Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงาน สั่ง 'เร่งจ้างงาน-บรรเทาความเดือด' ด่วนช่วยพื้นที่น้ำท่วม

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้หัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงแรงงาน หรือ 5 เสือแรงงาน อาสาสมัครแรงงาน และบัณฑิตแรงงาน ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ออกตรวจเยี่ยมและบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานทั้งพลเรือน ทหาร และท้องถิ่น ช่วยเหลือลูกจ้างและประชาชนผู้ประสบภัย มอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ พร้อมทั้งเร่งรัดโครงการจ้างงานเร่งด่วนของกระทรวงแรงงานที่หน่วยงานได้รับงบประมาณแล้วในพื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เพื่อจ้างงานประชาชนหรือผู้ประสบภัยที่ต้องการร่วมฟื้นฟูความเสียหายและทำความสะอาดอาคารบ้านเรือน ห้างร้าน สถานที่สำคัญต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบแบบปูพรมต่อเนื่อง 5 – 7 วัน โดยจะได้รับค่าตอบแทนเป็นรายวัน

โฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงแรงงานรายงานว่า ข้อมูล ณ วันที่ 3 ต.ค. 2567 มีจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม 16 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย พิจิตร พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา พะเยา ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก น่าน นครสวรรค์ เลย หนองคาย และแม่ฮ่องสอน ประชาชนได้รับผลกระทบ 510,474 คน 224,821 ครัวเรือน สถานประกอบการ 1,901 แห่ง ลูกจ้าง 2,730 คน มีผู้เสียชีวิต 45 คน เป็นผู้ประกันตน 7 คน ซึ่งกระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมได้จ่ายเงินช่วยเหลือรวม 451,570 บาท นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานของกระทรวง คือ สำนักงานปลัดกระทรวง กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และ สสปท. ยังได้ร่วมกันมอบถุงยังชีพ น้ำดื่ม อาหารสำเร็จรูป ข้าวกล่อง ยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งให้บริการตรวจเช็คซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์การเกษตร และขอความร่วมมือนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา และออกสำรวจความเสียหายของสถานประกอบการและลูกจ้างที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างครอบคลุมด้วย

“ท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์ได้ลงพื้นที่ จ.เชียงราย แล้ว 2 ครั้ง คือ อ.เมือง และ อ.แม่สาย พบว่าแม้สถานการณ์ดีขึ้นแต่ยังคงต้องระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูเมืองอย่างต่อเนื่อง ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบนั้นมีกำลังใจดีขึ้น หลังจากที่รัฐบาล กองทัพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และจิตสาอา ประสานพลังเข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือแบบไม่ขาดสาย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงแรงงานจะเร่งดำเนินการโครงการตามหน้าที่ความรับผิดชอบ เช่น การจ้างงาน การเยียวยาลูกจ้างผู้ประกันตน การซ่อมแซมอุปกรณ์ทำมาหากิน ฯลฯ อย่างเต็มที่ จนกว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ” นายภูมิพัฒน์ กล่าว

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 6/10/2567

พบศพ แรงงานชาวไทย ชาย-หญิง 2 ราย ในเกาหลี เพราะพิษแก๊ส

เพจ Facebook World Forum ข่าวสารต่างประเทศ ได้มีการเผยแพร่เรื่องราว หลังพบศพชาย-หญิง ชาวไทย 2 ราย ขณะนอนหลับ ที่ฟาร์มจินบูพย็องชัง จังหวัดคังวอนโด ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2567

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่ฟาร์มแห่งหนึ่งย่านจินบู พย็องซัง จังหวัดคังวอนโด ประเทศเกาหลีใต้ ได้มีการพบศพ ชายวอายุ 60 ปี และหญิงอายุ 50 ปี ชาวไทย ซึ่งทั้งคู่เป็นแรงงานต่างด้าว หรือ ผีน้อย ที่ไม่ได้ไปทำงานด้วยวีซ่าที่ถูกกฎหมาย หรือตามการจัดการของรัฐบาลท้องถิ่น

จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ พบว่า ทั้งคู่นอนอยู่ในเรือนนอนและได้มีการเปิดอุปกรณ์ทำความร้อนเตาแก๊สขนาดเล็ก ภายในเรือนนอนเพื่อทำความร้อน เนื่องจากอุณหภูมิในพื้นที่ลดตำลง 0 องศาฯ หรือติดลบในเวลากลางคืน และในช่วงเช้าวันเกิดเหตุ 7 องศาเซลเซียส และสาเหตุการเสียชีวิตอาจมาจากพิษคาร์บอนมอนอกไซด์

ที่มา: World Forum ข่าวสารต่างประเทศ, 5/10/2567

ปฏิบัติการ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” ครบ 120 วัน ตรวจสอบแรงงานข้ามชาติกว่า 2.7 แสนราย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ผมได้มอบนโยบายและปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติทุกจังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้ปฏิบัติการ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานข้ามชาติ ที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานข้ามชาติ มีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว และมติครม.ในคราวต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวได้ปฏิบัติการอย่างเข้มข้น ครบ 120 วันแล้ว โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน – 2 ตุลาคม 2567 มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศแล้ว 20,152 แห่ง ดำเนินคดี 844 แห่ง และตรวจสอบแรงงานข้ามชาติ จำนวน 277,770 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 209,435 คน กัมพูชา 42,766 คน ลาว 16,481 คน เวียดนาม 181 คน และสัญชาติอื่น ๆ 8,907 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 2,063 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 1,289 คน กัมพูชา 281 คน ลาว 315 คน เวียดนาม 41 และสัญชาติอื่น ๆ 137 คน

