Skip to main content
sharethis

5 เม.ย.2558 ที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กรุงเทพฯ สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (สพท.) ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตและใกล้เคียง จัดสัมมนา หัวข้อ  “รายได้เท่าไหร่ที่เพียงพอต่อการครองชีพ” โดยมี แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิภา ดาวมณี นักวิชาการอิสระ และ นภาพร อติวานิชยพงศ์ อาจารย์สำนักบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากร

เซีย จำปาทอง

เซีย จำปาทอง ประธาน สพท. กล่าวเปิดการสัมมนาว่า สิ่งที่จำเป็นของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม คือปัจจัยสี่ และส่วนอื่นที่มนุษย์จำเป็นต้องมีคือเรื่องภาษีสังคมเพื่อนที่จะสามารถเข้าและมีสังคมได้ รวมทั้งการศึกษาเพิ่มเติมเรียนรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อการก้าวทันต่อวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ปัจจัยเหล่านี้ควรนำมาพิจารณาในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้ได้มาซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เนื่องจากอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันกรรมการสากล ก็ได้มีการขับเคลื่อนต่อไป

สมัย ภูแผนนา ประธานสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มตนมีมติค่าจ้างขั้นต่ำควรอยู่ที่ 421 บาท และจะเคลื่อนในวันที่ 1 พ.ค.นี้ด้วย สำหรับเหตุผลที่ค่าจ้างทำไมถึงต้องขึ้นเป็นเท่านี้ เนื่องจากปัจจุบันเราต้องทำงานทำงานล่วงเวลา หรือ OT เพื่อพยุงให้ครอบครัวให้อยู่รอด โดยไม่สามารถทำเพียง 8 ชั่วโมง แล้วสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้  

สมัย ภูแผนนา ประธานสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตฯ 

ค่าแรงถูกล็อคที่ 300 แต่ค่ครองชีพไม่คงที

ต่อประเด็นรายได้ที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตของแรงงาน แล กล่าวว่า ค่าแรง 300 บาท ที่ขึ้นมานั้นถูกล็อคไว้ แต่ปัจจุบันค่าครองชีพมันขึ้นมาจำนวนมาก ค่าอาหารมีการขึ้นอย่างจำนวนมาก ค่าครองชีพมันไม่ได้คงที่ ดังนั้นการคุมรายได้ไว้ที่ 300 บาท นั้นจึงไม่เป็นเหตุเป็นผล

โดยในวันแรงงานที่จะถึงนี้หลายกลุ่มก็มีการเตรียมขอเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะแตกต่างไปตามพื้นที่ และก็มีประเด็นที่สนใจว่าทำไมต้องขึ้น และจะขึ้นได้ไหม ซึ่งนายจ้างก็จะแย้งว่าเขาขายของไม่ได้ และอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ ซึ่งสวนทางกับการใช้ชีวิตของแรงงานที่สินค้าแพงขึ้น

แล ดิลกวิทยรัตน์ 

ค่าจ้างควรเลี้ยงคนได้ 3 คน

แล กล่าวว่า ค่าจ้างตามหลังองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO กำหนดว่าต้องเลี้ยงคนได้ 3 คน ประเทศไทยเคยใช้ตามหลักนี้ตั้งแต่ปี 2515 ใช้ค่าจ้างในนิยามนี้ มาจนถึงปี 2518 จึงออกนิยามให้เลี้ยงคนได้ 1 คน ดังนั้นเราเคยถือหลักเลี้ยง 3 คนมาแล้ว ค่าจ้างขั้นต่ำจึงเป็นรายได้ที่เพียงพอต่อการค้ำจุนความเป็นคน ค่าจ้างขั้นต่ำต้องพอต่อการครองชีพที่ต่ำสุดที่จะรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ได้ ดังนั้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงไม่ใช่แค่ต่อลมหายใจเท่านั้น แต่ต้องทำให้เห็นคนมองคนเป็นคนด้วย

