Skip to main content
sharethis

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษายกฟ้องคดีที่นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 13 คน ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก 3 หน่วยงานรัฐ จากการสลายการชุมนุมครบรอบ 1 ปี รหป. ศาลชี้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้นักศึกษาจะมีสิทธิชุมนุม แต่ คสช. ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 จำกัดเสรีภาพแล้ว

30 ต.ค. 2560 เวลา 09.00 น. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ 13 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบัญชาการกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเรียกค่าเสียหาย ค่าสินไหมชดเชยจากกรณีการสลายการชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 เป็นจำนวน 16,468,583 บาท ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

โดยในวันนี้ศาลได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 3 ไม่ได้เป็นการจงใจประมาท เลิ่นเล่อตามมาตรา 420 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น โจทก์ทั้ง 13 คนจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสาม ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ได้

สำหรับคดีดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่คำฟ้องโจทก์ที่ได้ยื่นฟ้องโดยระบุว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ตามเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ และได้รับการคุ้มครองไว้ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 จนถึงวันที่ 23 พ.ค. 2558 เวลาต่อเนื่องกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ ซึ่งสังกัดอยู่ในหน่วยงานของจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 เวลาประมาณ 18.00 น. ขณะโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 กำลังทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ศุกร์ 22 เรามาฉลองกันมะ?” โดยใช้รูปแบบศิลปะ “Performance Art ใน Concept : Time&Silence” โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ประชาชนจะมาร่วมกันสวมใส่เสื้อสีขาวพร้อมพกสิ่งบอกเวลาที่มีเช่น นาฬิกาข้อมือ , โทรศัพท์, นาฬิกาทราย, นาฬิกาแขวนพนังบ้าน,ปฏิทิน ฯลฯ แล้วมาร่วมยืน นั่ง นอน มองเงียบ ๆ เป็นเวลา 15 นาที โดยจะรวมตัวกันในเวลา 18.00 น. และจบกิจกรรมร่วมกันในเวลา 18.15 น. ด้วยการเปล่งเสียงเพียงครั้งเดียวในกิจกรรมพร้อมกันว่า “เวลาที่ผ่านมา 1 ปี เป็น “1 ปีที่….” สำหรับคุณ” โดยกิจกรรมจัดขึ้นที่บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ปรากฏว่าในขณะที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 กำลังจะเริ่มทำกิจกรรมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สังกัดในหน่วยงานของจำเลยที่ 1 และเจ้าหน้าที่ทหาร สังกัดในหน่วยงานของจำเลยที่ 2 และเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจดังกล่าวข้างต้นอยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาและรับผิดชอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งสังกัดจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกันสั่งการและควบคุมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาห้ามไม่ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ใช้เสรีภาพในการชุมนุมจัดกิจกรรม โดยเอารั้วเหล็กสีเหลืองมาปิดกั้นบริเวณลานหน้าหอศิลปฯไว้โดยรอบ ทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ไม่สามารถจัดกิจกรรมในบริเวณดังกล่าวได้ จึงต้องทำกิจกรรมบริเวณด้านนอกรั้วที่ถูกกั้นไว้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ฯ ก็ใช้กำลังประทุษร้ายต่อร่างกายและจิตใจ และควบคุมตัวโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 อันถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจ

2.เจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยทั้ง 3 ในขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ร่วมกันหรือสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบควบคุมตัวโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน โดยไม่มีอำนาจที่จะควบคุมตัวไว้ตามกฎหมาย และไม่ใช่การควบคุมตัวไว้เพื่อสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือสอบสวนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 แต่อย่างใด และควบคุมตัว กักขัง หน่วงเหนี่ยว โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 กับพวกเป็นเวลาต่อเนื่องกันนานถึง ๑๐ ชั่วโมง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในการเดินทาง ไม่สามารถเดินทางไปไหนตามที่ใจปรารถนาได้ อีกทั้งยังทำให้ได้รับผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 และที่ 13 เสียหาย ถือเป็นการร่วมกันกระทำโดยจงใจ กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ และทรัพย์สิน ”

ด้าน โครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw รายงาน คำพิพากษาสรุปความได้ว่า วันที่ 22 พ.ค. 2558 โจทก์ทั้ง 13 คนและพวกเข้าร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ศุกร์ 22 เรามาฉลองกันมะ?” จากนั้นจึงถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน และปล่อยตัวในเวลา 6.00 น.ของวัดถัดมา โดยเหตุที่เกิดขึ้นสร้างความกระทบกระเทือนทางร่างกายและจิตใจแก่โจทก์ทั้ง 13 คนนั้น มีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยในสามประเด็นดังนี้

