นปช. แถลงแนวทางรื้อคดีสลายการชุมนุมปี 53 ชี้‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ ยังไม่พ้นผิด

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ชี้คำพิพากษาศาลฎีกา ไม่ได้ตัดสินว่า ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจศาล มองการวินิจฉัยศาลฎีกามีผลผูกผันให้รื้อคดีไปยื่นเรื่องต่อที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ย้ำหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อำนวยความยุติธรรมจะล่าล้านรายชื่อยื่นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งคณะกรรมการไต่สวน

ที่มาภาพจาก banrasdr photo

14 กันยายน 2560 ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, ธิดา ถาวรเศรษฐ และนพ.เหวง โตจิราการ ได้ตั้งโต๊ะร่วมกันแถลงข่าว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ตัดสินยกฟ้องอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ สั่งสลายการชุมนุมเสื้อแดงในปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจนนวนมาก เนื่องจากศาลเห็นว่าคดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอาญา พร้อมทั้งเผยถึงแนวทางการดำเนินการเพื่อรื้อฟื้นคดีความต่อไป

ณัฐวุฒิ กล่าวก่อนเริ่มต้นการแถลงข่าวว่า ขอขอบคุณฝ่ายความมั่นคงที่เข้าใจถึงรูปแบบการแถลงข่าว ว่าไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเห็นภาพรวมและเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนทุกกลุ่มเพื่อที่จะเรียกร้องความเป็นธรรม โดยไม่มีวาระทางการเมือง ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ผู้มีอำนาจเปิดใจกว้างแล้วปฏิบัติต่อทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคเท่าเทียม

ณัฐวุฒิ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการเรื่องคดีความกรณีการสลายการชุมนุมในปี 2553 ของกลุ่ม นปช. ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะตามล่า หรือทำลายใครเป็นการเฉพาะ แต่ทั้งหมดยืนอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงคือ มีคนถูกฆ่าตาย 99 ศพ ซึ่งเรื่องนี้ต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ คดีต้องไปถึงศาล โดยตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา นปช. ญาติผู้เสียหาย ทีมทนายความ นักเคลื่อนไหว และนักวิชาการหลายภาคส่วน ได้เรียกร้องให้มีการพิสูจน์ความจริงในกรณีดังกล่าว และได้มีการดำเนินการในทุกช่องทางที่กฎหมายเปิดให้ทำได้ แต่สุดท้ายเวลาผ่านไป 7 ปี เรื่องนี้มีสภาพไม่ต่างอะไรจากงูกินหาง ทุกอย่างต่อกลับมาเริ่มต้นใหม่ แล้วก็วนกลับมาอยู่ที่เดิม

ณัฐวุฒิ ระบุว่า การแถลงข่าววันนี้เป็นไปเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับคนเจ็บและคนตาย เกิดขึ้นสืบเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้มีการชี้ชัดถึงขอบเขตอำนาจศาล โดยระบุว่าการดำเนินคดีกับอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 นั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งขั้นตอนก็จะต้องไปเริ่มต้นในชั้นของ ป.ป.ช. ในฐานะพนักงานสอบสวน โดยพวกตนได้หารือกับฝ่ายกฎหมาย และหารือกับผู้รู้หลายท่าน จนในที่สุดก็นำมาสู่จุดที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันดังนี้

ที่มาภาพจาก banrasdr photo

“คำวินิจฉัยของศาลฎีกา ในกรณีดังกล่าวไม่ได้ตัดสินให้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ พ้นผิดแต่อย่างใด แต่เป็นการชี้เขตอำนาจศาล ซึ่งเราเคารพและน้อมรับ ดังนั้นการชี้เขตอำนาจศาลดังกล่าวยังได้ปรากฏชัดด้วยว่าคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ระบุให้ศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถรับฟ้องไว้พิจารณาได้ทั้งความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และเป็นผู้ก่อการหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดข้อหาฆ่าคนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 83 84 และ 288 ทั้งนี้คำพิพากษาศาลฎีกายังมีผลผูกพันต่อคู่กรณี ซึ่งหมายถึงทั้งโจทก์ และจำเลย และผูกพันองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในคำพิพากษานี้ได้แก่สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เมื่อผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกา มีผลผูกพันต่อบุคคลและองค์กรดังกล่าว ดังนั้นสำนักงานอัยยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงยังคงมีหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาต่อไป ไม่ได้หมายความว่า ศาลฎีกาพิพากษาแล้วทุกคน ทุกฝ่ายแยกย้ายกลับบ้าน ดังนั้นเราจึงมีแนวทางในการดำเนินการ แยกเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ 3 ประเด็น”ณัฐวุฒิ กล่าว

สำหรับประเด็นแรก ณัฐวุฒิ ระบุว่า ในสัปดาห์หน้า ทีมกฎหมาย พร้อมผู้เสียหายในคดีสลายการชุมนุม จะเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องให้อัยการสูงสุดส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนความผิดของจำเลยทั้งสองว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่

ณัฐวุฒิขยายความต่อไปว่า ในศาลอาญา ซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาออกมาแล้ว โจทก์ผู้ฟ้องคือ อัยการสูงสุด ดังนั้นเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องไปตั้งต้นที่ ป.ป.ช. จึงยังคงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการตามนั้น โดย นปช. จะไปถามอัยการสูงสุดว่าภายหลังจากที่ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษา สำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง หรือจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร ขณะเดียวกันจะเดินทางไปที่ ป.ป.ช. เพื่อเรียกร้องให้ ป.ป.ช. ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาด้วย เนื่องจากเห็นว่า ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่อยู่ในฐานะที่ต้องรับทราบคำพิพากษาของศาล และมีภาระหน้าที่ผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าว

ประการต่อมา ณัฐวุฒิ ระบุว่า หาก ป.ป.ช. อ้างว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้มีการไต่สวนพิจารณาและมีมติยกคำร้องไปแล้ว มิอาจหยิบยกคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ หากไม่มีพยานหลักฐานใหม่ ทาง นปช. ก็จะชี้ให้เห็นว่าในคำพิพากษาของศาลฎีกาได้ปรากฏพยานหลักฐานใหม่ขึ้นแล้ว

“ในคำพิพากษาศาลฎีการะบุชัดว่า ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในระหว่างวันที่ 7 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน สาเหตุที่มีบุคคลถึงแก่ความตายตามฟ้องข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.17 อันนี้หมายถึงการระบุสาเหตุการเสียชีวิตในพื้นที่ต่างๆ และมีผู้ได้รับอันตรายสาหัสตามฟ้องข้อ 3 เกิดจากการปฏิบัติการทางทหารในการผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุมนุม กระชับพื้นที่ หรือขอคืนพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริง กระสุนปืนจริงตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ดังนั้นเมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาได้ปรากฏชัดอย่างที่ผมได้อ่านให้ท่านฟัง เท่ากับว่านี่เป็นพยานหลักฐานใหม่ ซึ่ง ป.ป.ช. จะต้องหยิบยกเข้าสู่กระบวนการพิจารณาไต่สวนใหม่ว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ อันนี้ชัดนะครับว่า ศาลฎีกาชี้ว่าที่มีการบาดเจ็บล้มตาย เพราะเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธจริง กระสุน จริงตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ณัฐวุฒิ กล่าว

ณัฐวุฒิ ระบุว่าประเด็นต่อมาที่ นปช. เห็นว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่คือ การไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือไต่สวนสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิตหลายราย และมีข้อวินิจฉัยชี้ว่า เสียชีวิตจากกระสุนปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ โดยสำนวนการไต่สวนทั้งในกรณียังไม่ได้ปรากฏในกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ซึ่งได้ยกคำร้องไปแล้วในรอบแรก

