นิธิ เอียวศรีวงศ์: ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง…” นิราศสุนทรภู่บาทหรือบทนี้กำลังสร้างความขบขันไปทั่วเมือง

แต่ในความขบขันนี้แฝงไว้ด้วยความสะท้อนใจอยู่ด้วย นั่นคือทำไมจึงต้องท่องจำ สื่อบางแหล่งกล่าวด้วยว่า หัวหน้าคณะรัฐประหารสั่ง ครม. ของเขาทุกคน ให้ท่องจำหนังสือหลักภาษาไทยชื่อจินดามณีด้วย

วรรณคดีคืองานประเภทที่เรียกในปัจจุบันว่า “สร้างสรรค์” หรือ creative เราจะเรียนรู้งานประเภทนี้ผ่านการท่องจำคงไม่ได้ผลอะไรนัก

เพื่อนคนหนึ่งบอกผมว่า น่าเศร้าที่ทหารเรียนรู้วรรณคดีจากการท่องจำ ผมบอกเขาว่า ถ้าทหารเรียนรู้วรรณคดีจากการท่องจำเพียงอย่างเดียวคงไม่เป็นไร ที่น่าเศร้าจริงก็คือคนไทยปัจจุบันล้วนเรียนรู้วรรณคดีจากการท่องจำทั้งนั้นต่างหาก เพราะนั่นคือเหตุผลที่ทหารสามารถขึ้นมานั่งอยู่บนหัวประชาชนได้ เพียงเพราะมีปืน

ในพระนิพนธ์คำนำหนังสือ สามก๊ก ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่า นายทหารระดับท่านขุนและคุณหลวงในกองทัพอ่านวรรณคดีเรื่องนี้อย่างแตกฉาน ทั้งสร้างบทวิจารณ์ในเชิงยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของการรบและสงครามในสามก๊กไว้มาก ชี้ข้อบกพร่องของนายทัพนายกองของสามก๊กนอกเหนือจากที่ปรากฏในหนังสือ ที่ขัดแย้งกับความเห็นของผู้เขียนหนังสือก็มีไม่น้อย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นายทหารรุ่นนั้นเรียนรู้วรรณคดี (อย่างน้อยก็เรื่องสามก๊ก) ในเชิงวิพากษ์ ไม่ได้ท่องจำ

อันที่จริงในกระบวนการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของไทย ทหารหรือกองทัพนับได้ว่าเป็นหน่วยราชการที่ก้าวหน้ามาก ผมอยากเดาว่า เป็นเพราะการศึกษาด้านการทหารของไทยนั้น ต้องรับของใหม่จากตะวันตกล้วนๆ แทบไม่สามารถเอาไปเชื่อมโยงกับความรู้ด้านการทหารของไทยโบราณได้เลย เปรียบเทียบกับการเรียนครูหรือเรียนแพทย์ ในระยะแรกๆ ยังเชิญ “ครู” รุ่นเก่ามาช่วยสอนด้วย เช่น การแพทย์แผนไทยเป็นส่วนหนึ่งของศิริราชพยาบาลมาแต่ต้น

แต่จะว่าไปแล้ว ทรรศนะเชิงวิพากษ์ต่อวรรณคดีคงมีมา (อย่างน้อย) ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์แล้ว ไม่อย่างนั้นเราคงไม่มีวรรณคดีเรื่องพระมะเหลเถไถ, อุณรุทร้อยเรื่อง และระเด่นลันได แต่ทรรศนะวิพากษ์เช่นนี้มาหายไปในช่วงที่ผู้นำไทยกำลังเปลี่ยนประเทศมาสู่ความทันสมัยในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 นี่เอง

ทั้งนี้เพราะในช่วงเดียวกันนี้ เราเพิ่งรับคติฝรั่งที่ว่า มีการใช้ภาษาที่ดีสุดยอดในรูปต่างๆ ทั้งที่เป็นงานเขียนหรือมุขปาฐะ ซึ่งรวมเรียกว่า “วรรณคดี” อันเป็นคำที่เราบัญญัติขึ้นให้ตรงกับภาษาฝรั่งว่า literature ซึ่งมีความสำคัญเพราะแสดงให้เห็นถึงอารยธรรมอันสูงของบ้านเมือง และต่อมาในช่วงปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นักปราชญ์ในสมัยนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชสำนัก จึงประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดให้งานเขียนชิ้นใดมีคุณค่าสูงส่งสมเป็นวรรณคดีได้บ้าง (สมัยนั้นยังไม่ค่อยคำนึงถึงงานที่ไม่ได้เขียน หรืองานประเภทมุขปาฐะ)

