4 ปีรัฐประหาร: สวัสดิการสังคม สุขภาพ และชีวิตคนจน: ปัญหา ข้อท้าทาย และทางออก

4 ปีรัฐประหารและสวัสดิการที่สั่นคลอน เมื่อรัฐมองการดูแลประชาชนเป็นภาระ ระบบสวัสดิการสุขภาพถูกทำลายการมีส่วนร่วมจากระบบราชการ นักเศรษฐศาสตร์ระบุในระบอบประชาธิปไตยที่ความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบสวัสดิการจะเกิดขึ้น

 

  • ระบบการเมือง โดยเฉพาะภายใต้ระบอบประชาธิปไตย สามารถสร้างความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับประชาชน
  • คนจนถูกกดขี่เพิ่มมากขึ้นในช่วง 4 ปีของ คสช. กฎหมายและนโยบายต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อเอื้อนายทุน
  • ระบบสวัสดิการสุขภาพถูกรัฐราชการทำลายการมีส่วนร่วมและรัฐมองว่าการดูแลประชาชนเป็นภาระ

 

4 ปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวได้ว่าเป็นคณะรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การรัฐประหารครั้งนี้กำลังทำลายรัฐสวัสดิการด้วยความเป็นรัฐราชการ มองประชาชนเป็นภาระ มีแต่ประชาธิปไตยเท่านั้นจึงจะพัฒนารัฐสวัสดิการขึ้นได้

‘D-Move ก้าวที่ดี เลือกทางที่เดิน’ จัดงานเสวนาหัวข้อ สวัสดิการสังคม สุขภาพ และชีวิตคนจน: ปัญหา ข้อท้าทาย และทางออก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการ เอ็นจีโอ และภาคประชาชนร่วมสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วง 4 ปีใต้อำนาจ คสช.

 

เผด็จการที่ไม่ต้องอาศัยอำนาจจากประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องหยิบยื่นสวัสดิการให้แก่ประชาชน

ธร ปิติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับงานที่ผมทำเสร็จไป เป็นมุมมองเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของระบบสวัสดิการในประเทศไทย ประเด็นหลักที่ผมจะพูดในวันนี้เชื่อมโยงระหว่างระบบการเมืองกับพัฒนาการของระบบสวัสดิการ ผมจะเน้นย้ำว่าทำไมบริบทของประเทศไทย ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดพัฒนาการของสวัสดิการขึ้นมาได้

เริ่มแรกผมอยากเริ่มจากคำถามว่าในที่นี้มีใครที่มีคนในครอบครัวที่ตัวเองไม่เคยได้เจอ ผมมีคนในครอบครัวที่ผมไม่เคยได้เจอคือคุณยายผม ซึ่งเสียตอนแม่ผมอายุ 5 ขวบ เสียตอนที่คลอดลูก คุณยายคลอดลูกคนที่ 4 แล้วเสียชีวิต ลูกก็อยู่ได้อีกไม่กี่เดือนก็เสียชีวิตตามไปด้วย ที่ผมเล่าให้ฟังเพราะผมจะหยิบตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจมาให้ดู

ในช่วงเวลาที่คุณยายผมเสียไปไม่นาน ในปี 1960 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประเทศไทยเริ่มเก็บข้อมูลอัตราการตายของทารกเกิดใหม่พบว่าในช่วงนั้นอยู่ที่ประมาณ 100 คนต่อ 1,000 คน กล่าวคือเกิดมา 100 คน ตาย 1 คน เราจะพบว่าถ้าเราเทียบวันนั้นกับวันนี้ ตัวเลขจะต่างกันมาก ตัวเลขเหลือไม่ถึง 10 คนต่อ 1,000 คนที่เสียชีวิตตั้งแต่อายุไม่ถึง 1 ขวบ แสดงว่าเราลดอัตราการเสียชีวิตของทารกได้ดีมาก ถ้าคุณน้าผมเกิดมาในสมัยนี้ โอกาสที่จะเสียชีวิตจะลดลงมาเยอะมาก ที่ผมเล่าตรงนี้เพื่อต้องการสื่อว่า สวัสดิการเชื่อมโยงกับชีวิตเราโดยตรง ระบบสวัสดิการสร้างความแตกต่างอย่างมากกับชีวิตของเรา กับครอบครัวของเรา

ประเด็นสำคัญคือถ้าเรามองว่าสวัสดิการเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของเราทุกคน อะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้สวัสดิการพัฒนาขึ้นได้ ผมอยากจะเน้นว่าสิ่งสำคัญยิ่งที่ทำให้สวัสดิการสามารถพัฒนาได้คือระบบการเมือง

ระบบการเมืองเป็นสิ่งที่สร้างความเป็นไปได้ต่อพัฒนาการของระบบสวัสดิการ ผมจะย้อนกลับไปถึงระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ประเทศที่เป็นต้นแบบคืออังกฤษ ระบบ National Health Service หรือ NHS เป็นระบบที่อังกฤษภาคภูมิใจ ระบบนี้คล้ายกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลได้โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

NHS เกิดมาได้เพราะระบบการเมืองสร้างให้ในบริบทที่ค่อนข้างพิเศษคือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถามว่าทำไมระบบการเมืองจึงสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา เรียกว่าเป็นตัวอย่างแรกๆ ของโลกที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นมาได้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศอังกฤษเสียหายเยอะ คนล้มตายมาก ความเสี่ยงในชีวิตก็เยอะ ความยากจนเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ทั่วไป ในเวลานั้นมีฉันทามติในระบบการเมืองว่าควรต้องมีระบบสุขภาพที่รองรับความเสี่ยงให้กับผู้คนไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไร พูดง่ายๆ ว่าในช่วงที่ทุกคนรับรู้ได้ถึงความลำบากจากสงคราม การเมืองในอังกฤษก็เกิดฉันทามติขึ้น นักการเมืองไม่ว่าจากพรรคไหนมองตรงกันว่า ระบบหลักประกันสุขภาพจำเป็นต้องเกิดขึ้น นี่คือตัวอย่างของความเป็นไปได้ที่การเมืองสร้างขึ้น

แต่ถามว่าการเมืองจะสร้างความเป็นไปได้แบบนั้นได้อย่างไร เราก็ต้องดูว่าระบบการเมืองเป็นอย่างไร ในการเมืองไทย ความเป็นไปได้ที่การเมืองเราจะสร้างพัฒนาการให้กับระบบสวัสดิการ มันเป็นอย่างไรมาก่อนในอดีต ผมอยากจะย้อนไปช่วงที่คุณยายผมเสียคือช่วงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2

จอมพล ป. อยู่ในอำนาจ 2 ช่วง ช่วงแรกคือช่วงที่คณะราษฎรยังเรืองอำนาจ ช่วงที่ 2 คือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงนี้อำนาจของจอมพล ป. อยู่กับกลุ่มจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และกลุ่มราชครู ตอนที่จอมพล ป. จะสูญเสียอำนาจไป จอมพล ป. พยายามพึ่งพิงหาอำนาจเพิ่ม ซึ่งอำนาจที่จอมพล ป. หันไปหาคืออำนาจที่เคยสนับสนุนอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็คือกลุ่มแรงงาน กลุ่มฝ่ายซ้าย การที่จอมพล ป. หาแรงหนุนทางการเมืองเพราะเชื่อว่าตนเองจะชนะเลือกตั้งจากการสนับสนุนจากอีกฝ่ายได้ เป็นช่วงเดียวกันกับที่ประเทศไทยมีความพยายามดัน พ.ร.บ.ประกันสังคม เป็นครั้งแรก

เมื่อใดที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองต้องการแรงหนุนจากประชาชน เมื่อนั้นเราจะเห็นได้ว่าผู้อำนาจทางการเมืองจะหยิบยื่นสวัสดิการสังคมให้ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.นี้ไม่ได้ไปถึงฝั่งฝัน เพราะมีการยึดอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์ก่อน สมัยจอมพลสฤษดิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายทศวรรษคือเราอยู่ในระบบสวัสดิการแบบลดทอน

ทำไมจึงเป็นระบบสวัสดิการแบบลดทอน เพราะเป็นสวัสดิการที่ให้อย่างจำกัดที่สุด กลุ่มที่ถูกตัดที่ทางออกไปจากสวัสดิการก็คือกลุ่มแรงงานและชาวนา เนื่องจากระบบเศรษฐกิจมุ่งสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเมือง กลุ่มที่ได้สวัสดิการค่อนข้างเยอะเป็นกลุ่มแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือกลุ่มข้าราชการ

ถามว่าทำไมระบบเผด็จการแบบจอมพลสฤษดิ์ถึงต้องให้ประโยชน์ทางสวัสดิการแก่ข้าราชการมากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งเรียกได้ว่าในสมัยนั้นและอีกหลายทศวรรษถัดมา ข้าราชการเป็นกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ได้รับสวัสดิการที่รับรองความเสี่ยงของชีวิตได้ นั่นก็เพราะว่าการเมืองของเผด็จการต้องพึ่งพิงอำนาจข้าราชการเป็นเสาค้ำยันเอาไว้

สิ่งที่ผมต้องการเน้นคือการเมืองเป็นตัวกำหนดความเป็นไปได้ว่าสวัสดิการจะพัฒนาไปในทางใด เผด็จการที่ไม่ต้องอาศัยอำนาจจากประชาชน ก็ไม่จำเป็นต้องหยิบยื่นสวัสดิการใดๆ ให้แก่ประชาชนเท่าใดนัก

ระบบการเมืองแบบเผด็จการและระบบสวัสดิการแบบลดทอนลดบทบาทลงเมื่อไหร่ ผมอยากจะหยิบยกความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 3 ขั้นที่เกิดขึ้นในช่วงหลายสิบปี ช่วงเดียวกับที่เผด็จการแบบจอมพลสฤษดิ์ลดบทบาทลงก็คือตั้งแต่ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงช่วงที่พลเอกเปรมลงจากอำนาจไป และเริ่มมีการเมืองที่นักการเมืองต่างจังหวัดและนักธุรกิจเข้ามามีบทบาทในสมัยพลเอกชาติชาย จนถึงยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย 3 ช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ถ้าเราย้อนกลับไปดูว่าเกิดอะไรกับระบบสวัสดิการบ้าง เราจะเห็นเลยว่าทุกการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะนำมาสู่สิ่งใหม่ๆ ในระบบสวัสดิการเสมอ

“การเมืองเป็นตัวกำหนดความเป็นไปได้ว่าสวัสดิการจะพัฒนาไปในทางใด เผด็จการที่ไม่ต้องอาศัยอำนาจจากประชาชน ก็ไม่จำเป็นต้องหยิบยื่นสวัสดิการใดๆ ให้แก่ประชาชนเท่าใดนัก”

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลหันมาหยิบนโยบายที่ช่วยอุดหนุนชาวนา คือยุคของคึกฤทธิ์ ปราโมชกับนโยบายเงินผัน เพราะว่าปัญหาชาวนาเป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาถกเถียงมากและถูกหยิบมาพูดถึงมากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ช่วง 2531 หลังจากพลเอกเปรมลงจากอำนาจไป เปิดช่องทางให้นักการเมืองอย่างพลเอกชาติชายมีที่ทาง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่นักการเมืองต่างจังหวัดและนักการเมืองที่เป็นตัวแทนฝั่งธุรกิจมีบทบาทมากขึ้น เช่นเดียวกัน เป็นช่วงที่ระบบประกันสังคมก้าวหน้าและมี พ.ร.บ.ประกันสังคมออกมาได้

จนมาถึงปี 2543 ในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2540 การเข้ามาของพรรคไทยรักไทย เป็นจุดที่น่าสนใจมาก เพราะมีการก้าวกระโดดของระบบสวัสดิการคือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของประเทศไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาที่ต่างชาติชื่นชม นโยบายเรียนฟรี นโยบายอุดหนุนภาคการเกษตรอย่างจริงจัง

หากเรามองว่าในช่วงพลเอกชาติชายจนถึงช่วงไทยรักไทยเกิดอะไรขึ้น จะเห็นว่ามีการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายด้านสวัสดิการ รายจ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 จนถึงช่วงปี 2011 เพิ่มขึ้นหลายร้อยล้านดอลล่าร์ เป็นการมีบทบาทอย่างมากของนโยบาย 30 บาท สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมาคืออัตราการเข้าเรียนมัธยมในเมืองไทย สิ่งที่เราเจอตอนนี้คือแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยมีสิทธิเข้าเรียนมัธยมได้ อันนี้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่เกิน 30 ปีนี้เท่านั้น

ทั้งหมดนี้ผมอยากจะชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะช่วงที่เป็นประชาธิปไตย มันมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาประเทศ สวัสดิการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันทำให้ความเหลื่อมล้ำเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ผมจะแยกเวลา 2 ช่วงคือช่วง 2524-2535 กับช่วง 2535-2556 ช่วงแรกเป็นช่วงของพลเอกเปรม ส่วนช่วงที่ 2 เป็นช่วงของพลเอกชาติชายจนถึงพรรคไทยรักไทย

2 ช่วงนี้เป็นช่วงที่ถ้าเราไปดูเรื่องความเหลื่อมล้ำ จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้าม ช่วงพลเอกเปรมเป็นช่วงที่ความเหลื่อมล้ำในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ช่วงหลังจากนั้นเป็นช่วงที่ความเหลื่อมล้ำลดลง ถามว่าอะไรที่ทำให้มันเพิ่มขึ้นและลดลง ยิ่งน่าสนใจ เพราะว่าปัจจัยที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเพิ่มขึ้นก่อนช่วงเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย พอหลังช่วงเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง

ปัจจัยเหล่านี้ประกอบด้วยการศึกษา ช่วงที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ถ้าดูเรื่องการศึกษาจะพบว่ามันทำให้คนห่างกันเพราะคนที่มีการศึกษาสูงไปได้ห่างจากคนที่มีการศึกษาน้อย ปัจจัยต่อมาคือการอยู่ในชนบท คนที่อยู่ในชนบททำให้ถูกคนในเมืองทิ้งห่างออกไป และปัจจัยสุดท้ายคือการอยู่ในภาคเกษตรก็ทำให้คนห่างกันในด้านฐานะทางเศรษฐกิจ พอช่วงปี 2535-2556 สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม การศึกษาทำให้คนใกล้กันมากขึ้น เป็นเพราะว่าการศึกษามีความต่างกันลดลงระหว่างคนที่มีฐานะดีกับคนที่มีฐานะไม่ดี การอยู่ในภาคชนบทและภาคเกษตรก็เช่นกัน กลับเป็นตัวที่ทำให้คนใกล้กัน ตรงนี้น่าสนใจเพราะมันเชื่อมโยงโดยตรงกับการมีสวัสดิการตั้งแต่ช่วงยุค 2530 จนถึงหลังยุคไทยรักไทยเป็นต้นมา

สิ่งหนึ่งที่บอกได้โดยตรงว่าเป็นความสำเร็จนโยบายสวัสดิการที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประชาธิปไตยก็คือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค สิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยรู้คือ ถ้าอ่านงานวิชาการของต่างประเทศ ผมบอกได้เลยว่าประเทศไทยไม่ใช่เคสตัวอย่างที่ดี ยกเว้นเรื่องเดียวคือนโยบาย 30 บาท ทำไมถึงถูกหยิบขึ้นมาเป็นกรณีตัวอย่าง เพราะพบว่า 30 บาทมีผลที่น่าทึ่ง มีนักวิชาการจากเอ็มไอทีนำอัตราการตายของทารกมาศึกษา พบว่า 30 บาทแทบจะเปลี่ยนอัตราการตายของทารกไปโดยสิ้นเชิง ใช้เวลาแค่ปีเดียวเท่านั้น ผู้หญิงอายุประมาณ 20-30 ปี รวมถึงเด็กอ่อน เข้าถึงโรงพยาบาลเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะในชนบทและเมือง ความแตกต่างด้านอัตราการตายระหว่างชนบทและเมืองหายไป อัตราการตายของทารกหลังจากมี 30 บาทลดลงไปร้อยละ 13 และภายใน 5 ปี ลดจาก 15 ต่อ 1,000 เหลือแค่ 2 ต่อ 1,000

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็น่าสนใจว่า เวลาเจอข้อถกเถียงในประเทศมักจะถูกโจมตีว่าเราไม่มีเงินพอจะทำเรื่องนี้ได้หรือทำให้คนจนใช้ชีวิตแบบไม่ดูแลสุขภาพ ประเด็นถกเถียงเหล่านี้จะไม่เจอในต่างประเทศ ถ้าถกเถียงในวงวิชาการในต่างประเทศก็ไม่เจอเหมือนกัน

พอมาถึงตรงนี้ ผมเน้นว่าประชาธิปไตยสร้างความเป็นไปได้ให้สวัสดิการก้าวหน้า อย่างไรก็ดี ผมก็มีข้อที่เป็นปัญหาและความท้าทายให้ช่วยกันคิด พัฒนาการทางการเมืองกับสวัสดิการยังมีเงื่อนที่เราต้องคลายกันต่อไป อยู่ 4 ประเด็น

เราอาจมองภาพว่าประชาธิปไตยผลักให้ระบบสวัสดิการขยายตัว แต่เรายังมีปัจจัยที่ขาดหายไป ปัจจัยแรกที่หายไปและเป็นปัจจัยที่มีบทบาทต่อการพัฒนาสวัสดิการทั่วโลกก็คือบทบาทของแรงงานและพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย เรายังไม่มีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่เข้มแข็ง ไม่มีกลไกแรงงานที่สามารถรวมตัวกันได้อย่างกว้างขวาง สองเรื่องนี้ทำให้ลักษณะของสวัสดิการไทยยังไม่ถูกดันอย่างเป็นระบบเท่าไหร่ ยังมีความเหลื่อมเยอะว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไรกันแน่ ความคิดเบื้องหลังสวัสดิการยังกระจัดกระจายเพราะยังไม่มีพรรคการเมืองที่หยิบเรื่องนี้มาถกกันอย่างจริงจังว่าสุดท้ายแล้วอยากได้ระบบอะไร มันจึงมีระบบสวัสดิการแบบไทยที่ซ้อนกัน

ปัจจัยที่ 2 เวลาเรามองนโยบายสวัสดิการไทย เรายังหนีไม่พ้นจากระบบการเมืองที่เรียกว่าศักดินาราชูปถัมภ์ มันเป็นระบบที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองมองว่าอำนาจทางการเมืองเป็นของตัวเอง ทำอะไรไปก็เหมือนว่าเขาให้กับชาวบ้านเอง ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของเขา อำนาจการเมืองไม่ใช่ของประชาชนอยู่แล้ว เรายังหนีไม่ค่อยพ้นวิธีคิดเหล่านี้เท่าไหร่ ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยหรือก่อนหน้านั้น ยังมีความคิดเรื่องสวัสดิการแบบนี้ฝังอยู่ นักการเมืองทำอะไรให้ก็มองว่าเป็นนโยบายของเขา ชาวบ้านก็ต้องรู้สึกว่าเป็นบุญคุณไปด้วย อันนี้ไม่ใช่วิธีคิดที่ทำให้ระบบสวัสดิการเป็นสิทธิ แต่เป็นการให้แบบต่างตอบแทน ควรเป็นเรื่องที่เราจะมองต่อไปว่าถ้าจะขยับจากสวัสดิการที่ผูกกับอิทธิพลของศักดินาราชูปถัมภ์ ไปสู่สวัสดิการที่เรามองเป็นสิทธิจริงๆ เราต้องทำอย่างไร

ปัจจัยต่อมาคือเวลาพูดเรื่องสวัสดิการยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนชั้นกลางระดับบน พอไม่มีตรงนี้มันจึงค่อนข้างยาก เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้มองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการรัฐ เมื่อรัฐบาลทำอะไรก็มักจะมีแรงเสียดทาน

และข้อสุดท้ายคือตอนนี้ประชาธิปไตยหยุดชะงัก ซึ่งประชาธิปไตยช่วยให้สวัสดิการก้าวหน้า แต่เราก็ไม่ได้อยู่แบบนั้นมานานมากแล้ว เรากำลังอยู่ในมรดกของ คสช. ที่เรายังไม่รู้จะคลี่คลายยังไง ไม่ใช่ว่ามีเลือกตั้งแล้วทุกอย่างจะคลี่คลาย เพราะมันมีล็อกอยู่เยอะมาก ชวนให้เราคิดว่าไม่ใช่แค่มีเลือกตั้ง แต่ต้องคิดว่าเราจะคลายเงื่อนปมทั้งหลายที่ คสช. ทิ้งเอาไว้อย่างไรด้วย

 

ชีวิตคนจนใต้อำนาจ คสช.

นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค

แหม่มเป็นตัวแทนจากสลัมสี่ภาคและเป็นคนที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2533 จากการถูกไล่ที่ อดีตเป็นชาวบ้านที่อยู่ในสลัม ต้องทำงานดูแลแม่ที่พิการ พ่อก็เป็นช่างไม้ เรียนจบ ม.3 ก็ออกมาทำงานเลย ชีวิตไม่ได้คิดเรื่องคนอื่นเลยจนมาโดนไล่ที่ ถึงได้รู้ว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ไม่ใช่เราคนเดียวที่ยากจน จนปี 2553 ถึงมีที่เป็นของตัวเอง มีโฉนดของตัวเอง เนื้อที่ 16.9 ตารางวา ถึงจะไม่มากแต่ก็เป็นที่ซุกหัวนอนที่ดูแลครอบครัวได้

ในยุคที่ผ่านมา ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล เราไม่เคยเชื่อว่าจะแก้ปัญหาเราได้ เพราะว่าต่อสู้มาตลอด ไม่เคยมีคำพูดที่จะแก้ปัญหาได้จริง เพราะถ้าแก้ได้ปัญหาคงไม่หมักหมมมาจนทุกวันนี้ ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้างมาตลอด จนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีฮีโร่ขี่ม้าขาวมาช่วย ก็รู้สึกว่าฉันปลื้ม เพราะฉันชอบทหาร ชอบคนในเครื่องแบบ อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัว พูดเลย คิดว่าคงจะดีขึ้นนะ