“ประเด็นนี้จึงเป็นพยานหลักฐานใหม่อีกข้อหนึ่ง ซึ่ง ป.ป.ช.ควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา นอกจากนั้นสิ่งที่จะเป็นพยานหลักฐานใหม่ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดที่จะต้องแสวงหาและรวบรวมนำส่งต่อ ป.ป.ช. เพราะอัยการสูงสุดจะปฏิเสธการดำเนินการอันเป็นผลผูกพันจากคำพิพากษาศาลฎีกามิได้” ณัฐวุฒิ กล่าว

ณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่า เมื่อมีดำเนินการตามที่ระบุไว้ และ ป.ป.ช. หยิบยกคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่แล้วชี้มูลความผิดจำเลยทั้งสองราย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อัยการสูงสุดจะมีหน้าที่นำคำฟ้องเดิมในข้อหาฆ่าคนตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 83 84 และ 288 มายื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองร่วมไปด้วยได้

“โดยหลักการคำฟ้องของอัยการสูงสุดในคดีฆ่าคนตายยังมีผลอยู่ คำวินิจฉัยของศาลฎีกามิได้ยกฟ้องต่อคำฟ้องดังกล่าวของอัยการสูงสุดแต่อย่างใด แล้ววินิจฉัยชัดเจนลงไปด้วยว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถพิจารณาข้อหา หรือฐานความผิดอื่นนอกไปจาก 157 ได้” ณัฐวุฒิ กล่าว

ประการต่อมา ณัฐวุฒิ ระบุว่า หากมีการพบว่าการดำเนินการดังกล่าวทั้งในส่วนของอัยการสูงสุด และ ป.ป.ช. เป็นไปโดยไม่สุจริต นปช. จะใช้สิทธิดำเนินคดีกับทั้งสององค์กร ในทุกบทบัญญัติของกฎหมาย เช่นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และในส่วนของ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 236 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า หากเห็นว่ามีปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริตก็สามารถรวบรวมรายชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่าสองหมื่นคน ยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อยื่นต่อประธานศาลฎีกา เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนสาธารณะต่อกรรมการ ป.ป.ช. ได้

ที่มาภาพจาก banrasdr photo

“อย่างที่ผมบอกมาตลอดว่า ช่องทางนี้หากต้องดำเนินการจะดำเนินการในสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วเราเห็นว่าสองหมื่นคน เสียงเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนเจ็บคนตายซึ่งผ่านไป 7 ยังไม่รู้ว่าจะไปเอาผิดกับใครอาจเบาเกินไป ถ้าต้องไปถึงตรงนั้นก็ต้องรวบรวมกันหนึ่งล้านรายชื่อ” ณัฐวุฒิกล่าว

ต่อมาในประเด็นที่ 2 ณัฐวุฒิระบุว่า หากการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมาไม่ปรากฏความยุติธรรมขึ้น จะมีการดำเนินการโดยให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในทุกจุด ทุกเหตุการณ์ที่มีการสูญเสีย จากการสลายการชุมนุมในปร 2553 ซึ่งจะเป็นการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. เนื่องจาก ป.ป.ช. ได้ชี้ช่องเอาไว้ในการลงมติไม่ชี้มูลความผิดกรณีอภิสิทธิ์ และสุเทพสั่งสลายการชุมนุม โดยการดำเนินการในขั้นตอนนี้ สามารถทยอยยื่นฟ้องได้เป็นรายกรณีตามความพร้อมของพยานหลักฐาน

“ผมอยากจะเรียนไปยังพี่น้องประชาชนทั้งประเทศว่า เรื่องนี้เราไม่มีเป้าหมายแอบแฝงทางการเมือง เรื่องนี้เราจะไม่เคลื่อนไหวเดินขบวน จะไม่มีการปลุกปั่น ปลุกระดมใดๆ แต่ถ้าปลุกได้ ผมอยากปลุกสังคมไทยด้วยความจริงของคดีนี้ ให้ตื่นขึ้นมารับรู้ ว่าคนถูกฆ่าตายเป็นร้อย มือเปล่าๆ กลางเมืองหลวง ผ่านไป 7 ปี ยังเข้าถึงความยุติธรรมไม่ได้ ที่เจ็บปวดไปกว่านั้นคือผ่านไป 7 ปีแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ความยุติธรรมจะมาถึงเมื่อไหร่ เราเพียงต้องการให้คดีที่คนถูกฆ่าตายเป็นร้อยไปถึงศาล เมื่อไปถึงศาลแล้วกระบวนการพิจารณาและคำพิพากษาเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องที่พวกเราพร้อมจะเคารพ แน่นอนที่สุดว่าเรามีความจำเป็นต้องเปรียบเทียบการใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานสำคัญอย่าง ป.ป.ช. ในสองกรณีคือ กรณีสั่งฟ้องนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ์ ในการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรเมื่อปี 2551 กับการกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ปี 2553 แต่การเปรียบเทียบนี้ไม่ได้ประสงค์ให้เกิดการกระทบกระทั่งบาดหมาง แตกแยก ระหว่างกลุ่ม นปช. กับกลุ่มพันธมิตรแต่อย่างใด มิได้จะต้องการทับถมผู้บาดเจ็บ หรือสูญเสียในการเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรแต่อย่างใด เพราะผมคิดว่าถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น นปช. ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตร หรือไม่ว่าจะเป็นมวลชนเคลื่อนไหวกลุ่มใดก็ตาม สมควรที่จะทบทวนทุกอย่างที่ผ่านมาแล้วมีข้อสรุปร่วมกันได้ว่า เราไม่ได้เป็นศัตรูกัน แท้ที่จริงแล้วเราทั้งหลายต่างเป็นเหยื่อของความขัดแย้งนี้”ณัฐวุฒิ กล่าว

“ขอยืนยันอีกครั้งว่า การเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้ประสงค์จะท้าทายอำนาจ หรือท้าทายใดๆ ต่อผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ไม่ได้มีความต้องการที่จะไปผลักดันโค่นล้มอะไรต่ออำนาจของท่าน หากผมจะท้าทาย ผมจะท้าทายต่อความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมไทยว่า คนตายเป็นร้อยแล้วคดีไม่ถึงศาล ท่านยอมรับได้ไหมว่านี่คือความยุติธรรม ผมพูดมาตลอดนะครับว่า นปช. ไม่ได้มีความขัดข้องหรือเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง แต่ความปรองดองของชาติต้องมีความยุติธรรมเป็นเสาเข็ม หากไร้ซึ่งความยุติธรรมไม่มีทางที่จะเกิดความปรองดองขึ้นมาได้ ที่ผ่านมาเราพยายามแบกรับความอยุติธรรมอย่างถึงที่สุด แต่พวกผมก็เป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมันไม่มีใครก้มหน้ารับความอยุติธรรมได้ตลอดไป ดังนั้นทุกอย่าง ทุกช่องทาง ที่กฎหมายเปิดให้ทำได้พวกผมจะทำ และถ้าหากกระยวนการยุติธรรมยื่นมือมารับคดีนี้เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล พวกผมก็พร้อมจะเป็นประชาชนผู้ซึ่งติดตามการพิจารณาคดีด้วยความสงบเฉกเช่นประชาชนคนไทยทั่วๆ ไป”ณัฐวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ในเอกสารประกอบการแถลงข่าวของ นปช. ในย่อหน้าสุดท้ายระบุไว้ด้วยว่า “อนึ่ง แนวทางการใช้มาตรา 275 ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เป็นอีกหนึ่งช่องทางซึ่งจะพิจารณา ดำเนินการหากชั้น ป.ป.ช และอัยการไม่ประสบผล”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท