บางถ้อยคำถึงนักเขียนหนุ่ม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค
Worapoj Panpong

|1|

ถัดจาก ‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’ และ ‘กนกพงศ์ สงสมพันธุ์’ แล้ว ‘วรพจน์ พันธุ์พงศ์’ คืออีกนามหนึ่งที่ผมไม่อนุญาตให้ตัวเองพลาดผลงานของเขาเป็นอันขาด

จำได้ว่าเมื่อครั้งที่ ‘เราต่างมีแสงสว่างในตนเอง’ อันเป็นผลงานเล่มแรกของเขา อวดโฉมบนแผงหนังสือเมื่อต้นปี พ.ศ. 2545 นั้น หนังสือเล่มนี้ก็สะดุดตาผมตั้งแต่แรกเห็น ค่าที่บั้นท้ายอันกลมกลึงของนางแบบบนหน้าปกนั้น ช่างเย้ายวนและดึงดูดสายตาเป็นอย่างยิ่ง

แต่ทว่า ผมมิได้ซื้อมันกลับบ้านตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นนั่นหรอก ตรงกันข้ามผมกลับผ่านเลยมันไปครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งที่เข้าร้านหนังสือทีไร เป็นต้องหยิบจับมาพลิกดูทุกที แต่จนแล้วจนรอดผมก็ยังลังเลอยู่นั่นเองว่าจะซื้อมันกลับไปดีหรือไม่ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า มันไม่ใช่งานวรรณกรรมในแบบที่ผมคุ้นเคย และใน พ.ศ.นั้นหนังสือแนวสารคดีชีวิตทำนองนี้ ก็ออกจะแปลกหน้าสำหรับตัวเองอยู่พอสมควร ลองพลิกดูด้านในและไล่อ่านสารบัญดูแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกจริตตัวเองหรือไม่ สุดท้าย ผมจึงวางมันกลับเข้าชั้นดังเดิมทุกทีไป

หลังจากเทียวไล้เทียวขื่ออยู่นาน จนกระทั่งหนึ่งปีผ่านไปแล้วนั่นแหละ ผมถึงได้ตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านเสียที ถามว่าชอบไหม ตอบได้เลยว่าชอบ และมันก็ให้รสชาติทางการอ่านที่แปลกใหม่ไม่น้อย หากก็ยังไม่ถึงกับติดอกติดใจอะไรนัก ผมมาหลงใหลตัวหนังสือของวรพจน์เข้าอย่างจัง ก็ต่อเมื่อได้อ่านผลงานเล่มถัดมาของเขา ‘ไปตามเส้นทางของเรา’ ก่อนจะมาตอกย้ำอีกครั้งให้ลุ่มหลงจนแทบโงหัวไม่ขึ้นในเล่มต่อมากับ ‘เศษทรายในกระเป๋า’ และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ผมก็ละเลียดอ่านงานทุกเล่มของวรพจน์ในอาการของเด็กที่ค่อยๆ ละเลียดกินขนมหวาน ด้วยไม่อยากให้มันจบเล่มโดยไว

ถามว่าชอบอะไรในผลงานของเขา มันแตกต่างจากผลงานของนักเขียนคนอื่นอย่างไร อย่างแรกเลยผมพบว่าเสน่ห์ในงานของวรพจน์อยู่ที่การหยิบจับเรื่องราวใกล้ตัวมาเขียนถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้คนที่พบเจอในระหว่างทางของชีวิต เรื่องเล่าถึงมิตรสหายคนนั้นคนนี้ ที่ตัวเองมีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และแน่นอนบางครั้งเขาก็เล่าถึงคู่รักที่ความสัมพันธ์ของเขาและเธอเดินทางมาถึงทางแยกที่ยากต่อการตัดสินใจ ฯลฯ รวมๆ แล้ว พูดได้ว่าเขาเขียนถึงเรื่องราวสามัญในสถานการณ์ปกติธรรมดา ที่ไม่ต่างไปจากเหตุการณ์ที่ไม่ว่าใคร ก็อาจประสบพบเจอด้วยตัวเองกันได้ทั้งนั้น

