Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ไม่ว่าจะเป็นความคิดใหม่หรือไม่? แต่จุดยุทธศาสตร์ อย่างประจวบคีรีขันธ์ ทางผ่านไปยังภาคใต้ของไทย ที่ผมเองเคยผ่าน ไป-มา มากกว่าร้อยครั้ง น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยเอามากๆ เสียด้วยซ้ำ จุดนี้อาจเรียกได้ว่า จุดเชื่อมอีสต์-เวสต์ คอริดอร์ ของไทยอย่างแท้จริง คือจากอ่าวไทยไปอันดามันหรือแม้แต่ทะเลเบงกอล อันเป็นแนวเชื่อมต่ออีกหลายประเทศในเอเชียใต้ อย่าง อินเดีย ศรีลังกาและบังคลาเทศ

ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องผ่านพม่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนดุจเดียวกับประเทศไทยไปก่อน

จากการมองว่าประจวบฯ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญดังกล่าว  ตอนนี้เลยเกิดกลุ่มผู้มีความคิดขับเคลื่อนเมืองประจวบฯ ให้เป็นเมืองยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาพื้นที่เขตตะวันตกของประเทศไทย ด้วยความที่จังหวัดนี้มีพื้นที่เป็นแนวยาวติดกับชายแดนพม่า ที่สำคัญระยะทางจากฝั่งสู่ฝั่ง อ่าวพม่าและอ่าวไทยนั้นมีระยะใกล้กันไม่มาก

เหมาะสมสำหรับการเปิดตัวเขตเศรษฐกิจเชื่อมต่อระหว่างสองประเทศอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านไหน อย่างเช่น การอุตสาหกรรม (ประมง ผลไม้ ฯลฯ)  การท่องเที่ยว เป็นต้น โดยเหตุที่ทั้งสองฝั่งมีความพร้อมเชิงทรัพยากรธรรมชาติหรือวัตถุดิบค่อนข้างมากหรือเกือบสมบูรณ์แล้ว พอที่จะทำให้เกิดเขตเศรษฐกิจใหม่ได้

แน่นอนว่า เราไม่อาจปฏิเสธความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหรือสาธารณูปโภคอื่นๆ ได้ แต่ว่าโดยส่วนตัวจากการไปสำรวจพื้นที่ประจวบฯ ของผมเองเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าพื้นที่ฝั่งไทยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ยังแต่ฝั่งพม่าหรือเมืองมะริด ที่อาจด้อยกว่าไทยอยู่บ้าง แต่หากทั้งสองฝ่ายสองฝั่งหันมาหารือกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันแล้ว ผมเชื่อว่าผลประโยชน์ก็คงตกอยู่กับประชาชนทั้งสองประเทศ

ผู้จุดชนวนความคิดของเรื่องนี้ หาใช่ใครอื่นใดไม่ เขาคือ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จังหวัดประจวบฯ ทิวา ศุภจรรยา หรืออดีตผู้ช่วยอาจารย์ ภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของหนังสือ “มรดกไทยจากภาพถ่ายดาวเทียม (Thai Heritage from Space)” ที่ตอนหลังถึงกับลงมือศึกษาการพัฒนาเมืองประจวบฯ ด้วยตัวของเขาเอง โดยมี ฉันทฤทธิ์ วิโรจน์ศิริ หรือ “อาจารย์จ้อบ”ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมและผังเมืองจากสหรัฐอเมริกา เป็นที่ปรึกษาข้างกาย ทั้งคู่เห็นประโยชน์ที่ชุมชนชาวประจวบฯ และประเทศไทย จะได้รับจากการพัฒนาเมือง หรือนัยหนึ่งก็คือการเตรียมเมือง เพื่อรองรับโลกศตวรรษที่ 21

เพราะประจวบฯ เป็นทางผ่านลงไปสู่ภาคใต้และเป็นจังหวัดเชื่อมติดกับเมืองทะวายและมะริดของพม่า โดยพื้นที่ดังกล่าวนี้ หากในบริบทประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประชาชนคนท้องถิ่นก็ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหนกัน สามารถเชื่อม เป็นแผงการพัฒนาเศรษฐกิจได้ในหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าระบบการขนส่งแบบรางที่ทันสมัยจะลงจากกรุงเทพสู่จังหวัดประจวบฯในไม่ช้านี้แล้ว อาทิ รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น

ชาวประจวบฯ ไล่ตั้งแต่ระดับบน ในส่วนราชการและเอกชน ตลอดถึงประชาชนในระดับล่าง จึงต้องเตรียมการเพื่อรองการขยายตัวของความเจริญแบบ 4.0 ที่จะเข้ามายังเมืองประจวบฯ อย่างรู้เท่าทันและทันท่วงทีตามลักษณะภูมิทัศน์ของการพัฒนาเมืองในยุคร่วมสมัย ซึ่งว่าไปแล้วเมืองประจวบฯเอง เป็นที่รู้จักของนักเดินทาง นักท่องเที่ยว เป็นอย่างดีมานานในชื่อหัวหิน

