Skip to main content
sharethis
เอฟทีเอว็อทช์ เตือนสติ คสช. ให้การตัดสินใจเข้าร่วมเจรจาเอฟทีเอทุกฉบับเป็นหน้าที่ของรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะมีความสําคัญ-ผลผูกพันถึงลูกหลาน ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยวิถีทางประชาธิปไตยจะเหมาะสมกว่า 
 
1 เม.ย. 2561 ตามที่รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมการรื้อฟื้นการเจรจาการค้าหลายความตกลงอาทิ อียู-อาเซียน เอฟทีเอ, เจรจารอบใหม่ความตกลง หุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น และการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ที่แม้สหรัฐฯ จะถอนตัวไปแล้วแต่ 11 ประเทศที่เหลือกำลังเดินหน้าโดยมีกำหนดจะเข้าร่วมให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ 
 
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) เห็นว่า รัฐบาล คสช.เป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ทำให้การเจรจาที่เคยมีกับหลายประเทศหยุดชะงักไป แม้ขณะนี้ บางประเทศจะมีท่าทีที่เป็นบวกมากขึ้น อาทิ สหภาพยุโรป แต่ก็เป็นในส่วนของ คณะกรรมาธิการการค้าซึ่งทำหน้าที่ เหมือนกระทรวงพาณิชย์ แต่ถ้าที่ของสภายุโรปซึ่งจะเป็น กลไกหลักในการตัดสินใจ ก็ยังต้องคำนึงถึงที่มาที่ไปของรัฐบาลและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ยังคงมีอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 
 
"ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาล คสช.ควรทำ ไม่ใช่การตัดสินใจนำประเทศไปเข้าร่วมการเจรจา แต่ต้องนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความตกลงฉบับต่างๆ เท่าที่มีอยู่มาเปิดเผยต่อสาธารณะ และเปิดให้ทีมวิชาการทบทวนวรรณกรรมว่า งานวิจัยต่างๆทันสมัยหรือไม่เพียงใด งานวิจัยเพียงพอหรือไม่ที่จะใช้ในการประเมินผลได้ผลเสียและใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง ตัวอย่างเช่น งานวิจัยที่เกี่ยวกับการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปที่ประเมินผลเสียจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) เกินจริง ซึ่งจนถึงขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้รับการต่อสิทธิพิเศษดังกล่าวจากสหภาพยุโรปทั้งหมด ผลกระทบก็ไม่ได้เกิดขึ้นมากตามที่มีการประเมินก่อนหน้านี้ หรือ การประเมินผลได้ที่จะเกิดจากการเข้าร่วม TPP แต่งานวิจัยในขณะนั้น ชี้ว่าสิ่งที่ไทยจะได้มากที่สุดเกิดจาก ความตกลงที่จะมีกับสหรัฐฯที่ไทยยังไม่เคยมีเอฟทีเอมาก่อน แต่เมื่อ ขณะนี้ TPP ไม่มีสหรัฐฯแล้วผลประโยชน์ยังจะได้เช่นนั้นหรือไม่ และการละเว้นประเด็นอ่อนไหวเมื่อสหรัฐฯถอนตัวออกไป เป็นเฉพาะเรื่องการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ในยาชีววัตถุ แต่ยังมีประเด็นการคุ้มครองการลงทุนที่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องล้มนโยบายสาธารณะและเนียกร้องค่าเสียหายจากรัฐผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการ (ISDS) ที่คนไทยรู้จักกันในนาม 'ค่าโง่' ตรงนี้มีการประเมินผลได้ผลเสียอย่างไร ไม่ชัด"
 
ทั้งนี้รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ยังได้เน้นย้ำว่าการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่มีความสําคัญและมีผลผูกพันระยะยาวถึงลูกหลานและการกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ จำเป็นต้องมีการมีส่วนร่วมทุกจากทุกฝ่าย ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยวิถีทางประชาธิปไตยจะเหมาะสมกว่า 
 
"เราไม่เห็นด้วยที่จะเจรจาในรัฐบาลนี้ เพราะรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนถูกปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  ขณะที่ทุนมีอำนาจครอบงำรัฐบาล หากต้องการเจรจา ให้ช่วงเลือกตั้ง พรรคการเมืองหาเสียงไปเลย พรรคไหนอยากเจรจาด้วยเงื่อนไขอะไรที่ปกป้องประชาชนได้ ให้ประชาชนได้เลือกมาเป็นรัฐบาล และให้รัฐสภามีสิทธิตรวจสอบการเจรจาเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นฝักถั่วเช่นในขณะนี้"
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net