Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ กอ.รมน. 4 และฉก.43 ถอนฟ้องผู้จัดการออนไลน์ที่ได้เปิดเผยข่าว 'ชาวบ้านแฉถูกซ้อมทรมาน'

9 ก.พ.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ (กอ.รมน. 4) หรือ หน่วยทหารพรานที่ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 (ฉก.43) ถอนแจ้งความร้องทุกข์ จากการดำเนินคดีต่อบรรณาธิการผู้จัดการออนไลน์ที่ได้เปิดเผยข่าว “แฉ อดีตผู้ต้องสงสัยเผยถูกซ้อมทรมานเหมือนตาย ระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหาร” เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมย้ำด้วยว่า การรายงานข่าวไม่ใช่อาชญกรรม

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

แถลงการณ์ การรายงานข่าวไม่ใช่อาชญกรรม ขอให้ถอนแจ้งความสำนักข่าวผู้จัดการออน์ไลน์ กรณีรายงานข่าวชาวบ้านแฉถูกซ้อมทรมาน

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ตามที่ทางพลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค4 และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ (กอ.รมน. 4) ได้มอบอำนาจผู้แทนพันเอกหาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43และทนายความเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อบรรณาธิการผู้จัดการออนไลน์ที่ได้เปิดเผยข่าว “แฉ อดีตผู้ต้องสงสัยเผยถูกซ้อมทรมานเหมือนตาย ระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหาร” เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 องค์กรที่มีชื่อข้างท้ายแถลงการณ์นี้ เห็นว่า 

1. ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามต่อหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นสิทธิอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายหรือการกระทำของเจ้าหน้าที่

2. สื่อมวลชนมีหน้าที่เปิดพื้นที่ หรือสะท้อนข้อเท็จจริงและปัญหาที่เกิดจากการกรทำของเจ้าหน้าที่ ในกรณีนี้ การรายงานข่าวโดยนักข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ได้สท้อนข้อเท็จจริงจากประชาชนที่อ้างว่าตนป็นเหยื่อของการทรมานหรือการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบโดยเจ้าหน้าที่ต่อสาธารณะเป็นหน้าที่อันชอบธรรมของนักข่าวที่ทำหน้าที่ของตน

3. รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน ดังนั้น เมื่อปรากฎเป็นข่าว หรือมีกรณีร้องเรียน ว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการซ้อมทรมานประชาชนที่ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบแล้ว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องย่อมมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนว่าอาจมีผู้กระทำความผิดตามข่าวหรือข้อร้องเรียนหรือไม่ หากพบว่ารายงานข่าวหรือการร้องเรียนมีมูล หน่วยงานรัฐย่อมมีหน้าที่ในการแก้ไข หากไม่มีมูล ก็ชอบที่จะชี้แจงต่อสื่อดังกล่าวและต่อสาธารณะชนได้

4. การที่ หน่วยงานของรัฐที่ถูกกล่าวหา คือ หน่วยทหารพราน ฉก.ที่ 43 หรือ กอ.รมน. 4 ได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อบรรณาธิการผู้จัดการออนไลน์ที่ได้เผยแพร่ข่าว “แฉ อดีตผู้ต้องสงสัยเผยถูกซ้อมทรมานเหมือนตาย ระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหาร” นั้น นอกจากจะเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและลิดรอนสิทธิของประชาทชนและสื่อในการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณที่เข้าข่ายการดำเนินคดีปิดปาก (Strategic Litigation against Public Participation)

5. การตอบโต้ของ กอ.รมน. 4 ย่อมมีผลให้ ประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อการกระทำโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ ไม่กล้าที่จะเปิดเผย เรื่องร้องดังกล่าวต่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากจะมีผลให้รัฐสูญเสียโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคน ใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่ชอบต่อไป และทำให้เกิดช่องว่าง ความห่างเหิน และความไม่ไว้วางใจระหว่างประชาชนและหน่วยงานของรัฐในที่สุด อันจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสังคมอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว องค์กรที่มีชื่อข้างท้ายนี้ จึงขอเรียกร้องให้ กอ.รมน. 4 หรือ หน่วยทหารพรานที่ ฉก.43 ได้โปรดถอนแจ้งความร้องทุกข์ หรือยุติการกระทำดังกล่าวด้วย 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

กลุ่มด้วยใจ 

เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี

 

ขณะที่วันเดียวกัน รายงานข่าวจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า เมื่อเวลา 11.00 น. พ.อ.หาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับหน่วย ฉก.43 พร้อม วิฑูรย์  คีรีลักษณ์ ทนายความ ได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี ในข้อหาดังกล่าว  ซึ่งทนายความ กล่าวว่า สำหรับเรื่องนี้ทางหน่วย  ฉก.43  ต้องปกป้อง สิทธิและหน้าที่ของหน่วย ซึ่งทางหน่วยมีขั้นตอนของการซักถามผู้ต้องหาหรือต้องสงสัย ตั้งแต่มีทนายความ พนักงานสอบสวน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาหรือญาติ ตลอดจนทีมแพทย์ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนแต่ละขั้น โดยบุคคลเหล่านี้สามารถเป็นพยานยืนยันได้ว่า ทางหน่วยไม่ได้ซ้อมทรมานขณะที่มีการซักถาม การนำเสนอข่าวลักษณะนี้ทำให้หน่วยเสื่อมเสียชื่อเสียงจึงจำเป็นต้องออกมาปกป้อง
 
พ.ต.อ.ฉลอง  เล็กน้อย ผู้กำกับการสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ในส่วนของ   ผู้บังคับหน่วย ฉก.43 ได้รับมอบหมายจากแม่ทัพภาคที่ 4 ให้มาร้องทุกข์ดำเนินคดี ผมในฐานะเป็นพนักงานสอบสวน เป็นผู้รับแจ้งความ กรณีเว็บไซต์ชื่อดัง และผู้อื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข่าวทางเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 5 ก.พ.  2561 ได้นำเสนอข่าวกล่าวหาผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยขาดการตรวจสอบก่อนที่จะไปนำเสนอ อันทำให้เป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยเฉพาะกรณีนี้หน่วย ฉก.43  เป็นผู้เสียหายและกระทบสิทธิ์ อีกทั้งยังถูกละเมิดสิทธิ์ จึงจำเป็นต้องนำหลักฐานมาร้องทุกข์ กับพนักงานสอบสวน เพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net