Skip to main content
sharethis

เผย 28 รายชื่อและประวัติการทำงาน คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หลังคณะรัฐมนตรีเคาะรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พบหลายรายชื่อมีส่วนเกี่ยวข้อง-ทำงานร่วมกับรัฐบาลทหารอย่างต่อเนือง รายชื่อทหารตำรวจ 11 ส่วนที่เป็นรัฐมนตรีปัจจุบัน 5 รายชื่อ

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 เว็บราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 โดยในมาตรา 12 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติ” โดยประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง 13 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 17 คน ซึ่งได้มาจาการตั้งแต่โดยคณะรัฐมนตรีภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาล คสช.

โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงความคืบหน้ากรณีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 17 คน ว่ารายชื่อที่มีอยู่ในเวลานี้มีมากกว่าที่เป็นข่าวมีทั้งคนที่เป็นและไม่เป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่สำคัญคือ ต้องมีความรู้ มีเวลา และเต็มใจทำงาน อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขอีกจุดคือ เรื่องอายุ เพราะพ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดว่าผู้ที่จะมาเป็นกรรมการต้องมีอายุไม่เกิน 75 ปี หลายคนที่มีความพร้อมและสังคมยอมรับ แต่กลับมีอายุเกิน หรือบางคนอายุ 74 ปีแล้ว สามารถทำงานได้แค่ปีเดียว ขณะที่ภาคประชาชน 3 – 4 วัน ที่ผ่านมามีการส่งรายชื่อมาหลายสิบคน โดยจะรวบรวมและเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาว่า “เคยทำอะไร มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันอย่างไรที่โดนใจนายกฯ”

โดยมาตรา 15 กำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจหน้าที่ดังนี้ 1.จัดทำร่างยุทธศาสตร์ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี 2.กำหนดวิธีการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และการมีส่วนร่วมในการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ และมาตรการส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 3. เสนอความเห็นต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 4.กำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยแผน และขั้นตอนการดำเนินการปฎิรูปประเทศ และ 5. ปฎิบัติหน้าที่อตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น นอกจากนี้ ยังสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ โดยแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ไม่เกิน 15 คน

ล่าสุดวันนี้ (29 สิงหาคม 2560) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบรองประธานคณะกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการยุทธศาสตร์โดยตำแหน่ง จะมีรายชื่อดังต่อไปนี้ (ดูตาราง)

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า ทั้ง 28 รายชื่อมีรายชื่อที่เป็นนายทหาร ตำรวจทั้งหมด 11 ราย และจำนวนมากเคยร่วมงานกับรัฐบาลภายใต้การนำของคณะรัฐประหารหรือ คสช. ขณะที่จำนวนหนึ่งเป็นกลุ่มนายทุนที่ร่วมงานกับรัฐบาลมาโดยตลอด พร้อมกันนี้ยังมี 5 รายชื่อที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไรก็ตามพื้นที่ของภาคประชาชนนั้นมีเพียง 1 คน คือ พลเดช ปิ่นประทีป

28 รายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

กรรมการโดยตำแหน่ง ตาม พรบ.ยุทธศาสตร์ชาติ 2560

ตำแหน่ง

ชื่อ นามสกุล

1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

2.ประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานคนที่ 1

พรเพชร วิชิตชลชัย

3.ประธานวุฒิสภา รองประธานคนที่ 2

(ยังไม่มีตำแหน่งประธานวุฒิสภา)

4.รองนายกฯหรือรัฐมนตรีที่นายกฯมอบหมายเป็น รองประธานคนที่ 3

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ

5.ปลัดกระทรวงกลาโหม  

พลเอกชาญชัย ช้างมงคล

6.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

พลเอกสุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์

7.ผู้บัญชาการทหารบก

พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท

8.ผู้บัญชาการทหารเรือ

พลเรือเอกณะ อารีนิจ

9.ผู้บัญชาการทหารอากาศ

พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง

10.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา

11.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

พลเอกวัลลภ รักเสนาะ

12.ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา

13.ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

14.ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

กลินท์ สารสิน

15.ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เจน นำชัยศิริ

16.ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก

17.ประธานสมาคมธนาคารไทย

ปรีดี ดาวฉาย

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ครม.

ชื่อ – นามสกุล

ตำแหน่ง

1.กานต์ ตระกูลฮุน

ประธานกรรมการเอไอเอส  อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด มหาชน / หลังรัฐประหาร 2557 เป็นคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ(ประชารัฐ) - คณะทำงานด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ  

2.ชาติศิริ โสภณพนิช

กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ / กรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ

3.เทียนฉาย กีระนันทน์

อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / หลังรัฐประหาร 2557 อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.)

4.บัณฑูร ล่ำซำ

ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย / หลังรัฐประหาร 2557 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ / ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ / คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

5.พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง

หลังรัฐประหาร 2557 เป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ / คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง

6.นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ / อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ / อดีตประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ชั่วคราว) / หลังรัฐประหาร 2557 เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ / คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ / คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

7.วิษณุ เครืองาม

หัวหน้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้กับคณะรัฐประหาร 2557 / ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ / คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง / รองนายกรัฐมตรีในรัฐบาล คสช.

8.ศุภชัย พานิชภักดิ์

เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD) / หลังรัฐประหาร 2557 เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ

9.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา / คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง / ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติและอดีตสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

10.สุวิทย์ เมษินทรีย์

เลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง / รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี /

11.พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา

สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบัน / รองประธานคณะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ / คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง / อดีตผู้บัญชาการทหารบก

12.อุตตม สาวนายน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม / ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก / อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net