แต่ 4 ที่ผ่านมามันทำให้เราเปรียบเทียบได้เลยกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะสิ่งที่รัฐบาลที่มาแบบไม่ชอบธรรม กฎหมายที่เขาใช้แทนที่จะเป็นประโยชน์กับคนยากคนจนกลับบังคับให้เราดูต้อยต่ำลงไปอีก เพราะเราถูกละเมิดสิทธิ์เพิ่มขึ้นจากโครงการที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเคยคิดไว้ แต่ไม่สามารถทำได้เพราะกลัวเสียคะแนนเสียง กลัวกระทบกับพรรคการเมืองที่ตนสังกัด พอมาในยุครัฐบาลนี้ เขามีมาตรา 44 สามารถบันดาลอะไรก็ได้ ทำให้โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งทำไม่ได้ แต่รัฐบาลนี้ทำได้ บังคับเวนคืนที่ดิน ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ เกิดโครงการขนาดใหญ่ขึ้น เช่น รถไฟฟ้ารางคู่ รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รถไฟความเร็วสูง การจัดการน้ำ อีกเรื่องคือการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย 50 เขตในกรุงเทพมหานคร ก็มาจากการใช้กฎหมายเฉพาะบังคับใช้

สิ่งที่คนจนในชุมชนแออัดได้รับก็คือ เราก็เป็นส่วนหนึ่งของเมือง พอมีการประกาศ ที่ดินก็กลายเป็นสินค้าทันที เกิดการไล่ที่ โดนไล่รื้อ คนจนที่เคยมีบ้านอยู่ในชุมชนแออัด ถึงจะซ่อมซ่อ เป็นแหล่งเสื่อมโทรมที่สังคมรังเกียจ เราถูกตีตราไปแล้วว่าเป็นคนไม่ดี เป็นแหล่งก่ออาชญากรรม แหล่งยาเสพติด เป็นสิ่งที่เขาพูดใส่เราทุกวัน แต่เขาไม่ได้มองว่าพวกเราเป็นแรงงานสำคัญที่สร้างเมือง เป็นทุนขนาดใหญ่ที่ทำให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มั่งมีศรีสุขจนทุกวันนี้ ถ้าไม่มีคนจน ถามว่าพวกเขาจะไปหากินกับใคร

กลายเป็นว่าแผนพัฒนา 20 ปี คนร่างยุทธศาสตร์เป็นพวกเต่าล้านปี รู้สึกว่ามันไม่ก้าวหน้า แต่กลับถอยหลังไปอีก เพราะตั้งแต่เกิดเราก็เห็นการกดขี่เกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ที่ไหนมีความเจริญมากเท่าไหร่ การกดขี่ก็มีมากขึ้นเท่านั้น การไล่หาบเร่แผงลอยซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนจนเมืองกลับถูกไม่ให้ค้าขาย เป็นทุนขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ เรารู้สึกว่ายุทธศาสตร์ชาติที่บอกว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน ให้เราเข้าถึงที่อยู่อาศัย มันเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อนโยบายต่างๆ มีผลกับเราทั้งหมด ที่ดินก็มีราคาแพง เราไม่สามารถเข้าถึงที่ดินได้ ความเจริญที่เขาสร้างขึ้นแค่ปรนเปรอคน 20 ล้านคนในเมือง

กลายเป็นเอางบประมาณไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ จัดสวัสดิการแบบไม่เคยถามพวกเราว่าใช้ได้หรือเปล่า จากลงทะเบียนคนจนมาเป็นบัตรสวัสดิการคนจน ไม่เคยถามเราว่ามันใช้ได้มั้ย บางคนที่ได้ประโยชน์ก็ได้แบบถ้วนหน้า เพราะบางครอบครัวได้ถึง 5 ใบ เงินเป็นกอบเป็นกำ บางครอบครัวไม่ได้สักใบ การที่รัฐคิดแบบเขา ไม่ได้มีส่วนร่วมของประชาชนทำให้เราเจ็บปวดมากกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะถ้าเราไม่พอใจ เราก็ไม่เลือกได้ แต่นี่เราไม่ชอบ เราเลือกไม่ได้ เราถูกบังคับให้ต้องยอมรับ

ที่ออกมาพูดวันนี้เพราะว่า 4 ปีที่ผ่านมาการถูกกดขี่เพิ่มขึ้น นโยบายต่างๆ หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่เปิดโอกาสให้เราลืมตาอ้าปากได้ ก็เลยคิดกันแบบชาวบ้านว่าถ้าคนจนหมดไป แล้วคนชั้นกลางหรือคนชั้นสูงจะอยู่กันอย่างไร ในเมื่อไม่มีเราให้เขาขูดรีด ไม่มีเราเป็นเครื่องมือให้เขาเขียนนโยบายต่างๆ อ้างคนจนเป็นหลัก

การที่เขาเอานโยบายมาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ทำไมไม่เอามากระจายไปทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น ระบบสาธารณูปโภค ถ้าทุกที่สบายหมด คนก็ไม่ต้องเข้าเมือง คนก็อยากทำมาหากินที่บ้านเขา คนสลัมใช้ไฟฟ้ายูนิตละ 10 บาท ไม่มีโอกาสมีมิเตอร์ไฟ มีมาตรน้ำเป็นของตัวเอง ต้องใช้มาตรเดียวแล้วต่อพ่วงกันทั้งชุมชน ไปขอก็บอกว่าคุณไม่มีบ้านเลขที่ มีบ้านเลขที่ก็เป็นบ้านเลขที่ชั่วคราว ยังเป็นประชาชนชั้น 2 ของประเทศอยู่เลย ทั้งที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ นี่เป็นสิ่งที่เรารู้สึกถูกกระทำมาโดยตลอด

“รัฐสวัสดิการคือทุกคนมีสิทธิที่จะได้ใช้ มีสิทธิเป็นเจ้าของ มีสิทธิที่จะพูดถึง ไม่ใช่ให้ลงทะเบียนคนจน ถูกกาหน้าผากไว้เลยว่าเป็นคนจน นี่คือการแบ่งคนออกเป็นชนชั้น”

