Skip to main content
sharethis

นักข่าวควรทำอย่างไรเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงหรืออันตรายหรือถูกคุกคามการทำหน้าที่สื่อมวลชน คู่มือนักข่าว GIJN แนะนำวิธีป้องกันและรับมือหากเกิดปัญหาขึ้น

ที่มา: Zunar วาดให้กับ GIJN
 

หมายเหตุ: ข้อมูลในเอกสารนี้ไม่ใช่คำปรึกษาทางกฎหมายและไม่ถูกนับว่าเป็นคำปรึกษาทางกฎหมาย ข้อความในเอกสารนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางเท่านั้น

12 เดือนที่ผ่านมาทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเสรีภาพสื่อเผชิญกับภัยคุกคามมากเพียงใด เมื่อปีที่แล้ว ภัยคุกคามเหล่านี้เร่งความเร็วขึ้นเนื่องจากโรคระบาด ประกอบกับรัฐบาลที่ไร้หลักการได้ออกมาตรการทางกฎหมายที่กดขี่โดยอ้างว่าทำเพื่อจัดการข้อมูลบิดเบือน (disinformation) และใช้วิธีการที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเพื่อควบคุมข้อมูลออนไลน์ รวมถึงสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง

นักข่าวยังคงตกเป็นเป้าของความรุนแรงและการกักขังตามอำเภอใจเช่นเดียวกับที่ตกเป็นเป้าของการสอดแนมอย่างลับๆ เรื่องนี้เห็นได้อย่างเด่นชัดในบริบทของสถานการณ์ความขัดแย้งและในช่วงการเลือกตั้ง บ่อยครั้งที่ไร้ผู้รับผิดชอบต่อการโจมตีเหล่านี้ ซึ่งสมาชิกฝ่ายความมั่นคงหรือตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐกระทำความรุนแรงต่อนักข่าวแบบไม่ต้องรับผิด

นักข่าวกำลังเผชิญกับคดีความที่ปราศจากมูลความจริงในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย คดีความเหล่านี้ หรือที่เรียกว่า ‘การฟ้องปิดปาก’ (SLAPPS: Strategic Lawsuits Against Public Participation หรือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน) ถูกออกแบบมาเพื่อข่มขู่นักข่าวและคนอื่นๆ ที่แสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของบุคคลหรือบริษัทของผู้มีอำนาจ คดีความมักมาจากข้ออ้างที่ปราศจากมูลความผิด ไม่สลักสำคัญ หรือเกินจริง และถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อกดดันนักข่าวหรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แทนที่จะใช้เพื่อปกป้องสิทธิ

ยิ่งกว่านั้น ความท้าทายต่อสื่ออิสระและเสรีภาพในการแสดงออกยังมาจากความพยายามของรัฐในการควบคุมข้อมูลออนไลน์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรและกดทับสื่อกระแสหลักในหลายๆ ประเทศ อินเทอร์เน็ตจึงมักเป็นพื้นที่แห่งการพูดอย่างเสรีและมีอิสระแหล่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ อย่างไรก็ตาม รัฐต่างๆ พยายามปราบปรามการพูดผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเข้มข้นขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย ในหลายพื้นที่บนโลกนี้ อินเทอร์เน็ตถูกควบคุมอย่างมาก ไม่ว่าจะผ่านการปิดกั้นเป็นช่วงๆ หรือการคัดกรองเว็บไซต์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

การทำข่าวของสื่ออิสระกำลังเผชิญกับความท้าทายนานัปการ ตั้งแต่รัฐบาลอำนาจนิยมที่ออกกฎหมายปราบปรามเพื่อปิดปาก ไปจนถึงการที่นักข่าวไม่สามารถดำรงชีพจากการทำงานได้ เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ นักข่าวอาจได้ประโยชน์จากการทำความเข้าใจความคุ้มครองตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ

แนวทางที่จะนำเสนอต่อไปนี้ประกอบด้วยภาพรวมมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศและภัยคุกคามที่นักข่าวต้องเผชิญกันอย่างแพร่หลาย แนวทางเหล่านี้เป็นการเสนอคำแนะนำเพื่อป้องกัน บรรเทา และปกป้องตัวคุณจากภัยคุกคามทางกฎหมายอันเนื่องมาจากงานประจำวันของนักข่าว

การหมิ่นประมาท

‘การหมิ่นประมาท’ เป็นศัพท์กฎหมายทั่วไป ซึ่งโดยกว้างๆ แล้วหมายถึงการสื่อสารถ้อยคำเท็จที่ก่อให้เกิดภัยหรืออันตรายต่อชื่อเสียงของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล คำว่า ‘การหมิ่นประมาท’ ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อาจหมายถึงการคุ้มครอง “การโจมตีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ต่อ “เกียรติหรือชื่อเสียง” ของบุคคลหนึ่ง

กฎหมายหมิ่นประมาทแตกต่างกันออกไปในแต่ละเขตอำนาจศาล ด้วยเหตุนี้ ขั้นแรกของการป้องกันตัวจากการฟ้องหมิ่นประมาทจึงเป็นการดูเขตอำนาจศาลที่เกี่ยวข้องและขอคำปรึกษาทางกฎหมายในท้องถิ่น

เคล็ดลับการหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องหมิ่นประมาท

แม้นักข่าวไม่สามารถลดความเสี่ยงทางกฎหมายได้ทั้งหมด เช็กลิสต์ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับที่ใช้ได้จริงซึ่งน่าจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการลดแนวโน้มของการกระทำที่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท

พูดแต่สิ่งที่คุณสามารถพิสูจน์ได้ เก็บบันทึกข้อมูลให้ดีๆ ขอรับความยินยอม ตรวจสอบข้อเท็จจริง และใช้แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ 

  • ระมัดระวังคำพูดและพูดและพูดเฉพาะสิ่งที่คุณพิสูจน์ได้เท่านั้น ควบคุมความแม่นยำของถ้อยคำและหลีกเลี่ยงความคลุมเครือ
  • เก็บบันทึกการค้นคว้าและเอกสารอื่นๆ ของคุณให้ดี ถ้าคุณกำลังจะพูดเรื่องราวอื้อฉาวเกี่ยวกับบริษัทหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง คุณต้องสามารถพิสูจน์ให้ได้ว่าถ้อยคำของคุณเป็นความจริงและวางอยู่บนข้อเท็จจริง ดังนั้นจงรวบรวมหลักฐานจากทุกที่ๆ เป็นไปได้
  • หากการเก็บบันทึกรวมถึงการบันทึกเนื้อหาด้วยเสียงหรือวิดีโอ เป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องขอรับความยินยอมจากเจ้าตัวเป็นลายลักษณ์อักษร
  • ตรวจสอบข้อเท็จจริงและใช้แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเสมอ อย่าคิดเอาเองว่าบางสิ่งที่เขียนในที่อื่นๆ เป็นความจริง
  • อย่าลืมว่าคุณอาจมีความผิดในข้อหาผลิตซ้ำถ้อยคำหมิ่นประมาทได้ ดังนั้น ไตร่ตรองอย่างระมัดระวังเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผลิตซ้ำถ้อยคำกล่าวหา แม้ว่าคุณรีทวีตข้อความที่อาจมีเนื้อหาหมิ่นประมาทอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คุณก็เสี่ยงถูกฟ้องได้
  • หากคุณกำลังให้ความเห็นเกี่ยวกับบางสิ่ง บอกให้ชัดเจนว่ามันเป็นการประเมินตามอัตวิสัยของคุณ และเป็นการให้ความเห็นโดยสุจริต
  • หากคุณรู้ว่าสิ่งที่คุณกำลังเขียนเป็นการหมิ่นประมาท ตรวจสอบว่าคุณมีสิทธิในการรายงานเรื่องนี้หรือไม่ บางเรื่องเป็นสิ่งคุณมีสิทธิในการรายงาน ไม่ว่ามันจะหมิ่นประมาทหรือไม่ก็ตาม แต่โปรดตระหนักด้วยว่ากฎหมายเกี่ยวกับการใส่ร้ายหรือหมิ่นประมาทแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ และระบบกฎหมายของสหราชอาณาจักรจะเห็นอกเห็นใจคดีหมิ่นประมาทโดยลายลักษณ์อักษรที่ฟ้องร้องเอาผิดสำนักข่าวเป็นพิเศษ
  • คดีหมิ่นประมาทเป็นคดีที่ใช้เวลาและเงินสูง ต่อให้คุณชนะคดี ต้นทุนในการป้องกันตัวก็อาจแพงอย่างมาก ตรวจสอบจำนวนเงินค่าความเสียหายและมองหาเงินจ่ายชดเชยค่าเสียหายทางวิชาชีพหรือกรมธรรม์คุ้มครองเพื่อปกป้องอนาคตของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์

ปกป้องแหล่งข่าว

การกระทำหลายอย่างในงานข่าวสืบสวนสอบสวนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีแหล่งข่าวลับหรือผู้ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริต แหล่งข่าวเหล่านี้อาจต้องปกปิดชื่อเพื่อป้องกันตัวจากการเอาคืนทางกายภาพ การเอาคืนทางเศรษฐกิจ หรือการเอาคืนทางวิชาชีพ อันเนื่องมาจากข้อมูลที่พวกเขาให้เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม นักข่าวทั่วโลกได้กำหนดหน้าที่ทางจริยธรรมไว้แล้วว่าห้ามเปิดเผยอัตลักษณ์ของแหล่งข่าวที่ปกปิดชื่อ ในแวดวงกฎหมายระดับนานาชาติก็มีขนบการคุ้มครองแหล่งข้อมูลอย่างแข็งขันเช่นเดียวกัน ด้วยความตระหนักถึงบทบาทสำคัญยิ่งของแหล่งข้อมูลเหล่านั้นที่อำนวยความสะดวกให้การทำข่าวแบบ “เฝ้าระวัง” (Watchdog) หรือ “มีความรับผิดชอบ” การผลักดันให้เปิดโปงแหล่งข่าวถือเป็นการกีดกันเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพสื่อด้วยการบั่นทอนจิตใจ (chilling effect) และเป็นการขัดขวางการไหลเวียนอย่างเสรีของข้อมูลข่าวสารอีกด้วย 

เคล็ดลับการหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงที่ทำให้แหล่งข่าวที่ปกปิดชื่อตกอยู่ในอันตราย

ความปลอดภัยในโลกดิจิทัลเป็นประเด็นพื้นฐานสำหรับสื่ออิสระ ตามที่ระบุไว้ในหลักการเปรูจาเพื่อนักข่าวที่ทำงานกับผู้เปิดโปงการทุจริตในยุคดิจิทัล (The Perugia Principles for Journalists Working with Whistleblowers in the Digital Age) ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อประมวลแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับการทำงานกับแหล่งข่าวที่ปกปิดชื่อในสภาพแวดล้อมที่มีการสอดแนมในโลกดิจิทัล หลักการที่มีประโยชน์ต่อการปกป้องแหล่งข่าวประกอบด้วยดังนี้

  • ปกป้องแหล่งข่าว ปกป้องความเป็นนิรนามเมื่อมีการร้องขอ
  • จัดหาช่องทางปลอดภัยต่างๆ ไว้เพื่อให้แหล่งข่าวทำการ “ติดต่อครั้งแรก” กับคุณได้
  • ช่วยผู้ที่อาจออกมาเปิดโปงการทุจริตด้วยการเผยแพร่วิธีการต่างๆ เพื่อทำให้พวกเขาสามารถติดต่อคุณได้โดยใช้ช่องทางนิรนามหรือช่องทางเข้ารหัส พร้อมอธิบายความเสี่ยงของแต่ละช่องทาง
  • จงตระหนักถึงราคาที่ผู้เปิดโปงการทุจริตต้องจ่ายเมื่อออกมาเปิดโปงข้อมูลเหล่านั้น และจงอธิบายความเสี่ยงสำคัญต่างๆ ของการแสดงตัวในโลกดิจิทัลกับแหล่งข่าวหรือผู้เปิดโปงการทุจริตของคุณ
  • รับผิดชอบการป้องกันความปลอดภัยด้านดิจิทัลของตัวคุณเองและใช้การเข้ารหัสข้อมูล

ใช้การเข้ารหัส ตระหนักถึงราคาที่ต้องจ่ายเมื่อมีการเปิดโปงการทุจริต ปกป้องแหล่งข่าวของคุณ ทำความเข้าใจกรอบการทำงานของข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ

  • วิเคราะห์ว่าปัจจัยใดเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุดต่อคุณกับแหล่งข่าวของคุณ และมีขั้นตอนเฉพาะเจาะจงอะไรบ้างที่คุณต้องดำเนินการเพื่อปกป้องทั้งสองฝ่าย
  • เผยแพร่เอกสารและชุดข้อมูลต้นฉบับทั้งหมดเมื่อทำได้และปลอดภัยที่จะทำ โดยตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลเพื่อเล่าเรื่องต่างๆ
  • ลบข้อมูลที่แหล่งข่าวมอบให้อย่างปลอดภัยเมื่อถูกร้องขอ เพื่อปกป้องแหล่งข่าวที่ปกปิดชื่อ โดยเป็นไปตามหน้าที่ทางจริยธรรม หน้าที่ตามกฎหมาย และหน้าที่ของนายจ้าง
  • ช่องทางการรับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ปกปิดชื่อและผู้เปิดโปงการทุจริตจะต้องมีความปลอดภัยในระดับที่ดี และหากเป็นหลักฐานที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น จะต้องคุ้มครองความเป็นนิรนามด้วย
  • ทำความเข้าใจกรอบการทำงานของข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องแหล่งข่าวปิดชื่อและผู้เปิดโปงการทุจริต

ดิจิทัล มีเดีย ลอว์ โปรเจ็กต์ ยังให้คำแนะนำดังนี้ด้วย

  • รอบคอบเกี่ยวกับการให้คำมั่นสัญญาในการรักษาความลับ การให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการรักษาความลับอาจเป็นประโยชน์กับตัวคุณและแหล่งข่าวของคุณ แต่คุณควรให้คำมั่นสัญญาหลังจากชั่งน้ำหนักผลได้ผลเสียอย่างระมัดระวังแล้วเท่านั้น
  • ค้นคว้าดูว่าคุณสามารถใช้ “อภิสิทธิ์ของนักข่าว” เพื่อปกป้องแหล่งข่าวและข้อมูลที่ยังไม่ถูกเผยแพร่ได้หรือไม่ เขตอำนาจศาลบางแห่งให้ความคุ้มครองแก่ “นักข่าว” ที่เจอหมายศาลหรือข้อเรียกร้องทางกฎหมายเพื่อขอดูข้อมูลเหล่านี้
  • พิจารณาสถานที่ที่คุณเผยแพร่งานของคุณ ที่ที่คุณเผยแพร่งานอาจส่งผลต่อความสามารถของคุณในการปกป้องแหล่งข่าวและข้อมูลการหาข่าวของคุณ

การตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมไซเบอร์หรือการคุกคาม

ความท้าทายหลายอย่างที่นักข่าวต้องเผชิญนั้นเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ว่ากำลังถูกจัดวางและถูกใช้อย่างไร และต้องเผชิญควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและการสอดแนมในสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัล นักข่าวเผชิญกับภัยคุกคามดิจิทัลหลายอย่างเป็นประจำ เช่น การคุกคามออนไลน์ การรณรงค์ออนไลน์แบบพร้อมใจกันใส่ร้ายป้ายสี การหลอกลวงเพื่อล้วงข้อมูล การสร้างเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกเอาข้อมูล การโจมตีโดยคนกลาง และการโจมตีเพื่อนำไปสู่การปฏิเสธการให้บริการเป็นวงกว้างหรือดีดอส (Distributed Denial of Service: DDoS) ทั้งยังมี “กองทัพเกรียน” ที่กำลังถูกใช้มากขึ้นเพื่อปิดปาก ข่มขู่ คุกคาม และทำลายความน่าเชื่อถือของนักข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันรัฐ นอกจากนี้ ระบบกฎหมายของหลายๆ ประเทศนั้นเชื่องช้าหรือขาดการเตรียมพร้อมในการดำเนินคดีกับผู้ใช้ความรุนแรงกับสื่อ เพราะฝ่ายตุลาการอ่อนแอหรือเพราะขาดเจตจำนงทางการเมืองในการกระทำเพื่อต่อสู้กับกลุ่มผู้มีอำนาจหรือรัฐ การที่ตุลาการขาดความเป็นอิสระเช่นนี้ทำให้การสร้างความรับผิดชอบผ่านศาลท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ยากมาก

อาชญากรรมไซเบอร์คืออะไร

ไม่มีนิยามที่เที่ยงตรงและเป็นสากลของคำว่า “อาชญากรรมไซเบอร์” แม้ว่าองค์กรระหว่างประเทศจะใช้คำนี้โดยทั่วไปเพื่อหมายถึงความผิดที่กระทำผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต อาชญากรรมไซเบอร์อาจครอบคลุมกิจกรรมหลากหลาย เช่น การก่อการร้ายและการจารกรรมที่กระทำโดยความช่วยเหลือของอินเทอร์เน็ต และการแฮ็กระบบคอมพิวเตอร์แบบผิดกฎหมาย ความผิดที่เกี่ยวกับเนื้อหา การขโมยและการควบคุมฉวยใช้ข้อมูลและการติดตามถ้ำมองผ่านระบบไซเบอร์

รูปแบบของอาชญากรรมไซเบอร์

  • การละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

การใช้ข้อมูล ซึ่งรวมถึงปริมาณของข้อมูลที่ไหลเวียนแบบข้ามพรมแดน กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลับยังไม่มีกฎระเบียบสำหรับการเก็บและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลมากเพียงพอ ซึ่งอาจนำมาสู่ผลพวงต่างๆ ที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้กฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลจึงมีความสำคัญอย่างมาก คำว่า ‘การล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล’ ตามนิยามของระเบียบการคุ้มครองข้อมูลทั่วไปของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation of the European Union: GDPR) คือ “การล่วงล้ำความปลอดภัยที่นำไปสู่การทำลายโดยไม่ตั้งใจหรือผิดกฎหมาย ความสูญเสีย การทะเลาะวิวาท การเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาติ หรือการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวที่ถูกส่งถ่าย จัดเก็บ หรือประมวลผลในแบบอื่น”

  • การทำให้การพูดออนไลน์เป็นอาชญากรรม

โดยปกติแล้ว การออกกฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์จะมุ่งจัดการเนื้อหาที่โพสต์ผ่านระบบออนไลน์ซึ่งเป็นอันตรานหรือผิดกฎหมาย เนื้อหาเหล่านี้อาจรวมถึงการโฆษณาชวนเชื่อของผู้ก่อการร้าย เนื้อหาเหยียดเชื้อชาติ คำพูดสร้างความเกลียดชัง (Hate speech) เนื้อหาที่เปิดเผยด้านเพศอย่างโจ่งแจ้ง (เช่น สื่อลามกอนาจารเด็ก) เนื้อหาหมิ่นศาสนา เนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐ และสถาบันของรัฐ และเนื้อหาที่ไม่ได้รับอนุญาตโดยเจ้าของกรรมสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา

  • การละเมิด การถ้ำมองผ่านระบบไซเบอร์ และการกลั่นแกล้งรังแกผ่านระบบไซเบอร์

การคุกคามออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การถ้ำมองผ่านระบบไซเบอร์ (Cyberstalking) การโจมตีเพื่อนำไปสู่การปฏิเสธบริการเป็นวงกว้าง (DDoS) ไปจนถึงการเปิดโปงข้อมูลส่วนตัวและการคุกคามทางเพศออนไลน์ การถ้ำมองผ่านระบบไซเบอร์หมายถึงการคุกคามที่ไม่เหมาะสมและการข่มขู่ออนไลน์ผ่านการส่งข้อความ โทรศัพท์ หรือใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งนำไปสู่การลิดรอนสิทธิการมีความสุขที่บุคคลพึงได้ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางและกลุ่มที่ถูกทำให้เป็นชายขอบ งานวิจัยแสดงให้เห็นแล้วว่าการคุกคามออนไลน์มักพุ่งเป้าไปที่ลักษณะทางกายภาพหรือลักษณะส่วนบุคคลบางอย่าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ถูกทำให้เป็นชายขอบ ซึ่งรวมถึงสมาชิกของกลุ่มเพศส่วนน้อยและผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับการคุกคามออนไลน์รูปแบบทางเพศในอัตราสูงกว่าผู้ชายอย่างมาก แนวโน้มการคุกคามออนไลน์อีกรูปแบบหนึ่งคือที่เรียกกันว่าการกลั่นแกล้งรังแกผ่านระบบไซเบอร์ (Cyberbullying) ซึ่งหมายถึงการส่งข้อความเกลียดชัง ข่มขู่ หรือคุกคาม ที่บ่อยครั้งส่งผ่านโซเชียลมีเดีย

เคล็ดลับการหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงของอาชญากรรมไซเบอร์

มีเดีย ดีเฟนซ์ (Media Defence) เคยนำเสนอขั้นตอนเชิงปฏิบัติสำหรับนักข่าวหญิงเพื่อปกป้องตนเองในโลกออนไลน์ไว้ดังนี้

  • ระมัดระวังแฮชแท็กที่คุณใช้ในโซเชียลมีเดีย เพื่อหลีกเลี่ยงการปลุกเร้าการถล่มโจมตีของกลุ่มเกรียนในประเด็นเฉพาะต่างๆ
  • อย่าแชร์ข้อมูลพิกัดตำแหน่งหรือโลเคชันในโซเชียลมีเดีย หลังจากที่คุณออกจากจุดเกิดเหตุหรือเสร็จการรายงานข่าวแล้วจึงค่อยเปิดเผยว่าคุณอยู่ที่ไหน
  • เมื่ออันตรายสามารถเห็นได้อย่างชัดแจ้งแล้ว ให้แชร์ข้อมูลดังกล่าวกับเพื่อนร่วมงาน บรรณาธิการ หรือฝ่ายบริหาร และทำงานร่วมกับพวกเขาในการสร้างระบบกระบวนการเพื่อทำให้คุณรู้สึกมั่นใจว่าปลอดภัย
  • อนุญาตให้ตัวเองมีพื้นที่ในการจัดการกับผลกระทบทางอารมณ์จากสิ่งที่คุณประสบพบเจอ พูดคุยกับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถสนับสนุนคุณได้
  • พิจารณารายงานภัยคุกคามหรือการโจมตีไปยังแพลตฟอร์มที่ภัยคุกคามเหล่านั้นถูกส่งมา โดยเฉพาะหากเป็นการละเมิดข้อตกลงการใช้บริการหรือกฎกติกาอย่างชัดเจน
  • ส่งเสริมให้องค์กรสื่อของคุณกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อให้การศึกษาแก่พนักงานเกี่ยวกับการคุกคามและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
  • หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถตรวจสอบทรัพยากรต่างๆ ได้ที่มูลนิธิสากลเพื่อสื่อของผู้หญิง (International Women’s Media Foundation: IWMF)  และ TrollBusters

มีเดีย ดีเฟนซ์ ขอแนะนำขั้นตอนเหล่านี้เพิ่มเติม สำหรับกรณีการเผยแพร่ภาพส่วนตัวโดยไม่ได้รับความยินยอมด้วย 

  • บันทึก (หรือทำสำเนา) เนื้อหาที่มีการโพสต์ออนไลน์ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการบันทึกอาชญากรรมที่เกิดขึ้นอย่างถาวร บันทึกนี้ควรครอบคลุมเวลาที่มีการโพสต์เนื้อหา สถานที่ที่มีการโพสต์เนื้อหา และผู้ที่โพสต์เนื้อหา การบันทึกภาพหน้าจอเป็นวิธีการหนึ่งที่มีประโยชน์ในการบันทึกข้อมูลลักษณะนี้
  • ขอความช่วยเหลือทางกฎหมายและสังคมจิตใจ
  • แจ้งความกับตำรวจ แม้ประเทศของคุณจะไม่มีบทบัญญัติสำหรับการเผยแพร่ภาพส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่อาจมีโทษฐานความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในระบบกฎหมายอาญาที่มีอยู่
  • แจ้งรายงานต่อแพลตฟอร์มที่มีการโพสต์เนื้อหา สิ่งที่อาจเป็นประโยชน์คือการแนบสำเนาบันทึกของตำรวจเข้าไปในรายงานที่แจ้งต่อแพลตฟอร์มด้วย

สปายแวร์และการสอดแนมในโลกดิจิทัล

นักข่าวกำลังตกเป็นเป้าของการสอดแนมและติดตามมากขึ้น โดยการสอดแนมและการติดตามเหล่านี้อาจอยู่ในรูปของการใช้มัลแวร์แบบระบุเป้าหมาย การใช้สปายแวร์ (ดังที่เคยเห็นได้ในกรณีอื้อฉาวของเพกาซัสเมื่อไม่นานมานี้) ซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้า และเครื่องมืออื่นๆ เช่น เครื่องสังเกตการณ์โซเชียลมีเดีย เป็นต้น การสอดแนมและติดตามมักถูกใช้เป็นเครื่องมือข่มขู่เพื่อปิดปากนักข่าว ความกลัวว่าจะตกเป็นเป้าของการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจเพื่อกีดกันไม่ให้พูดและอาจนำไปสู่การปิดปากตัวเอง นอกจากนี้ มาตรการต่างๆ โดยรัฐและรัฐบาลยังบั่นทอนความสามารถของนักข่าวในการรายงานข่าวอย่างปลอดภัยและเป็นอิสระ มาตรการที่ว่าคือการควบคุมเครื่องมือจัดการความเป็นส่วนตัว เช่น การเข้ารหัสและการไม่ระบุชื่อ เนื่องจากเครื่องมือเหล่านี้เปิดโอกาสให้สื่อสามารถหลีกเลี่ยงการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลและหลีกเลี่ยงการสอดแนมได้

เคล็ดลับการหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงการถูกสอดส่อง

มาตรการป้องกันการสอดแนม

มีเดีย ดีเฟนซ์ เคยสรุปหลักการ 10 ข้อของ Privacy International ที่ได้รับความยอมรับอย่างแพร่หลาย และสามารถลดอันตรายที่เกิดจากระบบการสอดแนม ซึ่งอาจรวมถึงการสอดแนมโดยรัฐ หลักการเหล่านี้เป็นกรอบการทำงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อค้ำจุนสิทธิขั้นพื้นฐาน และในทางอุดมคติแล้วควรทำงานร่วมกับกฎหมายในประเทศที่สามารถจำกัดการสอดแนมผ่านระบบดิจิทัลได้อย่างเพียงพอ สำหรับแหล่งอ้างอิงฉบับสมบูรณ์สามารถดูได้ที่รายงานขององค์กร ARTICLE 19 เรื่อง “หลักการสากลว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกและความเป็นส่วนตัว”

ภาพโดย Tony Gonzalez
 

เคล็ดลับทั่วไปเพื่อความปลอดภัยทั่วไปในโลกดิจิทัล

นักข่าวที่เปราะบางต่อการสอดแนมเป็นพิเศษควรปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่ดีสุด และทำตามระเบียบด้านความปลอดภัยที่เรียบง่ายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันตนเองจากการถูกเข้าถึงข้อมูลติดต่อสื่อสารส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต

  • ระมัดระวังและเลือกข้อมูลที่คุณแชร์โดยสมัครใจบนโลกออนไลน์ ป้องกันข้อมูลการล็อกอิน รหัสผ่าน และข้อมูลผู้ติดต่อของคุณและแหล่งข่าวของคุณอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการใช้ WiFi สาธารณะที่ไม่ปลอดภัย
  • อย่าเข้าเว็บไซต์ที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่ปลอดภัย ระมัดระวังเป็นพิเศษกับเว็บไซต์ใดก็ตามที่ไม่ได้ใช้โปรโตคอล “https://” (มองหาเครื่องหมายแม่กุญแจในแถบเว็บแอดเดรสของบราวเซอร์ของคุณ)
  • สื่อสารผ่านช่องทางเข้ารหัส เช่น Signal หรือ Telegram ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
  • ใช้รหัสผ่านที่เจาะได้ยากกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของคุณ และรอบคอบในการไม่ใช้รหัสผ่านเดียวกันกับบัญชีมากกว่าหนึ่งบัญชี
  • ทำให้อุปกรณ์ของคุณปลอดภัยและปิดบริการระบุพิกัดตำแหน่งทุกเมื่อเท่าที่ทำได้

คณะกรรมาธิการเพื่อการคุ้มครองนักข่าว (Committee to Protect Journalist: CPJ) แนะนำขั้นตอนเพิ่มเติมดังนี้

  • อัปเดตอุปกรณ์ แอปพลิเคชัน และบราวเซอร์อย่างสม่ำเสมอ
  • ระมัดระวังการหลอกหรือปลอมเป็นบุคคลน่าเชื่อถือเพื่อขอให้ส่งข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อความที่ถูกออกแบบมาให้ดูเหมือนว่ามาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามหลอกให้คุณติดตั้งมัลแวร์ที่อาจถูกส่งมาผ่านกลุ่ม WhatsApp ข้อความโซเชียลมีเดีย อีเมล หรือ SMS และหลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์ใดๆ ที่แนบมาด้วย พร้อมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลผ่านเครื่องมือค้นหาหรือโทรหาผู้ส่งข้อความโดยผ่านเบอร์โทรศัพท์ที่เปิดเผยต่อสาธารณะโดยตรงแทน
  • ทีมไอทีของสำนักข่าวควรเพิ่มระดับความปลอดภัยบนเว็บไซต์เพื่อป้องกันการโจมตีที่นำไปสู่การปฏิเสธการให้บริการเป็นวงกว้าง (DDoS) และใช้แอปพลิเคชันไฟร์วอลล์ (Firewall) สำหรับเว็บไซต์และทำให้มั่นใจว่าขีดความสามารถของเซิร์ฟเวอร์มีมากพอเพื่อรับรองความปลอดภัย
  • ตรวจสอบว่ามีข้อมูลอะไรอยู่ในโทรศัพท์ แลปท็อป หรือบัญชีโซเชียลมีเดียของคุณ สำรองข้อมูลแล้วลบเอกสาร รูปภาพ วิดิโอ หรือไฟล์อื่นๆ ที่อาจมีข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับคุณ ครอบครัวของคุณ หรือแหล่งข่าวคุณ
  • ประเมินให้ดีว่าควรเปิดใช้ระบบยืนยันอัตลักษณ์ด้วยอวัยวะร่างกาย เช่น การแสกนลายนิ้วมือหรือการตรวจจับใบหน้าหรือไม่ เพราะระบบเหล่านี้อาจถูกใช้ประโยชน์โดยหน่วยงานบังคับกฎหมายของรัฐ เพื่อเข้าถึงข้อมูลและแหล่งข้อมูลในอุปกรณ์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากคุณ
  • ลงชื่อออกจากบัญชีของคุณและลบประวัติการเข้าเว็บไซต์ของคุณ
  • ค้นหาชื่อของคุณด้วยการใช้เครื่องมือค้นหาและลบข้อมูลใดๆ ก็ตามที่คุณไม่ต้องการให้อยู่ในการเข้าถึงของสาธารณะ
  • ตรวจสอบบัญชีของคุณเพื่อมองหาสัญญาณว่ามีปฏิบัติการของเกรียนอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
  • พูดคุยกับครอบครัวและเพื่อนๆ เกี่ยวกับความเสี่ยงและผลกระทบที่ตามมาเป็นระลอกๆ เมื่อมีการข่มขู่ออนไลน์เกิดขึ้น ผู้กระทำผิดบนโลกออนไลน์มักได้รับข้อมูลเกี่ยวกับนักข่าวผ่านบัญชีโซเชียลมีเดียของญาติและแวดวงทางสังคม
  • ใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network: VPN) ถ้าคุณกังวลว่าผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตอาจกำลังเฝ้าติดตามกิจกรรมออนไลน์ของคุณอยู่  โดยเฉพาะถ้าคุณกำลังศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่ละเอียดอ่อน โปรดระมัดระวังว่าผู้ให้บริการเครือข่ายส่วนตัวเสมือนก็อาจบันทึกกิจกรรมบนอินเทอร์ของคุณเช่นกัน ดังนั้นจึงควรหาข้อมูลด้วยว่าใครเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายส่วนตัวเสมือนที่ดีที่สุด

เผชิญหน้ากับความเสี่ยงของการถูกใส่ร้ายหรือการถูกกักขังหรือจับกุมตามอำเภอใจ

นักข่าวอาจถูกกล่าวหาว่ากระทำการผิดกฎหมายจากคำกล่าวหาเท็จ ซึ่งอาจนำไปสู่โทษความผิดทางอาญาได้ ตามที่คู่มือความปลอดภัยสำหรับนักข่าวขององค์กรเพื่อความปลอดภัยและความร่วมมือในยุโรป (Organiztation for Security and Cooperation in Europe: OSCE) ระบุไว้ว่ากลยุทธ์นี้ถูกใช้เพื่อปิดปากสื่อไม่ให้รายงานข่าวที่เป็นผลประโยชน์ของสาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อการรายงานข่าวเช่นนี้เป็นการบั่นทอนอำนาจ บุคคลสาธารณะ หรือกลุ่มขบวนการที่มีอิทธิพลสูง นักข่าวบางคนถูกจำคุกโดยมิชอบด้วยกฎหมายในข้อหาเท็จหรือตามอำเภอใจ อีกหลายคนถูกกักขัง บางครั้งเป็นเวลานาน โดยไม่ถูกตั้งข้อหาด้วยซ้ำหรือถูกกักขังในช่วงก่อนการไต่สวน

เคล็ดลับการหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงของการถูกใส่ร้ายหรือจับกุม

ความเสี่ยงของการถูกกักขังหรือลงโทษด้วยข้อหาที่กุขึ้นมาอย่างไม่เหมาะสมเป็นแนวคิดที่มีพลวัตเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและมีความแตกต่างหลากหลายในแง่ลักษณะของภัยคุกคาม ความเปราะบาง และขีดความสามารถ นี่หมายความว่าความเสี่ยงจะต้องถูกประเมินเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะหากสภาพแวดล้อมการทำงานหรือสถานการณ์ความปลอดภัยของคุณเปลี่ยนแปลงไป เพื่อลดความเสี่ยงให้ลงไปอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ คู่มือความปลอดภัยขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) แนะนำนักข่าวดังนี้

  • ลดปัจจัยเปราะบาง ซึ่งความเปราะบางอาจหมายถึงตำแหน่งที่อยู่หรือการขาดการเข้าถึงโทรศัพท์ รวมถึงการขาดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและการตอบกลับร่วมกัน
  • เพิ่มขีดความสามารถในการปกป้อง ซึ่งขีดความสามารถดังกล่าวเป็นจุดแข็งและทรัพยากรที่กลุ่มนักปกป้องสิทธิสามารถเข้าถึงได้เพื่อทำให้ความปลอดภัยอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล ตัวอย่างของขีดความสามารถอาจเป็นการฝึกฝนประเด็นด้านความปลอดภัยและกฎหมาย เป็นกลุ่มที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม รวมถึงการรับประกันว่าจะสามารถเข้าถึงโทรศัพท์ได้และการรับประกันว่าการเดินทางมีความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายนักปกป้องสิทธิ และยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการรับมือกับความกลัว ฯลฯ

นอกจากนี้ คู่มือรองรับความปลอดภัยขององค์กรสื่อยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (SEEMO) ให้คำแนะนำเพิ่มเติมดังนี้

  • หากคุณถูกขู่บังคับหรือเผชิญกับภัยคุกคามจากภายนอก แต่ไม่สามารถพิสูจน์ต่อสาธารณะได้ แนะนำให้เผยแพร่ข่าวออกไปในแวดวงนักข่าวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
  • เก็บหลักฐานของการกดดัน เช่น ข้อความ SMS หรืออีเมล เอกสาร และคลิปเสียงหรือวิดีโอ ไว้ในที่ปลอดภัยและแบ่งปันหลักฐานกับคนที่คุณไว้ใจ
  • ในกรณีที่มีการกดดันโดยตรงหรือมีอันตรายรูปแบบใดๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ นักข่าวควรแจ้งสำนักข่าวหรือองค์กรสื่อต่างๆ เช่นเดียวกับแจ้งต่อสาธารณชน
  • การคุกคามแต่ละครั้ง รวมถึงการโจมตีทางกายต่อนักข่าวหรือสมาชิกในครอบครัวของนักข่าวจำเป็นต้องได้รับการรายงานต่อสาธารณชน รวมถึงต้องแจ้งความต่อตำรวจ
  • ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของนักข่าวมีความสำคัญอย่างมากในกรณีเช่นนี้ ภัยคุกคามร้ายแรงหรือการทำร้ายร่างกายแต่ละครั้งควรถูกทำให้เป็นที่รับรู้ในระดับระหว่างประเทศ

ยิ่งกว่านั้น คณะกรรมาธิการเพื่อการคุ้มครองนักข่าว (CPJ) ยังเตรียมกล่องเครื่องมือเพื่อความปลอดภัยทางกายภาพและดิจิทัลไว้สำหรับนักข่าวที่เผชิญกับการจับกุมและการกักขังด้วย

คำแนะนำเพื่อความปลอดภัยในโลกดิจิทัล

  • ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อทำให้อุปกรณ์ของคุณและข้อมูลของคุณปลอดภัยล่วงหน้าก่อนเกิดการกักขังหรือจับกุมที่อาจเกิดขึ้น การทำเช่นนี้สามารถลดโอกาสที่คนอื่นจะเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับคุณและแหล่งข่าวของคุณได้ รู้ว่าข้อมูล เช่น เอกสารและภาพถ่าย มีอะไรบ้างที่ถูกเก็บไว้ในอุปกรณ์ และถูกเก็บไว้ที่ใด
  • ลบข้อมูลที่อาจทำให้คุณตกอยู่ในความเสี่ยง โปรดระวังว่าเจ้าหน้าที่หรือกลุ่มอาชญากรรมอื่นๆ ที่มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีซับซ้อนอาจสามารถกู้ข้อมูลที่ลบไปแล้วกลับมาได้ ลบประวัติการใช้เว็บไซต์เป็นประจำและลงชื่อออกจากบัญชีทั้งหมดของคุณอย่างสม่ำเสมอ 
  • จำกัดคนที่เข้าถึงเนื้อหาในบัญชีโซเชียลมีเดียของคุณ ตรวจสอบเนื้อหาในบัญชีทั้งหมดของคุณ โดยเฉพาะอีเมลและโซเชียลมีเดียเป็นประจำ รู้ว่าข้อมูลใดอาจทำให้คุณหรือผู้อื่นตกอยู่ในความเสี่ยง

คำแนะนำเพื่อความปลอดภัยเชิงกายภาพ

  • ค้นคว้าและทำความเข้าใจว่าคุณมีสิทธิทางกฎหมายอะไรบ้างในฐานะนักข่าวที่อยู่ในภูมิภาคหรือประเทศที่คุณทำข่าวอยู่ พยายามหาคำตอบว่าอะไรสามารถทำให้คุณถูกจับได้และอะไรที่ไม่สามารถทำให้คุณถูกจับได้ รายละเอียดการจับกุมนักข่าวในอดีตและพวกเขาถูกปฏิบัติด้วยอย่างไร รัฐบาลหรือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายใดที่มีแนวโน้มว่าจะทำการจับกุมในวันดังกล่าว คุณมีแนวโน้มจะถูกพาไปที่ใดเมื่อถูกจับกุม และความสามารถในการเข้าถึงทนายความของคุณ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูแบบประเมินความเสี่ยงของคณะกรรมาธิการเพื่อการคุ้มครองนักข่าว (CPJ) ที่ถูกแบ่งออกเป็นภาษาต่างๆ

ถ้าคุณถูกกักขังหรือจับกุม

  • ก่อนจับกุมคุณ เจ้าหน้าที่ตำรวจควรบอกคุณว่าคุณกำลังถูกจับกุมและด้วยเหตุใด โปรดให้ความสนใจกับสถานที่ เวลา และสถานการณ์ต่างๆ ก่อนนำไปสู่การจับกุม
  • แนะนำให้หลีกเลี่ยงการถ่ายภาพหรือวิดีโอการจับกุม เนื่องจากอาจเป็นการยั่วยุตำรวจและทำให้อุปกรณ์ของคุณได้รับความเสียหายหรือถูกยึดหรือตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงเชิงกายภาพ
  • บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ไม่ว่าจะเป็นชื่อ เหรียญตรา หรือเลขหน่วย หน่วยงาน และลักษณะอื่นๆ ที่มองเห็นได้ทันที 
  • ให้ความสนใจกับบุคคลที่ยืนอยู่โดยรอบและอาจเป็นพยานต่อการจับกุมคุณได้
  • หากคุณถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดก็ตาม พยายามเก็บบันทึกอาการบาดเจ็บ บันทึกการรักษาทางแพทย์ และการเข้าโรงพยาบาล พยายามจดชื่อและบันทึกสิ่งที่พบเห็นเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ผู้รับผิดชอบอย่างละเอียด
ภาพโดย houstondwiPhotos mp
 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูแบบประเมินความเสี่ยงก่อนปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายของคณะกรรมาธิการเพื่อการคุ้มครองนักข่าว (CPJ) รายงานของเครือข่ายข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนสากล (Global Investigative Journalism Network: GIJN) ชิ้นนี้ซึ่งพูดถึงวิธีการรับมือเมื่อรัฐบาลเข้าตรวจค้นบ้านของคุณ (โดยเน้นความสนใจไปที่รัสเซีย)

ข่าวปลอมและโฆษณาชวนเชื่อ

คำว่า “การโฆษณาชวนเชื่อ” “ข้อมูลเท็จ” และ “ข่าวปลอม” มักจะมีความหมายทับซ้อนกันอยุ่ คำเหล่านี้ถูกใช้เพื่อหมายถึงวิธีการหลากหลายแบบ ที่ซึ่งการแชร์ข้อมูลก่อให้เกิดอันตราย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งโดยปกติแล้วมักสัมพันธ์กับการส่งเสริมศีลธรรมหรือเป้าหมายอุดมการณ์ทางการเมืองหรือมุมมองหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง

สภายุโรป (Council of Europe) แบ่งการใช้ความรู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ออกเป็น 3 รูปแบบ

  • ข้อมูลเท็จ (Misinformation): ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือไม่เที่ยงตรงซึ่งถูกสร้างขึ้นหรือเผยแพร่ออกไปด้วยความผิดพลาดหรือไม่ได้ตั้งใจ
  • ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation): ข้อมูลเท็จที่ถูกสร้างขึ้นและเผยแพร่ออกไปอย่างตั้งใจเพื่อชักจูงความเห็นมหาชนหรือปกปิดความจริง
  • ข้อมูลแฝงเจตนาร้าย (Mal-information): ข้อมูลจริงที่ถูกเผยแพร่ออกไปโดยมีเจตนาเพื่อก่อให้เกิดอันตราย

รัฐสภายุโรป (Eurupean Parliament) ระบุองค์ประกอบของข่าวปลอมและการโฆษณาชวนเชื่อเพิ่มเติมดังนี้

  • มีลักษณะชักจูงล่อลวง: เนื้อหาถูกออกแบบมาให้เป็นเท็จหรือชักจูงล่อลวงหรือบิดเบือน หรือเนื้อหาที่ใช้เทคนิคการโน้มน้าวที่ผิดจริยธรรม (การโฆษณาขวนเชื่อ)
  • เจตนา: เนื้อหาที่มีเจตนาของการสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัย ทำลายความแน่นแฟ้น หรือก่อให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นมิตร หรือขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยโดยตรง
  • ผลประโยชน์ของสาธารณะ: เนื้อหาเป็นหัวข้อกี่ยวกับผลประโยชน์ของสาธารณะ
  • การทำให้แพร่หลาย: เนื้อหามักใช้เทคนิคการทำให้แพร่หลายด้วยเครื่องมืออัตโนมัติ เพื่อทวีคูณผลสัมฤทธิ์ของการสื่อสาร

โซเชียลมีเดียและข้อมูลบิดเบือนหรือการโฆษณาชวนเชื่อ

แม้สิ่งที่เรียกกันว่าข่าวปลอมจะไม่มีปรากฏการณ์ใหม่ แต่มันก็ได้รับนัยยะสำคัญใหม่ในช่วงที่ผ่านมาจากการมีขึ้นอย่างแพร่หลายของเทคโนโลยีการสื่อสารและข้อมูลที่มีรูปแบบซับซ้อน เช่น โซเชียลมีเดีย เป็นต้น การส่งต่อข้อความ รูปภาพ วิดีโอ หรือลิงก์ออนไลน์ เปิดโอกาสให้ข้อมูลสามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และยังก่อให้เกิดข้อกังวลต่อความปลอดภัยที่ต้องพิจารณาอีกด้วย แต่กระนั้น โซเชียลมีเดียและเนื้อหาที่ผลิตโดยนักข่าวพลเมืองก็กลายเป็นแหล่งที่มาของรายงานข่าวเกี่ยวกับการประท้วงที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เคล็ดลับการหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงของข่าวปลอม

สมาคมนักเขียนแห่งสหรัฐอเมริกา (PEN America) แนะนำแนวทางการปฏิบัติเพื่อต่อสู้กับข้อมูลเท็จดังนี้

  • อย่าคิดล่วงหน้าไปเองว่าเนื้อหามีความชอบธรรม ตรวจสอบเนื้อหาทั้งหมดจากโซเชียลมีเดียอย่างระมัดระวัง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเช่นนี้ โปรดดูคู่มือขั้นสูงของเครือข่ายข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนสากล ของ GIJN หรือคู่มือฉบับพกพาของ First Draft เกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบความถูกต้องของวิดีโอ
  • อย่าลืมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลใด ๆ ที่มาจากบัญชีออนไลน์หรืออีเมลแอดเดรสที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงใดการประท้วงหนึ่ง
  • ระมัดระวังเว็บข่าวปลอมที่มักถูกออกแบบมาเพื่อเลียนแบบสำนักข่าวจริง สำหรับความช่วยเหลือ โปรดดู Politifact โดย Poynter ศูนย์ติดตามข้อมูลของ NewsGuard หรือ Factcheck.org

องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) แนะนำเช็กลิสต์เพิ่มเติมดังนี้

  • หาตัวผู้เขียน/นักข่าว และความเชี่ยวชาญ ใครเป็นคนผลิตเนื้อหา มีรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับนักข่าวคนดังกล่าวบ้าง เช่น ความเชี่ยวชาญหรือเรื่องราวอื่นๆ ที่พวกเขาเคยทำ
  • ระบุรูปแบบของงาน งานชิ้นนี้คืออะไร มองหาป้ายที่แยกบทความเห็น บทวิเคราะห์ และเนื้อหาโฆษณา (หรือได้รับการสปอนเซอร์/ถูกปรับมาให้เหมาะสมกับแพลตฟอร์มโดยตรง หรือที่เรียกว่า “เนทีฟ”) ออกจากรายงานข่าว
  • ให้ความสนใจไปที่การอ้างอิงหรือบรรณานุกรม สำหรับเรื่องราวสืบสวนสอบสวนหรือเรื่องราวเชิงลึก ให้ศึกษาการเข้าถึงแหล่งข้อมูลเบื้องหลังข้อเท็จจริงและการยืนยันข้อสรุปต่างๆ
  • ดูว่าสถานการณ์ภายในท้องถิ่นหรือชุมชนเป็นอย่างไร
  • ตรวจหาเสียงที่หลากหลาย ความพยายามและความมุ่งมั่นในการนำมุมมองที่หลากหลายเข้ามาของสำนักข่าวเป็นอย่างไร 

การเสียดสี

การใช้หมายเหตุอาจช่วยได้ แต่ก็อาจไม่ช่วยให้หลีกเลี่ยงการรับผิดทางกฎหมายได้เสมอไป โดยเฉพาะถ้าอยู่ในรูปของตัวอักษรเล็กๆ ในตอนท้ายของเรื่องราวเสียดสีที่ในทางตรงข้ามกันกลับดูน่าเชื่อถือ

การเสียดสีได้รับการคุ้มครองโดยบทบัญญัติระหว่างประเทศเกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออกอยู่โดยนัย ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป นิยามการเสียดสีในคดีเมื่อปี 2007 ระหว่างสมาคมศิลปินทัศนศิลป์ (Vereinigung Bildender Künstler) กับรัฐบาลออสเตรียว่าเป็น “รูปแบบการแสดงออกทางศิลปะและวิพากษ์วิจารณ์สังคมรูปแบบหนึ่ง และโดยลักษณะการทำให้เกินจริงและการบิดเบือนความจริงซึ่งเป็นธรรมชาติของการเสียดสี ย่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อการยั่วยุและก่อกวนเป็นธรรมดา ดังนั้น การแทรกแซงใดๆ ต่อสิทธิของศิลปินในการแสดงออกเช่นนั้นจะต้องถูกพิจารณาด้วยความใส่ใจอย่างใกล้ชิด”

แต่กระนั้น การเสียดสีก็ถูกโจมตีทางกฎหมายบ่อยครั้งขึ้น โดยหลักแล้วมักอ้างกฎหมายหมิ่นประมาทหรือกฎหมายลิขสิทธิ์ ความแตกต่างระหว่างการเสียดสีและการหมิ่นประมาทคือการเสียดสีไม่ได้มีเจตนาให้สาธารณชนเชื่อ การเสียดสีคือการจิกกัด วิพากษ์วิจารณ์ และถูกออกแบบมาเพื่อการโจมตี

เคล็ดลับการหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงของการใช้การเสียดสี

คณะกรรมาธิการนักข่าวเพื่อเสรีภาพสื่อแนะนำเคล็ดลับต่อไปนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องในคดีหมิ่นประมาทจากการเสียดสี

  • ใช้โทนไม่น่าเคารพเลื่อมใสเพื่อส่งสัญญาณว่าเรื่องราวดังกล่าวไม่ใช่ข่าวตรงไปตรงมา
  • พิจารณาบริบทของสำนักข่าวที่จะมีการนำเสนอเรื่องราว เช่น สำนักข่าวเคยมีประวัติการเผยแพร่การเสียดสีหรือล้อเลียนหรือไม่
  • พิจารณารูปแบบของการเผยแพร่หรือการออกอากาศ เป็นนิตยสารตีพิมพ์ หนังสือพิมพ์ บล็อก โทรทัศน์ หรือวิทยุข่าว หรือนิตยสาร พิจารณาบริบทภายในของกองบรรณาธิการว่าการเผยแพร่ดังกล่าวอยู่ในส่วนบทวิจารณ์ตอนท้ายเล่ม หน้าบทความคิดเห็นพิเศษ (Op-ed) หรือหน้าข่าว หรืออยู่ในเว็บไซต์เสียดสี หรือการออกอากาศ ทั้งยังต้องพิจารณาพิกัดหลักทางภูมิศาสตร์ หรือกลุ่มผู้ฟังของงานดังกล่าวอีกด้วย
  • ใช้พาดหัวที่แหวกขนบเพื่อเตือนผู้อ่านตั้งแต่แรกว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ข่าวตรงไปตรงมา
  • องค์ประกอบที่ไม่น่าเชื่อหรือน่าโกรธ ผู้เชี่ยวชาญหรือกลุ่มที่มีชื่อขบขันหรือมีชื่อย่อบ้าบอ และถ้อยคำที่ไม่น่าเชื่อ ขาดตรรกะ หรือเกินจริง อาจเป็นสัญญาณว่าเรื่องราวดังกล่าวไม่ได้กำลังบอกเล่าข้อเท็จจริง
  • แทนที่จะใช้ชื่อคนจริงๆ พิจารณาการใช้ชื่อสมมติที่ใกล้เคียงหรือบอกใบ้เกี่ยวกับคนจริงๆ แทน
  • ในการเล่าเรื่อง พิจารณาการอ้างอิงถึงเหตุการณ์จริงที่คุณกำลังล้อเลียนอยู่ การตีพิมพ์การล้อเลียนไม่นานนักหลังเกิดเหตุการณ์จริง ขณะที่เหตุการณ์ดังกล่าวยังอยู่ในความคิดของสาธารณชน เป็นการบอกคำใบ้ว่าเรื่องรด้วยาวนี้กำลังแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์จริงดังกล่าว
  • การใช้หมายเหตุอาจช่วยได้ แต่ก็อาจไม่ช่วยให้หลีกเลี่ยงการรับผิดทางกฎหมายได้เสมอไป โดยเฉพาะถ้าอยู่ในรูปของตัวอักษรเล็กๆ ในตอนท้ายของเรื่องราวเสียดสีที่ในทางตรงข้ามกันกลับดูน่าเชื่อถือ

ประเด็นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์

ลิขสิทธิ์ (Copyright) เป็นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบหนึ่งที่ โดยนิยามของสำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาแล้ว มีหน้าที่คุ้มครอง “งานที่เป็นต้นฉบับของผู้เขียน ได้แก่ งานวรรณกรรม งานละคร งานดนตรี และงานศิลปะ เช่น กวี นิยาย ภาพยนตร์ เพลง ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ และสถาปัตยกรรม” ลิขสิทธิ์ไม่ได้คุ้มครองข้อเท็จจริง แนวคิด ระบบ หรือวิธีปฏิบัติการ แม้ว่ามันอาจจะคุ้มครองวิธีการที่สิ่งเหล่านี้ถูกแสดงออกมาก็ตาม

“การใช้อย่างเป็นธรรม” (Fair Use) เป็นคำที่หมายถึงความสามารถในการใช้เนื้อหาที่มีการจดลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาติหรือชำระเงินหลังกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อผลประโยชน์ทางวัฒนธรรมหรือสังคมของการใช้สูงค่ากว่าต้นทุน เป็นสิทธิทั่วไปที่ถูกนำมาใช้แม้แต่ในสถานการณ์ที่กฎหมายไม่ได้มีบทบัญญัติอนุญาตอย่างชัดเจนสำหรับการใช้ที่เฉพาะเจาะจงดังกล่าว เช่นเดียวกับสิทธิซึ่งเป็นที่คุ้นเคยมากกว่าอย่างการแสดงออกอย่างเสรี ประชาชนใช้สิทธินี้โดยไม่ต้องแจ้งเตือนหรือลงทะเบียนอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด 

เคล็ดลับการหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงของการละเมิดลิขสิทธิ์

คู่มือกฎหมายลิขสิทธิ์และสื่อผู้เป็นประจักษ์พยานแนะนำประเด็นสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ ดังนี้

  • ตรวจสอบผู้ผลิตเนื้อหา ผู้ถือลิขสิทธิ์คือผู้ที่กดปุ่มเผยแพร่
  • ขออนุญาตใช้เนื้อหา โดยใช้ภาษาที่ชัดเจนและไม่ซับซ้อน โดยอธิบายว่าเนื้อหาจะถูกเอาไปใช้อย่างไรและเมื่อใด
  • ตรวจสอบกฎหมายท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ การตีความการใช้ลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรมแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ
  • อย่าใช้เนื้อหาหรือภาพใดโดยไม่ใส่เครดิตหรืออ้างอิงที่มา อย่างไรก็ตาม ในการทำเช่นนั้นคุณควรตระหนักถึงการพิจารณาเชิงจริยธรรมและประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายความเป็นส่วนตัวของการตีพิมพ์ชื่อของบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย
  • ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวและข้อมูลเสมอ
  • อย่าทำซ้ำเอกสารหรือภาพทั้งหมดที่ถูกจดลิขสิทธิหรือเป็นของผู้อื่น เนื้อหาที่พบบนอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ของฟรีหรือปราศจากการคุ้มครองโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ เว้นแต่ว่ามันจะเก่ามากหรืออยู่ภายใต้ใบอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons) หากคุณเชื่อว่าคุณมีข้อโต้แย้งที่หักล้างได้ยากในการใช้เนื้อหาเหล่านี้เพื่อแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ เสียดสี หรือ “การใช้อย่างเป็นธรรม” รูปแบบอื่นๆ ลองศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีหรือปรึกษานักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญดู อย่าพึ่งพาตัวอย่าง “การใช้อย่างเป็นธรรม” อื่นๆ ที่น่าแคลงใจหรือที่เรียกกันว่าภูมิปัญญาข้างถนน

การปิดสำนักข่าว

การปิดสำนักข่าวเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก รัฐบาลอำนาจนิยมใช้กฎหมายปราบปรามมากขึ้น นำไปสู่การถดถอยของเสรีภาพสื่อทั่วโลก กรณีการปิดสำนักข่าวเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ

เคล็ดลับการหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงของการถูกปิดสำนักข่าว

  • ปฏิบัติตามแนวทางความปลอดภัยบนโลกดิจิตัลอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงของการสอดแนมโดยรัฐ
  • ตรวจสอบกฎหมายท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการปิดปากโดยรัฐ
  • ซ่อนเนื้อหาที่ละเอียดอ่อน แบ่งปั่นเนื้อหากับสำนักข่าวที่มีแนวโน้มถูกปิดปากน้อยกว่า
  • หากเป็นไปได้ ให้ทำงานจากต่างประเทศเมื่อเผชิญกับภัยคุกคามจากสภาพแวดล้อมที่กดทับสื่อ

หมายเหตุ: ข้อมูลในเอกสารนี้ไม่ใช่คำปรึกษาทางกฎหมายและไม่นับว่าเป็นคำปรึกษาทางกฎหมาย ข้อความในเอกสารนี้มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเป็นแนวทางเท่านั้น

ที่มา:

Media Defence คือองค์กรสิทธิมนุษยชนเพียงหนึ่งเดียวที่ให้ความสนใจกับประเด็นเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น นั่นคือการคุ้มครองทางกฎหมายของนักข่าว นักข่าวพลเมือง และสื่ออิสระที่อยู่ภายใต้การคุกคามอันเนื่องมาจากการรายงานข่าวทั่วโลก ปัจจุบัน Media Defence สนับสนุนคดีไปแล้วกว่า 900 คดี ช่วยเหลือนักข่าวหลายร้อยคนใน 110 ประเทศ งานของ Media Defence มีส่วนช่วยยับยั้งการกักขังผู้ปฏิบัติงานสื่อไปแล้วกว่า 290 ปี หลีกเลี่ยงความเสียหายไปแล้วเป็นเงินกว่า 646 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และฝึกฝนทนายความไปแล้วกว่า 90 คน

นักข่าวสืบสวนสอบสวนที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถสมัครขอการทาบทามด้วยการติดต่อเครือข่ายข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนสากลได้ผ่านโต๊ะช่วยเหลือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net