รายได้ขั้นต่ำอาจจะไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราที่จ่ายให้ลูกจ้างแรกเข้าและไร้ฝีมือ แต่คนงานที่จบ ปวช. มาทำงานก็นั้นถือว่ามีฝีมือหรืออย่างน้อยทำงานมาสักปีก็ถือว่ามีฝีมือแล้ว รายได้ขั้นต่ำต้องไม่เท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะลูกจ้างบางคนกินค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 10 ปี ตามที่มีการประกาศการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะเห็นว่าเราไม่มีหลักการที่ว่าอยู่ไปกี่ปีค่าจ้างจะสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไปเท่าไหร่ เพราะโรงงานก็จะจ่ายขึ้นตามค่าจ้างขั้นต่ำที่มีการปรับขึ้นแค่นั้น

เงินเฟ้อถัวเฉลี่ยติดลบ แต่ค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยไม่ได้ลด

สำหรับค่าแรงเท่าไหร่ถึงจะพอ แล กล่าวว่าคนที่ไม่เห็นด้วยก็จะมองว่าไม่เห็นมีความจำเป็นต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะถ้าดูจากตัวเลขก็จะมองว่าอัตราเงินเฟ้อติดลบ หากดูโดยรวมนั้นก็ติดลบจริง แต่ตัวที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อติดลบคือราคาน้ำมัน ทั้งที่คนงานเราใช้น้ำมันกับชีวิตโดยตรงไม่มาก ดังนั้นเวลาที่จะพูดว่าลูกจ้างมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องแยกจากการประเมินแบบถัวเฉลี่ย มาสู่การดูค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน เพราะผู้มีรายได้น้อยค่าครองชีพมันไม่ได้ลดลง แต่เวลาคิดแบบถัวเฉลี่ยนั้นถูกถ่วงโดยค่าครองชีพของผู้มีรายได้สูงที่สินค้าที่เขาบริโภคนั้นราคาลดลงด้วย ถ้ารัฐบาลไม่ได้ทำดัชนีของผู้มีรายได้น้อย มันก็เป็นภาระของผู้มีรายได้น้อยของแต่ละพื้นที่ ก็พบว่าบางแห่งได้ 360 บาท บางแห่งได้ 421 บาท ก็ต้องดูว่าพื้นที่ไหน

ค่าจ้างที่เพียงพอคือค่าจ้างที่ไม่ต้องบังคับให้คนงานเบียดเบียนตัวเองและครอบครัว

แล กล่าวว่า เวลาที่เราจะพูดว่าค่าจ้างพอไม่พอของผู้ใช้แรงงาน คนงานทุกคนต้องสามารถทำงานเพื่อเลี้ยงครอบครัวให้มีความสุขได้ การทำงานใดๆ ที่จะไปทำร้ายตัวเองและครอบครัวถือเป็นงานที่ไม่ดี ดังนั้นค่าจ้างที่เพียงพอคือค่าจ้างที่ไม่ต้องบังคับให้คนงานเบียดเบียนตัวเองและครอบครัว ตามหลักสากล วันหนึ่งมี 24 ชม. คนไม่ควรทำงานเกิน 1 ใน 3 ต่อวัน คือ 8 ชม. ที่เหลือควรเอาเวลาไปกับครอบครัว ซึ่งลักษณะอย่างนี้เมืองไทยเป็นอย่างไร ค่าจ้างที่เราได้เป็นการทำร้ายตัวเองหรือเปล่า วันนี้ก็รู้ 2 โรงงานที่ติดกันหากโรงงานที่มีโอทีกับไม่มี คนก็จะวิ่งไปทำงานที่มีโอที ทั้งที่เป็นงานที่เบียดเบียนตัวเอง ทำร้ายตัวเอง เป็นการดึงพ่อของลูกไปกับโรงงาน จึงไม่มีเวลาให้กับครอบครัว เพราะเหตุที่ต้องทำโอทีก็เพราะความจำเป็น เนื่องจากค่าจ้างไม่พอกับรายจ่าย ดังนั้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะที่สุดคือ ทำงานแล้วพอกินพอเลี้ยงลูกเมีย ไม่ต้องทำร้ายตัวเองหรือครอบครัว  

แล้วถ้าเอกชนไม่มีปัญญาจ่าย แต่รัฐบาลเห็นความสำคัญของธุรกิจนั้นรัฐบาลก็ต้องมาสนับสนุน หรือให้สวัสดิการที่เป็นความจำเป็นที่รายได้ของลูกจ้างไม่สามารถจ่ายได้เพียงพอ เช่น การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัยหรือการเดินทาง

สงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม

แล กล่าวถึงจุดยืนของผู้นำแรงงานนั้นเป็นเรื่องที่รู้อยู่เต็มอก แต่เราเองก็ไม่พูดกันเท่าไหร่ ที่พยายามสงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม หลายอย่างที่ผู้นำดีๆ ต้องไปอยู่ในบางสถานการณ์ ด้วยระยะทางที่ยาวนานอาจไม่ถูกต้อง แต่ว่าสถานการณ์เฉพาะหน้าอาจต้องมีที่อยู่ที่ยืน พูดอย่างนี้ไม่ได้สร้างความชอบธรรมในการอยู่จุดยืนที่ไม่ถูกต้อง แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อยู่ในการครวบคุมโดยนายทุนอย่างเต็มที่เช่นกัน ดังนั้นต้องดูการเลือกยืนระยะยาว  เพราะบางครั้งอาจเป็นยุทธศาสตร์ระยะสั้นจึงควรต้องดูระยะยาว

เลิกถามว่าได้วันละเท่าไหร่ แต่ให้ถามว่าทำงานเหนื่อยยากแค่ไหน

แล กล่าวด้วยว่า เราถูกล้างสมองขณะนี้ว่า งานที่ดีคืองานให้เงินเดือนมาก แต่ไม่ถามว่าคนงานต้องทนทุกข์ทรมานเท่าไหร่  เพราะบางคนในที่สุดแล้วเขาอาจจะออกจากเงินเดือนสูงไปในงานที่เงินเดือนต่ำกว่า เช่น เงินเดือนสูงแต่ต้องทำงานมาก งานบางงานแจกไอโฟน 6 กับคนงาน แต่ห้ามปิด ต้องเปิด 24 ชม.เพื่อโทรสั่งงาน ทำให้งานที่ทำกลายเป็นทำ 24 ชม. โดยไม่ได้ค่าโอที ถือว่ามีการขยายการขูดรีดเป็น 3 เท่า ดังนั้นหากจะสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการต่อสู้กับระบบทุนนิยม เลิกถามว่าได้วันละเท่าไหร่ แต่ให้ถามว่าทำงานเหนื่อยยากแค่ไหน จึงจะเห็นการขูดรีดร่วมกัน

ค่าแรงที่ทำให้คนงานอยู่ได้ทัดเทียมกับอาชีพอื่น

สำหรับประเด็นคนงานควรมีรายได้ขั้นต่ำเท่าไหร่ถึงจะอยู่ได้นั้น นภาพร กล่าวว่า ตอนนี้มีใครเสนอตัวเลขเท่าไหร่กันบ้าง ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้เสนอ 360 บาท แต่ในตัวเลขค่าใช้จ่ายเหมือนขาดตัวเลขที่สำคัญไปคือค่าเช่าบ้าน ส่วนกลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตฯ เสนอ 421 บาท

นภาพร กล่าวว่า ตนมีหลักคิดว่า ค่าแรงขั้นต่ำต้องเป็นค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่เพียงพอต่อตัวเองและสังคม เท่ากับลูกจ้างต้องอยู่ได้แบบทัดเทียมกับคนที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ถึงจะเหมาะสม โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วลูกจ้างที่รับค่าแรงสามารถอยู่ได้ทัดเทียบกับอาชีพอื่น

นภาพร กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงที่ทัดเทียมมีศักดิ์ศรีนั้นต้องเป็นค่าแรงที่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายรายวัน และน่าจะมีส่วนเหลือบ้าง ที่ไม่ใช่แค่เลี้ยงตัวเอง แต่สามารถเหลือให้ครอบครัว หรือคนที่เป็นโสดที่มีภาระส่งพ่อแม่ก็สามารถส่งได้ ดังนั้นต้องมีส่วนเหลือตรงนี้ด้วย และต่อมาต้องมีเงินที่จะไปหาความบันเทิงบ้าง เช่น ดูหนัง ฟังดนตรี กินอาหารดีๆ บ้าง ในเรื่องของการศึกษาก็ต้องมีเงินไปใช้ตรงนั้น รวมทั้งเรื่องของเงินออมที่ต้องสามารถมีได้ด้วย