“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาภาคแรงงาน การรักษาความสมดุลระหว่างการจ้างงานคนสัญชาติไทยให้มีงานทำ และบริหารจัดการการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ สามารถขับเคลื่อนกิจการทั้งภาคการผลิต ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญ” รมว.พิพัฒน์ กล่าว

ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า หลังจากนี้กรมการจัดหางานจะยังคงดำเนินการภายใต้ปฏิบัติการดังกล่าว โดยจะมุ่งเน้นตรวจสอบกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาแย่งอาชีพคนไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ อาทิ งานเร่ขายสินค้า งานนวดแผนไทย งานเสริมสวย ไกด์เถื่อน และกลุ่มนายจ้างนอมินี (Nominee) จึงขอเน้นย้ำว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องเคารพกฎหมายของเรา โดยแรงงานข้ามชาติต้องมีเอกสารประจำตัวบุคคลและใบอนุญาตทำงานถูกต้อง และทำงานตามสิทธิ ที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (มีทั้งสิ้น 40 งาน) รวมทั้งปฏิบัติตามขั้นตอนที่มติครม.ในคราวต่าง ๆ กำหนดไว้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้สามารถทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้นายจ้าง/สถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติขอให้ติดตามข่าวสารจากกรมการจัดหางานอย่างใกล้ชิด ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน doe.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: Thailand Plus Online, 5/10/2567

ต้านขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเถื่อน เอเจนซี่เมียนมาพาเข้าไทย ฟันรายได้มหาศาล

กระแสต้านขึ้นทะเบียนแรงงานเถื่อน สนั่นโซเชียล ผุดแคมเปญคัดค้านมติ ครม. 24 ก.ย. “ฟอกขาวแรงงานเถื่อน” พบช่องโหว่เพียบ เหตุขึ้นทะเบียนออนไลน์ ไม่สามารถพิสูจน์ตัวตน ตัวอยู่เมียนมาก็สามารถส่งเอกสารขึ้นทะเบียนผ่านโบรกเกอร์ นายจ้าง 1 ราย ยื่นชื่อลูกจ้างต่างด้าวได้หลายพันคนโดยไร้การตรวจสอบ “ประธานสภาองค์การลูกจ้าง” ชี้ ทำต่างด้าวทะลักเข้าไทย รอขึ้นทะเบียน ซ้ำได้เปรียบคนไทยเพราะสมัครงานไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษา ด้าน “คนในแวดวงแรงงานต่างด้าว” แฉ ธุรกิจแรงงานเถื่อนเริ่มแอดวานซ์ “พม่า”ลักลอบนำเข้าเอง ส่งคนให้โรงงานของพม่า แต่ใช้ชื่อคนไทยเป็นนอมินี ขณะที่แรงงานเมียนมาใช้ระบบมาเฟียสั่งการแรงงานด้วยกัน สร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้าง ใครไม่ทำตามโดนรุมยำ

ทันทีที่มีมติ ครม.ให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย วันที่ 24 ก.ย.2567 ออกมา ก็เกิดกระแสต่อต้านสนั่นไปทั้งโซเชียล เนื่องจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมีปัญหาที่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากชาวเมียนมา ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติกลุ่มใหญ่สุดที่เข้ามาทำงานในไทย

ส่วนว่า มติ ครม.ดังกล่าว จะนำไปสู่ปัญหาในประเด็นใดบ้างนั้น คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ชี้ว่า การประกาศขึ้นทะเบียนแรงงานผิดกฎหมาย ตามมติ ครม.วันที่ 24 ก.ย.2567 จะส่งผลให้เกิดการทะลักเข้ามาของแรงงานต่างด้าวซึ่งหลบหนีเข้ามาเพื่อรอการขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา หรือเมียนมา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าบุคคลนั้นๆเข้ามาในไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ ขณะเดียวกันก็จะเกิดปัญหาการแย่งงานคนไทยมากยิ่งขึ้นเพราะแรงงานต่างด้าวที่เข้าแบบผิดกฎหมายยอมรับค่าแรงในอัตราที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เนื่องจากแรงงานเหล่านี้มองว่ายังไงก็ได้เงินมากกว่าค่าแรงที่บ้านเขา ซึ่งแม้บางอาชีพจะเป็นอาชีพที่คนไทยไม่นิยม แต่สำหรับกลุ่มคนที่โอกาสทางการศึกษาน้อยก็ยังต้องการงานเหล่านี้อยู่ เช่น งานขายของหน้าร้าน พนักงานเสิร์ฟ

“ ข้อเสียเปรียบของแรงงานไทยที่เห็นได้ชัดคือข้อกำหนดเรื่องวุฒิการศึกษา ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่กำหนดว่าถ้าเป็นลูกจ้างคนไทยต้องมีวุฒิขั้นต่ำ ม.3 หรือ ม.6 ขึ้นไป ในขณะที่แรงงานต่างด้าวไม่มีการกำหนดเรื่องวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ ดังนั้นถ้าคนไทยเรียนไม่จบ ม.3 ก็ทำงานโรงงานไม่ได้ แต่ต่างด้าวไม่ต้องใช้วุฒิอะไรเลยก็ทำงานโรงงานได้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับแรงงานไทย นอกจากนั้นกระทรวงแรงงานควรจะแก้นิยามของคำว่ากรรมกร ซึ่งเป็นอาชีพที่กำหนดให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ ให้มีความชัดเจนขึ้น คือปัจจุบันงานอะไรที่เกี่ยวข้องกับการยกข้าวของจัดอยู่ในนิยามของคำว่ากรรมกรหมด ไม่ว่าจะเป็น พนักงานเสิร์ฟ พนักงานจัดเชลฟ์สินค้าตามห้างฯ ก็อยู่ในนิยามคำว่ากรรมกร ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงานตำแหน่งเหล่านี้ ขณะที่คนไทยก็ยังมีความต้องการงานลักษณะนี้อยู่ ” นายมนัส ระบุ

ทั้งนี้ หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า มติ ครม.วันที่ 24 ก.ย.2567 เรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2567 ซึ่งส่วนหนึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการประกาศขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย และการให้สิทธิแก่บุตรของแรงงานต่างด้าว จะทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมาเพราะมีช่องโหว่อยู่หลายประการ ได้แก่

1. เป็นการขึ้นทะเบียนให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายทุกกลุ่ม โดยไม่มีการคัดกรอง โดย มติ ครม.ใช้คำว่า

“อนุญาตให้แรงงานผิดกฎหมาย” ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็น แรงงานที่ผิดนายจ้าง(ชื่อนายจ้างไม่ตรงกับตอนที่แจ้งขึ้นทะเบียนแรงงาน) แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง แรงงานที่สถานะไม่สามารถทำงานต่อได้ วีซ่าหมดอายุ หรือแม้กระทั่งลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ก็สามารถขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานได้ โดยได้รับการผ่อนผันให้ทำงานต่อในประเทศไทยได้ 1 ปี พร้อมทั้งมีการอนุญาตให้ผู้ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายสามารถพักอาศัยในประเทศไทยได้ชั่วคราว โดยที่ไม่มีการกำหนดว่าอยู่ได้ถึงเมื่อไหร่ ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะไม่ได้ตีกรอบว่าแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้ต้องเป็นแรงงานที่อยู่ภายในประเทศไทยอยู่แล้วเท่านั้น ดังนั้นทันทีที่ประกาศให้แรงงานผิดกฎหมายสามารถขึ้นทะเบียนได้แรงงานต่างด้าวก็จะทะลักเข้ามาเพิ่มขึ้น

2. การขึ้นทะเทียนสามารถยื่นเอกสารได้สองทาง คือ ยื่นทางออนไลน์ หรือยื่น ณ สถานที่ที่กรมการจัดหางาน

กำหนด โดยให้นายจ้างเป็นผู้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ใช้ข้อมูลของนายจ้างเป็นหลัก ไม่ต้องแนบหลักฐานสำคัญที่พิสูจน์ตัวตนของลูกจ้าง หากยื่นที่สำนักงานก็ไม่จำเป็นต้องพาลูกจ้างไปด้วย ยิ่งขึ้นทะเทียนทางออนไลน์ยิ่งแล้วใหญ่ ไม่มีอะไรมาพิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำงานอยู่กับใคร พิสูจน์ไม่ได้ว่าลูกจ้างทำงานให้นายจ้างตามรายชื่อที่แจ้งลงทะเบียนจริงๆหรือไม่ จึงเป็นช่องโหว่ให้เกิดการยื่นเท็จ

3.ให้ลูกต่างด้าว(ซึ่งแจ้งชื่อไว้ก่อนแล้ว)ที่อายุครบ 18 ปี สามารถขออนุญาตทำงานในไทยได้ ซึ่งตรงนี้เท่ากับเป็นการเพิ่มจำนวนต่างด้าวที่ทำงานในไทยแบบไม่มีลิมิต และจะส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

“ปัณณ์” (นามสมมุติ) แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ชี้ว่า การขึ้นทะเบียนลักษณะนี้ค่อนข้างอันตรายเพราะไม่มีทางรู้เลยว่าลูกจ้างเป็นใคร บ้านเกิดอยู่ที่ไหน เคยก่อคดีมาหรือเปล่า หากมาทำงานในไทยแล้วก่อคดีแล้วหลบหนีกลับไปเมียนมาก็ไม่สามารถตามตัวได้ การขึ้นทะเบียนแบบไม่ต้องเห็นตัวลูกจ้างจึงพิสูจน์ไม่ได้ว่าขณะที่ขอขึ้นทะเบียนลูกจ้างเข้ามาใช้แรงงานในไทยหรือยัง บางคนขึ้นทะเบียนผ่านโบรกเกอร์ ตัวอยู่เมียนมา ส่งแค่รูปถ่ายกับเอกสารบางอย่างมา โบรกเกอร์ที่ไทยเดินเรื่องให้หมด การขึ้นทะเบียนแรงงานเถื่อนจึงกลายเป็นช่องทางให้แรงงานต่างด้าวยิ่งทะลักเข้ามา

“ ตัวอย่างเมื่อปีที่แล้ว มีคนไทยที่รับสมอ้างเป็นนายจ้าง คนคนเดียวขึ้นทะเบียนลูกจ้าง 2,000 คนบ้าง 5,000 คนบ้าง โดยขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งไม่มีใครมาตรวจสอบว่าเป็นนายจ้างจริงหรือเปล่า แล้วที่ผ่านมาเราเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานผิดกฎหมายกันเกือบทุกปี ถ้าการเปิดขึ้นทะเบียนแล้วมันแก้ปัญหาได้จริง แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมันต้องหมดไปแล้ว หรืออย่างน้อยก็ต้องลดลง แต่นี่ยิ่งเปิดขึ้นทะเบียน จำนวนแรงงานผิดกฎหมายกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้น” แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานเมียนมาซึ่งลักลอบเข้ามาในประเทศไทยแบบผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้นในช่วง ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ว่า สืบเนื่องจากตั้งแต่ปลายปี 2565 เป็นต้นมา สงครามภายในประเทศเมียนมาทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับปี 2565 เป็นช่วงโควิด ส่งผลให้แรงงานที่จะเข้ามาผ่านระบบ MOU ทำได้ยากและล่าช้า เพราะต้องมีการตรวจคัดกรองโรค ยิ่งปี 2567 สงครามในเมียนมาปะทุรุนแรงทำให้นอกจากจะอันตรายต่อชีวิตแล้วยังทำมาหากินลำบากเพราะเศรษฐกิจไม่ดี จะทำการเกษตรหรือทำปศุสัตว์ก็ยาก คนเมียนมาจึงยิ่งทะลักเข้ามาประเทศไทยโดยลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมาย เนื่องจากมีชายแดนติดกันกว่า 2,000 กิโลเมตรและไม่มีกำแพงกั้น จึงยากต่อการควบคุม

ทั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่าสงครามในเมียนมากนั้นยากที่จะสงบ เนื่องจากประเทศเมียนมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างกว่า 135 กลุ่ม ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกองกำลังติดอาวุธองตนเอง 25 กลุ่ม ซึ่งถือว่ากลุ่มนี้เป็นคู่ขัดแย้งสำคัญภายในประเทศ การสู้รบช่วงชิงอำนาจกันจึงไม่อาจยุติลงง่ายๆ แม้ว่ากลุ่มชาติพันธ์ต่างๆจะยึดอำนาจจากรัฐบาลทหารพม่าไว้ได้ ก็ยังต้องมีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆต่อไปอีกยาวนาน การไหลทะลักเข้ามาของผู้อพยพก็ยังดำเนินต่อไป ดังนั้นการขึ้นทะเบียนแรงงานผิดกฎหมายจึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแรงงานเถื่อนแต่อย่างใด หากไม่มีการผลักดันแรงงานเถื่อนทั้งหมดกลับไปก่อนแล้วค่อยขึ้นทะเบียนกลับเข้ามาใหม่ แต่ยิ่งเป็นการเปิดช่องให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามามากขึ้น ที่สำคัญเมื่อแรงงานเมียนและครอบครัววเข้ามาอยู่ในไทยแล้วมักจะไม่กลับออกไป ซึ่งยิ่งมีจำนวนมากก็ยิ่งยากที่จะควบคุม

“ ที่เขาอ้างว่าสงครามรุนแรง จริงๆไม่ได้รุนแรงทุกพื้นที่นะ บางพื้นที่ก็ใช้ชีวิตได้ปกติ แต่ด้วยภาวะสงครามทำให้เศรษฐกิจไม่ดี สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพง เพราะมีการโจมตีระบบโครงสร้างพื้นฐาน โจมตีรถขนส่งน้ำมัน รถขนส่งสินค้า ซึ่งเส้นทางหลักที่นำเข้าสินค้าไปเมียนมาคือรัฐกะเหรี่ยงซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า กองกำลังเขาโจมตีรถขนส่งสินค้าเพื่อตัดเสบียง ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้คนเมียนมาลักลอบเข้ามาทำงานในไทยคือค่าแรงที่สูงกว่าประเทศเมียนมาถึง 5 เท่า คืออยู่ในเมียนมาได้ค่าแรงวันละแค่ 70 บาท แต่มาทำงานในไทยค่าแรงวันละ 363 บาท อีกทั้งประเทศไทยยังทำมาหากินง่าย สะดวกสบายทุกอย่าง จะไปไหนก็ได้ อิสระเสรี อะไรที่ทำไม่ได้ที่บ้านเขา อยู่บ้านเราเขาทำได้หมด เมื่อเข้ามาแล้วเขาเลยไม่อยากกลับ อยู่สักพักก็พาครอบครัวมาอยู่ด้วย ดังนั้นต่อให้การสู้รบสงบลงเขาก็ไม่กลับ ” แหล่งข่าว กล่าว

วิธีการลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมายของแรงงานเมียนก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดย “แหล่งข่าว” ให้ข้อมูลว่า ขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานชาวเมียนมาในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากอดีต จากเดิมที่ผู้ที่ลักลอบนำเข้าคือคนไทย โดยให้ชาวเมียนมาที่เดินเท้าเข้ามาซุ่มรออยู่ตามป่า และจ้างคนไทยขับรถขนแรงงานเถื่อน พาขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อฟอกให้เป็นแรงงานถูกกฎหมาย ส่งไปทำงานตามโรงงานของไทย แต่ปัจจุบันคนเมียนมาที่อยู่ในไทยลักลอบนำเข้าแรงงานเอง เดินเรื่องขึ้นทะเบียนเอง และส่งให้นายจ้างที่เป็นชาวเมียนมา แต่ใช้ชื่อคนไทยเป็นมอมินี

แรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทยจึงผสมผสานกันทั้งแรงงานที่ถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย ทำงานให้กับนายจ้างไทยและนายจ้างเมียนมา อยู่กันเป็นชุมชน แต่เวลาจับจ่ายใช้สอยเขาจะซื้อของหรือใช้บริการจากร้านค้าที่เจ้าของเป็นเมียนมาด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันมีทุกธุรกิจ ตั้งแต่ ต่อใบอนุญาตทำงาน ทำพาสปอร์ต ทำวีซ่า ทำใบขับขี่ ซื้อขายรถยนต์ ร้านตัดผม ร้านขายของชำ ฯลฯ ดังนั้นแรงงานเหล่านี้จึงไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแต่อย่างใด ขณะเดียวกันกลับเป็นการสร้างอาณาจักรของชาวเมียนมาบนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงอีกด้วย

“ เดิมคนไทยขนแรงงานเถื่อนเข้ามาก็แย่อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันคนพม่าขนกันเองเลย เท่าที่รู้ขนแรงงานแต่ละรอบได้ค่าจ้างหลักหมื่นหลักแสน มีคนพม่าที่ทำธุรกิจขายรถเล่าให้ฟังว่าคนพวกนี้ขนแรงงานครั้งเดียวก็ออกรถได้แล้ว เขาไม่กลัวถูกจับด้วยนะ เพราะมองว่าคุ้ม บางคนถูกจับก็เคลียร์ได้ นอกจากนั้นยังมีนักธุรกิจจากพม่าที่เข้ามาตั้งโรงงานหรือตั้งบริษัทในไทย โดยใช้วิธีเช่านายจ้างเพื่อใช้ชื่อคนไทยเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่เจ้าของตัวจริงคือพม่า ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ ไปซื้อบริษัทที่คนไทยไม่ทำแล้ว โดยพม่าเข้ามาบริหารจัดการ แต่ใช้ชื่อคนไทยเป็นนอมินี หรือแบบที่สอง พม่าเข้ามาตั้งบริษัทเองเลย แต่ใช้ชื่อคนไทยเป็นเจ้าของ แรงงานก็เป็นพม่า ลูกค้าก็เป็นพม่า เงินหมุนเวียนอยู่ในกลุ่มพม่า ค่าจ้างที่ได้จากนายจ้างคนไทยก็ไหลเข้าธุรกิจของพม่า พวกนี้น่ากลัวกว่าจีนนะเพราะจีนเข้ามาทำธุรกิจอย่างเดียว แต่พม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ” แหล่งข่าว กล่าว

จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีแรงงานเมียนมาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน ซึ่งไม่ได้มีแค่ประชาชนทั่วไป แต่ยังมีกลุ่มต่อต้าน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงทหารของฝ่ายรัฐบาลพม่าและทหารของกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ซึ่งประชาชนทั่วไปจะเข้ามาในรูปของแรงงานทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยเข้ามาเพื่อทำมาหากินเป็นหลัก ขณะที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและกลุ่มทหารนั้น บางส่วนจะเข้ามาโดยอาศัยความเป็นแรงงาน บางส่วนก็ลักลอบหลบหนีเข้ามาอยู่กับชาวเมียนมาที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์เดียวกัน โดยไม่ได้ทำงานอะไร มาอยู่อาศัยและใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการเคลื่อนไหว โดยมีการเปิดรับบริจาคเพื่อระดมทุนไปสนับสนุนการต่อสู้ในเมียนมา กลุ่มนี้จึงถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งเป็นกลุ่มแก๊งและนัดรวมตัวกันเป็นหลักร้อยหลักพันคน โดยแก๊งหลักๆ ได้แก่ RUK , Bad boy , แก๊ง 037

แหล่งข่าว ระบุว่า ทันทีที่เปิดขึ้นทะเบียนแรงงานผิดกฎหมาย ทั้งนักเคลื่อนไหว อดีตทหาร หรือคนที่เคยก่อคดี ก็ไหลเข้ามาพร้อมกับแรงงาน บางคนเข้ามาแล้วก็ทำงานไปด้วย เคลื่อนไหวไปด้วย บางคนก็เคลื่อนไหวอย่างเดียว บางคนมาตั้งตัวเป็นหัวหน้าแก๊ง คนพวกนี้อยู่บ้านเขาชุมนุมไม่ได้ เพราะกฎหมายเขาแรง เลยมาเคลื่อนไหวในเมืองไทยเพราะการบังคับใช้กฎหมายของเราหย่อนยาน ตัวอย่างเช่น การชุมนุมของกลุ่ม RUK ที่สวนหลวง ร.9 ซึ่งอ้างว่าเป็นการประชุมเพื่อระดมเงินไปช่วยคนที่เดือนร้อนจากภาวะสงครามในเมียนมา ซึ่งจริงๆแล้วการชุมนุมลักษณะนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

“ แรงงานเมียนมามักจะมีหัวโจกแกนนำ ตั้งตัวเป็นมาเฟีย หากใครไม่ทำตามจะถูกคนในกลุ่มทำร้ายทุบตี เวลาแกนนำจะต่อรองกับนายจ้างก็จะมักขู่ลาออกโดยให้สมาชิกในกลุ่มลาออกพร้อมกันทั้งหมด เวลามีการชุมนุมกลุ่มแก๊งต่างๆก็จะสั่งให้สมาชิกในกลุ่มไปชุมนุมด้วย แม้จะไม่รู้ว่าไปชุมนุมอะไร ไม่อยากไปก็ต้องไป ใครนำข้อมูลในกลุ่มไปเปิดเผยก็โดนยำ บางคนถึงขั้นถูกตั้งค่าหัวไล่ล่าเพราะเขามีเครือข่าย อย่างกลุ่ม RUK ถ้าดูจากรหัสที่เขาใช้ในออนไลน์ กลุ่มย่อยเขาน่าจะมีเกลุ่มเป็นพันกลุ่ม ซึ่งถือเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างมาก ” แหล่งข่าว ระบุ

ทั้งนี้ ล่าสุดคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ได้จัดทำแคมเปญการรณรงณ์คัดค้าน มติ.ครม.วันที่ 4 ก.ย.2567 เรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ผ่าน chang.org ภายใต้ชื่อแคมเปญ“คัดค้านการฟอกขาวแรงงานเถื่อน” ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดย ณ วันที่ 4 ต.ค. 2567 มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 10,000 คน ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถร่วมลงชื่อได้ที่ https://www.change.org/p/ร่วมคัดค้านการฟอกขาว-แรงงานเถื่อน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 4/10/2567

ก.แรงงาน เผยคนไทยในอิสราเอลปลอดภัย ยังไม่ต้องอพยพ-ชะลอเดินทาง

3 ต.ค. 2567 ที่กระทรวงแรงงาน นายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เดินทางเข้าพบ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อรายงานสถานการณ์ผู้ใช้แรงงานไทยในประเทศอิสราเอล เนื่องจากความตึงเครียดของสงครามระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน

นายกิตติ์ธนา เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ใช้แรงงานชาวไทยอยู่ในอิสราเอลจำนวนราว 32,000 คน ยังคงไม่ได้รับผลกระทบและอันตรายใดๆ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยพื้นที่เกิดสงครามนั้นอยู่บริเวณโซนเหนือของอิสราเอล

“ขณะนี้ยังไม่มีผู้ใช้แรงงานไทยแจ้งมาว่าได้รับอัตราย หรือขอย้ายกลับไทยเนื่องจากภาวะสงคราม ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูต เราก็ได้ติดต่อกับทางหน่วยงานของอิสราเอลอยู่ตลอด โดยมีการเตรียมแผนอพยพไว้แล้ว และจะประกาศให้ทุกโซนจัดเตรียมห้องหลบภัยให้เพียงพอ แต่ตอนนี้ยังไม่แนะนำให้มีการเคลื่อนย้ายคน เพราะอาจจะเกิดความไม่ปลอดภัยได้” นายกิตติ์ธนา กล่าว

ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า ขณะนี้ความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานไทยในอิสราเอลยังคงปกติ อาจจะเป็นการเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องอพยพ

“ยืนยันไม่มีผู้ใช้แรงงานไทยอยู่ในพื้นที่อันตราย ทุกคนอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ระหว่างนี้คงยังไม่ต้องชะลอการเดินทางไปยังประเทศอิสราเอล เว้นแต่ว่า หากเหตุการณ์รุนแรงขึ้นมาก หรือถึงขั้นปิดน่านฟ้าไม่ให้มีการบิน อาจจะต้องชะลอการเข้าออกอิสราเอล เตรียมความพร้อมในการเคลื่อนย้ายและยกระดับมาตรการ” นายสมชาย กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา สถานทูตไทยในอิสราเอลได้ออกประกาศให้ผู้ใช้แรงงานไทยในอิสราเอลปฏิบัติตน ดังนี้ 1.พยายามอยู่ใกล้ห้องนิรภัย เมื่อได้ยินเสียงไซเรน งดถ่ายภาพหรือวีดิโอรีบเข้าห้องนิรภัยทันที แต่หากอยู่กลางแจ้ง ควรเข้าไปในอาคารที่ใกล้ที่สุด ถ้าไม่มี ควรนอนราบกับพื้นและปกป้อง ศีรษะด้วยมือ 2.ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านความปลอดภัยของทางการท้องถิ่น ในแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด 3.หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือรู้สึกไม่ปลอดภัย สามารถขอรับความช่วยเหลือเพื่อย้ายออก จากพื้นที่ได้จากสถานเอกอัครราชทูตฯ ตามหมายเลขโทรศัพท์ด้านล่าง 4.ในบางพื้นที่ขอให้เตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น น้ำดื่ม และอาหารแห้ง แบตเตอรีสํารอง (พาวเวอร์แบงก์), ไฟฉาย, ชุดปฐมพยาบาล และสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิต โดยสามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ผ่านทาง