แหละนั่นเองที่ทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับเรื่องเล่าของเขา กระทั่งหลายครั้งก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่า เรื่องเล่าเหล่านั้น แทบไม่ต่างอะไรกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของเรากับผู้คนรอบตัวสักกี่มากน้อย ตัวหนังสือของเขาจึงดิ่งลึกเข้าไปในใจเราอย่างง่ายดาย ด้วยว่าหลายครั้ง ที่รู้สึกถึงอะไรบางอย่างแต่ไม่อาจอธิบายมันออกมาได้ แล้วบางประโยคของเขาก็สามารถพูดแทนใจ ราวกับถ้อยคำเหล่านั้น กลั่นออกมาจากใจของเราเอง คงไม่ใช่เรื่องเกินเลยอะไรนัก หากจะบอกว่า หลายครั้งที่อ่านงานของเขา แต่สิ่งที่ได้รับกลับเป็นความเข้าใจในตัวของเราเอง

ยังไม่ต้องเอ่ยถึง ทัศนะมุมมอง ตลอดจนถ้อยคำและน้ำเสียง ซึ่งเมื่อบวกรวมกับจังหวะจะโคนหรือท่วงทำนองในการเล่าเรื่อง ที่แม่นยำพอดิบพอดี ว่าจะย้ำหรือผ่อนในตอนไหน เพื่อให้ถ้อยคำทำงานได้ดีที่สุดด้วยแล้ว เรื่องเล่าของวรพจน์จึงจับใจเราเป็นอย่างยิ่ง

|2|

จุดเปลี่ยนสำคัญในงานของวรพจน์ เป็นไปอย่างแยกไม่ออกกับสถานการณ์อันผันผวนทางการเมือง โดยมีเล่ม ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ เป็นหมุดหมายสำคัญ เนื้อหาในเล่มนี้ดูจะแตกต่างไปจากงานเขียนเล่มก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด หากสำหรับตัวผมเอง ที่ไม่เพียงติดตามผลงานของเขาจากหนังสือเล่ม แต่ยังตามอ่านจากคอลัมน์ในนิตยสารทั้งในจีเอ็มและไรเตอร์ด้วยแล้ว ไม่นับว่าน่าแปลกใจอะไรกับทัศนะท่าที และจุดยืนทางการเมืองของเขาที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนในผลงานเล่มนี้--และอีกหลายเล่มถัดมาหลังจากนั้น

อนึ่ง ขออนุญาตกล่าวถึงตัวเองสักนิด ท่ามกลางความแตกแยกแบ่งฝ่ายของความคิดทางการเมือง ที่แบ่งผู้คนออกเป็นฝั่งฝ่าย ตัวผมเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ที่ต้องตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งดังกล่าว ไม่ต่างไปจากใครต่อใครที่สนใจการเมือง

ผิดแต่ว่า ขณะที่เพื่อนสนิทมิตรสหายแทบทุกคนของตัวเอง ต่างเห็นดีเห็นงามกับการแก้ปัญหาการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบ ตัวผมเองกลับแทบจะเป็นคนเดียวในหมู่เพื่อนฝูงที่คิดต่างไปอีกทาง ยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรงขึ้นเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งโดดเดี่ยวไปจากเพื่อนฝูงมากขึ้นเท่านั้น และสุดท้ายก็พบว่าตัวเองแทบจะคุยเรื่องนี้กับใครโดยไม่ทะเลาะถกเถียงกันรุนแรงไม่ได้เลย (อาจไม่ได้รุนแรงด้วยถ้อยคำแต่รุนแรงในความรู้สึก)

เมื่อนึกย้อนกลับไปก็พบว่า นอกจากบทความของนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยบางคนแล้ว งานเขียนของวรพจน์ในช่วงเวลาดังกล่าว ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความคิดอ่านทางการเมืองของผมลงหลักปักฐานและเอนเอียงมายังทิศทางนี้ ขณะเดียวกันมันก็เป็นเสมือนที่พึ่งพิงทางใจของตัวเอง ในยามที่พูดคุยกับใครไม่ได้ด้วย

อย่างน้อย ในยามรู้สึกโดดเดี่ยวไม่มีใคร ที่สามารถพูดคุยได้อย่างเปิดใจ ตัวหนังสือของเขาก็เป็นดั่งที่หลบภัยที่ช่วยไม่ให้รู้สึกเดียวดายจนเกินไปนัก แม้งานในระยะหลังดูจะห่างไกลจากเรื่องอันรื่นรมย์ และหนักไปทางเรื่องราวอันน่าเศร้า หดหู่ กระทั่งชวนให้รู้สึกคับแค้นใจ แต่การอ่านงานของเขาก็ช่วยตอกย้ำยืนยันให้มั่นใจได้ว่า ตัวเองกำลังเดินอยู่ในร่องในรอย-ของความคิดอ่าน-อันเหมาะควรดีแล้ว แม้จะดูเหมือนว่ายิ่งนานวัน ก็ยิ่งเดินห่างออกจากเพื่อนฝูงมากยิ่งขึ้นทุกทีก็ตาม

|3|

อันที่จริง บอกตรงๆ ว่าผมคิดถึงงานเขียนที่กรุ่นไปด้วยความรู้สึกอันละเมียดละไม อย่างที่ปรากฏในงานยุคก่อนของเขาเอามากๆ และอยากจะอ่านอะไรแบบนั้นอีกเหลือเกิน น่าเสียดายที่ระยะหลังมานี้เขาแทบไม่มีผลงานในท่วงทำนองดังกล่าวออกมาให้อ่านอีกเลย

แต่คิดอีกที ก็ดูจะผิดกาลเทศะและใจร้ายกับนักเขียนเกินไปหน่อย ที่เรียกร้องจะอ่านอะไรแบบนั้นในยามที่บ้านเมืองเป็นแบบนี้ ท่ามกลางความวิปริตผิดเพี้ยนที่เห็นอยู่ตำตา หากหัวใจยังปกติดี คงยากที่ใครจะฝืนใจเขียนอะไรแบบนั้นออกมาได้

ไม่แน่หรอกว่า หากเขามัวแต่เขียนงานแบบนั้นโดยไม่สนใจความเป็นไปของบ้านเมือง ไม่ใส่ใจจะเป็นปากเสียงให้กับผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหงอย่างอยุติธรรม เช่นที่เขาทำในระยะหลังแล้วล่ะก้อ ถึงวันนี้ผมอาจเลิกอ่านงานของเขาไปแล้วก็เป็นได้ โทษฐานที่ไร้หัวใจและไม่รู้สึกรู้สาต่อความวิปริตผิดเพี้ยนที่เห็นอยู่ตำตา--โชคดีที่วรพจน์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผมจึงยังคงอ่านงานของเขาด้วยความรู้สึกสนิทใจตลอดมา

ท้ายที่สุดนี้ ก็ได้แต่หวัง (ลมๆ แล้งๆ) ว่า สักวันบรรยากาศทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อที่นักเขียนคนโปรดของผมจะกลับมามีอารมณ์อันถึงพร้อม จนสามารถผลิตผลงานในท่วงทำนองแบบที่ผมเคยหลงใหลได้อีกครั้ง--หวังใจว่านี่คงมิใช่ปรารถนาอันล้นเกิน.

หมายเหตุ: เขียนเมื่อ 1 ก.พ. 2560 ปรับปรุงใหม่ : 11 มี.ค. 2561

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค บุรินทร์ ปุรินทราภิบาล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท