Skip to main content
sharethis

วงเสวนาหาแนวทางแก้การฟ้องปิดปาก (SLAPP) ในไทย ตัวแทนสื่อเสนอสร้างเครือข่ายสื่อ-นักวิชาการ-นักการเมือง เป็นเกราะป้องกันการถูกฟ้อง ต่อยอดสู่การโต้กลับ นักกฎหมายยกแนวทางเมืองนอก หวังเป็นโมเดลปฏิรูปแก้ไขปัญหาการฟ้องโดยการตัดไฟแต่ต้นลม คุ้มครองเยียวยาผู้ถูกฟ้อง

  • SLAPP หรือการฟ้องปิดปาก คือ การฟ้องเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน และยับยั้งการเปิดโปงกิจกรรมที่มิชอบของผู้ถูกฟ้อง ทำให้เสรีภาพการแสดงออก และการตรวจสอบเข้าสู่ภาวะชะงักงัน โดยในบริบทไทย มีกฎหมายที่ใช้ฟ้อง ได้แก่ ม.112 กฎหมายหมิ่นประมาท ม.116 พ.ร.บ.คอมฯ และอื่นๆ
  • สมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยข้อมูลเชิงสถิติตั้งแต่ 2540-31 พ.ค. 2562 มีการฟ้องปิดปากราว 212 คดี โดยข้อหา พ.ร.บ.คอมฯ และข้อหาหมิ่นประมาทฯ ถูกใช้เยอะที่สุด 
  • ประธาน FCCT เสนอว่า สื่อต้องมีการสร้างเครือข่ายทั้งในและนอกประเทศ นักวิชาการ และภาคการเมือง เพื่อให้เกิดการผลักดันกลไกป้องกันการฟ้องปิดปากหลายทาง และต่อยอดสู่การรายงานข่าวกดดันบริษัทเอกชน และแหล่งทุน 
  • ฝั่งกฎหมาย เสนอสกัดการฟ้องปิดปากตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และเพิ่มกระบวนการเยียวยา พร้อมเสนอ 3 โมเดลจากต่างประเทศที่ใช้ได้จริง

 

29 ก.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ SEA Junction ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน เวลา 14.00-16.30 น. ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมด้วย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Center - CRC) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists - ICU) และสำนักเครือข่ายสาธารณะ ไทยพีบีเอส จัดเสวนาว่าด้วย "แนวทางป้องกันของภาคประชาชนจากการถูกฟ้องปิดปาก (SLAPP)" ส่องมุมมองการสร้างกลไกแก้ไขปัญหาจากหลายภาคส่วน ตั้งแต่ภาคสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ นักกฎหมาย และนักเคลื่อนไหว 

ผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย ภาณุ วงษ์ชะอุ่ม ประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย โพชอย พี. ลาบ็อก ตัวแทนของศูนย์ทรัพยากรธุรกิจและสิทธิมนุษยชน บ็อบบี รามาคาน ผู้สื่อข่าวจากประเทศอินเดีย ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมนุม และสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน และสัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล

ฉายสปอตไลท์สถานการณ์ฟ้องปิดปากทั่วโลก

โพชอย พี. ลาบ็อก ตัวแทนของศูนย์ทรัพยากรธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เกริ่นว่า การฟ้องร้องปิดปาก หรือ SLAPP คือการใช้กฎหมายดำเนินคดีต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นักข่าว หรือทนายความ เพื่อขัดขวางการใช้เสรีภาพการแสดงออก และเพื่อเงียบเสียงไม่มีใครกล้าวิจารณ์บริษัท หรือกล้าที่จะเปิดเผยเรื่องราวผิดกฎหมายของบริษัทนั้นๆ 

โพชอย พี. ลาบ็อก ตัวแทนของศูนย์ทรัพยากรธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

โพชอย ฉายภาพให้เห็นสถานการณ์โดยรวมของการใช้กฎหมายฟ้องปิดปากประชาชนในเอเชีย และทั่วโลก โดยนับตั้งแต่ปี 2558 มีการฟ้องปิดปากจำนวน 355 คดี จำนวนกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นการคุกคามโดยใช้กฎหมาย (Juridicial SLAPP) โดยรายงานพบด้วยว่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทเอกชนดำเนินคดี 

โพชอย พบว่าจาก 355 คดี ภูมิภาคที่มีการฟ้องปิดปากมากที่สุดคือ ละตินอเมริกา ประมาณ 39 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ เอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ตามลำดับ 

