Skip to main content
sharethis

‘วรเจตน์’ ระบุนิติราษฎร์กับอนาคตใหม่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ขอสื่ออย่าเรียกว่าพรรคนิติราษฎร์ ส่วนปิยบุตรถือว่าขาดจากการเป็นสมาชิกนิติราษฎร์โดยสภาพ ไม่ควรหยิบประเด็น 112 ที่เสนอโดยนิติราษฎร์เป็นข้อโจมตีทางการเมือง เชื่อถึงที่สุด สังคมจะไปต่อไม่ได้ถ้าไม่ปรับกติกา

วันที่ 18 มีนาคม ณ ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายในงานเปิดตัวหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา’ ของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในช่วงถาม-ตอบหลังการบรรยาย วรเจตน์ได้ชี้แจงกรณีที่ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตสมาชิกนิติราษฎร์ ไปร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่กับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่านิติราษฎร์อยู่เบื้องหลังหรือไม่

วรเจตน์ กล่าวว่า รับรู้เรื่องนี้มาก่อนหน้า เนื่องจากปิยบุตรได้มาปรึกษา ซึ่งเขาเปิดเผยว่ารู้สึกเสียดายความสามารถทางวิชาการของปิยบุตร แต่ก็เคารพการตัดสินใจ

“ก่อนที่อาจารย์ปิยบุตรจะไปก็ได้คุยและปรึกษากับผม บอกเหตุผลว่าทำไมถึงอยากทำ ผมเห็น Passion ในตัวอาจารย์ปิยบุตร อยากเห็นทางเลือกใหม่ในการเมืองไทย อยากเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของบ้านเรา ผมก็ถามว่า แล้วในทางส่วนตัว การใช้ชีวิต จะมีข้อจำกัดอะไรหรือเปล่า เขาบอกว่าไม่มีข้อจำกัดเรื่องนี้ ที่ผมถามเพราะต้องการให้เขามีอิสระในการทำงานทางการเมือง ไม่ต้องขึ้นอยู่กับคนอื่น ถ้าเขาบอกว่า ผมก็คงบอกว่าอย่าไปเลย เพราะฉะนั้นผมก็ไม่คัดค้าน ผมจะเคารพความคิดของลูกศิษย์ คนต่างสมัยกัน บางสิ่งที่เราเห็นว่าดีสำหรับเรา อาจไม่ดีสำหรับอีกคนก็ได้ ต้องตัดสินใจเอง ในแง่นี้ผมก็รับรู้เรื่องราวมาระยะหนึ่งก่อนเกิดพรรคการเมืองนี้”

ส่วนประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างปิยบุตรกับนิติราษฎร์ วรเจตน์ เริ่มอธิบายว่า นิติราษฎร์ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างมากหลังการยึดอำนาจปี 2557 เนื่องจากบทบาทของนิติราษฎร์ที่โดดเด่นในเรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหารและการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเฉพาะเรื่องหลังที่ถูกโจมตีมากและยังกลายเป็นประเด็นอยู่แม้เวลาผ่านไปหลายปีแล้ว

แต่ในช่วงหลัง บทบาทของนิติราษฎร์ก็ลดลงไป ทั้งจากการที่เว็บถูกปิด เสรีภาพทางวิชาการที่ลดน้อยถอยลง และการที่ตัววรเจตน์ถูกดำเนินคดีข้อหาขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“ผมมีคดีก็กระทบกับความรู้สึกภายในของเพื่อนสมาชิก ทำให้บทบาทมันลดลงไป แต่ไม่เลิกอย่างเป็นทางการ เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตจะกลับมาทำอะไรที่เป็นประโยชน์ในทางกฎหมายได้อีกหรือเปล่า ก็กึ่งๆ เหมือนจะยุบตัวลงไปในช่วงเวลาแบบนี้ อาจารย์ปิยบุตรก็มองว่าน่าเหมาะที่จะทำอะไรบางอย่างที่อยากทำในทางการเมือง ท่านเป็นคนหนุ่มกับคนที่ย่างเข้าสู่วัยชราอย่างผมมีความต่างกันอยู่ คนหนุ่มอาจต้องการการผจญภัย ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางสังคมการเมือง

“แต่ที่ต้องพูดให้ชัดวันนี้ ขอความกรุณาสื่อมวลชนอย่าเรียกพรรคอนาคตใหม่ของคุณธนาธรและอาจารย์ปิยบุตรและคนอื่นๆ ที่ร่วมก่อตั้งว่าพรรคนิติราษฎร์ ไม่ใช่ ผมไม่ได้อยู่เบื้องหลัง ไม่ได้เป็นที่ปรึกษา ไม่ได้ทำอะไรเลยกับพรรคนี้ แน่นอนในความสัมพันธ์อาจารย์และศิษย์ เป็นเพื่อน เป็นพี่ชาย ในทางส่วนตัวมันตัดไม่ได้หรอก มันเป็นความสัมพันธ์ในทางส่วนตัวของมนุษย์ แต่ผมมีจุดยืนของผมอยู่ ข้อเสนอที่นิติราษฎร์เคยเสนอ รวมทั้งความเห็นทางกฎหมายที่ผมและนิติราษฎร์จะเสนอต่อไปในอนาคต ไม่เกี่ยวพันอะไรกับพรรคอนาคตใหม่

“เรื่องมาตรา 112 บรรดาสื่อมวลชนต่างๆ ที่จ้องโจมตีอาจารย์ปิยบุตรไม่ควรเอาประเด็นนี้มาเป็นภาระให้อาจารย์ปิยบุตร สมมติจะบอกว่ามันไม่ถูก ก็ชี้มาที่ผมหรือนิติราษฎร์ก็ได้ อาจารย์ปิยบุตรต้องการไปทำอย่างอื่น แล้วเมื่อไปทำการเมือง ก็ถือว่าขาดจากการเป็นนิติราษฎร์โดยสภาพ เพราะคนหนึ่งทำการเมือง อีกคนทำงานวิชาการ ตอนนี้บทบาทคนละส่วนแล้ว อาจารย์ปิยบุตรก็พูดเองว่าบทบาทของท่านอยู่ในทางการเมืองแล้ว”

ส่วนการนำข้อเสนอของนิติราษฎร์ไปทำเป็นนโยบายพรรค วรเจตน์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ต้องพูดคุยกันเอง ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเขาและนิติราษฎร์

“ข้อเสนอที่นิติราษฎร์เคยเสนอ รวมทั้งความเห็นทางกฎหมายที่ผมและนิติราษฎร์จะเสนอต่อไปในอนาคต ไม่เกี่ยวพันอะไรกับพรรคอนาคตใหม่ ถ้าเป็นสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่คิดว่าดี รับไปทำ ผมก็อนุโมทนา ยินดี และไม่ใช่พรรคนี้พรรคเดียว รวมทั้งพรรคอื่นๆ ด้วย สิ่งที่เราเสนอไปมันกลายเป็นสมบัติสาธารณะ ใครจะเอาไปทำ ยินดีทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม่มีเบื้องหลัง ผมไม่อยู่เบื้องหลังใคร และไม่มีใครอยู่เบื้องหลังผม

“แต่ประการหนึ่งที่ผมคิดว่าอาจารย์ปิยบุตรก็รู้ เมื่อเข้าสู่การเมืองแล้วมันเป็นอีกเฟสหนึ่งของชีวิต จะเจออะไรอีกหลายอย่างที่ไม่เคยเจอมาในชีวิต โดยเฉพาะการเมืองไทยภายใต้กติกาแบบนี้ แน่นอนมันเป็นความหวัง ดีกว่าที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย แต่ถึงที่สุดสังคมไทยไปต่อไม่ได้หรอกครับ ถ้าคุณไม่ปรับกติกาที่คำนึงถึงคุณค่าขั้นต่ำ คุณไม่ขจัดสิ่งที่คลางแคลงใจคนจำนวนมากอย่างเรื่องการสองมาตรฐาน มันไปไม่ได้”

 

หมายเหตุ ติดตามอ่านการบรรยายฉบับเต็มของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในงานเปิดตัวหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา’ ได้เร็วๆ นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net