Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนหลายองค์กรร่วมยื่นคำร้องยกเลิกคำสั่งข้อที่ 6 และ 12 ในคำสั่งที่ 3/2558 เหตุขัดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ประกันเสรีภาพในการชุมนุม และเพื่อยืนยันอำนาจของประชาชนในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง มุ่งทดสอบกลไกศาลรัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุดฉบับใหม่


กลุ่มภาคประชาชนแถลงข่าวหน้าศาลรัฐธรรมนูญ (ที่มา: Banradsr Photo)

20 ธ.ค. 2560 ที่ลานอเนกประสงค์ ภายในอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กลุ่มภาคประชาชน ประกอบด้วย นิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ อัครเดช ฉากจินดา เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กรชนก ธนะคูณ กรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ รังสิมันต์ โรม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และ พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นตัวแทนยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อ 6 และ 12 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุม ควบคุมตัวโดยไม่ต้องมีหมายศาล และการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ตามลำดับ รวมถึงการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งข้างต้นว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนหรือไม่

นอกจากกลุ่มประชาชนข้างต้น ยังมีบุคคลที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก 5 กลุ่ม  ดังนี้

  1. กรณีกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการจัดกิจกรรมที่หอศิลปะและวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ณ วันที่ 22 พ.ค. 2558

  2. กรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ถูกดำเนิคดีจากการสังเกตการณ์กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

  3. กรณีกลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการจัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตที่อุทยานราชภักดิ์

  4. กรณีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการจัดกิจกรรมในวันที่ 24 มิ.ย. 2559

  5. กรณีนักกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการแจกจ่ายเอกสารรณรงค์เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

รังสิมันต์เป็นตัวแทนกล่าวถึงวัตถุประสงค์การมายื่นคำร้องวันนี้ว่า การยื่นคำร้องขอยกเลิกคำสั่ง 3/2558 เพราะคำสั่งกระทบเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งเป็นหนึ่งในเสรีภาพที่สำคัญที่ประชาชนพึงมีเพื่อลุกขึ้นเรียกร้องผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในวันที่รัฐไม่ตอบสนองเจตนารมณ์ประชาชนและกลายเป็นผู้กดขี่ประชาชนแล้ว เสรีภาพในการชุมนุมยังเป็นหลักยืนยันอำนาจในการจัดการตนเองของประชาชน

เสรีภาพในการชุมนุมได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 44 บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ" พวกตนจึงได้มายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยืนยันถึงเสรีภาพในการชุมนุมและอำนาจในการกำหนดชะตากรรมตนเอง เพื่อพิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ พิทักษ์ผลประโยชน์และยกอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนจริงๆ และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลรัฐธรรมนูญจะแสดงให้เห็นว่ามาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะบังคับใช้ได้จริง มิใช่ตกอยู่ใต้เงาของมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญเผด็จการในอดีต และในอนาคตก็จะพยายามพิสูจน์คุณค่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปเพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่าธาตุแท้ของกฎหมายสูงสุดที่ปกครองชีวิตพวกเขาอยู่นั้นเป็นอย่างไร

นิมิตร์กล่าวว่าเชื่อว่าประเทศไทยควรปกครองด้วยกฎหมาย ประชาชนควรมีสิทธิ เสรีภาพในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นจะทำให้ประชาชนได้รับการบริการรักษาพยาบาลที่แย่กว่าเดิม ทั้งการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการเข้าไปให้ความเห็นก็ยากไม่ว่าจะในระดับกรรมการร่างฯ จนถึงการเรียกร้องผ่านการชุมนุม โดยการชุมนุมนั้นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่กลับถูกจำกัดด้วยอำนาจทหารแทนที่จะพูดคุยกันด้วยกฎหมาย วันนี้จึงมาร่วมเป็นอีกกลุ่มที่มาทดลองศาลรัฐธรรมนูญด้วยกัน

พูนสุขระบุว่า คำสั่งที่ 3/2558 เป็นฐานอำนาจให้คณะรัฐประหารละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน จึงอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคำสั่งดังกล่าว ตนคิดว่าไม่มีอำนาจใดที่ถูกตรวจสอบไม่ได้ภายใต้นิติรัฐ ซึ่งวันนี้จะได้มาทดสอบกลไกที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ

อัครเดช หนึ่งในแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารควบคุมตัวไปยัง มทบ. 11 ขณะที่ปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 13 ก.พ. 2560 กล่าวว่า ถ้าคำสั่งที่ 3/2558 ยังคงอยู่ จะเกิดปัญหาขึ้นในทุกพื้นที่ เพราะตอนนี้โครงการใหญ่ต่างๆ จากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นเขื่อน เหมือง โรงไฟฟ้า กำลังเดินหน้า ประชาชนจึงควรที่จะมีสิทธิ เสรีภาพที่จะออกมาแสดงการมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น ตนเห็นว่าการไม่ให้ประชาชนออกมาเรียกร้องนั้นไม่เป็นธรรม จึงขอให้ศาลรับเอาไว้พิจารณา

กรชนกกล่าวว่า ตนเคยถูกจับขณะที่ลงพื้นที่ไปให้ข้อมูลเรื่องการใช้สิทธิ์ลงคะแนนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ให้กับผู้ใช้แรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลีเมื่อ 23 มิ.ย. 2559 ในวันที่ถูกจับนั้น ไม่ได้มีการแจ้งข้อหาใดๆ แต่ก็ถูกจับไปกักขังไว้ การชุมนุมเป็นเครื่องมือที่แรงงานเอาไว้ใช้ต่อรองกับนายจ้าง แต่ก็ถูกทหารปิดกั้นเอาไว้ไม่ให้ชุมนุม การชุมนุมแต่ละครั้งต้องขออนุญาตก่อน ไม่เช่นนั้นก็ทำไม่ได้ วันนี้มายื่นคำร้องเพื่อขอความเป็นธรรม เพราะตอนนี้ประชาชนอยู่ใต้ความกลัว หวาดระแวง ส่วนสิทธิ เสรีภาพตอนนี้ไม่เหลืออะไรแล้ว

เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นผ่านใบแจ้งข่าวของศูนย์ทนายฯ ว่า “คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ถือว่าเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกายและการชุมนุมของบุคคล และเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมมาตลอดตั้งแต่ปี 2558 เราเห็นว่าแก่นของหลักนิติรัฐ คือ ในระบบกฎหมาย เรายืนยันว่าไม่มีอำนาจอะไรที่ตรวจสอบไม่ได้ รวมถึงอำนาจมาตรา 44 ด้วยและการยื่นคำร้องครั้งนี้ถือว่าเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจทางหนึ่ง”

กลุ่มผู้ยื่นคำร้องเข้ามานั่งรอในห้องแถลงข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ

อะไรคือคำสั่งที่ 3/2558

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)

พ.ศ.2557 มีรายละเอียดทั้งสิ้น 14 ข้อ เป็นมาตรการในการดําเนินการกับการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ การฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

และการกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ซึ่งคุกคามความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ที่กลุ่มประชาชนมาเรียกร้องให้ยกเลิกในวันนี้คือข้อที่ 6 และ 12 ที่มีรายละเอียดดังนี้

ข้อ 6 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิดตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคําอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการตามข้อ 3 และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จ จะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตํารวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจํา และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้

เมื่อมีเหตุอันจะต้องดําเนินคดีต่อบุคคลที่กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งในฐานะเป็นผู้ต้องหาให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจดําเนินการต่อไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 12 ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ 11 วรรคสอง ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซ่ึงแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2549

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ความเห็นของศูนย์ทนายฯ จากใบแจ้งข่าวต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อที่ 6 เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีหมายศาลและเป็นการมอบอำนาจให้เจ้าพนักงานรักษาคามสงบเรียบร้อยควบคุมตัวบุคคลโดยที่ศาลไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบได้ อันเป็นการจำกัดสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลโดยผิดเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนในข้อที่ 12 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลที่ไม่ได้สัดส่วนและสร้างภาระให้กับการใช้สิทธิในการชุมนุมของบุคคลในปัจจุบันมากจนเกินไป เพราะในปัจจุบันเรามีกฎหมายที่จำกัดสิทธิดังกล่าวในสถานการณ์ปรกติอย่าง พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ และในสถานการณ์ไม่ปรกติอย่างกฎหมายความมั่นคงต่างๆ จำนวนมากอยู่แล้ว

วัตถุประสงค์ของการยื่นคำร้อง “ทวงคืนสิทธิเสรีภาพ”

ในวันนี้ พวกเราได้มายื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามช่องทางมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญให้มีคําวินิจฉัยว่าคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558และการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าวของเจ้าหน้าที่นั้นละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่    รัฐธรรมนูญได้คุ้มครองไว้ เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. เพื่อยืนยันถึงเสรีภาพในการชุมนุม และอํานาจของประชาชนในการกําหนดชะตากรรมตนเอง

สาเหตุที่เราเลือกคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นสิ่งแรกที่นํามายื่นคําร้อง เพราะคําสั่งดังกล่าวกระทบต่อเสรีภาพที่มีความสําคัญต่อประชาชนมากที่สุดประการหนึ่ง นั่นคือเสรีภาพในการชุมนุม

เสรีภาพในการชุมนุมมีความสําคัญยิ่ง เพราะเป็นเสรีภาพที่ยืนยันถึงอํานาจของประชาชนในการกําหนดชะตากรรมตนเอง โดยปรกติประชาชนไม่จําเป็นต้องต้องใช้เสรีภาพนี้เนื่องจากรัฐได้ทําหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างที่ควรเป็นอยู่แล้ว แต่หากเมื่อใดที่รัฐไม่ยอมทําหน้าที่ของตน เปลี่ยนสถานะจากผู้รับใช้เป็นผู้กดขี่แล้ว ประชาชนย่อมต้องสามารถลุกขึ้นมาเรียกร้องผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของตัวเองได้  นั่นคือสาเหตุที่ประชาชนจําเป็นต้องมีเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะยังคงสามารถดําเนินการ ให้เป็นไปตามสิทธิของตนได้ มิใช่ทําได้เพียงงอมืองอเท้ารอความเมตตาจากรัฐไปวันๆ

เสรีภาพในการชุมนุมได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 44 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพ     ในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” หรือแม้กระทั่งในรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้บรรดาสิทธิเสรีภาพที่เคยได้รับการคุ้มครองมาก่อนย่อมได้รับการคุ้มครองต่อไป ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมด้วย

ทว่าตลอดเวลาที่ คสช. ครองอํานาจ คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กลายเป็นเครื่องมือสําคัญในการปราบปรามประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อํานาจรัฐที่ออกมาแสดงการคัดค้านหรือโต้แย้ง แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็ตาม

เราจึงมายื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยืนยันถึงเสรีภาพในการชุมนุมและอํานาจในการกําหนดชะตากรรม ตนเองอันไม่อาจถูกพรากไปจากมนุษย์ได้ แม้จะมีความพยายามจํากัดเสรีภาพและอํานาจนี้โดยไม่ชอบธรรมก็ตาม และ  เราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลรัฐธรรมนูญจะแสดงให้เห็นว่ามาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่รับรองเสรีภาพในการ  ชุมนุมจะใช้บังคับได้จริง มิใช่ตกอยู่ใต้เงาของมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญเผด็จการในอดีต

2. เพื่อพิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560เป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนพิทักษ์ผลประโยชน์ของ  ประชาชน และยกให้อํานาจสูงสุดเป็นของประชาชนจริงๆ หรือไม่ การยื่นคําร้องครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจริงๆ ดังที่ กรธ.ได้โฆษณาไว้เมื่อครั้งรณรงค์ให้ประชาชนมาลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหรือไม่นั้น ลําพังเพียงตัวบทบัญญัติไม่อาจก่อให้เกิดการคุ้มครองเสรีภาพได้ในทางปฏิบัติ หากแต่ต้องอาศัยองค์กรตามรัฐธรรมนูญในการบังคับใช้บทบัญญัติให้เป็นไปในทางที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพด้วย ดังนั้นการยื่นคําร้องครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ด้วยเช่นกันว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ จะปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เป็นไปตามที่รัฐรรมนูญบัญญัติไว้ได้จริงหรือไม่

ในช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยังใช้บังคับอยู่ เมื่อมีคดีความที่เกี่ยวข้องกับคําสั่งต่างๆ ตาม     มาตรา 44 ศาลมักวินิจฉัยให้บรรดาคําสั่งเหล่านั้นชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด แม้ว่าคําสั่งเหล่านั้นจะมีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนก็ตาม แต่ในปั จจุบันประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ  พ.ศ.2560 ใช้บังคับแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ถูกคาดหวังจากสังคมให้ใช้บังคับต่อไปภายหลัง คสช. ลงจากอํานาจ    และสิ้นสุดระบอบรัฐประหารแล้ว เราจึงคาดหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคําร้องตามมาตรฐานแบบประชาธิปไตยด้วย แต่หากศาลรัฐธรรมนูญยังคงยืนยันที่จะวินิจฉัยโดยให้ความชอบธรรมแก่การใช้อํานาจของคณะรัฐประหารดัง ที่เคยเป็นมาโดยตลอด ก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์ในตัวแล้วว่ากลไกการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงที่ กรธ.เคยโฆษณาไว้ว่ารัฐธรรมนูญนี้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพแม้กระทั่งที่ไม่ได้บัญญัติไว้ แต่ในความเป็นจริงแม้กระทั่งสิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไว้ก็ยังถูกล่วงละเมิดได้ ถ้อยคําสวยหรูที่พรํ่าพรรณนาไว้กลายเป็นการโกหกคําโตทั้งสิ้น

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมยังมักยกคําร้องโดยอ้างว่าผู้ร้องต้องไปใช้สิทธิผ่านช่องทางอื่น เช่นผู้ตรวจการแผ่นดิน   หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้หมดสิ้นเสียก่อน หากยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงจะมาร้องต่อศาลใน  ท้ายสุดได้ อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กําหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ดังนั้นศาลจึงควรต้องตีความการใช้สิทธิไปในทางที่เอื้อประโยชน์แก่ประชาชน นั่นคืออนุญาตให้ประชาชนยื่นคําร้องต่อศาลโดยตรงได้ตั้งแต่ต้น

และหากจะกล่าวอย่างถึงที่สุด การยื่นคําร้องต่อศาลโดยตรงได้ตั้งแต่ต้นย่อมต้องสามารถกระทําได้เสมอ ไม่  สมควรกําหนดข้อห้ามใดๆ เพิ่มเติมในภายหลัง เพราะการบังคับให้ต้องไปยื่นคําร้องผ่านช่องทางอื่นก่อนจะทําให้เกิด  ความล่าช้าจนอาจไม่สามารถคุ้มครองสิทธิได้อย่างทันการณ์ และหากสุดท้ายหน่วยงานอื่นเห็นว่ามีประเด็นที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็ต้องส่งเรื่องกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี จึงเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิ  เสรีภาพอย่างเกินเลย และทําให้คําโฆษณาของ กรธ. ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทําให้ศาลรัฐธรรมนูญ “เข้มแข็งและฉับไวขึ้น” กลายเป็นการโกหกอีกครั้ง เพราะกระบวนการที่กําหนดไว้จะไม่ต่างอะไรจากในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้เลย

กล่าวโดยสรุป เรามายื่นคําร้องครั้งนี้เพื่อพิสูจน์ด้วยว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และองค์กรตามรัฐธรรมนูญดัง   กล่าวนั้นพร้อมที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน หรือเอื้อผลประโยชน์แก่คณะรัฐประหารและพวกพ้องมากกว่ากัน  ซึ่งหากเป็นอย่างหลังแล้ว เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สมควรต้องถูกเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกไปเสีย

ในอนาคต เราจะพยายามพิสูจน์คุณค่าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป โดยอาจใช้วิธีการเดียวกันนี้หรือวิธีการ  อื่น เพื่อให้ประชาชนได้เล็งเห็นว่าธาตุแท้ของกฎหมายสูงสุดที่ปกครองชีวิตของพวกเขาอยู่นั้นเป็นเช่นไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net