1.การชุมนุมดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล รู้โดยทั่วไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบ แต่อย่างไรก็ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการป้องปรามหรือยับยั้งเหตุที่บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยของชาติ การกระทำตามคำสั่งถือว่าชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด ต่อมาคสช.ได้อาศัยมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย ข้อ 12 กำหนดห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ดังนั้นเสรีภาพในการชุมนุมจึงถูกจำกัดโดยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งตามบทบัญญัติ แม้การชุมนุมจะสงบก็ย่อมมีความผิด การที่โจทก์อ้างว่า การชุมนุมของโจทก์เป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญหรืออ้างว่า คำสั่งที่ 3/2558 ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นความเข้าใจของโจทก์เองและเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น

ทั้งการชุมนุมดังกล่าวยังถือเป็นการชุมนุมทางการเมือง เห็นได้จากคำเบิกความของพยานโจทก์แอนเดรีย จิออเก็ตตา ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ที่กล่าวว่า ในการชุมนุมครั้งนี้ตนเชื่อว่า เป็นการชุมนุมทางการเมือง และคำเบิกความของพยานโจทก์ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กล่าวว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมทางการเมืองเนื่องจากเป็นการชุมนุมครบรอบหนึ่งปีของการรัฐประหาร ประกอบกับในวันเกิดเหตุผู้จัดกิจกรรมไม่ได้ทำการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อน ดังนั้นกิจกรรมดังกล่าวจึงถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนเข้าข่ายต้องห้ามของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558

2.โจทก์ทั้ง 13 คนเข้าร่วมการกิจกรรมหรือไม่

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้ง 13 คนได้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการควบคุมตัวโดยชอบ ประเด็นที่โจทก์ทั้ง 13 คนกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการใช้กำลัง ฉุดกระชาก และไม่ได้มีการใช้เจ้าหน้าที่หญิงควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิงนั้น พิเคราะห์จากข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ก่อนเริ่มทำกิจกรรมเจ้าหน้าที่ได้มีการนำแผงเหล็กสีเหลืองมากั้นบริเวณด้านหน้าหอศิลป์ มีตำรวจตรึงกำลังราว 50-80 นาย แต่ผู้ชุมนุมยืนยันว่า มีสิทธิที่จะกระทำได้ เมื่อตำรวจบอกว่า กิจกรรมดังกล่าวขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ผู้ชุมนุมก็ยังไม่เลิกกิจกรรม เห็นถึงพฤติการณ์ของโจทก์ทั้ง 13 คนที่ทราบเป็นอย่างดีว่า ไม่ให้ทำกิจกรรม แต่ยังฝ่าฝืนที่จะทำต่อไป

จากคำเบิกความของพยานจำเลย ไปพ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร ผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ที่กล่าวว่า วันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไม่มีการใช้อาวุธ โล่ กระบองหรือพันธนาการ โดยพ.ต.อ.จารุต ได้เจรจากับพรชัย หนึ่งในโจทก์ สามครั้ง และเมื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโจทก์ทั้ง 13 คนยังแสดงอาการขัดขืนการควบคุม ดึงรั้งสิ่งของไม่ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ส่วนเรื่องการควบคุมตัวผู้หญิงโดยเจ้าหน้าที่ชาย มีเพียงชลธิชา โจทก์ ที่กล่าวว่า ตนถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ชาย เมื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากจำเลยแล้วเห็นว่า ชลธิชาถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ชายเพียงสิบเมตรเท่านั้นก่อนจะเปลี่ยนเป็นเจ้าหน้าที่หญิงมารับหน้าที่ต่อ การดำเนินการควบคุมของเจ้าหน้าที่จึงไม่ได้เกินกว่าเหตุ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการจากมาตรการเบาไปหาหนักแล้ว วินิจฉัยว่าดำเนินการโดยชอบ

3.การควบคุมตัวที่สถานีตำรวจโดยมิชอบ

การควบคุมตัวโจทก์ทั้ง 13 คนไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการยึดเครื่องมือสื่อสารหรือขังโจทก์ไว้ในห้องขัง ทั้งยังให้ทนายความและอาจารย์ของโจทก์เข้าพบได้ นอกจากนี้เมื่อพบว่า รังสิมันต์และชลธิชามีอาการป่วยก็ได้ส่งตัวไปทำการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อแพทย์ตรวจว่ามีอาการเพียงเล็กน้อยจึงนำตัวกลับมีสถานีตำรวจ เหตุที่ต้องควบคุมตัวจำเลยไว้เป็นเวลาสิบชั่วโมงเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้มีการยื่นข้อเสนอให้โจทก์ว่า จะดำเนินคดีเฉพาะแกนนำผู้จัดกิจกรรมเท่านั้น แต่โจทก์ปฏิเสธ ขณะเดียวกันโจทก์ยังไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวนแก่เจ้าหน้าที่ ดังนั้นการควบคุมเป็นเวลานานจึงไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่ วินิจฉัยว่า การควบคุมตัวเป็นไปโดยชอบแล้ว

การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ได้จงใจประมาท เลิ่นเล่อตามมาตรา 420 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น โจทก์ทั้ง 13 คนจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสาม ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ได้ พิพากษายกฟ้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net