Skip to main content
sharethis
ฟอร์ตี้ฟายไรต์และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ถอนฟ้องข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีใด ๆ ที่ไม่เหมาะสมต่อผู้สื่อข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้วิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ๆ 
 
5 ม.ค. 2561 ฟอร์ตี้ฟายไรต์และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนระบุว่าทางการไทยควรถอนข้อกล่าวหาต่อนายจามร ศรเพชรนรินทร์ โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้จามรกำลังถูกสอบสวนเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงอย่างสงบที่เหมืองแร่ทองคำแบบเปิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้จับกุมจามรตอนเช้าวันที่ 29 พ.ย. 2560 ขณะที่เขากำลังข้ามพรมแดนเข้าสู่พม่าเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตน
 
"สื่อมวลชนและช่องทางการสื่อสารมีส่วนช่วยเผยแพร่และทำให้สังคมได้ยินเสียงของชาวบ้าน” จามร ศรเพชรนรินทร์ อายุ 35 ปี กล่าวกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ “ถ้าสื่อมวลชนไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น หรือต้องถูกตอบโต้เนื่องจากการนำเสนอข้อมูล ย่อมทำให้สังคมไม่ได้ยินเสียงของชุมชนในท้องถิ่น”
 
ในวันที่ 8 ม.ค. 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรวังสะพุง จังหวัดเลย จะแจ้งผลการสืบสวนว่าจะส่งฟ้องคดีของจามรให้กับอัยการจังหวัดเลยหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าเขามีความผิด เขาอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และ/หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
 
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2559 ศาลจังหวัดเลยออกหมายจับจามรตามมาตรา 83, 362, และ 365 ตามประมวลกฎหมายอาญา ในข้อหา “รบกวนการครอบครอง” หรือข้อหาบุกรุก เข้าพื้นที่เหมืองทองคำแบบเปิด ซึ่งเดิมอยู่ใต้การบริหารจัดการของบริษัททุ่งคำ จำกัด
 
เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้จับกุมจามรตอนเช้าวันที่ 29 พ.ย. 2560 ที่ด่านบ้านน้ำพุร้อน จังหวัดกาญจนบุรี และได้ส่งตัวเขาไปให้เจ้าหน้าที่ที่สถานีตำรวจภูธรวังสะพุงควบคุมตัวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน และเขาได้รับการประกันตัวออกไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560
 
จามรกล่าวกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า ก่อนจะถูกจับกุม เขาไม่ทราบมาก่อนว่าเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนว่าเขาเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดใดๆ และไม่เคยได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
 
เจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนว่าจามรเกี่ยวข้องหรือไม่กับการปักธงเขียวและใช้ปูนขาวเขียนข้อความ “ปิดเหมือง ฟื้นฟู” บนพื้นดินบริเวณเหมืองแบบเปิดเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2558 
 
คดีนี้เป็นหนึ่งใน คดีแพ่งและอาญา หลายคดีที่มีการฟ้องเพื่อเล่นงานชาวบ้าน ทั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัท ทุ่งคํา จํากัด คดีเหล่านี้ถือเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อการคุกคาม ฟอร์ตี้ฟายไรต์และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าว ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนว่าความให้กับชาวบ้านที่เลยและจามรในคดีแพ่งและอาญาหลายคดี
 
ในวันที่ 25 พ.ย. 2559 ศาลจังหวัดเลยได้ยกฟ้องคดีต่อ สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ และพรทิพย์ หงชัยในข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการประท้วงในปี 2558 คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วโดยศาลมีความเห็นว่านักกิจกรรมทั้งสองคนไม่มีความผิด เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานมากเพียงพอว่าบริษัทเหมืองเป็นเจ้าของที่ดินในขณะที่เกิดเหตุขึ้น
 
“สิทธิในการประท้วงรวมทั้งสิทธิที่จะแสดงออกอย่างเสรีและสิทธิในการชุมนุม ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “ข้อกล่าวหาต่อจามรเป็นข้อหาที่ไม่เหมาะสมและเจ้าหน้าที่ควรยุติคดีดังกล่าวโดยไม่ชักช้า"
 
การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ใช้สิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคมได้รับการคุ้มครองตามข้อ 19 และ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ในระหว่างการทบทวนตามวาระกรณีการปฏิบัติตามกติกา ICCPR ของประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้แสดงความกังวล กับ “การดำเนินคดีอาญา โดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรและผู้สื่อข่าว…,” และกระตุ้นประเทศไทยให้ “… ประกันการเข้าถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกในทุกรูปแบบ”
 
ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคมได้ระบุข้อกังวลเกี่ยวกับการดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกของบริษัทเอกชน ซึ่งถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และสนับสนุนศาลที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน เมื่อเป็นที่ชัดเจนว่าสิทธิมนุษยชนตกเป็นเป้าโจมตีเนื่องจากขัดขวางผลประโยชน์ของเอกชน
 
ในวันที่ 21 พ.ย. 2560 พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีประกาศว่า รัฐบาลกำหนดให้ “สิทธิมนุษยชน” เป็นวาระแห่งชาติระหว่างปี 2561-2562 และแสดงพันธกิจที่จะรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน จะมีการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ
 
ฟอร์ตี้ฟายไรต์และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ถอนฟ้องข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีใด ๆ ที่ไม่เหมาะสมต่อผู้สื่อข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้วิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ๆ 
 
“ทางการไทยควรทำให้สังคมประจักษ์ถึงพันธกิจที่มีต่อสิทธิมนุษยชน โดยการปฏิบัติให้ดู ไม่ใช่แค่ให้สัญญาเฉย ๆ” สอ รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าว “พวกเขาควรถอนข้อกล่าวหาต่อจามรและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข นั่นจะนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี!”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net