Skip to main content
sharethis

รายงานเสวนาในหัวข้อ "Period Addict เพราะชีวิตขาดอดีตไม่ได้" 'อนุสรณ์ อุณโณ' ชี้ชนชั้นนำมักเป็นผู้เลือกสรร  'อาการลืมๆ จำๆ' ด้าน 'ชาตรี' แนะไม่ควรมองอดีตอย่างหอมหวาน และไม่ควรคาดหวังอนาคตที่ดีเกินไป 'ตามไท ดิลกวิทยรัตน์' ย้ำการโหยหาอดีตอย่างมีเหตุผลและเท่าทัน ย่อมดีกว่าหลงลืม

วันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา เวลา 17.30 น.  ในกิจกรรมจัดแสดงนิทรรศการการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2561 มีการจัดเสวนาในหัวข้อ "period addict เพราะชีวิตขาดอดีตไม่ได้" ณ ห้อง 203 อาคารบรรยายรวม 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และ ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ชานันท์ ยอดหงษ์

อาการลืมๆ จำๆ ชนชั้นนำมักเป็นผู้เลือกสรร

อนุสรณ์ อุณโณ กล่าวถึงการโหยหาอดีตผ่านการตีความแบบมานุษยวิทยาว่า เป็นการใช้จินตนาการถึงโลกที่สูญเสียไปหรือการให้อดีตกลับคืนมา โดยสภาวะดังกล่าวมักเกิดขึ้นในสังคมที่มีการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน เช่น กลุ่มคนพลัดถิ่น ผู้อพยพ คนไร้ราก ยกตัวอย่าง กลุ่มชนชาติยิว เป็นต้น โดยการโหยหาอดีตนี้เองไม่ได้เป็นธรรมชาติแต่เดิมของมนุษย์ แต่เป็นสิ่งที่ปลูกสร้างขึ้นที่หลัง เพื่อหาความยืดโยงกับความทรงจำเพื่อการมีอยู่ของตัวตน

อนุสรณ์ ยังกล่าวต่อ ว่าแนวคิดการโหยหาอดีตเอง ก็อยู่บนวิธีการเลือกจำและลืม โดยชนชั้นนำมักเป็นผู้ทำหน้าที่เลือกสรรชุดความทรงจำทางประวัติศาสตร์เพื่อรองรับกับอำนาจของกลุ่มการเมืองในแต่ละยุคสมัย กรอบการเลือกที่จะจำหรือลืมนั้น กำกับโดยใช้จินตนาการเกี่ยวกับรัฐ เช่น แนวคิดความเป็นชาติ ความเป็นรัฐ หรือลักษณะทางประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมในไทยเอง อย่างไรก็ตาม บางกรณีไม่จำเป็นต้องมีรัฐ แต่มีชาติที่จินตนาการร่วมกันได้ เช่น ชาวยิว

ทั้งนี้ อนุสรณ์ ยังได้อธิบายว่า สำหรับสังคมไทยเอง ปรากฏการณ์สำคัญเหล่านี้ได้ถูกทำให้มีความสำคัญนับตั้งแต่วิกฤตการเมืองหลัง 2540 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กลุ่มเสื้อเหลือง ยังยึดโยงสัญญะการเคลื่อนไหวเข้ากับสำนึกประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมไทย จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่ยุคการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ก็พบว่ามีการยึดโยงกับความเป็นชาติผ่านการใช้ธงไตรรงค์ในการเคลื่อนไหว และหลังจากรัฐประหาร คสช. พบว่ามีความพยายามในการกดทับประวัติศาสตร์ 2475 เช่น กรณีการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรเป็นหมุดหน้าใส

อนุสรณ์ ได้ทิ้งท้ายในส่วนของตนไว้ว่า เกี่ยวกับการเลือกสรรความทรงจำนี้เอง เป็นเรื่องของการเมืองศีลธรรมและปัญญา ตลอดจนการพบปัญหาการเขียนประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมไทยว่าขาดมิติของผู้คนแต่ละท้องถิ่นไป

ไม่ควรมองอดีตอย่างหอมหวาน ไม่คาดหวังอนาคตที่ดีเกินไป

ชาตรี ประกิตนนทการ กล่าวถึงประเด็นการโหยหาอดีตของรัฐไทยผ่านงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า อะไรคือจุดสมดุลระหว่างการมองกลับและมองไปข้างหน้าในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ ชาตรี ได้ชี้ให้เห็นถึงวิธีการทำความเข้าใจต่ออดีตและอนาคตไว้ว่าไม่ควรมองอดีตอย่างหอมหวานเกินไป และไม่ควรมองอนาคตว่าดีเกินไป

