Skip to main content
sharethis

ปลัดกระทรวงแรงงานเผย ปีนี้รัฐบาลเล็งให้สัตยาบรรณอนุสัญญาแรงงานประมงและแรงงานบังคับพร้อมตรากฎหมายใหม่ แต่กฎหมายต้องพิจารณาตามบริบทไทย วงเสวนางานวิจัยเผย เอกชนจัดให้ข้ามชาติเป็นคณะกรรมการสวัสดิการของไทยแล้ว แต่ไทยยังไม่ให้จัดตั้งสหภาพเองเหมือนมาตรฐาน ILO แรงงานจำนวนมากยังไม่มีเอกสารสัญญาจ้าง

เมื่อ 7 มี.ค.2561 โครงการสิทธิเรือสู่ฝั่ง ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสหภาพยุโรป นำเสนอรายงาน “ข้อค้นพบจากงานวิจัยข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับแรงงานประมงและอาหารทะเลในประเทศไทย” ที่โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ เป็นงานวิจัยฉบับแรกที่ทำขึ้นในประเทศไทยที่ครอบคลุมทั้งภาคประมง ภาคอาหารทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

โดยในงานได้เชิญอรรถพันธ์ มาศรังสรรค์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไท ธิตาร์ โอ เจ้าหน้าที่ประสานแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิรักษ์ไทย และเจสัน จั๊ดด์ เจ้าหน้าที่อาวุโสประสานงานโครงการ องค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO มาเป็นแขกเสวนาเกี่ยวกับข้อค้นพบ รวมทั้งยังเชิญจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงานมากล่าวปาฐกถาพิเศษ

ILO เปิดผลศึกษาแรงงานประมง-อาหารทะเลในไทย มีทั้งความก้าวหน้าและการละเมิดที่ยังพบอยู่

จรินทร์ จักกะพาก

จรินทร์กล่าวว่า ข้อค้นพบที่จัดทำจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานประมง อุตสาหกรรมอาหารทะเลในไทย เพราะทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในฐานะพลเมืองของสังคมโลกแม้เขาไม่ใช่คนไทย สอดคล้องกับเป้าหมายที่ 8 ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เรื่องการจ้างงานอย่างมีคุณค่า พัฒนาทางเศรษฐกิจโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยภายในปี 2561 รัฐบาลไทยตั้งใจที่จะให้สัตยาบรรณอนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงและพิธีสารประกอบอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานบังคับหรือ P 29 ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรากฎหมายใหม่เพื่อยกระดับมาตรฐานแรงงานให้สอดคล้องกับระดับมาตรฐานสากล การตรากฎหมายได้เชิญภาคประชาสังคมมาสังเกตการณ์ และให้ความเห็นกับการร่างกฎหมาย ทั้งนี้ มาตรฐานระหว่างประเทศจำเป็นต้องถูกปรับให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่บังคับใช้กฎหมาย การตรากฎหมายให้ถูกใจทุกคนจึงเป็นเรื่องยาก

เรื่องการจ่ายค้าจ้าง กระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน มีมาตรการให้จ่ายค่าจ้างผ่านธนาคาร เพื่อจะได้มีหลักฐานการจ่าย ผลการศึกษาได้แสดงประเด็นที่ได้รับการแก้ไขแล้ว และที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป คือเรื่องแรงงานบังคับ โดยทางกระทรวงฯ กำลังพิจารณาออกร่าง พ.ร.บ. การใช้แรงงานบังคับ ตามข้อบ่งชี้เรื่องแรงงานบังคับ ตอนนี้ได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากบางส่วนไปบ้างแล้ว

จรินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันงานประเภทที่สกปรก อันตราย ยากลำบากและตรากตรำ หาแรงงานไทยทำได้ยากมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2560 อุตสาหกรรมอาหารทะเล และประมง มีการจ้างงานชาวกัมพูชาและชาวพม่ารวมกว่า 302,000 คน ดังนั้นการจ้างงานที่มีคุณค่า เป็นธรรม จึงเป็นปัจจัยของความเจริญที่ยั่งยืน ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงลูกจ้าง ที่ต้องรู้จักสิทธิและกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของระบบราชการ เอกชน เอ็นจีโอต้องกระจายการรับรู้สู่แรงงานข้ามชาติ

ซ้ายไปขวา: อรรถพันธ์ มาศรังสรรค์ เจสัน จั๊ดด์ ธิตาร์ โอ

อรรถพันธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ ให้ร่วมมือด้านการปฏิบัติใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practice - GLP) กับทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศมาสามปีแล้ว สมาชิกทุกคนได้เข้าร่วมและปฏิบัติตามตลอด แต่เนื่องจากไทยยังไม่อนุญาตให้เกิดการมีส่วนร่วมของแรงงานต่างด้าวตามอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วย เสรีภาพในการสมาคม และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม แต่ภาคอุตสาหกรรรมไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวในโรงงานเป็นคณะกรรมการสวัสดิการโรงงานที่เดิมจะมีแต่คนไทย ซึ่งก็เกิดการเลือกตั้ง หาเสียงเอง คณะกรรมการสวัสดิการจึงเป็นช่องทางที่แรงงานต่างด้าวได้ส่งเสียงเรื่องปัญหา ความเป็นอยู่ คณะกรรมการสวัสดิการโดยมีแรงงานข้ามชาติในแต่ละโรงงานของสมาชิกมีแล้ว

เจสันกล่าวว่า องค์กรเอกชนและประชาสังคมได้ชูประเด็นขึ้นมาและทำให้ข้อเรียกร้องเรื่องปัญหาแรงงานมาปรับปรุง และทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอาหารทะเลไม่ใช่แค่เรื่องราคาแต่ยังเป็นเรื่องคุณภาพของแรงงานด้วย

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า การที่ลูกจ้างถูกระงับสัญญาจ้างงานยังคงเป็นปัญหา ร้อยละ 43 ของกลุ่มสำรวจยังคงโดนระงับสัญญาจ้าง แม้ว่ามีส่วนมากที่ได้รับการเซ็นสัญญาจ้างแล้ว แต่ก็ยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่ได้รับเอกสารสัญญา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net