ลองหาตัวเลขดู โดยดูจากพนักงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นลูกจ้างที่ได้รายได้ของคณะและงานที่เขาทำเป็นงานที่ใกล้กับคนงานที่ได้รายได้ขั้นต่ำ วุฒิที่เขามาด้วย ม.3 อายุงาน 4-5 ปี ค่าจ้างที่เขาได้ 10,800 บาท เขาก็ได้หยุดรายการอาทิตย์ละ 2 วัน จึงตกวันละ 458 บาท ถือเป็นค่าแรงขั้นต่ำของคนงานให้มหาวิทยาลัยที่เขาได้รับ แต่ไม่ได้หมายความว่าที่จะให้เราเคลื่อนให้ได้วันละ 458 บาท

คนงานควรเคลื่อนให้เป็นเสียงเดียวกัน

นภาพร กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญคือจะขยับค่าจ้างให้ได้เท่าไหร่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ สิ่งแรกองค์กรนำของเราควรพูดเป็นเสียงเดียวกัน ไม่ควรต่างคนต่างเคลื่อน เพื่อให้เกิดพลัง การเคลื่อนเฉพาะในลูกจ้างนั้นไม่พอ จะสร้างความเข้าใจอย่างไรกับสื่อมวลชน หรือแม้แต่กับฝ่ายนายจ้างเอง เพื่อที่จะให้มันได้ผลลัพธ์สุดท้ายที่ลูกจ้างสามารถอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและนายจ้างสามารถอยู่ได้ด้วย

นภาพร ยกบทเรียนความสำเร็จของคนงานฟาสต์ฟู้ดในอเมริกาที่เรียกร้องขึ้นค่าแรง จากบทความคุณภัควดี วีรภาสพงษ์ ที่น่าสนใจในบทความสรุปว่าความสำเร็จของคนงานฟาสต์ฟู้ดที่ประสบความสำเร็จ คือการรณรงค์ในระดับรากหญ้า ความสมานฉันท์และการเลือกตั้ง ที่เมืองซีแอตเทิล มีการลงคะนนขึ้นค่าแรง เบื้องหลังความสำเร็จที่ขึ้นค่าแรงได้ ประเด็นที่หนึ่ง คือ การเคลื่อนไหวนั้นทำโดยคนงาน ในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดเป็นกำลังหลักที่เคลื่อนไหว ประเด็นต่อมาการเคลื่อนไหวมีสหภาพหลักที่สนับสนุนคือสหภาพแรงงานบริการนานาชาติ และมีองค์กรอื่นๆ ที่สนับสนุน ซึ่งเคลื่อนไหว 2 ปี กว่าจะประสบความสำเร็จ ประเด็นนี้คือลักษณะความเป็นสมานฉันท์

ประเด็นสุดท้ายคือปัจจัยเรื่องการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวข้องกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ในเหตุการณ์นี้มีนักการเมืองหญิงคนหนึ่ง ที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยมด้วย ที่เป็นชาวอินเดียอพยพ ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเทศบาลซีเอสเติล ที่ชูนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ และได้รับการเลือกตั้ง จึงเหมือนเป็นสิ่งที่บอกอันหนึ่งว่าชาวเมืองนี้เห็นด้วยกับนโยบายค่าแรงดังกล่าว สภาซีแอตเทิลโหนกระแสค่าแรงนี้ จึงมีการสนับสนุนลงมติให้ผ่านกฎหมายนี้ลงมา

นภาพร กล่าวว่า สำหรับการรณรงค์เคลื่อนไหวภายใต้บ้านเมืองที่ไม่ปกตินี้ ตัวเลขเท่าไหร่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นห่วง แต่ที่กังวลคือจะทำอย่างไรที่การเคลื่อนไหวครั้งนี้ที่มีพลังเป็นเอกภาพ ในขบวนการแรงงานที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง นั้นเป็นเรื่องปกติ แต่การเคลื่อนไหวเรื่องแรงงานนั้นความแตกต่างตรงนี้ต้องวางลงก่อน และเรื่องความต่างทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์  แต่รัฐบาลนี้ที่มีอำนาจมาก หากเห็นว่าเราทำแบบไม่มีพลังทำไปคนละทีสองทีก็จะไม่ได้รับความสนใจ รวมทั้งอาจถูกอำนาจรัฐเข้าแทรกแซง ทำอย่างไรที่เห็นด้วยว่าค่าแรงจะต้องปรับนี้จะเคลื่อนไปอย่างไรที่ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้อะไรเลย อย่าให้ความคิดต่างทางการเมืองมาเป็นอุปสรรคเพื่อที่จะต่อสู่เพื่อผลประโยชน์ของแรงงาน