แต่อย่างที่ทราบกันดีครับว่า ศักยภาพของหัวหินในปัจจุบันนั้นถือว่า ล้นเกินกำลังของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้เสียแล้ว เมื่อความเจริญได้ขยายตัวลงไปยังด้านใต้ของหัวหิน อย่างเช่น ปราณบุรี เป็นต้น ขณะที่ส่วนอื่นๆ ของประจวบเองก็พลอยได้รับอานิสงส์ของการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวดังกล่าวไปด้วย

และเช่นเดียวกันกับอ่าวประจวบฯ ตลอดถึงคลองวาฬ ทับสะแก ที่นักท่องเที่ยวผู้หยั่งลึกกับทะเลไทยและสภาพแวดล้อมริมฝั่งประจวบฯทราบดีว่า  มันเหมาะที่พวกเขาจะเดินทางไปท่องเที่ยวหรืออยู่กับสภาพธรรมชาติที่แท้จริงอย่างไร มากกว่าเมืองฉาบฉวยอย่างหัวหิน หลักฐานเชิงประจักษ์ คือรีสอร์ท หรือชุมชนต่างด้าว ริมทะเลประจวบฯ จึงผุดพราวขึ้นมากมาย อย่างเช่น หมู่บ้านสแกนดิเนเวียน เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความหลงใหลในความสงบ ในรูปแบบธรรมชาติดั้งเดิมของทะเลไทย มากกว่าการไปอาศัยอยู่ท่ามกลางความอึกทึกของเสียงและผู้คนในย่านหัวหิน อันเป็นที่ลงของนักท่องเที่ยวที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในแถบนั้น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเมืองประจวบฯที่กำลังขยายจากหัวหินลงไปด้านใต้หรืออ่าวประจวบฯนั้น ไม่ง่ายนัก ในขณะที่ภาพแวดล้อมของเมืองถูกกลบทับเกลื่อนกล่นเต็มไปด้วยสถานที่ก่อสร้างที่เกิดจากวัตถุประสงค์การสร้างเมืองแบบเก่าที่มีมาแต่เดิมก่อนเป็นตัวจังหวัด จนถึงขณะนี้สถานที่ก่อสร้างเหล่านี้ ซึ่งเป็นของส่วนราชการบ้าง เอกชนบ้าง กลายเป็นโบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่อยู่ผิดที่ผิดทาง ท่ามกลางนิเวศน์การท่องเที่ยวและภูมิทัศน์แบบใหม่ที่ต้องมุ่งตอบสนองต่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือความรุ่งเรืองของเมือง หรือต่อภาคประชาสังคมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

อาคารสิ่งก่อสร้างเก่าๆ บางชิ้นบางอัน ริมอ่าวประจวบฯ จึงกลายเป็นส่วนเกิน ที่จำเป็นต้องปรับปรุงให้เหมาะกับภูมิทัศน์ของเมืองแบบใหม่ ที่สำคัญคือ มันต้องเอื้อประโยชน์ประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองอย่างเต็มที่ในเชิงก้าวหน้า

โดยสรุปก็คือ ประจวบฯ กำลังต้องการศูนย์ราชการแห่งใหม่ตามหลักการบริการงานราชการสมัยใหม่ คือ one stop service นั่นแหละ เสริมรับกับหลักการการใช้สถานที่หรือทรัพยากรของรัฐให้เกิดคุณค่าหรือประโยชน์สูงสุด 

นี่มิใช่การมุ่งในเชิงธุรกิจเป็นหลัก หากแต่เป็นการมุ่งแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องชุมชนประจวบฯ ที่มีอาชีพหลัก คือทำประมง จะเป็นเรื่องที่ดีกว่าหรือไม่? ที่จะสร้างทางเลือกในด้านอาชีพให้กับพี่น้องชุมชนริมอ่าวประจวบฯ บูรณาการอาชีพดั้งเดิมของพวกเขาเข้ากับธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัวจากหัวหินลงไปด้านใต้

และนี่ยังไม่นับรวมการสร้างงานอีกนับเป็นหมื่นๆ ตำแหน่งในเขตเดียวกันดังกล่าวก็ในเมื่อหัวหินมาถึงทางตันแล้ว (เช่น ตันจากค่าครองชีพที่สูงเกินกำลัง ตันจากการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ที่ปราศจากการควบคุม เป็นต้น)

ภาพรวมของการพัฒนาเมืองประจวบจึงไม่ควรถูกจำกัดอยู่แต่เมืองหัวหินเท่านั้น หากแต่ควรขยายออกไปในส่วนอื่นๆ ของจังหวัดด้วย โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นภาคการท่องเที่ยวอย่างเดียว หากต้องรวมภาคเกษตรหรือภาคอื่นๆเข้าไปด้วย รวมถึงการคำนึงถึงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าด้วย โดยอาศัยรูปแบบการพัฒนาสมัยใหม่ ที่มีเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบสำคัญ

ก็ถ้ารัฐบาลกำลังผลักดันอีอีซีในภาคตะวันออกได้ แล้วทำไมจะพัฒนาโซนตะวันตกอย่างเมืองประจวบฯ ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ศักยภาพของเมืองนี้มีมาก โดยเฉพาะภาพรวมของเมืองนี้ ที่มีข้อดีอยู่ที่ เป็นเมืองที่ยังมีต้นทุนต่ำอยู่มาก อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานก็พร้อมอยู่แล้ว รวมถึงท่าเรือก็ด้วย...

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net