Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 10 ปี 'ขบวนการร่ม' (Umbrella Movement) ในฮ่องกง ที่เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2557 วันนี้แกนนำหลายคนถูกคุมขังด้วยกฎหมายความมั่นคง บางส่วนลี้ภัยไปต่างประเทศ ขณะที่บางคนยังเคลื่อนไหวในฮ่องกงแม้ถูกจำกัด แต่ก็มีกลุ่มใหม่ ๆ ผุดขึ้นมาสานต่อเจตนารมณ์ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของฮ่องกงในรอบทศวรรษ

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา นับเป็นวันครบรอบ 10 ปี การจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยที่เรียกว่า "ขบวนการร่ม" ในฮ่องกง ซึ่งในวันนั้นมีผู้ประท้วงของขบวนการได้ทำการปักหลักประท้วงตามพื้นที่สำคัญต่าง ๆ ในฮ่องกงเพื่อเรียกร้องให้มีสิทธิในการเลือกตั้งผู้นำของตัวเองได้ จากที่ทางการจีนอนุญาตให้ชาวฮ่องกงเลือกผู้ว่าของตนเองได้โดยต้องมาจากจากผู้แทนที่ถูกคัดเลือกโดยรัฐบาลกลางของจีนเท่านั้น

ขบวนการร่มในตอนนั้น คือในปี 2557 เป็นการประท้วงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 79 วัน ด้วยวิธีอารยะขัดขืน มีการชุมนุมปิดถนนสายใหญ่หลายสายซึ่งเป็นไปอย่างสันติโดยส่วนใหญ่ และแกนนำการชุมนุมในครั้งนั้นก็ได้รับโทษเบา แต่ข้อเรียกร้องทางการเมืองของพวกเขาก็ไม่เป็นผล

ต่อมาในปี 2562 ก็มีการประท้วงใหญ่ต่อเนื่องเกิดขึ้นในฮ่องกงอีกครั้งจากฝ่ายประชาธิปไตย แต่ในครั้งนี้มีการปราบปรามอย่างหนัก มีทั้งการกวาดต้อนจับกุมและมีผู้คนได้รับบาดเจ็บ มีการจับกุมผู้คนมากกว่า 10,000 คน และมีหลายร้อยคนที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก และในปี 2563 ทางการจีนก็ออกกฎหมายความมั่นคงฉบับของจีนที่ทำการปิดกั้นการแสดงออกต่อต้านอย่างเข้มงวด จนแทบจะไม่มีการแสดงออกต่อต้านในที่สาธารณะเกิดขึ้นในฮ่องกงอีกหลังจากนั้น

มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในการประท้วงที่เกิดขึ้นครั้งนั้น ตำรวจได้ใช้แก็สน้ำตายิงใส่กลุ่มผู้ประท้วงเพื่อสลายการชุมนุม นับเป็นครั้งแรกในรอบ 47 ปีที่ทางการฮ่องกงใช้แก็สน้ำตาในการสลายการชุมนุม ครั้งสุดท้ายที่พวกเขาใช้แก็สน้ำตาคือการจลาจลของกลุ่มฝ่ายซ้ายเมื่อปี 2510 แต่ผู้ประท้วงก็ยังไม่หยุดชุมนุมแม้จะถูกปราบปรามแต่ก็ยังชุมนุมต่อเนื่องในหลายจุดจนกระทั่งยุติการชุมนุมในเดือน ธ.ค. ของปีเดียวกัน

การประท้วงขบวนการร่มที่เกิดขึ้นยังเป็นจุดกำเนิดของแกนนำการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคน มีบางคนที่มีชื่อเสียงทั้งในฮ่องกงและในต่างประเทศ บางคนถูกจับกุม ดำเนินคดี หรือไม่ก็ลี้ภัยปต่างประเทศ หรือ ไม่ก็ถอนตัวจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเราจะชวนมาดูกันว่าในปัจจุบันคือปี 2567 แกนนำแต่ละคนอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไรบ้างแล้ว

โจชัว หว่อง

ตอนที่ โจชัว หว่อง เป็นแกนนำในการชุมนุมขบวนการร่มนั้น เขายังคงเป็นนักเรียนชั้นมัธยมและเป็นผู้นำกลุ่มนักเรียน "สกอลาริซึม" ในการประท้วงครั้งนั้นเขาถูกจับหลังจากที่นำผู้ชุมนุมเข้าไปที่จัตุรัสซีวิคหน้าทำเนียบรัฐบาล สองปีหลังจากนั้นเขาก็ถูกตัดสินลงโทษข้อหาร่วมชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย แต่อีกข้อหาหนึ่งคือข้อหาปลุกระดมผู้อื่นให้ชุมนุมอย่างผิดกฎหมายเขาไม่ได้รับโทษ ทำให้หว่องถูกลงโทษแค่ให้ต้องทำงานบริการสังคมเป็นเวลา 80 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามหลังจากการชุมนุมเมื่อปี 2562 หว่องก็ถูกจับกุมและปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว ก่อนที่ต่อมา ในเดือน มี.ค. 2564 จึงมีการดำเนินคดีหว่องข้อหากระทำการบ่อนทำลายอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นข้อหาจากกฎหมายความมั่นคงจีนที่ออกมาเมื่อกลางปี 2563