ชาตรี ยังอธิบายว่า คนในสังคมไทยส่วนใหญ่มีพื้นฐานความเชื่อในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ย่อมผูกพันกับแนวคิดที่ว่าสังคมในยุคที่พระพุทธเจ้าเกิดมานั้นเป็นสังคมที่ดีที่สุด และหลังจากนั้นคือยุคแห่งความเสื่อมถอย การที่จะเป็นสังคมที่จะดำรงไว้ซึ่งสังคมที่ดีงามต่อไป จึงต้องมองกลับไปยังยุคที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิต ขณะเดียวกัน อิทธิพลการล่าอาณานิคมโดยชาติตะวันตก ทำให้เกิดการรับค่านิยมภายนอกเพื่อปรับตัว ทำให้เกิดความเข้าใจว่าแนวคิดตะวันตกคือความเจริญในทางโลก แนวคิดตะวันออกคือความเจริญในทางธรรม

ทั้งนี้ ชาตรี ได้อธิบายถึงการเจริญเติบโตแนวคิดทางธรรมในสังคมไทยว่าได้กลายเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างคำอธิบายและสลักรายละเอียดลงบนอาคารสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองไทยหลังปี 2549 ที่มีการให้ออกแบบอาคารรัฐสภาแบบใหม่ โดยลักษณะการออกแบบดังกล่าวอ้างอิงกับแนวคิดพระพุทธศาสนา โดยใช้ชื่อโครงการการก่อสร้างว่า ‘สัปปายะสภาสถาน’ สื่อว่ารัฐสภาเป็นสถานที่ประกอบกรรมดี อีกทั้งยังมีการจัดองค์ประกอบตามจักรวาลวิทยาคติพุทธแบบไตรภูมิ จากแผนการก่อสร้างรัฐสภานี้เอง ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่รัฐพยายามนำกลับสู่อดีต ผ่านแนวคิดที่เคลือบแฝงในสิ่งปลูกสร้าง

โหยหาอดีตอย่างมีเหตุผลและเท่าทัน ย่อมดีกว่าหลงลืม

ต่อปรากฏการณ์การโหยหาอดีตของสังคมไทยในปัจจุบันนั้น ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้สำหรับพื้นฐานประวัติศาสตร์ของคนในสังคมไทยว่า คนไทยเรียนรู้ประวัติศาสตร์กระแสหลักอย่างฝังหัว การเกิดขึ้นของละครบุพเพสันนิวาสจึงได้เข้ามาตอบรับกระแสนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐพยายามมาโดยตลอด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งเกิดกระแสจากละครเรื่องดังกล่าว

ตามไท ยังกล่าวว่า รัฐที่เพิ่งเกิดใหม่ มีความจำเป็นต้องใช้ประวัติศาสตร์ในการสร้างเอกภาพ แม้กระทั่งในประเทศตะวันตกยังต้องมีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติของตน เพียงแต่การศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยในฐานะชาติหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่งเกิดใหม่ ไม่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนอยู่ในนั้น แต่เน้นไปที่ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม เน้นเรื่องเล่าของชนชั้นนำเพียงอย่างเดียว จึงมักออกมาเป็นนิยายสร้างชาติในภาวะที่จำกัด

อย่างไรก็ตาม ตามไท ยอมรับว่าในช่วงเวลาหนึ่งก็มีนักประวัติศาสตร์ไทยแนวอนุรักษ์นิยมอย่างพระยาอนุมานราชธน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมทย์ ที่มีความพยายามในการเขียนประวัติศาสตร์ในรูปแบบที่แทรกวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชุมชนอื่นๆ ในสังคมไทยลงไป โดยประวัติศาสตร์เหล่านั้นต่างคงอยู่ในฐานะเศษทางประวัติศาสตร์ที่กระจัดกระจายอยู่ แม้สุดท้ายแล้วความพยายามการเขียนประวัติศาสตร์แบบนี้เองจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม

ตามไท ยังจำแนกลักษณะปรากฏการณ์ที่มีการนำประวัติศาสตร์มาใช้ไว้สองลักษณะคือ 1) ช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง มักเป็นการดึงประวัติศาสตร์บางส่วนขึ้นมาเพื่ออ้างความเป็นเอกภาพหรือใช้ประโยชน์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และ 2) ในแง่ของทุนที่มีการดึงประวัติศาสตร์มาใช้ประกอบการในเชิงพานิชย์ เช่นอาหารไทย การแต่งชุดไทย เป็นต้น

ฐานะคนสอนด้านประวัติศาสตร์ ตามไท ได้ทิ้งท้ายว่า การโหยหาอดีตเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากทำให้เกิดการสนใจต่อประวัติศาสตร์ ดีกว่าการหลงลืมอดีต อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้อดีตที่ดีควรดำเนินไปอย่างมีเหตุผลและใช้วิจารณญาณในการรับรู้อดีตอย่างเท่าทัน

 

สำหรับ อัฐพล ปิริยะ ผู้รายงานเสวนาชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 2/2560 จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความสนใจเกี่ยวกับ One Piece, Star Wars, วรรณกรรม, การเมืองวัฒนธรรม และการศึกษา 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net