ด้านการศึกษาเราก็เข้าไม่ถึง บอกว่าฟรี ก็ฟรีไม่จริง พวกแหม่มได้เรียนจบแค่ ม.3 ก็ถือว่าบุญแล้ว จะเรียนต่อก็คงไม่มีโอกาส เพราะค่าใช้จ่ายในโรงเรียนสูง แล้วยังมีการเลือกนักเรียน เลือกว่าเป็นลูกใคร มีสตางค์ค่าแป๊ะเจี๊ยะหรือเปล่า

เราคนจนพยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ สังเกตดูนะคะ อย่างโครงการบ้านมั่นคง คนจนในชุมชนแออัดพยายามขอใช้ที่ดินของรัฐทำที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัมสี่ภาคเป็นองค์กรชาวบ้านที่ผลักดันให้มีการใช้ที่ดินรถไฟแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ซึ่งรถไฟหวงที่ดินมาก แต่ไล่ไม่ได้เพราะมีชุมชนแออัด เราก็พยายามอยู่อย่างถูกกฎหมาย จนมีมติบอร์ดปี 2543 ออกมา ให้มีการเช่าที่ดิน มีการสำรวจ 61 ชุมชน ไม่ใช่เช่าง่ายๆ นะคะ กว่าจะได้แต่ละแปลง ไปชุมนุมที่กระทรวงคมนาคม 9 วัน 9 คืน เพื่อจะได้เช่าที่ดิน เส้นรัชดานี่ที่ดินรถไฟหมดเลยนะคะ สังเกตดูว่าใครเช่า ธุรกิจใหญ่ๆ ทั้งนั้น คนจนมีโอกาสยากมาก ตอนนี้ก็กำลังไล่ที่แถวคลองตัน เพราะอยู่ในมติ 61 ชุมชนแต่ไม่ยอมให้เช่าสักที เขาบอกว่าเป็นทำเลทอง

กฎหมายเหล่านั้นให้ประโยชน์กับคนแค่กลุ่มเดียวเท่านั้น แต่คนส่วนใหญ่ของสังคมไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายที่คุณใช้เลย กลายเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน การแสดงออกก็ทำไม่ได้ จะเรียกร้องหรือคิดต่างก็ทำไม่ได้ ต่อไปจะตดต้องขออนุญาตหรือเปล่าก็ไม่รู้

เราเป็นคนในชุมชนแออัด อย่ามองเราเป็นส่วนที่ทำให้เมืองไม่เจริญ เราเป็นคนสร้างเมืองเหมือนกัน เมืองจะเจริญได้อย่างไร ถ้าปราศจากคนจน พูดว่าพวกนี้มันค้ายา ก็แค่ตัวเล็กตัวน้อย คนจนที่ไหนจะเอารถไปขนยาเป็นล็อตๆ เข้ามาในชุมชนได้ เราไม่มีทางเลือก ไปขายของก็บอกว่าผิดกฎหมาย ไม่ให้ขาย ทำอาชีพอะไรก็ไม่ได้ พอเราทำผิดหน่อยกลายเป็นตัวอย่างว่าคนในชุมชนแออัดค้ายา แล้วจะให้เราไปทำอะไรกิน ค้าขายก็ผิด

ทางออกก็คือไม่ควรเอาเงินไปละลายแม่น้ำ แต่เอามาอุดหนุนการศึกษา ระบบรักษาพยาบาล บำนาญชราภาพ ซึ่งเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว อายุ 60 ปีขึ้นไปควรมีบำนาญให้ เพราะเขาก็เสียภาษี

มันใช่เหรอกับ 4 ปีที่ผ่านมา รู้สึกผิดหวังกับคนในเครื่องแบบ อยากให้มีการเลือกตั้ง ล่าสุดก็ไปร่วมชุมนุมกับพี-มูฟ เครือข่ายสลัมสี่ภาคก็เป็น 1 ใน 6 เครือข่ายที่ร่วมกับพี-มูฟที่ไปผลักดันการแก้ปัญหาที่ดิน การใช้ที่ดินรัฐแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ขนาดต่างชาติยังใช้ได้ ให้เขาเช่าตั้ง 99 ปี เราจะเช่าแค่ 30 ปียากเย็นเหลือเกิน เราต้องสู้กับเขา เพราะว่าเราไม่มีทางเลือก ไม่มีเงินไปซื้อขนาดนั้น ถ้าให้ซื้อก็ออกไปอยู่นอกเมือง ได้ก็เป็นที่ศักยภาพต่ำอีก ไม่มีเงินถม นี่เป็นสิ่งที่เราเจอตลอด

รัฐสวัสดิการคือทุกคนมีสิทธิที่จะได้ใช้ มีสิทธิเป็นเจ้าของ มีสิทธิที่จะพูดถึง ไม่ใช่ให้ลงทะเบียนคนจน ถูกกาหน้าผากไว้เลยว่าเป็นคนจน นี่คือการแบ่งคนออกเป็นชนชั้น แล้วการให้อำนาจข้าราชการอีกอย่างหนึ่ง ทุกวันนี้เหมือนเทวดาเลย ไปขอความช่วยเหลือบอกให้ไปศูนย์ดำรงธรรม แหม่มไปทุกศูนย์แล้ว ชาวบ้านถูกไล่ที่ ศูนย์ดำรงธรรมเหมือนเสือ แต่ไม่มีลาย แก้อะไรไม่ได้สักอย่าง

จะเห็นว่าการต่อสู้ไม่เคยหยุดเลย ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง คุณบอกว่าคุณเข้ามาชอบธรรม แต่คุณไม่เคยใช้อำนาจให้ประชาชนคนยากจนได้ประโยชน์ แต่คนที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มทุนที่พวกคุณรู้จักกัน นี่คือระบบพรรคพวก เราไม่อยากเห็นรัฐบาลแบบนี้ มีทหารคนหนึ่งบอกว่าเดี๋ยวเขาก็เลือกตั้งแล้ว เดือนกุมภาฯ เราก็เลยถามว่า พ.ศ. เท่าไหร่คะ เขาก็อ้ำๆ อึ้งๆ นะ

แหม่มคิดว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกที่ดี อย่างน้อยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังฟังเสียงประชาชน ประเทศชาติจะเดินหน้าได้ต้องมีประชาธิปไตย เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดประเทศ กำหนดตัวเขา คุณเป็น คสช. คุณมากำหนดชีวิตคนอื่นไม่ได้หรอก เพราะคุณไม่ได้รู้ดีทุกเรื่อง ก็ขอฝากไว้ในฐานะที่เป็นตัวแทนคนจนเมืองที่ผ่านความจนมาแล้ว ตอนนี้ก็ยังจนอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ลำบากเหมือนเมื่อก่อน

 

รัฐราชการกำลังทำลายสวัสดิการสุขภาพของประชาชน

นิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

เขาชวนผมมาพูดเรื่องสวัสดิการสังคม สุขภาพ และชีวิตคนจน ผมอยากใช้คำว่า รัฐสวัสดิการ เพราะมีนัยของคำที่บอกว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดสวัสดิการให้กับประชาชน เมื่อเป็นหน้าที่ของรัฐ มันจะกลายเป็นสิทธิของประชาชน พวกเราชอบใช้คำนี้เพื่อเป็นธงว่าเราขับเคลื่อนเรื่องนี้เพราะเป็นสิทธิที่เราจะได้รับบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐ แล้วมันจะไปกำหนดหน้าที่ให้รัฐต้องดูแล พัฒนา สร้างระบบต่างๆ ที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

ประเด็นที่อยากจะพูดต่อ ทุกวันนี้ความยากลำบากที่เราเผชิญเพราะเรากำลังอยู่ในรัฐราชการ ซึ่งสร้างความเสียหายมาก ถ้าโฟกัสด้านสวัสดิการสุขภาพ การมี คสช. ซึ่งก็คือราชการ แล้วเขาไม่รู้เรื่องอื่นนอกจากเรื่องทหาร เมื่อเขามาอยู่ตรงนี้ก็ต้องใช้ราชการส่วนอื่นมาบริหารจัดการ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอันดับแรกคือมันทำลายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เขาถูกระเบียบปฏิบัติของราชการสอนมาแบบนั้น จนกลายเป็นวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ราชการเป็นคนสั่ง ไม่คุ้นชินกับกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม ระบบราชการเป็นระบบที่ไม่สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชน

เรื่องหลักประกันสุขภาพตลอด 17 ปี มันไปข้างหน้าได้ มันเป็นความสำเร็จของประเทศ ที่เป็นแบบนี้ได้เพราะกระบวนการมีส่วนร่วม ดังนั้น เกือบ 4 ปีนี้ สิ่งที่ คสช. ทำมากที่สุดกับหลักประกันสุขภาพคือการทำลายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เข้ามาทำให้ระบบนี้พัฒนายิ่งขึ้น

ทำลายยังไง คสช. มาถึง ไม่รู้เรื่องระบบสุขภาพ ก็ต้องพึ่งพิงข้าราชการ พึ่งพิงกลไกกระทรวงสาธารณสุข พึ่งพึงแพทย์พาณิชย์จำนวนหนึ่งที่พยายามแสวงประโยชน์จากความเจ็บป่วยของคนไทย มันจึงทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมถูกทำลาย กลไกต่างๆ ตั้งแต่ระดับตำบลขึ้นมาหยุดชะงักหมด แล้วเวลาที่ระบบราชการเข้ามาดูแลก็มาพร้อมวิธีคิดแบบราชการ ถ้าไม่มีการรัฐประหาร ไม่มี คสช. เกิดขึ้น รัฐราชการจะไม่มีสิทธิ์มาเผยอหน้าแบบนี้ เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมยังคงเกิดขึ้น นี่คือความเสียหาย

ก่อนหน้านี้พวกเราเคยพูดเรื่องการควบคุมโรคที่เกิดจากคนสู่คน ถ้าเราจะควบคุมโรค เราก็ต้องควบคุมคนทุกคน โดยกระบวนการมีส่วนร่วม ราชการจำนวนหนึ่งบอกว่า งบนี้ใช้ได้เฉพาะคนไทยเท่านั้น ไปใช้กับแรงงานข้ามชาติที่มาอยู่ในเมืองไทยไม่ได้ แต่พอมีกระบวนการมีส่วนร่วม มีหลายองค์กรเข้ามาช่วยกันคิดบอกว่า ก็คนมันอยู่ร่วมกัน เวลาเชื้อโรคจะติดต่อ มันไม่รู้หรอกว่าคนไหนคนไทย คนไหนคนต่างชาติ ที่ผ่านมาระบบสามารถจัดการดูแลคนข้ามชาติเหล่านี้ได้ แต่พอเป็นรัฐราชการที่ไม่ฟังการมีส่วนร่วม คุณทำไม่ได้

ผมคิดว่านี่คือความเสียหายที่พวกเราต้องช่วยกันคิดว่าจะทนให้ คสช. บริหารประเทศแบบรัฐราชการแบบนี้ต่อไปหรือไม่ หรือต้องลุกขึ้นมาบอกว่าต้องเลือกตั้ง ต้องลดทอนอำนาจทหาร ต้องลดทอนงบประมาณที่ใช้กับกระทรวงกลาโหม เวลาพูดเรื่องสุขภาพไม่ได้มองแค่เรื่องสุขภาพ แต่การเมืองมันมาทำลายระบบสุขภาพตรงนี้