ฝ่ายกงสุล โทร +972 546368150 +972503673195 ฝ่ายแรงงาน โทร. +972 9-954-8431 +97254-469-3476 ไอดีไลน์ 0544693476

ที่มา: มติชนออนไลน์, 3/10/2567

คนไทยครองแชมป์ 'ผีน้อย'ในเกาหลีใต้ แรงงานผิดกฎหมายกว่า 1.4 แสนคน

สำนักข่างต่างประเทศรายงานว่าเว็บไซต์ The Korea Herald 'นายซง ซอกจุน' สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเกาหลีใต้เปิดเผยข้อมูลสถิติจากกระทรวงยุติธรรมที่ระบุว่ามีชาวต่างชาติอาศัยอยู่เกินวีซ่าในเกาหลีใต้ทั้งหมด 423,675 คน ณ สิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา คิดเป็น 16.9% ของชาวต่างชาติทั้งหมดกว่า 2.5 ล้านคน

เกือบ 45% ของชาวต่างชาติที่อยู่เกินวีซ่าในเกาหลีใต้นั้นเดินทางเข้ามาประเทศด้วยโครงการยกเว้นวีซ่า ซึ่งในจำนวนทั้งหมดมีอย่างน้อย 169,283 คนเข้ามาในประเทศด้วยวีซ่า B-1 ซึ่งเป็นวีซ่ายกเว้นสำหรับการพำนักระยะสั้น 30-180 วัน โดยไม่อนุญาตให้ทำงานหรือศึกษา ส่วนที่เหลือเป็นวีซ่าประเภท B-2 ซึ่งออกให้กับผู้ที่ต้องการเดินทางผ่านเกาหลีใต้ไปยังประเทศที่สาม หากพิจารณาข้อมูลเป็นรายประเทศ พบว่าคนไทยอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้เกินวีซ่าทั้งสองประเภทเป็นอันดับที่ 1 โดยมีจำนวนทั้งหมด 145,042 คน หรือคิดเห็น 76.3% ของผู้อยู่เกินวีซ่าประเภทเดียวกัน ตามมาด้วยจีนซึ่งอยู่เกินวีซ่า 14,830 คน และคาซัคสถาน 10,827 คน

เว็บไซต์ The Korea Herald ระบุว่า ยังคงเป็นคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบว่าทำไมผู้คนจำนวนมากถึงอาศัยอยู่เกินวีซ่าทั้ง 2 ประเภทโดยไม่ยื่นคำร้องหรือขอรับวีซ่าทำงาน ซึ่ง'ซง ซอกจุน'ระบุในแถลงการณ์ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่กำลังทำงานอย่างผิดกฎหมายเพื่อจุดประสงค์ทางเศรษฐกิจ และว่ารัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบกับผู้ที่ไม่ได้ทำผิดในขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองด้วย

ที่มา: แนวหน้า, 2/10/2567

ทูตไทยยัน 30,000 แรงงานไทยในอิสราเอลปลอดภัย ย้ายพ้นพื้นที่เสี่ยงแล้ว

น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตไทย ณ เทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ให้สัมภาษณ์มติชนเกี่ยวกับการดูแลคนไทยในอิสราเอล หลังเกิดเหตุอิหร่านยิงถล่มว่า สถานทูตได้ประสานงานกับทางการอิสราเอลอย่างใกล้ชิดในการนำแรงงานไทยออกจากพื้นที่ทางทหาร โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ทางการอิสราเอลได้ประกาศเพิ่มเขตปิดทางทหารเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง และแจ้งให้แรงงานไทยในอิสราเอลสามารถติดต่อประสานงานกับสถานทูตได้ตลอดเวลา

น.ส.พรรณนภากล่าวว่า ขณะนี้แรงงานไทยราว 30,000 คนที่อยู่ในอิสราเอลปลอดภัยดี ทุกคนได้รับการอพยพออกจากพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นเขตทหารออกมาทั้งหมดแล้ว

“ยืนยันว่าสถานทูตได้ติดตามดูแลแรงงานไทยอย่างใกล้ชิดและทำอย่างดีที่สุด อิสราเอลได้ย้ายแรงงานไทยออกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ขณะที่แรงงานยังคงได้รับเงินค่าจ้างตามปกติ เพราะทางอิสราเอลจะหานายจ้างใหม่และดูแลสวัสดิการให้อย่างต่อเนื่อง” น.ส.พรรณนภากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ตามเวลาในอิสราเอล สถานทูตไทยในอิสราเอลได้ออกประกาศสำหรับคนไทยในอิสราเอลว่า วันนี้ (1 ตุลาคม 2567) เวลาประมาณ 21.00 น. กองทัพอิสราเอล (IDF) ได้ประกาศเพิ่มเขตปิดทางทหาร (closed military zone) อีก 3 แห่ง ในทางตอนเหนือของอิสราเอลติดชายแดนเลบานอน ได้แก่ เมืองโดเรฟ (Dovev) ซิฟออน (Tziv’on) และมาลเกีย (Malkia) เพิ่มเติมจากเมืองเมตูลา (Metula) มิซกาฟ อัม (Misgav Am)