โดยที่หลังจากนั้นหว่องต้องถูกจำคุกด้วยข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประท้วง และขณะอยู่ในเรือนจำก็ต้องรอการตัดสินคดีในข้อหาบ่อนทำลายอำนาจรัฐ

นาธาน หลอ

เมื่อปี 2557 นาธาน หลอ เป็นสมาชิกสหพันธ์นักศึกษาฮ่องกง เขาถูกจับกุมในเรื่องที่บุกเข้าไปในจัตุรัสซีวิค และในเวลาต่อมาก็ถูกตัดสินลงโทษข้อหายุยงปลุกระดมให้ผู้อื่นเข้าร่วมการชุมนุมอย่างผิดกฎหมายที่จัตุรัสซีวิคด้วยการสั่งให้เขาต้องทำงานบริการสังคมเป็นเวลา 120 ชั่วโมง

ต่อมาในเดือน ก.ค. 2563 หลังจากที่ทางการจีนประกาศบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงกับฮ่องกง หลอก็ลี้ภัยไปสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2566 สำนักงานความมั่นคงของตำรวจฮ่องกงได้ออกหมายจับหลอและนักกิจกรรมประชาธิปไตยอื่น ๆ อีก 12 รายที่อยู่นอกฮ่องกงโดยอ้างว่าพวกเขากระทำผิดกฎหมายความมั่นคง มีการตั้งรางวัลนำจับพวกเขา 1 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม หลอ ก็ยังคงดำเนินกิจกรรมด้านประชาธิปไตยจากต่างประเทศต่อไป ทว่าในเดือน สิงหาคม ที่ผ่านมา สภาประชาธิปไตยฮ่องกง (HKDC) ซึ่งเป็นกลุ่มในสหรัฐฯ ที่หลอร่วมก่อตั้งก็ได้ประกาศตัดสัมพันธ์กับหลอ มีการประเมินว่าน่าจะเพราะหลอเผชิญข้อกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศซึ่งเป็นข้อหาที่หลอปฏิเสธ

อเล็ก ชอว์

อเล็ก ชอว์ เป็นเลขาธิการใหญ่ของสหพันธฺนักศึกษาฮ่องกงในช่วงขบวนการร่ม เขาถูกจับในข้อหาบุกจัตุรัสซีวิคเช่นเดียวกับหว่องและหลอ เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาใช้เวลาช่วงสัปดาห์แรกปักหลักกินนอนอยู่ที่นอกอาคารสภานิติบัญญัติแล้วก็พบปะกับ สส.ฝ่ายประชาธิปไตย กับนักกิจกรรมและกลุ่มภาคประชาสังคมอื่น ๆ

ชอว์ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 3 สัปดาห์ในข้อหาเข้าร่วมการชุมนุมอย่างผิดกฎหมายโดยให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี ชอว์ได้เดินทางลี้ภัยไปที่สหรัฐฯ ซึ่งที่นั่นเขาได้ทำการวิจัยด้านภาคประชาสังคมฮ่องกงในฐานะงานวิจัยปริญญาเอกสาขาวิชาภูมิศาสตร์ รวมถึงยังเป็นกรรมการบอร์ดสภาประชาธิปไตยฮ่องกงด้วย ชอว์บอกว่าเขาไม่คิดจะกลับไปที่ฮ่องกงอีก และรู้สึกแย่ที่กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ทำให้ฮ่องกงไม่มีพื้นเหลือให้มีการเคลื่อนไหวใหญ่ ๆ หรือการถกเถียงกันเพื่อปฏิรูปประชาธิปไตยอีกต่อไป

เบนนี ไท

เบนนี ไท เป็นศาสตราจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง และเป็นประธานของกลุ่มการเคลื่อนไหว Occupy Central With Love and Peace (แปลตรงตัวว่า "ยึดย่านใจกลางด้วยความรักและสันติภาพ") ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวแนวสันติวิธี เขาเป็นที่รู้จักดีในฐานะนักกิจกรรมขบวนการร่มช่วงการประท้วงปี 2557

ไท ถูกสั่งดำเนินคดีฐาน ปลุกระดมให้มีการก่อความวุ่นวายในสังคม และ ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในสังคม และในตอนนี้ก็เป็นหนึ่งในหลุ่มนักกิจกรรมประชาธิปไตยที่ถูกสั่งลงโทษ แต่ไทถูกกล่าวหาโดยอัยการว่าเป็น "ตัวการใหญ่" ในการบ่อนทำลายอำนาจรัฐ เขามีโอกาสเผชิญโทษจำคุกตลอดชีวิต

ไทได้รับการปล่อยตัวด้วยเงินประกันตัว 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง และด้วยเงื่อนไขต้องมอบเอกสารเดินทางให้ทางการ ในเดือน ก.ค. 2563 สภามหาวิทยาลัยฮ่องกงยังได้ตัดสินใจไล่เบนนี ไท ออกจากการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยด้วย

มีใครอีกบ้างที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ

ชาน คินแมน เป็นอีกคนหนึ่งที่นำการประท้วงยึดย่านใจกลางร่วมกับ ไท และ ชูหยิ่วหมิง

ชาน เป็นศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไชนีสแห่งฮ่องกง หลังการประท้วงเขาก็เผชิญกับการดำเนินคดีเช่นเดียวกัน ทั้งชานและชูต่างก็และถูกตัดสินให้จำคุก 16 เดือน เขาเคยให้การว่าพวกเขาทั้งสามคนสูญเสียการควบคุมฝูงชนหลังจากที่กลายเป็นการประท้วงยึดถนนอย่างเต็มรูปแบบ

ชาน ได้ย้ายไปอยู่ที่อยู่ที่ไต้หวันเมื่อปี 2564 และได้ตำแหน่งศาสตราจารย์อาคันตุกะที่นั่น เขาสอนเรื่องประเทศจีนกับเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ต่อมาเขาถึงได้ไปร่วมกับวิทยาลัยการวิจัย อคาเดเมียซินิกา ที่กรุงไทเป

สำหรับ ชูหยิ่วหมิง เขาเป็นนักบวชคริสต์ที่มีประวัติทำงานช่วยเหลือคนด้อยโอกาส และเคยช่วยกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยหนีการปราบปรามของจีนในช่วงการเคลื่อนไหวเทียนอันเหมินปี 2532 ซึ่งมีการใช้ชื่อว่าปฏิบัติการนกเหลือง หลังการตัดสินผู้พิพากษาแสดงความประทับใจในความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมของชู ในคำตัดสินมีการผ่อนผันโทษให้ เพราะด้วยอายุของเขาที่มากแล้วกับเรื่องที่เขาทำประโยชน์ให้สังคม ชูได้ย้ายไปไต้หวันในเดือน ธ.ค. 2563

และที่กรุงไทเป เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมานี้เอง ชูกับชานก็ได้ทำการแจกลายเซนต์หนังสือบทความที่พวกเขาเขียนเกี่ยวกับการครบรอบ 10 ปี ขบวนการร่ม

แอสัน ชุง กับ ลีวิงทัต ก็ลี้ภัยไปต่างประเทศหลังจากเผชิญกับคดีเช่นกัน โดยที่แอสัน เป็นสมาชิกสหพันธ์นักศึกษาฮ่องกง ขณะที่ลี เป็นนักวิจัยที่ในอดีตเคยเป็นสส. พวกเขาถูกตั้งข้อหาปลุกระดมแบบเดียวกับคนอื่นๆ

โดยที่แอสันได้ย้ายไปอยู่ไต้หวันในปี 2564 และต่อมาก็ย้ายไปอยู่สหราชอาณาจักรในปี 2565 แอสันหันมาเขียนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับเรื่องหนังสือและการท่องเที่ยว

ส่วนลีย้ายไปสหราชอาณาจักรในปี 2564 โดยที่ยังคงสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงโดยทางอ้อม เช่น การเรียกร้องให้โหวตให้นักการเมืองอังกฤษที่สนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงและไปเข้าร่วมงานวันเกิดของ  คริส แพตเทน ผู้ว่าฮ่องกงที่เป็นชาวอังกฤษคนสุดท้ายด้วย

อดีตนักกิจกรรมอีกรายหนึ่้งคือ ทันยา ชาน ผู้ที่เคยเป็นทนายความและนักการเมืองพรรคซีวิคในช่วงที่มีขบวนการร่ม เธอเผชิญการดำเนินคดีข้อหาปลุกระดมเช่นกัน แต่ก็ได้รับการผ่อนผันโทษสองปีเพราะเรื่องสุขภาพจากการที่เธอเพิ่งผ่าตัดเนื้องอกในสมอง เธอประกาศเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2563 ว่าจะวางมือทางการเมือง และในเวลาต่อมาสื่อที่รายงานข่าวว่าพบเห็นเธอไปเอาดีทางด้านการทำอาหารและเป็นเชฟรับเชิญที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในไทเป

คนที่ยังคงทำกิจกรรมต่อไปในฮ่องกง

ในขณะที่บางคนยังอยู่ในที่คุมขัง บางคนวางมือ บางคนก็ลี้ภัยและทำกิจกรรมต่อที่นั่น แต่ก็มีอยู่บางส่วนที่ยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองต่อไปในฮ่องกง

หนึ่งในนั้นคือ ราฟาเอล หว่อง รองประธานสันนิบาตสังคมนิยมประชาธิปไตย (LSD) เขาถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาที่ว่าได้เรียกร้องให้ผู้ประท้วงทำการปิดถนนใกล้กับทำเนียบรัฐบาล มีการตัดสินให้เขาต้องโทษจำคุก 8 เดือนในเรื่องนี้ แต่เขาก็ยังคงประท้วงรัฐบาลในเวลาต่อมา โดยมีการนำนักกิจกรรม LSD ไปประท้วงหน้าศาลที่มีการตัดสินลงโทษนักเรียกร้องประชาธิปไตย 47 ราย แต่กลุ่ม LSD ก็ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ตั้งข้อหาใดๆ

ชิวคาชุน เป็นอาจารย์ที่เข้าร่วมขบวนการร่มอีกคนหนึ่งที่ถูกตัดสินข้อหาปลุกระดม และถูกตัดสินให้จำคุก 8 เดือน หลังจากที่ ชิวคาชุน รับโทษแล้ว เขาก็ได้จัดตั้งกลุ่มสิทธิผู้ต้องขังโดยเน้นช่วยเหลือคนที่ถูกคุมขังจากการประท้วงปี 2562 และยังคงทำงานสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังต่อไป จากที่ก่อนหน้านี้ ชิวเคยเป็นสส.ผู้แทนด้านสวัสดิการสังคมในปี 2559 เขาบอกกับสื่อว่าขอสงวนท่าทีไม่พูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องขบวนการร่ม

แต่ ราฟาเอล หว่อง ก็มีความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนการร่ม เขากล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าการเมืองฮ่องกงในช่วงที่ผ่านมาทำให้การประท้วงในแบบเดียวกับยุคปี 2562 นั้นถูกทำให้ผิดกฎหมาย และเมื่อมองย้อนกลับไปถึงขบวนการร่มแล้ว หว่องมองว่ามันไม่ได้เป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลว แต่ "มันก็มีความสำคัญในแบบของมัน"

ขณะเดียวกันก็มีคนที่ดูเหมือนจะแปรพักตร์ไปอยู่อีกฝ่าย คือ ทอมมี ชุงซัวหยิน ช่วงที่มีการประท้วงของขบวนการร่ม ในตอนนั้น ทอมมี ยังคงเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยไชนีสแห่งฮ่องกง เป็นประธานสหภาพนักศึกษา และเป็นหนึ่งในแกนนำสหพันธ์นักศึกษาฮ่องกงด้วย เขาถูกลงโทษจำคุก 8 เดือน ด้วยข้อหาปลุกระดมเช่นเดียวกับราฟาเอลและชิว หลังรับโทษแล้วต่อมาเขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเขตในปี 2562 แต่ก็ลาออกในเดือน ตุลาคม 2564

ในปี 2566 มีรายงานข่าวระบุว่า ทอมมี ได้เขียนบทความให้กับสื่อชาตินิยมจีน โดยที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับศูนย์นักศึกษากฎหมายขั้นพื้นฐาน ซึ่งปฏิบัติงานภายใต้บริษัทสนับสนุนจีนที่ชื่อ มูลนิธิฮ่องกงเบสิกลอว์

มรดกของขบวนการร่ม

ถึงแม้ว่ากลุ่มแกนนำขบวนการร่มในปัจจุบันจะกระจัดกระจายกันไป แต่ก็มีกลุ่มใหม่ๆ ผุดขึ้นมารับไม้ต่อ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ฮ่องกงอินดิเจนัส" และ "ยังสไปเรชั่น" ซึ่งกลุ่มใหม่ ๆ เหล่านี้ เคยลงสมัครเลือกตั้งสภาเขตสู้กับนักการเมืองที่มีประสบการณ์จนสามารถเอาชนะนักการเมืองที่มีชื่อเสียงสายสนับสนุนจีนบางคนได้ นักการเมืองรุ่นใหม่กลุ่มนี้มักจะถูกเรียกว่าเป็น "นักรบขบวนการร่ม"


เรียบเรียงจาก
10 years on, where are the leaders of Hong Kong’s Umbrella Movement now?, Hong Kong Free Press, 28-09-2024

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Umbrella_Movement

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net