งดำเนินรายการคู่กับ หทัยรัตน์ พหลทัพ ในเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเชิงสร้างสรรค์ The Creative Forum “วงแชร์ : สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะประมาณไหน" ร่วมมองอนาคตใหม่สื่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 ณ ไทยพีบีเอส Convention Hall 2 อาคาร D ชั้น 2

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ภาพเกี่ยวกับสื่อที่เชื่อมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง เขากล่าวว่า ช่วงหลังนักคิดนักวิเคราะห์ได้บอกว่าเราเข้าสู่ New World Disorder คือโลกที่ไร้ระเบียบ มาพร้อมปรากฏการณ์หลายอย่าง ทั้ง Brexit กระแสความปั่นป่วนในยุโรป ความรุนแรงที่มาพร้อมการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ ความปั่นป่วนทางสังคม เศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อสื่อ ภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบันกระจัดกระจาย (fragmented)

ประการแรก เพราะการเปลี่ยนเทคโนโลยี การเกิดของสื่อใหม่ ทุกคนมีสื่อของตัวเองเป็น personal media และเข้าถึงสื่อในหลายรูปแบบ นักศึกษา 100 เปอร์เซ็นต์ที่ประจักษ์สัมภาษณ์ไม่ดูทีวีและอ่านหนังสือพิมพ์ แต่มีช่องทางรับรู้ข้อมูลข่าวสารใหม่

ประการที่สอง เพราะความผันผวนและความแตกแยกทางสังคม หลีกเลี่ยงไม่ได้ สื่อได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันสื่อก็ทำหน้าที่ฟีดกลับไปให้เกิดความแตกแยกด้วย

ประจักษ์ตั้งคำถามว่า เวลาพูดถึง ‘สาธารณะ’ เราคิดถึงตรงกันไหม บทบาทของเราจะตอบสนองแก่สาธารณะอย่างไร สาธารณะในปัจจุบันมีความแตกต่างหลากหลายสูง เห็นต่างกันได้ในทุกเรื่อง ในสภาพสังคมแบบนี้ สื่อสาธารณะอาจต้องตอบคำถามก่อนว่าจะสะท้อนเสียงของใคร

“วิกฤตในปัจจุบันเลยจากเรื่องการเมืองไปแล้ว การเมืองเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่ใต้ฐานของมันมาถึงจุดที่ว่าสังคมไทยไม่ได้มีคุณค่าหรือหลักการที่ยึดถือร่วมกันอีกต่อไป เราอยู่ในภาวะนี้มาประมาณสิบปี และคงจะอยู่ต่อไปอีกหลายปี” ประจักษ์กล่าว

เขากล่าวต่อว่า ในสภาวะแบบนี้สื่อโดยเฉพาะสื่อสาธารณะอาจต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง จึงมีความคาดหวังสูง บทบาทของสื่อสาธารณะในปัจจุบันในสังคมที่แตกแยกแตกต่างหลากหลาย หน้าที่สำคัญคือทำอย่างไรให้สื่อเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้เสียงที่แตกต่างหลากหลายขัดแย้งกันได้มีพื้นที่มาเจอและมาคุยกัน สื่อสาธารณะไม่ควรมีการตัดสินไว้ล่วงหน้า ไม่ควรเซ็นเซอร์หรือเลือกนำเสนอ ถ้าเริ่มจากจุดที่เรามีคำตอบและต้องการเทศนาว่านี่คือสิ่งที่ดี อาจเป็นการวางบทบาทของสื่อสาธารณะผิดพลาดไป ต้องทำหน้าที่สะท้อน voice of the voiceless แต่ในปัจจุบันสิ่งนี้อาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะการที่บอกว่าใคร voiceless บ้างก็มีปัญหาแล้ว

ประจักษ์กล่าวว่า จากการสนทนา ถกเถียง ในระยะยาวอาจจะหล่อหลอมวิสัยทัศน์ใหม่ของสังคมไทยร่วมกันก็ได้ อย่างน้อยก็หวังว่ามันเปิดพื้นที่เสรีภาพของความแตกต่างหลากหลายให้มาเจอกัน

“สื่อสาธารณะยังต้องมีอยู่แต่ต้องปรับตัว เพราะแม้จะมีเนื้อหาสาระดีแต่คนไม่สนใจก็ไม่มีประโยชน์ หรือถ้าทำในสิ่งที่คนรู้อยู่แล้ว ตอกย้ำความเชื่อเดิม ในมุมมองใดมุมมองหนึ่ง อันนั้นหน้าที่สื่อสาธารณะอาจจะไม่จำเป็น ไม่ต้องทำก็ได้” ประจักษ์กล่าว

ประจักษ์เสนอว่า อาจทำผ่านงานหลากหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นงานข่าวอย่างเดียว จะเป็นหนังหรือสารคดีก็ได้ เพื่อให้คนมาสนใจในสมรภูมิการแข่งขันของสื่อที่มีมากมาย เพื่อท้ายสุดให้เขาได้มองเห็นปัญหาสังคมในมุมใหม่ๆ มีจินตนาการใหม่ๆ ตั้งคำถามใหม่ๆ กับเรื่องที่เขาอาจรู้สึกคุ้นเคยอยู่บ้าง

เขากล่าวว่าดังนั้นหนังสือจึงไม่ตายเพราะคนต้องการคอนเทนท์ดีๆ ตอนหลังหนังสือที่ขายดีในงานหนังสือคือหนังสือที่มีคอนเทนท์ดี คนต้องการคอนเทนท์ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้น ถึงจุดหนึ่งคนอยากกลับมาหาสิ่งที่เขาอ่านแล้วได้ความรู้ ได้มุมมองใหม่ๆ ได้ความหนักแน่น ในยุคที่ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี นิวยอร์กไทม์หรือสื่อใหญ่ๆ คนกลับ subscribe มากขึ้น เพราะเขารู้สึกว่ามาอ่านจากสำนักข่าวแบบนี้ไม่เจอเฟคนิวส์ (fake news) แน่ หรือโทรทัศน์ช่องหลักคนกลับไปดูมากขึ้น

ประจักษ์เปรียบเทียบกับการสอนนักศึกษา ถ้าสอนสาระอย่างเดียวแล้วนักศึกษาหลับถือว่าล้มเหลว ไม่ได้หมายความว่าต้องตลกโปกฮากลายเป็นทอล์คโชว์ แต่ต้องกระตุ้น ต้อง engage ให้เขาเกิดความสนใจ เพราะเป้าหมายสุดท้ายคือทำให้เกิดการเรียนรู้ โจทย์ของสื่อกับการศึกษาก็คล้ายๆกัน คือสร้างการเรียนรู้สาธารณะ

สิ่งที่สื่อสาธารณะควรจะคิดคือ หนึ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้สาธารณะ สองสร้างพลเมือง สามจรรโลงประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ นึกถึงตัวเองแบบที่ไกลออกไปจากแค่การบอกเล่าข่าวข้อเท็จจริงอย่างเดียว บทบาทหน้าที่ตัวเองที่กว้างไกลมากขึ้น และพอคิดถึงตัวเองที่เป็นสาธารณะ อาจเอาตัวเองเข้าไปเชื่อมโยงกับองค์กรอื่น ชุมชน มหาวิทยาลัย ในการสร้าง public space ที่ตอบโจทย์กระบวนการทั้งสามอัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net