พูดสั้นๆ ก็คือ เราได้สร้างลำดับชั้นของวรรณกรรมในภาษาไทย (กรุงเทพฯ) ขึ้น (hierachicalization of Thai writings) ในขณะเดียวกันก็เห็นความสำคัญในการนำเอาวรรณคดีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษา (แบบใหม่-ที่ทำกันในโรงเรียน) ของไทย

จะสอน “วรรณคดี” อันอยู่ในลำดับขั้นสูงสุดของงานเขียนเหล่านี้ด้วยความเคารพอันสมควรแก่สถานะของมันได้อย่างไร

คำตอบคืออ่านมันให้รู้เรื่อง ด้วยการแปลศัพท์และสำนวนที่ใช้ในวรรณคดีเรื่องนั้น อธิบายเกี่ยวกับผู้เขียนและประเภทของรูปแบบที่ใช้ในการเขียน (โดยไม่มีแม้แต่การตรวจสอบต้นฉบับตัวเขียนซึ่งมีหลาย “ฉบับ” หรือ versions) แต่เพื่อให้สมควรแก่สถานะอันสูงของวรรณคดี ก็ควรจดจำบางช่วงบางตอนของงานเขียนนั้นได้ด้วย

และนี่คือที่มาของการท่องจำ ซึ่งผู้นำคณะรัฐประหารได้แสดงความสามารถให้ปรากฏ

ความสามารถที่จะจำบางบทบางตอนซึ่งเป็นที่ประทับใจในวรรณคดีนั้น ที่จริงแล้วก็เป็นความสามารถหรือเป็นแนวโน้มธรรมดาที่คนโบราณทำได้ แม่ผมจำบางบทบางตอนเช่นนี้ได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ไม่ได้มาจากการท่องจำ หากมาจากวิถีชีวิตของท่านเอง เช่น ต้องอ่านหนังสือให้ยายฟังมาแต่เล็ก ได้ดูการแสดงซึ่งนำเอาบทเหล่านี้มาร้องเป็นเพลงอยู่บ่อยๆ ได้ฟังเพลงที่เอาบางบทของวรรณคดีมาเป็นเนื้อร้อง ได้สนทนากับเพื่อนฝูงที่ผ่านชีวิตแบบเดียวกันมา ก็ย่อมอ้างถึงหรือท่องให้ฟังได้อยู่เสมอ

พูดง่ายๆ ก็คือ วิถีชีวิตต่างหากที่ทำให้จดจำบางบทบางตอนในวรรณคดีไทยได้ แต่คนสมัยหลังโดยเฉพาะในปัจจุบัน แทบไม่ได้ดูโขนดูละคร ไม่ฟังเพลงไทย และไม่มีเพื่อนซึ่งสามารถว่ากลอนตอนดังๆ ให้ฟังในการสนทนา จะทำอย่างเดียวกับคนโบราณได้อย่างไร หากไม่ท่องจำ

ปัญหาอยู่ที่ว่าจะไปมีความสามารถอย่างคนโบราณทำไม เพราะที่น่าจะทำตามมากกว่าคือทรรศนะเชิงวิพากษ์ต่อวรรณคดี ซึ่งคนโบราณก็มีต่างหาก แต่เพราะเราเรียนวรรณคดีกันด้วยความเคารพอย่างสูงเช่นนี้ต่างหาก ที่ทำให้วรรณคดีกลายเป็นเรื่องแค่ท่องจำ

เราเรียนวรรณคดีก็เพื่อฝึกฝนการประเมิน คือประเมินความงาม, คุณค่า, ความหมาย, ความจริง และความสัมพันธ์ (เอาเข้าจริง ไม่ว่าจะเรียนอะไรก็เพื่อประเมิน 5 อย่างนี้) ต่างคนต่างประเมิน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะไม่มีคำตอบสำเร็จรูปที่ถูกสำหรับทุกคน เพียงแต่ว่า ไม่ว่าประเมินอย่างไร ก็สามารถให้เหตุผลที่ฟังขึ้นว่าเหตุใดจึงประเมินเช่นนั้น แม้ว่าการประเมินวรรณคดีต้องอาศัยความรู้สึกอยู่มาก แต่ก็เป็นความรู้สึกที่คนอื่นก็มีหรือสามารถจินตนาการไปได้เหมือนกัน ไม่ใช่ความรู้สึกเฉพาะของผู้ประเมินเท่านั้น

การท่องจำจึงไม่มีบทบาทอะไรในการศึกษาวรรณคดี เพราะไม่ช่วยให้ใครประเมินได้ดีขึ้น แต่การคิด การวิเคราะห์ การชั่งน้ำหนัก การเปรียบเทียบ ฯลฯ มีความสำคัญกว่าในการประเมิน

แต่การศึกษาวรรณคดีแบบให้ความเคารพอย่างสูงในการศึกษาไทย ทำให้ความสามารถอย่างหลังเหล่านี้ไม่ได้รับการส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาขึ้นจนงอกงามเต็มที่ เสียเวลาและความเอาใจใส่ไปกับการท่องจำ จนไปเข้าใจผิดว่า การรู้วรรณคดีคือการท่องจำบางบทบาทตอนได้คล่อง แม้จะอยู่ผิดเล่ม และผิดยุคสมัยอย่างไร ก็ยังดีกว่าท่องจำอะไรไม่ได้เลย

ผิดจากนายทหารรุ่นต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งอ่านสามก๊กด้วยทรรศนะเชิงวิพากษ์ และประเมินเรื่องต่างๆ ในสามก๊กเป็นที่เลื่องลือจนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงนำมาเล่าไว้ในคำนำ

อันที่จริง นอกจากนายทหารที่ได้ผ่านโรงเรียนทหาร (ซึ่งเริ่มรับตั้งแต่ชั้นประถม) ผมเข้าใจว่า นักเรียนในรุ่นนั้นต่างก็มีความสามารถในการศึกษาวรรณคดีเชิงวิพากษ์ทั้งสิ้น นักเขียนกลุ่ม “สุภาพบุรุษ” หลายคน (ส่วนใหญ่คือนักเรียนเก่าของโรงเรียนเทพศิรินทร์) กล่าวอ้างถึงวรรณคดีเก่าในเชิงวิพากษ์ (อย่างจริงจังหรืออย่างล้อเลียน) ที่รู้จักกันดีคือ “ยาขอบ” ซึ่งเขียนสามก๊กฉบับวนิพกทั้งชุด ด้วยการสร้างความเป็นคน (ไทย?) ให้แก่ตัวละครเด่นๆ ในเรื่อง

ทําไมนักเรียนรุ่นนั้นจึงศึกษาวรรณคดีด้วยวิธีที่แตกต่างจากนักเรียนรุ่นหลัง ผมคิดว่าเกิดขึ้นจากความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ผมคิดว่ายุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนถึงปี 1947 (หรือ พ.ศ.2490) คนไทยที่มีการศึกษาต่างสำนึกดีว่าตัวต่างมีชีวิตอยู่ในช่วงที่บ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่ อนาคตข้างหน้าที่กำลังมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น จะไม่เหมือนเก่า จนทำให้คำตอบของสมัยโบราณอาจไม่ตอบคำถามของยุคใหม่ไปได้ทุกเรื่องอีกแล้ว

สำนึกแบบนี้ทำให้กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ทดลอง กล้าเสี่ยงมากเป็นพิเศษ เป็นผลให้การศึกษาวรรณคดีมีลักษณะเชิงวิพากษ์ ทั้งการศึกษาของนักปราชญ์และคนธรรมดา แม้ว่าตัวบทที่ใช้ศึกษายังไม่มีคุณภาพมากนักก็ตาม (เช่น ขาดการสอบค้นอย่างทั่วถึงพอ)

บางคนอาจยกสาเหตุให้แก่ “ครูฝรั่ง”ในระบบการศึกษาของกรุงเทพฯ เพราะในช่วงนั้น ราชการมีอัตราจ้างครูชาวต่างประเทศมาสอนในโรงเรียนที่หลวงตั้งขึ้นอยู่ไม่น้อย ฝรั่งบางคนได้เป็นผู้บริหารโรงเรียนด้วย และส่วนใหญ่เป็นคนจากบริเตนใหญ่

แต่ผมสงสัยว่า “ครูฝรั่ง” ไม่ใช่แรงบันดาลใจสำคัญเท่ากับสำนึกของนักเรียนเอง ในปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 การศึกษาของยุโรปเองก็ยังไม่ก้าวมาถึงการ “ถอดรื้อ” อุดมคติและความรู้อะไรมากนัก มีความรู้ที่นักปราชญ์ได้สร้างเอาไว้ซึ่งถูกต้องแน่นอน นักเรียนจึงควรจดจำสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ แม้ไม่ใช่ด้วยการท่องจำก็ตาม

ยิ่งครูเป็นคนจากบริเตนใหญ่ ก็ยิ่งล้าสมัยกว่าชาวยุโรปอื่น Thomas Piketty กล่าวว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศที่เข้าร่วมสงครามในยุโรปต่างเป็นหนี้สินพะรุงพะรังทั้งฝ่ายชนะและฝ่ายแพ้ ในขณะที่ในประเทศอื่นแก้ปัญหานี้ด้วยการกู้ยืม แต่อังกฤษใช้การประหยัดแทน ผลจึงทำให้อังกฤษตกอยู่ในความอัตคัดขัดสนนานกว่าเขาอื่น และการศึกษาของอังกฤษเองก็ตกต่ำลงอย่างมาก ซึ่งยิ่งทำให้ฟื้นตัวได้ยากขึ้นไปอีก (Capital in the Twenty-First Century)

ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้นั้น ผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาทีเดียว ไม่ว่าจะไปลอกรูปแบบการศึกษาจากฟินแลนด์หรือประเทศอะไรที่ประสบความสำเร็จจนมีชื่อเสียง หากนำมาใช้ในสังคมที่ปราศจากความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ก็คงทำได้แต่รูปแบบ แต่ไม่อาจทำไปถึงหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาได้

เงื่อนไขทางสังคมในแง่นี้ ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักปฏิรูปการศึกษาภาครัฐสักเท่าไร เพราะไปให้ความสำคัญแก่เทคนิควิธี (สอนอย่างไร) มากกว่า ความคิดว่า “ครูฝรั่ง” ทำให้นักเรียนไทยในรุ่นเก่ามีความกระตือรือร้นใครเรียนรู้มาก ก็มาจากการมองเทคนิควิธีเป็นเงื่อนไขสำคัญสุดเพียงอย่างเดียวในการศึกษาที่ดี

แต่หากมองเงื่อนไขทางสังคม หรือสำนึกของผู้เรียนเองว่ามีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน บรรยากาศ – ทั้งที่กระทบต่อตัวผู้เรียนโดยตรงและโดยอ้อม – ของความตื่นตัว กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ เป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ ของการศึกษาในเชิงวิพากษ์

คนไทยในปัจจุบันก็รู้ดีว่า เรากำลังเผชิญกับความเปลี่ยน-แปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง อันเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกและภายใน บางคนกลัวว่าคำตอบเก่าที่เคยใช้ได้ดีในสังคมไทยมาก่อน จะใช้ไม่ได้อีกแล้ว แต่บางคนไม่กลัว และพร้อมจะเรียนรู้เพื่อค้นหาคำตอบใหม่ให้แก่ปัญหาใหม่ ซึ่งไม่มีวันจะเหมือนเดิมอีกแล้ว

น่าเสียดายที่ประเทศต้องมาติดตังอยู่กับเงื่อนไขทางการเมืองที่บีบบังคับให้เราไม่อาจหาคำตอบอะไรได้มากไปกว่าที่มีมาแต่โบราณ เงื่อนไขของการรัฐประหารในครั้งนี้ ถือได้ว่าบรรลุจุดสุดยอดของแนวโน้มที่เกิดมาตั้งแต่การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 นั่นคือ การยึดอดีตเป็นเกราะกำบังภัยให้แก่ ทั้งผู้ทำรัฐประหารและชาติบ้านเมืองจากความเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่จำเป็นที่การรัฐประหารในเมืองไทยทุกครั้งจะต้อง “ย้อนอดีต” เช่นนี้เสมอไป หากไม่นับการรัฐประหารของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราใน พ.ศ.2476 แล้ว การรัฐประหารครั้งอื่นล้วนเป็นคำสัญญาว่าจะมุ่งสู่อนาคตที่ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะการรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ในบรรยากาศที่มุ่งกลับไปใช้คำตอบที่มีมาแต่อดีต ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ก็ไม่จำเป็น จึงไม่แปลกที่การปฏิรูปการศึกษาที่ทำกันภายใต้อำนาจทางการเมืองที่ “ย้อนอดีต” เช่นนี้

 

ที่มา: www.matichonweekly.com/column/article_95209

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท