Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



บางคนบอกว่าขณะนี้เราอยู่ในยุคแนวคิด "ประเทศไทย 4.0" บางคนก็อาจเถียงว่ายุค 0.4 หรือ 4.0 กันแน่ แท้จริงแล้วคำว่า "4.0" เป็นคำที่ไร้ราก ไร้ที่มา เป็นวาทกรรมโม้ๆ เท่านั้น

การพูดถึง "ประเทศไทย 4.0" นั้น เริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายนและลงข่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่คำ ๆ นี้ ไม่ใช่รหัสลับอะไร เป็นเพียงวาทกรรมส่งเดช ที่ไร้ราก ไร้ที่มา นำไปใช้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ และเชื่อว่าคิดขึ้นมาโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและคณะ ที่สรรหาคำพูดมาว่ากันไป และท้ายสุดก็จะไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ฝั่งฝันได้

ผิดตั้งแต่การแบ่งยุคส่งเดช

มีการแบ่งไว้ตั้งแต่โมเดล “ประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ “ประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และก้าวสู่โมเดลปัจจุบัน “ประเทศไทย 3.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก และต่อไปจะเป็น “ประเทศไทย 4.0” ให้ได้ภายใต้ 3-5 ปีนี้ จะสังเกตได้ว่าการแบ่งยุคส่งเดชแบบนี้ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่ชัด ตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย แต่ความจริงก็คือ

1. คำว่า "1.0" ที่ภาคเกษตรใคร ๆ ก็พูดได้เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาก่อน 

2. ยุค "2.0" ที่อุตสาหกรรมเบา นี่เป็นการแบ่งยุคที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพราะนับแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เมื่อปี 2503 เราก็เข้าสู่ยุคการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (Import-substitution Industrialization) โดยเน้นการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่าง ๆ ทั้งสิ่งทอ ยางรถยนต์

3. หลักฐานสำคัญคือการเกิดขึ้นของบริษัทไทยเกรียงอเมริกันเท็กซ์ไทล์และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่นๆ จากอเมริกา แม้แต่โรงกลั่นน้ำมันไทยก็เริ่มในช่วงต้นปีกึ่งพุทธกาลที่ผ่านมา และตามมาด้วยอุตสาหกรรมสิ่งทอ เช่น เทยินโพลีเอสเตอร์ ในช่วงปี 2510 อุตสาหกรรมไทยเฟื่องมากจากการมีไฟฟ้าจากเขื่อนภูมิพล โดยกระจายทั้งในย่านรังสิต บางนา พระประแดง นี่แสดงว่าคณะทำงานของ ดร.สมคิดคงไม่เข้าใจหรือลืมประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไทยไปแล้ว

4. ยุค "3.0" ในปัจจุบันที่ว่าเน้นอุตสาหกรรมหนักนั้นยิ่งผิดลงเหวไปใหญ่เลย จะสังเกตได้ว่าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมนั้น เน้นอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาจเรียกได้ว่าหมดยุคอุตสาหกรรมหนักไปแล้วในประเทศไทย อุตสาหกรรมหนักที่ใช้แรงงานมาก ได้ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมากแล้ว

ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้ว

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาช้านาน จะสังเกตได้ว่าในช่วงก่อนปี 2500 ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติราว 15% ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนอยู่ถึง 30-35% ในสมัยนั้น สินค้าหลักของประเทศไทยก็คือ ข้าว ยางพารา และไม้สัก แต่ปัจจุบันเป็น รถยนต์ อัญมณี เครื่องคอมพิวเตอร์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักร และอื่น ๆ ()

สัดส่วนของภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม
ในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ พ.ศ.2494-2546

ในระหว่างปี 2519-2520 สัดส่วนของภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมพอๆ กัน และเริ่มแตกต่างกันเด่นชัดในปี 2529 เป็นต้นมา จนในปัจจุบัน ณ ไตรมาสที่ 3/2559 สัดส่วนภาคเกษตรและอุตสาหกรรมในผลิตภัณฑฺ์มวลรวมประชาชาติคือ 8.7% และ 37.3% แสดงว่าประเทศไทยพัฒนาไปมากแล้ว ต่างจากการนิยามเรื่อง "ประเทศไทย 4.0" ซึ่งแบ่งยุคส่งเดช ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง


แนวคิดนรกที่ว่า "ทำน้อย ได้มาก"

ทางราชการมองว่า เรายังติดอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำมาก ได้น้อย” เราต้องการปรับเปลี่ยนเป็น “ทำน้อย ได้มาก” นี่ถือเป็นแนวคิดนรกชัด ๆ มุ่งส่งเสริมให้คนทำน้อยได้มาก เราต้องเปลี่ยนจาก "ทำมาก ได้น้อย" เป็น "ทำมาก ได้มาก" จึงจะถูก ต้องสอนให้ประชาชนขยันหมั่นเพียร แต่กอปรด้วยโอกาส จึงจะถูกต้องกว่าการ "ทำน้อย ได้มาก" จะกลายเป็นการหวังรวยทางลัดไป

ส่วนที่ไทยเราจะเปลี่ยนไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม หรือเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น ก็เป็นแนวโน้มที่เป็นอยู่แล้ว และเป็นอยู่ยาวนานมานับสิบปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น คำว่า Smart Farming, Smart Enterprises, Startups, High Value Services ก็เป็นสิ่งที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัย OTOP SMEs เพียงแต่เปลี่ยนคำเรียกให้ดูใหม่เท่านั้น


คิดบนฐานที่ไร้ราก

ใน “ประเทศไทย 4.0” ยังระบุถึง “ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ” 2 ด้าน คือ “ความหลากหลายเชิงชีวภาพ” และ “ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม” ข้อนี้ถือว่าหลับหูหลับตานิยาม แทบทุกประเทศในภูมิภาคนี้ก็มีทั้งสองสิ่งที่อ้างถึงทั้งสิ้น ไม่ได้มีอะไรที่วิเศษกว่าตรงไหน ที่อ้างว่าจะดำเนินการ ภาคเอกชนเขาก็ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น

1. กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ

2. กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์

3. กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม

4. กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว

5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง

ในทางตรงกันข้าม การเร่ง "ปั้ม" Start-up ต่าง ๆ ออกมา อาจพากันเข้ารกเข้าพง และทำให้กลายเป็นหนี้สินได้มากมาย และกลายเป็นการรับใช้รายใหญ่ ขึ้นต่อรายใหญ่ ๆ ด้วยหรือไม่


รัฐอย่ายุ่ง อย่าโกง เอกชนก็ดีใจแล้ว

ที่ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนภาคเอกชนนั้น ในความเป็นจริง หากเราปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินการโดยรัฐสนับสนุนก็เพียงพอแล้ว รัฐบาลไม่ต้องไปทำอะไรมาก ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจทื่อยู่อาศัย ภาคเอกชนดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว ภาครัฐแทบไม่มีบทบาทอะไร ณ กลางปี 2558 บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ได้พัฒนาโครงการขึ้นทั้งหมด 415 โครงการ รวม 163,630 หน่วย รวมมูลค่าถึงประมาณ 297,403 ล้านบาท

ถ้าเทียบกับการเคหะแห่งชาติที่พัฒนาที่อยู่อาศัยมาก่อน บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท เป็นเวลา 17 ปี จะพบว่า ณ สิ้นปี 2557 การเคหะแห่งชาติสร้างที่อยู่อาศัยประเภทเคหะชุมชนเพื่อการขาย/ให้เช่า ในตลาดเปิดประมาณ 142,103 หน่วยเท่านั้น (ไม่รวมบ้านเอื้ออาทร) การที่เอกชนนำ รัฐบาลก็ไม่ต้องออกเงินอุดหนุนใด แถมยังได้ภาษีมหาศาล ได้งานให้กับประชาชนเป็นจำนวนมากจากบริษัทพัฒนาที่ดินอีกด้วย ดังนั้นหากภาครัฐไม่มีการโกง ไม่ต้องให้เอกชนจ่ายใต้โต๊ะ ก็จะช่วยพัฒนาประเทศชาติได้มหาศาลแล้ว


ไทยจะไปสู่ประเทศร่ำรวยได้อย่างไร

ที่ว่าไทยยังติดอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางนั้น คงต้องผ่าตัดใหญ่จริงๆ โดยเริ่มที่

1. การสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยมากขึ้น จึงจะทำให้ภาพพจน์ของประเทศดีขึ้น ดูอย่างเมียนมาหลังเลือกตั้ง ก็ยิ่งมีผู้เข้าไปลงทุนมากขึ้น

2. ข้าราชการต้องทำงานรับใช้ประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่เอาเวลาไปออกกำลังกาย ควรทำงานในวันหยุดหรือเวลากลางวันโดยสลับเปลี่ยนกันมาเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนประเทศมากกว่า

3. การทำองค์กรราชการส่วนกลางให้เล็กลง รุข้าราชการที่ขาดประสิทธิภาพออกไปบ้าง ไม่ใช่อยู่ไปเรื่อย ๆ และเลี้ยงดูข้าราชการและครอบครัวไปชั่วชีวิต แถมมีบำนาญ มีลาภยศสักการะมากมาย อย่างนี้การกระจายรายได้จึงไม่เกิด ความเหลื่อมล้ำจึงมีมากมาย

4. ทำการจัดเก็บภาษีมรดก และภาษีที่ดินที่อยู่อาศัยอย่างเป็นธรรมกว่านี้ 

5. การให้ท้องถิ่นได้มีงบประมาณ มีส่วนในการตัดสินใจอนาคตของตนเอง มากกว่าที่จะถูกส่วนกลางควบคุม จะทำให้ประเทศชาติเจริญขึ้นกว่านี้

โดยสรุปแล้วรูปธรรมของ 4.0 ทั้งหลายล้วนแต่มีมาก่อนหน้าประกาศนโยบายนี้แล้วทั้งสิ้น ไม่มีอะไรใหม่ ประเด็นที่ต้องกล้าพูดให้ชัดๆ ก็คือ การที่ประเทศไทยยังไม่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเช่นนานาอารยประเทศ ต่างหากเล่าที่ทำให้ไทยต้องติดกับดักแหละขัดขาตัวเองล้ม การสร้างวาทกรรมทางการตลาดก็เป็นเพียงแค่การปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ ต้องแก้ที่รากเหง้าอันนี้ต่างหาก ทุกวันนี้ผู้มีอำนาจมีพนักงานเทกระโถนมากมายล้วนมาจากภาษีอากรของประชาชนแล้วแบบนี้ประเทศไทยเจริญไปได้อย่างไร

เราใช้วาทกรรม 4.0 มาจนเปรอะ แต่จริงๆ ยังไม่รู้เราอยู่ในยุค 0.4 หรือไม่ เพราะดูอะไรถดถอยลงชอบกล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net