วิภา ดาวมณี

ค่าแรงคงที่ค่าครองชีพเพิ่ม เท่ากับค่าแรงเราลดลง เสนอ 1,500 บาท

วิภา กล่าวว่า เรากำหนดชีวิตตัวเองอย่างไร ทุกวันนี้เราไม่ได้กำหนดชีวิตตัวเองของเรา เมื่อเราไม่ได้กำหนดชีวิตตัวเราเองเรากำหนดรายรับเราได้อย่างไร เมื่อระบบการเมืองการปกครองเราไม่ได้กำหนดหรือเลือกได้ อัตราการขึ้นค่าจ้างรายวันของไทยขึ้นเพียง 1-2 % ต่อปี แต่อัตราค่าครองชีพขึ้น 3-6 % แสดงว่าของแพงขึ้น เท่ากับเงินเดือนเราลดลงทุกปี เท่ากับคนงานถูกตบตา แม้กระทั่งปี 55 ที่ขึ้นมา 300 บาท เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำที่ขึ้นไม่ทันค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นมาหลายปี เคยมีคนเสนอว่าหากผู้จัดการได้เงินเดือน 1 แสน บาท กรรมกรธรรมดาควรได้ 5 หมื่นบาท เงินเดือนควรต่างกันเพียง 2 -3 เท่าเท่านั้น

วิภา กล่าวด้วยว่า คนงานควรมีรายได้ต่อวัน 1,500 บาทต่อวันเพื่อให้สามารถเลี้ยงคน 3 คน

สร้างรัฐสวัสดิการ-ปัญหาแรงงานทำแนวร่วมข้ามชนชั้น

วิภา กล่าวต่อว่า แนวทางเรียกร้องหารัฐสวัสดิการเพื่อให้รัฐแบ่งเบาภาระให้คนจนนั้น หากมีกระแสที่เพียงก็จะแบ่งเบาภาระได้ ผ่านการเก็บภาษีให้ตรงจุดที่เก็บจากคนรวย ไม่ใช่มาเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ระบบภาษีในสังคมประชาธิปไตยนั้นสามารถเก็บได้เป็นกอบเป็นกำ เป็นทางออกระยะยาว แต่เฉพาะหน้านั้นรัฐสวัสดิการต้องไปพร้อมกับความเป็นประชาธิปไตย การเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่แยกจากเศรษฐกิจหรือปากท้อง การสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานเป็นสิ่งสำคัญ แต่บางกลุ่มไปทำแนวร่วมข้ามชนชั้น สามัคคีกับนายทุน หรือทำแนวร่วมกับเผด็จการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้แก้ปัญหา

วิภา ยกตัวอย่างเสื้อชั้นในของดีราคา 1,000 บาทต่อตัว แต่สัดส่วนค่าแรงที่คนงานได้ต่อชิ้นเพียง 3%  คือ 30 กว่าบาท จึงเป็นสัดส่วนค่าตอบแทนที่ควรมีการตั้งคำถาม

กรชนก ธนคูณ จากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ร่วมแลกเปลี่ยน ค่าจ้างที่คุยกันวันนี้ 421 บาท ยังห่างไกลจากความเป็นจริง อย่างที่ประสบกันมาของไทรอัมพ์ ทุกวันนี้เรากินค่าแรงที่ 485 บาท แต่มันก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ สภาพความเป็นจริง ออกจากบ้านเช้า ก็กินน้ำดื่ม 7 บาท เมื่อกินน้ำ ก็กินข้าวปลาอาหาร เข้าร้ายเซเว่น มีขนมอีก และสภาพความเป็นจริงที่อยู่ในโรงงานก็มีการเร่งเป้าการผลิต เกิดความเหนื่อยล้า ก็หาสิ่งที่มาเพื่อบำรุงสุขภาพเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งล้วนเป็นรายจ่ายทั้งนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net