Skip to main content
sharethis

คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแถลงผลการเยือนไทย 10 วัน ชี้ ธุรกิจไทยต้องตระหนัก เคารพสิทธิมนุษยชนลูกจ้าง เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการฟ้องปิดปากประชาสังคม เปิดพื้นที่ชุมนุมอย่างสันติ ปรับกระบวนการอีไอเอให้ชุมชน ผู้รับผลกระทบมีพลัง

ซ้ายไปขวา: ดันเต้ เพสเซ ซูรยา เดวา

4 เม.ย. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้นำเสนอข้อสังเกตเบื้องต้นเรื่องมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลไทยและภาคธุรกิจควรจะดำเนินการเพื่อปรับปรุงการเคารพสิทธิมนุษยชนของธุรกิจและเพื่อเสริมสร้างการเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพหลังเสร็จสิ้นการเดินทาง

คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้เยือนจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยรวมถึง กรุงเทพฯ สงขลา เชียงใหม่ ขอนแก่น และสมุทรสาคร ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 4 เมษายน ระหว่างการเยือน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้หารือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรประชาสังคมต่างๆ รวมถึงตัวแทนของกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวโยงกับธุรกิจ เช่น แรงงานข้ามชาติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมระดับชุมชน ผู้พิการ และผู้ค้าบริการทางเพศ

“เรายินดีกับความมุ่งมั่นที่ชัดเจนของรัฐบาลที่ต้องการเป็นผู้นำในภูมิภาคในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และขอส่งเสริมให้รัฐบาลดำเนินมาตรการต่างๆ ไปสู่วัตถุประสงค์นี้” ดันเต้ เพสเซ รองประธานคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนกล่าวสืบเนื่องจากความพยายามของรัฐบาลที่จะยกสิทธิมนุษยชนในธุรกิจเป็นวาระแห่งชาติ

ดันเต้ระบุเพิ่มเติมว่า ภาคธุรกิจในไทยยังคงต้องดำเนินการสร้างความตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อไป นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐควรใส่มุมมองด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปด้วย ทั้งนี้ ระบบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอที่ทำกันอยู่นั้นมีปัญหาเพราะว่าขาดการพูดคุย รวบรวมความเห็นจากชุมชนและผู้มีผลกระทบ จึงขอให้มีวิธีการจัดทำอีไอเอแบบใหม่ที่คำนึงถึงมิติด้านสังคมมากขึ้น ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบมีเครื่องมือ มีวิถีทางในการพูดคุยกัน แต่ในโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการยังไม่มีกระบวนการเช่นว่า

คณะผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตถึงการที่รายงานต่างๆ เรื่องการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงได้ทำให้รัฐบาลตื่นตัว จนทำให้เกิดความพยายามที่ประสานงานกันเพื่อขจัดการปฏิบัติทางธุรกิจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน  ผู้เชี่ยวชาญได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแบบเดียวกันในธุรกิจอื่นๆ เช่น การเกษตร พลังงาน การผลิต และการก่อสร้างด้วย

ซูรยา เดวา สมาชิกของคณะทำงานที่มาเยือนประเทศไทยอีกคนกล่าวว่า “รัฐบาลและธุรกิจต่างๆ ควรจะพัฒนาปรับปรุงนโยบายและกลไกเพื่อที่จะหา บรรเทา และเยียวยาความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน โดยสอดคล้องกับหลักการชี้แนะสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงสำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งเสริมโดยบริษัทและการลงทุนของไทยในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย”  

ซูรยาระบุเพิ่มเติมว่าภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยมีความสำคัญในการสร้างความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจแต่ว่าพื้นที่ของการเคลื่อนไหว เรียกร้องอย่างสันตินั้นลดน้อยลงจากการถูกข่มขู่ คุกคาม การฟ้องเพื่อปิดปาก รวมถึงการพาชาวบ้าน นักกิจกกรมไปเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ ไปจนถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ไปจำกัดสิทธิในการชุมนุม จึงขอให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาให้มีพื้นที่ให้กับภาคประชาสังคมในการเคลื่อนไหวอย่างสันติ และยกเลิกการดำเนินคดีนักเคลื่อนไหวที่ถูกฟ้องปิดปาก

“ประเทศไทยต้องทำงานมากกว่านี้เพื่อคุ้มครองพื้นที่ภาคพลเมือง รวมถึงการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากคดีหมิ่นประมาททางแพ่งและอาญาที่บริษัทยื่นฟ้องเพื่อปิดปากคนที่ลุกขึ้นมาปกป้องเหยื่อของการถูกละเมิดสิทธิฯ” คณะผู้เชี่ยวชาญเสริม

เอกสารแถลงการณ์สิ้นสุดการเยือนกล่าวถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า พ.ร.ป. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 พยายามเสริมสร้างสถานะที่เป็นอิสระของ กสม. โดยให้มีสถานะในรัฐธรรมนูญ มีอำนาจไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในสถานที่ใดๆ ก็ได้ และมีตัวแทนจากประชาสังคมในการคัดเลือกสมาชิก กสม. แต่ก็ยังมีข้อที่ลิดรอนอำนาจการส่งต่อข้อร้องเรียนไปยังศาล และยังห้าม กสม. เข้ารับการศึกษา หรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใดๆ ที่ไม่ได้จัดโดย กสม. เองซึ่งถือเป็นการลิดรอนอำนาจที่มีนัยสำคัญ ทั้งนี้ กสม. ควรได้รับอำนาจในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและออกคำสั่งเรื่องการเยียวยาที่มีผลบังคับได้ รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยด้วย 

ต่อประเด็นที่ตัวแทนสหภาพแรงงานบริษัทเจอเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย (จังหวัดระยอง) และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการจ้างงานเข้าชี้แจงในเวทีการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่องค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน ซูรยาระบุว่าทางคณะทำงานได้พิจารณาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนกับธุรกิจในภาพรวม และขอเรียกร้องให้เจ้าของธุรกิจต่างๆ เคารพสิทธิมนุษยชนของลูกจ้างมากขึ้น

คณะผู้เชี่ยวชาญยินดีกับการเปิดกว้างของรัฐบาลไทยในการพูดคุยถึงข้อท้าทายที่ยังคงมีอยู่ และในการพิจารณาว่าจะจัดการและแก้ไขอย่างไรในแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่ทำเสร็จภายในปีนี้

“เราได้กระตุ้นให้รัฐบาลพัฒนาแผนนี้ด้วยกระบวนการที่รวมทุกฝ่ายและโปร่งใส ที่รวมเอาถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะเสียงของคนที่เห็นต่าง และเราหวังว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการตามความมุ่งมั่นที่ได้ให้ไว้ได้” คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าว

รายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะทำงานซึ่งจะมีข้อค้นพบและข้อเสนอแนะหลักๆ จะถูกนำเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนมิถุนายน 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net