Skip to main content
sharethis

คุยกับ เดชรัต สุขกำเนิด พบปัญหาในกระบวนการ EIA มีเยอะอยู่แล้ว แต่การเข้าแทรกแซงของ คสช. ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของ EIA น้อยลงไปอีก พร้อมทบทวนแนวทางการเคลื่อนไหวของ NGOs สายสิ่งแวดล้อม พวกเขาอาจรู้แล้วว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบ

ในช่วงกว่า 2 สัปดหาห์ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมกลับมาเป็นเรื่องที่ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจาก คสช. ออกคำสั่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองออกว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม ในเรื่องที่เชื่อมโยงถึงกันของการพัฒนา และสิ่งแวดล้อม อย่างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 4/2559 3/2559 และ 17/2558  รวมทั้งการเสนอให้มีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ กฎ ระเบียบ และเงื่อนไข โดยไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับกฎหมายสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้กระบวนการจัดทำและพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือ Bypass EIA ในพื้นที่ลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ และความพยายามเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐ หรือ PPP Fast Track  โดยให้ขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินการ เช่น การจัดเตรียมโครงการ การเสนอโครงการ การคัดเลือกเอกชน และการคัดเลือกโครงการ สามารถที่จะดำเนินการไปได้ก่อนที่รายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (FS) และ EIA จะผ่านการพิจารณา

ทั้งหมดนั้นเป็นความพยายามเข้ามาเปลี่ยนแปลงกติกาเพื่อเอื้อหนุนให้เกิดการลงทุน โดยมุ่งหวังการพัฒนา และความเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะเวลาที่รวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับการเดินเข้ามาคณะรัฐประหารซึ่งเคยประกาศว่า ต้องการจะเข้ามาปฏิรูปประเทศไทยในทุกๆ ด้าน เพื่อคืนความสุขให้กับคนไทยทั่วประเทศ ทว่าพวกเขากลับละเลย และมองไม่เห็นผลประโยชน์ของภาคประชาชนในระดับย่อยลงมา

หลังปี 2535 EIA ถูกเข้าใจด้วยสถานะที่เทียบได้ว่า เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของภาคประชาชน ที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนจากผลกระทบอันอาจจะเกิดจากโครงการต่างๆ ทั้งของภาครัฐ และเอกชน ทว่าเอาเข้าจริงแล้ว ตัวกระบวนการจัดทำรายงาน EIA การพิจารณาให้ความเห็นชอบ EIA ก็ยังคงมีปัญหาอยู่หลายประการ ซึ่งภาคประชาชนเล็งเห็นแล้วว่า ต้องมีการแก้ไข ปรับปรุง กฎหมายเพื่อให้ประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด แต่การเข้ามาของ คสช. พูดให้ถึงที่สุดแล้ว อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการผลักให้ปัญหามีอยู่แก้ยากขึ้นกว่าเดิม พร้อมกับเพิ่มปัญหาใหม่เข้าไปอีก

ประชาไทคุยกับ เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงประเด็นปัญหาของกระบวนการจัดทำรายงาน EIA แบบเดิม ทบทวนข้อวิจารณ์ต่อ NGOs สายสิ่งแวดล้อม ทำไมบางคนจึงหนุนรัฐประหาร ประเมินสถานการณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในยุค คสช. เมื่อทุกอย่างกำลังถูกทำให้แย่ไปกว่าเดิม

00000

 

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า EIA เริ่มเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร

มันมีมาตั้งแต่สมัยปี 2520 กว่าๆ เทคโนแครตบ้านเรารับเอาแนวความคิดเรื่องการทำ EIA มาจากสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นการรับที่เข้ามาได้ไว แต่ว่ายังเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติ คือยังไม่ได้มีกฏหมายบังคับว่าต้องทำ ก่อนหน้านี้อยู่ในสถานะที่ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ การบัญญัติเป็นกฎหมายครั้งแรกคือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ซึ่งในยุคนั้นทั่วโลกก็มีการพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งตอนนั้นเป็นยุครัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ได้มีการนำเอาความคิดเรื่องการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นหลักการสำคัญใน พ.ร.บ. ดังกล่าว

แต่ตัว พ.ร.บ. นี้ก็ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนมากนัก ยังไม่ได้มีการใช้คำว่าชุมชนแต่อย่างใด การใช้คำว่าชุมชน หรือสิทธิชุมชน เพิ่งจะมาเกิดขึ้นชัดเจนในรัฐธรรมนูญ 2540 ตอนนั้น EIA ที่เรารู้จักกันมันก็เลยพัฒนาขึ้นมาจากแนวปฏิบัติทางวิชาการ ขึ้นมาเป็นกฎหมายในปี 2535 และมาเป็นรัฐธรรมนูญในปี 2540 แต่ปัญหาก็คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้มีกำหนดเรื่องเวลาไว้ว่า จะต้องดำเนินการเรื่องของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงเรื่ององค์กรอิสระที่จะให้ความเห็นประกอบภายในเวลาเมื่อไหร่ จนกระทั่งถึงปี 2549 รัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปก็ไม่ได้มีการดำเนินการตามที่กล่าวมา

ปัญหาเรื่อง EIA มันได้รับการพูดถึงโดยภาคประชาสังคม ในลักษณะพูดถึงปัญหาของระบบ EIA ครั้งแรกก็ในยุคของเขื่อนปากมูล ตอนนั้นมีการทำ EIA ตั้งแต่ปี 2520 กว่า เป็นการทำที่ยังไม่ได้มีการกำหนดไว้เป็นกฎหมายด้วย มีการพูดถึงปัญหาที่มันเกิดขึ้นว่า แม้จะมี EIA ในตอนนั้นแล้ว แต่ปัญหาผลกระทบมันก็ยังเกิดขึ้น แต่นั่นก็ยังไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่เคลื่อนไหวให้เกิดสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญในปี 2540

สิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ 2540 มันเกิดขึ้นมาจากกระแสชุมชนในส่วนอื่นๆ มากกว่าเช่น เรื่องของป่าชุมชน และเรื่อง EIA ได้รับการตั้งคำถามมากขึ้นในช่วงเวลาที่มีเรื่องของ บ่อนอก บ้านกรูด ซึ่งมีการพบว่ามีความผิดพลาดในรายงาน EIA ก็เลยเกิดเป็นเสียงเรียกร้องที่กว้างขว้าง คือเป็นที่ทราบกันทั่วไป จนกระทั่งมาในช่วงรัฐบาลทักษิณ ได้มีการก่อตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีรัฐมนตรีคนแรกคือ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เขามีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องของ EIA โดยจะปฏิรูประบบ EIA กันใหม่ นับได้ว่าเป็นความพยายามครั้งใหญ่ ซึ่งได้ฉันทามติกันว่า จะต้องปฏิรูป แต่รายละเอียดก็ยังเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งตอนนั้นก็มีการคุยกันจนตกผลึกแล้ว เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว ได้รายงานความก้าวหน้าให้ทราบครั้งหนึ่งแล้ว และเตรียมจะเสนอครั้งสุดท้าย แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีก่อน เรื่องการปฏิรูประบบ EIA ก็เลยตกไป จนกระทั่งมาเกิดรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีการเขียนกำกับไว้ว่า สิทธิของประชาชนตามมาตรา 67 ประชาชนมีสิทธิที่จะฟ้องร้องเพื่อที่คุ้มครองสิทธิชุมชนของตนเอง ฉะนั้นก็สามารถที่จะฟ้องร้องดำเนินการได้หากรัฐไม่ยอมดำเนินการ ตรงนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของคดีมาบตาพุด รัฐธรรมนูญ 2550 มันก็เป็นพัฒนาการขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง

หลังจากมีคดีมาบตาพุด ก็นำมาซึ่งประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่เป็นโครงการรุนแรง(กําหน ดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่ง แวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ) คือมีการกำหนดว่าโครงการประเภทไหนรุนแรงบ้าง และก็กระบวนการในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กำหนดให้มีการรับฟังความเห็น แล้วสุดท้ายก็กำหนดให้มีการตั้งองค์อิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

กระบวนการการจัดทำรายงาน EIA ที่เรามีอยู่ตอนนี้มันฟังก์ชั่นอยู่ไหม มันเวิร์คหรือไม่

มันมีปัญหาอยู่หลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องความน่าเชื่อถือของผู้จัดทำรายงาน เพราะปัจจุบันนี้ต้องรับเงิน หรือต้องทำงานตามที่เจ้าของโครงการกำหนด เพราะโดยสัญญาระหว่างเจ้าของโครงการกับผู้จัดทำรายงาน EIA ส่วนมากมันมีเงื่อนไขว่า หากทำรายงาน EIA แล้วไม่ผ่านการพิจารณาก็อาจจะไม่ได้รับเงิน มาจนถึงเรื่องของผู้ตรวจรายงาน EIA ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการก็ตรวจจากเอกสาร ส่วนมากไม่ได้ลงพื้นที่จริง และนอกจากนี้คณะกรรมการผู้ชำนาญการบางส่วน หรือในบางกรณีก็มีความทับซ้อนของผลประโยชน์ คือมีลักษณะที่เป็นตัวแทนของโครงการที่พิจารณา

แล้วยังมีปัญหาอีกว่า การพิจารณาร่างรายงาน EIA ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการไม่เปิดโอกาสให้สาธารณะชนได้เห็นตัวร่างรายงาน EIA แล้วรับเอาข้อเสนอของประชาชนทั้งหลายมาพิจารณาก่อนให้ความเห็นชอบกับรายงาน คือในต่างประเทศตัวร่างรายงาน EIA จะต้องเปิดเผยให้ประชาชนตรวจทานว่าตรงไหนถูก ตรงไหนผิด แล้วเอาผลจากประชาชนซึ่งอาจจะถูก หรือไม่ถูก ส่งให้กับกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาสุดท้ายอีกรอบหนึ่ง แต่ในเมืองไทยประชาชนจะไม่ได้เห็นก่อนเลย เราจะได้เห็นก็ต่อเมื่อรายงาน EIA ได้รับการเห็นชอบแล้วเท่านั้น

ถ้าเขาบอกว่า ถ้าให้ประชาชนก็อาจจะอ่านไม่เข้าใจอยู่ดี

ปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงนั้น ได้เห็นก่อนแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง กับไม่ได้เห็นเลยมันต่างกัน ประชาชนเขามีความพยายาม มีความตื่นตัวมากพอที่จะทำความเข้าใจเรื่องที่จะส่งผลกระทบกับตัวเขา อย่างน้อยในช่วงแรกเขาได้รับร่างรายงานมา ก็อาจจะให้ผู้เชี่ยวชาญที่รู้จักช่วยดู จากนั้นก็เริ่มที่จะเรียนรู้เองได้ แต่ปัญหาตอนนี้คือ มันไม่มีมาให้เห็นก่อน

อย่างข้อเรียกร้อง ข้อเสนอที่ต้องการให้มีองค์กรอิสระเข้ามาดูเรื่องกระบวนการทำ EIA ช่วยอธิบายได้ไหมองค์นี้จะทำหน้าที่อะไร

จริงๆ ข้อเสนอเรื่ององค์กรอิสระมันมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีคำว่าองค์อิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะช่วยทำให้การให้ความเห็นเป็นไปโดยรอบคอบมากขึ้น โดยการให้ความเห็นประกอบ ไม่ใช่ให้ความเห็นชอบ หมายถึงว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะฟัง แล้วคิดอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องให้องค์กรอิสระเรื่องสิ่งแวดล้อมฯ ให้ความเห็นประกอบก่อน ถ้าเป็นภาษาทางหมอเขาเรียกว่าเป็น Opinion คือก่อนที่เราจะผ่าตัดอะไร ก็ควรจะได้ฟังความเห็นของหมอท่านอื่นๆ ตกลงแล้วการรักษาด้วยวิธีนี้มันจะมีผลดีไม่ดีอย่างไร หรือมีผลข้างเคียงอย่างไร ก็เหมือนกัน

ถ้าดูจากแนวโน้มหลังรัฐประหาร 2557 มีคำสั่งต่างๆ ออกมามากมาย ซึ่งพยายามเข้ามาแทรกแซงกระบวนการตามกฎหมาย ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น การทำ Bypass EIA หรือโครงการ PPP Fast Track การไม่บังคับใช้กฎหมายผังเมืองในบางพื้นที่ หรือการปล่อยให้รัฐดำเนินการต่างๆ ไปก่อนได้ ขณะรอผลพิจารณา EIA คำสั่ง คสช. ที่ 9/2559 สิ่งเหล่าส่งผลอย่างไรบ้าง

มันทำให้ความน่าเขื่อถือของ EIA ยิ่งน้อยลงไปกว่าเดิม เดิมคนก็ตั้งคำถามอยู่แล้ว ไม่สบายใจอยู่แล้ว แทนที่คณะรักษาความสงบฯ และรัฐบาลจะไปแก้ไขกฎกติกาให้มันมีความเป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงปัญหาที่เจ้าของโครงการก็อาจจะเป็นห่วงเรื่องความล่าช้า แทนที่จะไปทำให้กฎกติการมันมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม กลับใช้วิธีการยกเว้น หรือ Fast Track ให้บางโครงการที่รัฐบาลต้องการจะเร่งรัด ให้ดำเนินการไปได้

ผมคิดว่าตรงนี้จะกลายเป็นปัญหาระยะยาวในสองส่วน อย่างแรกคือ โครงการพวกนี้เมื่อดำเนินการไปแล้วอาจจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา อย่างที่สองคือ ความน่าเชื่อถือของโครงการทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะโครงการเหล่านี้ที่ได้ประโยชน์โดยตรง และความน่าเชื่อถือของระบบ EIA ก็จะน้อยลงไปด้วย ประชาชนก็จะไม่ไว้ใจมากขึ้น

มันพาเราถอยหลังกลับไปไกลไหม กับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร

จะพูดว่าถอยหลังก็ได้ มันทำให้เราไม่มีกติตาที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนจะได้รับการปกป้องดูแลโดยกระบวนการที่เป็นธรรม

ในแวดวง NGOs หรือนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมได้มีการประเมินไว้ก่อนไหมว่า จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา

มีการประเมินว่า อาจจะมีความพยายามของฝ่ายนายทุน หรือเจ้าของโครงการทั้งหลาย ที่อยากจะทำให้ EIA มันเร็วขึ้น เราก็คิดว่าอาจจะมีการปรับขั้นตอนบางอย่าง ซึ่งยังเป็นการดำเนินการในกรอบของกฎหมายคือ ปรับแก้ไขกฎหมายที่มี แต่มันจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็ต้องว่ากันอีกที ด้านภาคประชาชนเองก็อยากจะเห็นการปรับแก้กฎหมายที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม และเห็นความเป็นธรรมมากขึ้น

แต่สิ่งที่เราเห็นคือ การใช้วิธีการยกเว้น EIA ในบางกรณี ซึ่งส่วนใหญ่หลายคนไม่ได้คิดว่ารัฐบาลจะเพิกเฉยต่อกติกา

มีกระแสวิจารณ์กันว่า NGOs สายสิ่งแวดล้อมมุ่งสนใจแต่ประเด็นของตัวเอง โดยที่ไม่สนใจเรื่องระบอบว่าจะเป็นประชาธิปไตย หรือไม่เป็นประชาธิปไตย คิดว่าเกิดจากอะไร

ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า อาจจะหมายถึงแค่บางคน เพราะ NGOs ด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนก็สนใจเรื่องการเมืองพอสมควร แต่จะได้รับการขยายผลหรือไม่มันอีกเรื่องหนึ่ง เช่นผมพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม และผมก็พูดเรื่องการเมือง แต่ว่าเวลาผมพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องพลังงาน สื่อก็อาจจะไปขยายความ แต่เวลาผมพูดเรื่องการเมืองสื่อก็อาจจะเห็นว่าผมไม่ใช่แหล่งข่าวที่ดี ฉะนั้นนักสิ่งแวดล้อมที่พูดเรื่องประชาธิปไตยส่วนหนึ่งก็อาจจะไม่รับการนำไปขยายความ คนทั่วไปก็อาจจะไม่ได้เห็น

ทีนี้คนบางส่วนที่เป็นอย่างข้อวิจารณ์จริงๆ  ก็อาจจะเป็นด้วย 2 เหตุ อย่างแรกก็อาจจะเพราะมีภารกิจที่อยู่หน้า ก็ค่อนข้างหนักอยู่แล้ว และเหตุที่สอง ผมคิดว่ามันไปสัมพันธ์กับความเชื่อมั่น หรือความมั่นใจที่มีต่อระบบประชาธิปไตย คือเขาไม่ค่อยแน่ใจว่าระบอบประชาธิปไตยจะให้คำตอบที่ดี เมื่อมันมีช่องทางที่เขาเคยเชื่อว่ามันสามารถเข้าถึงผู้มีอำนาจได้มากกว่า หรือคิดว่าผู้มีอำนาจอาจจะมีความคิดที่คล้ายคลึงกับเขามากกว่า  เขาก็อาจจะเพิกเฉยต่อระบอบประชาธิปไตย แล้วใช้โอกาสนี้ ซึ่งเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าถึงผู้ที่มีอำนาจนอกเหนือไปจากระบอบประชาธิปไตย แล้วจะทำให้งานด้านสิ่งแวดล้อมของเขาสำเร็จ แต่ข้อเท็จจริงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตอบชัดแล้วว่า ยังไม่สำเร็จ

ด้านหนึ่งที่ NGOs เขาหนีหากประชาธิปไตย อาจจะเพราะประชาธิปไตยที่เราเคยมีมันออกแบบมาแล้วมันยังไม่ตอบโจทย์สิทธิชุมชนได้ดี เขาก็วอกแวกหนีห่างออกไปจากประชาธิปไตย เหตุที่เป็นอย่างนั้น ถ้าให้ผมมอง หนึ่งคือเขามุ่งหวังประเด็นสิ่งแวดล้อมมากไปหน่อย จนไม่ได้สนใจประเด็นอื่นๆ และสองก็คือ ระบอบประชาธิปไตยมันไม่ได้ตอบโจทย์ให้กับเขาได้ ซึ่งสำหรับผมมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ มันไม่ใช่เหตุที่ว่าเราจะต้องเปลี่ยนเป็นระบอบเผด็จการ แต่ว่าเราก็ต้องแก้ปัญหาให้ได้ว่าทำไมระบอบประชาธิปไตยที่มีอยู่เดิมมันยังไม่ตอบโจทย์

อย่างนี้เรียกว่า อกหัก ซ้ำสองเลยได้ไหม ทั้งจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์-ทักษิณ และมาอกหักกับรัฐบาลประยุทธ์อีก

ถ้าคุณมองอย่างนั้นก็จะเรียกว่าอกหักก็ได้ แต่ว่าจริงๆ แล้วผมเข้าใจว่า ถ้าเรามองความเป็นประชาชน หรือความเป็นพลเมืองของเขาใหม่ เราก็อาจจะไม่ได้ฝากความหวังของเราไว้กับผู้มีอำนาจ เราก็ต้องพยายามทำเรื่องของเราต่อไป แม้ว่าผู้มีอำนาจไม่ว่าจะมาจากไหนก็อาจจะไม่ได้ฟังเราเลย

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าระบอบประชาธิปไตยมันใช่แค่การเลือกตั้ง หรือการดำเนินงานของรัฐบาล และรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น มันยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนากลไก หรือช่องทางที่จะสามารถทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วน เข้ามามีเสียงมีโอกาสในการตัดสินเรื่องสาธารณะได้ นี่เป็นภาระกิจของผู้ที่รักประชาธิปไตย อยากให้ประชาธิปไตยมันเข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมของสังคมไทย เราต้องทำให้เสียงของประชาชนมีความหมายมากขึ้น

การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยมันต้องตอบโจทย์ของประชาชนด้วย ไม่ใช่พูดถึงการได้มาซึ่งตัวแทนที่ชอบธรรมในรัฐสภา หรือรัฐบาลเท่านั้น การที่เราจะออกแบบระบอบการเมืองให้ตอบโจทย์ประชาชนได้เป็นเรื่องที่สำคัญ ทีนี้ที่เราคุยกันว่า พี่น้องอกหัก เพราะว่ารัฐบาลรัฐประหาร ไม่ได้มีแนวความคิดลักษณะเดียวกันกับพี่น้องนักอนุรักษ์ และไม่ได้แค่ไม่แนวคิดเดียวกัน แต่ยังตรงกันข้าม และไปเปลี่ยนกติกาที่จะอยู่ร่วมกัน ทำให้พี่น้องที่ทำเรื่องของการอนุรักษ์ยิ่งอยู่ยากขึ้นไปอีกนี่เรายังไม่ไม่ได้พูดถึงโอกาสที่คณะรักษาความสงบฯ อาจจะใช้มาตรา 44 ในการคุกคามผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล โดยที่ไม่ได้มีบรรทัดฐานชัดเจนว่า การแสดงความเห็นต่างแบบไหนที่ยอมรับได้ แบบไหนที่ยอมรับไม่ได้ มันก็ยิ่งทำให้พี่น้องซึ่งอาจจะเคยคิดว่ารัฐประหารคือ คำตอบ เข้าใจแล้วล่ะว่า มันไม่ใช่คำตอบ

แต่ทีนี้พี่น้องในฝั่งที่อยากจะให้ประชาธิปไตยกลับมา ผมคิดว่า พวกเขาอาจจะยังมีความรู้สึก ผิดหวังกับ พี่น้องกลุ่มที่ว่าไป ก็เลยแทนที่จะพูดเรื่องเขื่อน เรื่องการยกเว้นผังเมือง เรื่องการ Bypass EIA พี่น้องที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยส่วนหนึ่งกลับนิ่งเฉย หรืออาจจะสมน้ำหน้า ผมคิดว่าตรงนี้มันเป็นสองเรื่องที่ต้องแยกจากกัน พี่น้องฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องแสดงคำตอบว่า ไม่ว่าคุณจะเคยหนุน หรือไม่หนุนรัฐประหาร ซึ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้มันจะถูกตอบในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร ก็อาจจะบอกว่า ในระบอบประชาธิปไตยเราอาจจะไม่มีการยกเว้นผังเมืองง่ายๆ แบบนี้

ในเรื่องเป็นบุคคลเราพูดกันได้ ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่ในขณะนี้ท่าทีของพีน้องฝ่ายประชาธิปไตยส่วนหนึ่ง กลับไม่พูดปัญหาทั้งหมด และไม่ได้ชี้คำตอบด้วยว่า ในระบอบประชาธิปไตยจะแก้ปัญหาอย่างไร ในบางก็กรณีเรียกร้องให้มาขอโทษกันก่อนด้วย ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน การจะขอโทษหรือไม่ขอโทษ การจะต่อว่ากัน การมีความเห็นกันและกันผมยินดีนะครับ ทำต่อไป แต่เรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

ข้อมูลเพิ่มเติม

ประเภทโครงการหรือกิจการที่ต้องทำ EIA ตาม ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 1 , ฉบับที่ 1 (แก้คำผิด) , ฉบับที่ 2 , ฉบับที่ 3 , ฉบับที่ 4 , ฉบับที่ 5 , ฉบับที่ 6 และ ฉบับที่ 7   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net