Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ออกแถลงขอให้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วยการแยกงานสอบสวนเป็นอิสระจากตำรวจ ย้ำแยกงานสอบสวน ถือเป็นหัวใจของการปฏิรูปตำรวจ 

21 ก.ย. 2560 จากกรณีวานนี้ (20 ก.ย.60) พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร อนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แถลงข่าวล่าสุดว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจได้มีมติให้คงงานสอบสวนไว้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่จะออกแบบให้มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อมิให้ผู้บังคับบัญชาฝ่ายตำรวจสามารถสั่งการหรือแทรกแซงการสอบสวนได้ และกล่าวว่าอนุกรรมการที่ตนรับผิดชอบเห็นว่าการสืบสวนและสอบสวนจะแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะจะเป็นการรื้อโครงสร้างตำรวจที่มากเกินไปนั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดวันนี้ (21 ก.ย.60) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร) Police Watch ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 6 เรื่อง ขอให้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วยการแยกงานสอบสวนเป็นอิสระจากตำรวจ โดยระบุว่า การแถลงของ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ดังกล่าว ได้สร้างความสับสน และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดอย่างมากว่าการเรียกร้องของคป.ตร.ที่ต้องการให้แยกฝ่ายงานสอบสวนออกมาเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นจะทำให้การทำงานสืบสวนสอบสวนตัดขาดออกจากกัน  ขอยืนยันว่า การให้งานสอบสวนแยกออกมาเป็นอิสระหรือให้อัยการควบคุมตรวจสอบสำนวนคดีสำคัญตั้งแต่เกิดเหตุนั้น ไม่ได้ทำให้ความร่วมมือของฝ่ายสอบสวนแยกจากงานสืบสวนแต่อย่างใด  ซึ่งปัจจุบันคดีที่เกิดขึ้นกว่าร้อยละ 99 พนักงานสอบสวนก็สืบสวนกันเองกันทั้งสิ้น และหากคดีใดจำเป็นก็สามารถจัดชุดสืบสวนพิเศษเข้าช่วยได้เป็นครั้งคราวได้ ส่วนงานสืบสวนเพื่อป้องกันอาชญากรรมของสถานีตำรวจในลักษณะเดียวกับตำรวจสายตรวจก็ยังคงปฏิบัติเหมือนเดิม  แต่เป็นการเรียกร้องให้การสอบสวนมีความเป็นอิสระภายใต้โครงสร้างใหม่ เพื่อไม่ให้มีการแทรกแซง สั่งบิดเบือนสำนวนคดี หรือทำสำนวนให้สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องได้ตามอำนาจและอิทธิพลต่างๆดังที่เป็นปัญหามาโดยตลอดระยะเวลาหลายสิบปี

คป.ตร ระบุด้วยว่า ในการปฏิรูปตำรวจจะต้องดำเนินการรื้อโครงสร้างที่สำคัญ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การคอร์รัปชั่น และต้องเป็นการปฏิรูปที่มีผลให้เห็นเป็นที่ประจักษ์สามารถแก้ไขปัญหาให้คนทั้งชาติอย่างเป็นมรรคเป็นผล ตามเจตนารมณ์ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 258 (ง) จึงจะเรียกว่าการปฏิรูป ซึ่งกำหนดให้เป็นภาระหน้าที่ที่กรรมการปฏิรูปตำรวจทั้ง 36 คนต้องปฏิบัติตามอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรหาเหตุหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการปฏิรูปอีกต่อไป

หากยังให้งานสอบสวนยังอยู่กับตำรวจเหมือนเดิม ไม่มีหลักประกันเรื่องความเป็นอิสระ และยังพยายามเปลี่ยนแปลงเนื้อหาให้ทุกอย่างไม่ต่างไปจากเดิม รวมทั้งไม่มีวิธีปฏิบัติในการป้องกันการถูกแทรกแซงการสอบสวนคดีจากผู้บังคับบัญชาที่มีชั้นยศแบบตำรวจเท่ากับประเทศไทยไม่ต้องการการพัฒนา เปลี่ยนแปลง ไม่มีการปฏิรูปเกิดขึ้น ตามที่นายกรัฐมนตรีรับปากไว้ แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ และของรัฐบาลชุดนี้ที่เข้ามาใช้อำนาจปกครองประเทศยาวนานถึงเกือบสี่ปี

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ย้ำด้วยว่า การแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ ถือเป็นหัวใจของการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งได้ปรากฎอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงเสียงเรียกร้องของประชาชนในเรื่องนี้ ได้รับการเห็นชอบจนถูกบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ จึงขอให้คณะกรรมการปฏิรูปและนายกรัฐมนตรีดำเนินการปฏิรูประบบงานสอบสวนให้เป็นไปตามหลักสากลและเสียงเรียกร้องของประชาชนอย่างแท้จริงเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจว่าถูกคณะกรรมการ 36 คนหลอกลวง ตบตา และเสียเวลาแสดงความคิดเห็น แต่ไม่มีการรับฟัง  ซึ่ง คป.ตร.จะทำการประเมินการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจรอบ 3 เดือนแรกในวันที่ 1 ต.ค. นี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net