โพชอย ระบุต่อว่า กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมายหรือมาตรการเพื่อป้องกันการฟ้องปิดปาก (SLAPP) ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่มีเพียงฟิลิปปินส์ที่บังคับใช้กฎหมาย SLAPP ในบริบทของคดีสิ่งแวดล้อมเท่านั้น 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยว่าสถิติตั้งแต่ปี 2540-31 พ.ค. 2562 มีการฟ้องปิดปากในไทย สูงถึงราว 212 คดี มีการใช้กฎหมายที่หลากหลายตั้งแต่ กฎหมายความผิดฟ้องหมิ่นประมาททั้งแพ่งและอาญา ความผิดฐานบุกรุกพื้นที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 116 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอื่นๆ โดยข้อหา พ.ร.บ.คอมฯ และข้อหาหมิ่นประมาท ถูกใช้มากที่สุด 

ขณะที่กลุ่มประชาชนที่ถูกฟ้อง SLAPP มากสุดอันดับแรกคือ 'นักกิจกรรมการเมือง' รองลงมาเป็นประชาชนที่คัดค้านโครงการการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อท้องถิ่น นักสิทธิมนุษยชน อาสาสมัครนักกิจกรรมการเมือง (ไม่ใช่แกนนำ) และสุดท้ายคือ สื่อมวลชน  

สื่อ-นักกฎหมายร่วมถกหาแนวทางแก้ไขการฟ้องปิดปากในไทย

ภาณุ วงศ์ชะอุ่ม ประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย หรือ FCCT ร่วมอภิปรายว่า ผลกระทบจากการที่สื่อถูกฟ้องคือการเสียทรัพยากรด้านเวลาและกำลัง และในบริบทไทย สำนักข่าวใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือนักข่าวที่ถูกฟ้องมากนัก บางกรณีนักข่าวต้องดิ้นรนหาทนายความ และเดินทางไปศาลทุกเดือน

ภาณุ วงศ์ชะอุ่ม ประธาน FCCT

ภาณุ เสนอแนวทางป้องกันการถูกฟ้อง SLAPP มี 2 ข้อหลักๆ เริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้ และการเทรนนิ่ง เช่น การรายงานข่าวเบื้องต้น การเก็บข้อมูลหลักฐาน และอื่นๆ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อนักข่าวหน้าใหม่อย่างมาก และต้องการการผลักดันจากหน่วยงานกลาง 

ประธาน FCCT มองว่า การสร้างความตระหนักรู้ต่อคนวงการสื่อและสาธารณะเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะคนทำข่าวเจาะ ข่าวสืบสวนบริษัทขนาดใหญ่ หรือข่าวสิ่งแวดล้อมมีอยู่ไม่เยอะ สำนักข่าวใหญ่ไม่ทำและเซ็นเซอร์ตัวเอง ทำให้คนที่ทำงานประเด็นนี้เป็นสื่อที่มีคนหนุนหลังน้อย และเนื่องด้วยเป็นประเด็นที่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคม ทำให้อาจไม่พร้อมรับมือเมื่อเผชิญกับการถูกฟ้องร้อง อย่างไรก็ตาม เขามองว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงได้คือการสร้างความตระหนักรู้ทั้งในสื่อด้วยกันเอง และสาธารณะ ผลักดันกันหลายทาง เพื่อทำให้ประเด็นการทำข่าวกลายเป็นประโยชน์ทางสาธารณะที่แท้จริง

สร้างเครือข่าย เพิ่มเกราะป้องกัน และกดดันกลับ

ภาณุ เสนอว่าสื่อมวลชนต้องทำเครือข่ายร่วมกับภาคอื่นๆ เช่น ระหว่างสื่อไทยและต่างประเทศ กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มทนายความ และนักการเมือง เพื่อให้กลไกการผลักดันการเสรีภาพการรายงานข่าวหลายด้าน

ภาณุ ยกตัวอย่างการสร้างความร่วมมือกับด้านวิชาการ และภาคประชาชน ในการผลักดันให้ภาครัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรระหว่างภายใต้การบริหารของรัฐ มีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นข้อมูลสาธารณะ (Open Source) มากขึ้น เนื่องจากในไทย ผู้สื่อข่าวมักพบปัญหาการเข้าไม่ถึงข้อมูลเรื่องแม่น้ำโขง ซึ่งส่งผลต่อการรายงานข่าวที่ข้อมูลไม่ครบถ้วนตามมา นอกจากนี้ เขาเสนอให้ภาคสื่อ ประชาชน และภาคการเมือง ร่วมกันผลักดันการแก้ไขกฎหมายฟ้องปิดปาก เช่น พ.ร.บ.คอมฯ กฎหมายหมิ่นประมาท พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และอื่นๆ เพื่อเป็นการตัดตอนก่อนที่คดีจะเข้าสู่ชั้นไต่สวน และส่งผลให้ประชาชนและศาลต้องเสียทรัพยากรจำนวนมาก 

ภาณุ มองว่า นอกจากการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งแล้ว ต้องมีการต่อยอด เพื่อกดดันบริษัท และแหล่งทุนต่างๆ ได้ด้วย โดยภาณุ ยกตัวอย่างการรายงานข่าวเชิงยุทธศาสตร์ ควบคู่กับการอ้างอิงดัชนีชี้วัด (Indicator) เช่น หลัก ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) หรือการลงทุนที่ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงภาวะภูมิอากาศ (Climate Change) ว่าบริษัทเอกชนหรือรัฐไปลงทุนที่ไหน ก็ต้องให้ความสำคัญถึงหลักการเหล่านี้ 

“พวกเราเป็นคนตัวเล็กๆ ถ้าเรารวมกันทำงานเป็นยุทธศาสตร์มากขึ้น มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องสร้างขึ้นให้มันแข็งขึ้นในสังคมไทย ผมเห็นสื่อต่างๆ ที่ผมรู้จักในต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่ประเทศตะวันตก เขามีเครือข่ายเหล่านี้ที่มันจะแข็งกว่า สามารถกดดันแหล่งทุนเหล่านี้ได้ ซึ่งผมว่านี่เป็นก้าวต่อไปของสื่อในไทย หรือในภูมิภาคอาเซียน” ภาณุ ระบุ

มองการต่อต้านการฟ้องปิดปากให้ไกลกว่ากฎหมายหมิ่นประมาท  

ขณะที่ ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ และผู้ประสานงานของมูลนิธิ 'ศูนย์ข้อมูลชุมชน' กล่าวว่า คนทั่วไปอาจมีความเข้าใจว่าการฟ้องปิดปาก คือการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทอย่างเดียว แต่นิยามคือการฟ้องเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขัดขวาง/ยับยั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน และการเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของผู้ถูกฟ้อง ดังนั้น มันจะไม่ใช่แค่เรื่องหมิ่นประมาทจากการให้ข้อมูลหรือนำเสนอข่าวเท่านั้น เพียงแต่ว่าเป็นข้อหาที่โดนบ่อยสุด แต่ยังมีข้อหาบุกรุก หรือการร้องเรียนอีกด้วย

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ และผู้ประสานงานของมูลนิธิ ‘ศูนย์ข้อมูลชุมชน’

ทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชน ยกตัวอย่างประชาชนถูกฟ้องข้อหาบุกรุก จากกรณีเข้าไปในพื้นที่โครงการเหมืองทอง จ.เลย เพื่อรณรงค์คัดค้านโครงการดังกล่าว โดยประชาชนในพื้นที่ใช้วิธีการโรยปูนขาวเป็นคำว่า ‘ปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟู’ นอกจากประชาชนที่ถูกดำเนินคดี นักข่าวที่เข้าไปทำข่าวก็โดนคดีด้วย 

นอกจากนี้ ส.รันตมณี ระบุต่อว่า มีกรณีที่นักข่าวที่หาดใหญ่ จ.สงขลา นักข่าวไปกับชาวบ้าน เพื่อตรวจสอบพื้นที่โรงขยะ ก็ถูกแจ้งความดำเนินคดีบุกรุกเช่นกัน ซึ่งทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ระบุต่อว่า ข้อหาเหล่านี้ถูกใช้เยอะมาก และส่งผลเสียต่อทรัพยากรทั้งของชุมชน และคนในกระบวนการยุติธรรม ทั้งทนายความ ตำรวจ อัยการ และศาลที่ต้องมาเสียเวลากับคดีที่น่าจะทำได้รวดเร็วกว่านี้

สกัดฟ้องปิดปากตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง

แนวทางการแก้ไข ส.รัตนมณี มองว่า ก่อนหน้านี้มีการพยายามแก้ไขกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปาก มาตรา 161/1 และ 165/2 ซึ่งในทางหลักการเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังมีปัญหาในเชิงปฏิบัติ เนื่องจากไม่ใช่การแก้ไขในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง 

อนึ่ง มาตรา 161/1 กำหนดว่า ศาลสามารถยกฟ้องได้ หากพบว่าเป็นการฟ้องที่ไม่สุจริต หรือเป็นการฟ้องเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง กลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบจำเลย โดยหวังผลอื่นใดกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยมิชอบ 

มาตรา 165/2 กำหนดว่า จำเลยสามารถชี้แจงให้ศาลทราบข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายสำคัญในช่วงไต่สวนมูลฟ้องได้ โดยศาลอาจเรียกเอกสาร ผู้เชี่ยวชาญ หรือวัตถุในคำแถลงมาเป็นพยานในศาล และอาจสั่งไม่รับฟ้องได้ 

ส.รัตนมณี ชี้แจงว่า ตามกระบวนการพิจารณาคดี ถ้าเอกชนเป็นผู้ฟ้อง ต้องไต่สวนมูลฟ้องว่ามีมูลหรือไม่ โดยพิจารณาว่ามีการนำสืบว่าเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ประกอบด้วย มีบุคคล และมีการกระทำ ถ้าพิสูจน์ได้ ก็ต้องรับฟ้อง ปัญหาคือมีการรับฟ้องทุกคดี เพราะทุกคดีมีบุคคล และการกระทำอยู่แล้ว ส่วนจะไปพิสูจน์ว่าการกระทำผิดหรือไม่นั้น ต้องพิสูจน์ในชั้นไต่สวนพยาน และหลักฐาน ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลฯ จึงเสนอว่า ถ้าแก้ที่ตัวกฎหมายอาจไม่ตรงจุดเท่าไร อาจต้องไปแก้เรื่ององค์ประกอบการไต่สวนมูลฟ้องว่าควรมีหลักเกณฑ์การรับฟ้องอย่างไร

นอกจากนี้ ส.รัตนมณี ให้ความเห็นด้วยว่า หากมีกรณีที่ศาลพิจารณาแล้วว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกฟ้องไม่ผิดแน่นอน เป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะจริง แม้ว่ากรณีกฎหมายหมิ่นฯ มีข้อยกเว้นโทษ แต่ศาลกลับไม่นำมาใช้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแต่แรก แต่ไปใช้ในชั้นไต่สวนแทน ซึ่งอาจใช่เวลา 2-3 ปี และมายกฟ้องทีหลัก ซึ่งมันสร้างภาระให้กับผู้ถูกฟ้อง และกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเสียทรัพยากร

สุดท้าย ส.รัตนมณี เสนอว่า ถ้ากรณียุติคดีความแต่แรกได้มันดี แต่ถ้าไม่ได้ และดำเนินมาถึงการไต่สวน ก็ต้องมีการเยียวยา ซึ่งไม่ได้แค่จ่ายค่าเสียหาย แต่ต้องมาพูดถึงเรื่องจะมีการขอโทษ หรือเยียวยาทางจิตใจอย่างไรบ้าง บางคนได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างมาก เพราะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นมนุษย์เหมือนทุกคน และได้รับความบอบช้ำทางใจเช่นกัน

“เราอาจจะต้องมาช่วยกันคิดกันต่อว่า แล้วบริบทของสังคมไทย มันจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ยังไงที่จะไม่ได้มองแค่ว่า เวลาเราพูดเรื่อง Anti-SLAPP Law (กฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปาก) หรือการแก้ไขกฎหมาย ให้มันป้องกันการฟ้องปิดปากคงไม่ใช่แค่เป็นเรื่องหมิ่นประมาทอย่างเดียว” ส.รัตนมณี กล่าว 

มองต่างประเทศ ย้อนดูไทย

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล เผยว่า การแก้ปัญหาการฟ้องปิดปาก (SLAPP) สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แนวทาง คือ ข้อหนึ่ง การจัดการตั้งแต่ต้นทาง หรือไม่รับฟ้องตั้งแต่แรก ข้อสอง ถ้าเกิดว่าคดี SLAPP หลุดรอดมาถึงการพิจารณาคดี เราจะมีวิธีการคุ้มครองเหยื่ออย่างไรได้บ้าง และข้อสาม คือปฏิรูปเหตุแห่งการฟ้องคดี โดยสัณหวรรณ แนะนำว่า รัฐบาลควรมีการพิจารณา 3 มาตรการผสมผสานควบคู่กันไป

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ยกตัวอย่างกรณีต่างประเทศโดยมีข้อสังเกตว่า ทุกประเทศที่มีกลไกต่อต้านการฟ้องปิดปากจะเน้นไปที่กลไกของศาลตัดคดีออกไป เพราะในศาลหลายประเทศคดีจะถูกไปที่ศาลโดยตรง ซึ่งต่างจากของไทยที่ต้องผ่านกระบวนการของตำรวจก่อน 

แนวทางที่ 1: ตัดไฟแต่ต้นลม ไม่รับฟ้องแต่แรก

สัณหวรรณ ยกตัวอย่างกรณีป้องกันการฟ้อง SLAPP ตั้งแต่ต้นทาง หรือไม่รับพิจารณาคดีแต่แรก โดยประเทศแคนาดา ระบุหากศาลพิจารณาว่าการฟ้องร้องไม่มีความเหมาะสม ศาลสามารถไม่รับฟ้องได้แต่แรก ขณะเดียวกัน ภาระของผู้ที่ต้องพิสูจน์ว่าการฟ้องร้องเหมาะสมหรือไม่นั้น อยู่ที่ตัวผู้ฟ้องร้อง ซึ่งข้อนี้มีความคล้ายคลึงกับของไทยว่ากฎหมายมาตรา 161/1 ระบุว่าหากศาลเห็นว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ในการฟ้องร้อง ศาลไม่รับฟ้องได้ชั้นไต่สวน

สัณหวรรณ ยกตัวอย่างรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งกำหนดว่าหากมีคดีขึ้นมาถึงชั้นศาล และจำเลยพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของตัวเองเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ หรือเป็นประเด็นสาธารณะ ศาลสามารถยกฟ้องได้เลย 

ขณะที่ในอาเซียน สัณหวรรณ ระบุกรณีของประเทศฟิลิปปินส์ นิยามการ SLAPP ว่ารวมถึงการใช้เสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ในประเด็นสาธารณะ หรือข้อห่วงกังวลสาธารณะ และอีกฝ่ายมีเจตนาคุกคาม ปิดปาก และรบกวนเกินสมควรผู้ถูกฟ้อง ศาล/อัยการ/เจ้าหน้าที่ต้องยกฟ้องทันทีไม่ว่าจะแพ่ง อาญา หรือคดีปกครอง

แนวทางที่ 2: การคุ้มครองเหยื่อ

คณะกรรมการสมาคมนิติศาสตร์สากล ระบุต่อว่า แนวทางที่ 2 หากคดีฟ้องปิดปากเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีทางศาล จะมีกระบวนการคุ้มครองเหยื่ออย่างไรได้บ้าง โดยในประเทศแคนาดา ให้อำนาจศาลใช้ดุลยพินิจ หากศาลเห็นว่าการพิจารณาดีไม่ถูกต้อง สามารถสั่งยุติชั่วคราวการพิจารณาคดีได้ หรือใช้มาตรการพิเศษ และให้ผู้ฟ้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้ เรื่องนี้ถูกบรรจุในคดี SLAPP เนื่องจากคดีไม่ได้ถูกยกฟ้องทันที ทางศาลแคนาดาจึงหาวิธีที่มาลดภาระของจำเลย 

นอกจากนี้ มีการบางประเทศกำหนดเวลาเลยว่า ถ้ากรณีที่จำเลยยกประเด็นมาว่า คดีนี้เป็นคดีฟ้องปิดปาก และศาลต้องยกฟ้อง ศาลต้องพิจารณาภายในระยะเวลาเท่าไร เพื่อไม่ให้ความเสียหาย หรือภาระของจำเลย มันยืดเยื้อ เธอยกตัวอย่าง ในรัฐออนแทริโอ ประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ศาลต้องรับพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะภายใน 60 วัน หรือศาลจะต้องยกฟ้องภายใน 60 วัน ก็จะใช้เวลาไม่นาน หรือแค่ 2 เดือน และไม่สร้างภาระกับทั้งผู้ถูกฟ้อง และกระบวนการยุติธรรม

แนวทางที่ 3: ปฏิรูปเหตุแห่งการฟ้อง

สัณหวรรณ เสนอแนวทางที่ 3 คือ การปฏิรูปเหตุแห่งการฟ้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะคดี SLAPP ไม่ควรอยู่ในระบบศาลแต่แรก โดยส่วนใหญ่กฎหมายที่นำมาถูกใช้ปิดปากจะเขียนไว้กว้าง ตีความได้หลากหลาย และขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่จะนำกฎหมายไปใช้ในลักษณะไหน ซึ่งเป็นการเขียนไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ 

สัณหวรรณ ยกตัวอย่าง กรณีการแก้ไขกฎหมาย เช่น กรณีของรัฐนิวยอร์ก แดนลุงแซม มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาท โดยเพิ่มว่าโจทก์ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า การบอกว่าจำเลยหมิ่นประมาท จำเลยต้องตระหนักรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่เผยแพร่ออกไปเป็นข้อความเท็จ หรือเป็นข้อความสะเพร่า คือไม่ใช่จำเลยมีเจตนาสุจริตหรือไม่ แต่เป็นการมาพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะ กรณีนี้จะไม่ใช่หมิ่นประมาท และภาระการพิสูจน์จะไม่ได้ตกอยู่ที่จำเลยว่าสิ่งที่ผู้ฟ้องพูดเป็นความจริงหรือไม่ หากแต่ไปอยูู้กับโจทก์แทน เรื่องนี้จะช่วยผ่อนภาระจำเลยพิสูจน์เรื่องการหมิ่นประมาท ซึ่งคล้ายๆ กับไทย มีบทลดโทษกรณีกฎหมายหมิ่นประมาท หากสามารถเชื่อได้โดยสมเหตุสมผลว่า ข้อความที่เผยแพร่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ของไทยจะมีประเด็นที่กฎหมายหมิ่นประมาทจะถูกติงโดยสหประชาชาติว่า กฎหมายหมิ่นประมาทไทยเป็นกฎหมายอาญา ซึ่งขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ก็มีเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายเป็นกฎหมายแพ่งอย่างเดียว แต่ความคืบหน้าจำกัด และไม่ชัดเจน

แนวทางอื่นๆ บางประเทศมีกฎหมายให้เหยื่อถูกฟ้องปิดปาก สามารถฟ้องกลับได้ หรือ SLAPP Back บางประเทศกำหนดให้ผู้ฟ้องต้องจ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษ หรือบางประเทศกำหนดให้ไม่สามารถฟ้องร้องในอนาคตได้ ต้องยื่นศาลให้พิจารณาก่อนใช้สิทธิการฟ้อง หากศาลเห็นว่ามันเป็นรูปแบบการฟ้องปิดปาก ก็สามารถไม่รับพิจารณาคดีได้ 

คณะกรรมการสมาคมนิติศาสตร์สากล ทิ้งท้ายว่า นอกจากปฏิรูปกฎหมายแล้ว เราต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณชนด้วยว่ามันมีกฎหมายการต่อต้านการฟ้อง SLAPP อยู่ 

“ต่อให้กฎหมายมีการปฏิรูปแล้ว กฎหมายทำได้ดีแล้ว แต่การสร้างความตระหนักรู้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะว่าเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ถึงตัวกฎหมายพวกนี้ แน่นอนว่าสาธารณชนก็ยิ่งไม่รู้เข้าไปใหญ่” สัณหวรรณ ทิ้งท้าย

ด้านสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนภาคประชาชน มองกฎหมายฟ้อง SLAPP ในฐานะเครื่องมือคุกคามจากภาครัฐ และปรากฏการณ์นี้ยิ่งชัดเจนช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 โดย คสช. เขามองว่าหากต้องการแก้ไขเรื่องดังกล่าว ต้องทบทวนรัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบัน และจัดการการเมืองในรัฐสภา ซึ่งหากกลุ่มการเมืองยังเป็นขั้วเก่า หรือ ส.ว.ยังมีอำนาจ เขาก็ไม่แน่ใจว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือไม่

นอกจากนี้ บ็อบบี รามาคาน นักข่าวจากอินเดีย อภิปรายเรื่องสถาการณ์เสรีภาพ และการคุกคามสื่อในแดนภารตะ และขอเรียกร้องให้มีกฎหมายที่เข้มงวด เพื่อคุ้มครองเสรีภาพสื่อ นักสิทธิมนุษยชน และประชาชน

สมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน

        ทั้งนี้ งานเสวนา "แนวทางป้องกันของภาคประชาชนจากการถูกฟ้องปิดปาก (SLAPP)" เป็นส่วนหนึ่งงานเปิดตัวหนังสือ 'SLAPP: หนึ่งความฝัน และการถูกฟ้องปิดปาก' จัดทำโดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหลายองค์กรสื่อและนักกฎหมาย เพื่อเป็นหมุดหมายของการสร้างความเข้าใจการฟ้องปิดปาก และเป็นแนวทางการรับมือเมื่อถูกฟ้อง

หรือคลิกเพื่อดาวท์โหลดหนังสือได้ที่ https://thaisej.org/e-book/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net