และคฟาร์ กิลอาดี (Kfar Giladi) โดยให้เป็นเขตห้ามทำงานหรือพักอาศัย

สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอแจ้งว่า หากมีพี่น้องแรงงานไทยที่ยังอยู่

ในพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ย้ายออกทันที โดยสามารถขอรับความช่วยเหลือเพื่อย้ายออกจากได้จากสถานเอกอัครราชทูตฯ ตามหมายเลขโทรศัพท์ด้านล่าง

ฝ่ายกงสุล โทร +972 546368150+972 503673195

ฝ่ายแรงงาน โทร. +972 9-954-8431+972 54-469-3476

ไอดีไลน์ 0544693476

ด้วยความห่วงใย จากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ

ที่มา: มติชนออนไลน์, 2/10/2567

รมว.แรงงาน เลื่อนปักธงขึ้นค่าแรง 400 บาทให้ทันปีนี้

1 ต.ค. 2567 นายพิพัฒน์​ รัชกิจประการ​ รมว.แรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ว่า เนื่องจากขณะนี้คณะกรรมการไตรภาคีในส่วนของปลัดกระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เกษียณอายุราชการ จึงต้องรอให้มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ โดยในส่วนของปลัดกระทรวงจะมาโดยตำแหน่ง ส่วนอธิบดี กสร.คนใหม่ คาดว่าจะมีการนำเสนอชื่อเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า ซึ่งมีอยู่ในใจแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย​ และจะใช้เวลาในช่วงเดียวกันนี้พิจารณาส่งตัวแทนคนใหม่ในคณะกรรมการ หรือจะใช้บุคคลเดิม เพราะก็ยังมีสิทธิอยู่ จนกว่าจะถึงเดือน มี.ค.2568

นายพิพัฒน์​ กล่าวว่า เนื่องจากสภาวะปัจจุบันการจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็เห็นใจกับคณะกรรมการไตรภาคีที่ยังเกิดเหตุขัดข้อง ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง จึงจำเป็นต้องเลื่อนการประกาศขึ้นค่าแรง ซึ่งเดิมตั้งไว้ให้ทันใน 1 ต.ค.2567 แต่เนื่องจากปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งมาก สภาวะการส่งออกเป็นไปได้ยาก จึงต้องนำเรื่องไปหารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง แต่ยืนยันว่าจะยังคงเดินหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท และจะต้องทันภายในปีนี้ เมื่อกรรมการมีความพร้อมทุกอย่างจะต้องดำเนินการอีกครั้ง

ส่วนจะสามารถกดดันให้ ธปท.​ มีความชัดเจนในตัวแทนของคณะกรรมการไตรภาคีได้หรือไม่ นายพิพัฒน์ ยืนยันว่า ไม่สามารถทำได้เพราะเป็นอำนาจของผู้ว่าการ ธปท. แต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ให้เข้าไปดำเนินการในเรื่องนี้เพื่อประสานกับ ธปท. และขอหารือให้เกิดความชัดเจน

ที่มา: Thai PBS, 1/10/2567

รมว.แรงงาน ขีดเส้น 2 เดือน พิจารณาเร่งแก้กฎกระทรวงฯ ให้ลูกจ้างรายเดือน รับสิทธิค่า OT ตามจริง พร้อมตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย

วันที่ 30 กันยายน 2567 เวลา 13.30 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือและรับหนังสือจากนายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย และผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างจำนวน 7 สภา

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือและรับหนังสือจากนายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย และผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างจำนวน 7 สภา เพื่อขอให้กระทรวงแรงงานแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2541) และ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยมี นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมศ. นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในวันนี้ผม พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงแรงงาน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ร่วมหารือผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างฯ ที่ได้มายื่นหนังสือเพื่อขอให้แก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2541) ข้อ 2 วรรคสอง ที่กำหนดไม่ให้ลูกจ้างรายเดือนมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในการทำงานล่วงเวลาเท่ากับลูกจ้างรายวัน และแก้ไขฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2543) ซึ่งตัดสิทธิลูกจ้างรายเดือนไม่ให้ได้รับค่าตอบแทนในการทำงานล่วงเวลา ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยได้มีการหารือในประเด็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าวเพื่อให้ลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานล่วงเวลา เช่นเดียวกับลูกจ้างรายวัน

“ผมได้สั่งการให้จัดตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 7 คน เพื่อศึกษาผลดีและผลเสีย รวมถึงผลกระทบจากการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว โดยจะพิจารณาการจ่ายค่าตอบแทนในอัตรา 1.5 เท่าต่อชั่วโมง สำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ และ 3 เท่าต่อชั่วโมงสำหรับการทำงานในวันหยุด เช่นเดียวกับลูกจ้างรายวันหรือลูกจ้างตามผลงานตามกฎกระทรวงที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดประชุมและรายงานผลการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน” นายพิพัฒน์กล่าว

ที่มา: TNN, 30/9/2567

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net