ประเด็นถัดมาคือระบบหลักประกันสุขภาพที่ผ่านมา มันดีขึ้นมากภายหลังมีบัตรทอง แต่ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพอยู่ 3 ระบบคือสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาท ซึ่งระบบแบบนี้สร้างความเหลื่อมล้ำและสิทธิการรักษาที่ไม่เท่ากัน ก่อนหน้าที่เราจะอยู่ภายใต้รัฐราชการแบบนี้ กระบวนการมีส่วนร่วมเรียกร้องให้ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ การจะลดความเหลื่อมล้ำได้ก็ต้องนำไปสู่ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว

ก่อนที่ คสช. จะขึ้นมาหรือขึ้นมาแล้วบอกว่าจะปฏิรูปประเทศ ไปตั้งคณะกรรมการต่างๆ มากมาย การปฏิรูปประเทศด้านหนึ่งคือเรื่องสุขภาพ ปรากฏว่ายิ่งคิดเรื่องการปฏิรูป ยิ่งไปตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ ถ้าคุณบริหารประเทศด้วยระบบราชการ อาจารย์ธรพูดเมื่อสักครู่ว่า ข้าราชการเป็นกลุ่มเดียวที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากรัฐสวัสดิการ คนที่เป็นข้าราชการจะรู้หรือไม่ว่าเขาเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากความเหลื่อมล้ำ แล้วพอคุณมาเป็นคนบริหารประเทศ เราจะฝากความหวังในการลดความเหลื่อมล้ำจากคนกลุ่มนี้ได้หรือไม่

เวลาที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพพูดเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างระบบเดียว มาตรฐานเดียว กลุ่มคนที่ค้านเรื่องนี้มากที่สุดคือราชการ ถึงแม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพจะก้าวหน้าไปมาก แต่ถ้าเราทำให้ความเหลื่อมล้ำตรงนี้หายไป ทุกคนจะได้รับบริการสุขภาพที่ดีกว่านี้ ผมอยากยกตัวอย่างให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำที่ผมพูด รูปธรรมคืออะไร

ในระบบสุขภาพ มีคำว่าค่าเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่แต่ละระบบจ่าย ทราบหรือไม่ว่ากรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง คิดคำนวณการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ค่าราชการต่อคนและครอบครัวปีละกี่บาท ปีละ 12,000 บาทต่อคน ข้าราชการและครอบครัวมีประมาณ 4 ล้านคน งบประมาณด้านสุขภาพที่รัฐเตรียมไว้อยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท แล้วงบที่ให้แก่บัตรทอง ค่าเหมาจ่ายรายหัวที่จ่ายคน 49 ล้านคน ตอนนี้อยู่ประมาณ 3,900 บาท ห่างกัน 3 เท่า แล้วรัฐจ่ายสมทบเข้าประกันสังคม ประกันสังคมนำไปใช้ด้านการรักษาพยาบาล หารสาม เท่ากับรัฐจ่ายประมาณ 1,000 บาทต่อหัวสำหรับพี่น้องประกันสังคม

นี่คือรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดของความเหลื่อมล้ำ แล้วความเหลื่อมล้ำนี้ก็สร้างปัญหาตามไปถึงระบบพยาบาล โรงพยาบาลหลายแห่งต้องสต็อกยา 3 ก้อน เกิดความยุ่งยาก พวกเราก็รู้สึกว่าไม่มีความเป็นธรรมเวลาไปรับบริการ

ถ้าเราเอาทั้ง 3 ก้อนมารวมกัน เงินจำนวนนี้เป็นภาษีทั้งหมด ไม่ใช่เงินข้าราชการที่ควักมาเพื่อจ่ายตัวเอง แต่มีเงินของผู้ประกันตนอยู่ส่วนหนึ่ง ถ้าเราเกิดระบบเดียว นำงบประมาณมาบริหารจัดการให้เป็นก้อนเดียว ทุกคนได้ประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพมากขึ้น แต่สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นในยุคเผด็จการ ไม่เกิดขึ้นในยุคราชการที่มีหัวบนสุดคือทหาร

“ถ้ารัฐไม่มีเจตจำนงที่จะดูแลประชาชน ต่อให้มีเงินมากแค่ไหน เขาก็ไม่เอาเงินมาดูแลรัฐสวัสดิการ สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องเป็นคนเลือกรัฐ และต้องเลือกรัฐที่มีเจตจำนงที่จะจัดสวัสดิการเพื่อประชาชน... ถ้าเราไม่มีอำนาจ ก็ต้องลุกขึ้นมาเรียกคืนอำนาจของเรา ถ้าเราจะทำให้พวกเราทุกคนก้าวข้ามความยากจนเรื้อรัง เราต้องทำให้ประเทศนี้มีรัฐสวัสดิการ”

ถ้าเราจะไปข้างหน้า เราต้องลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้ ต้องทำให้เกิดระบบเดียวให้ได้ และอยากให้เป็นเป้าหมายของประชาชนทุกคนด้วย ผมอยากบอกว่ามันมีความเหลื่อมล้ำ รัฐมองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำ ที่สำคัญกว่านั้น คสช. กำลังมองว่ามันเป็นภาระของประเทศ เราได้ยินแกบ่นหลายครั้งว่าจะเอาเงินจากไหนมาจ่ายค่าบัตรทอง มันสะท้อนวิธีคิดว่าประชาชนเป็นภาระ สิ่งที่ต้องชี้คือถ้าเราทำให้คนในประเทศมีสุขภาพดี มันคือการลงทุนหรือเปล่าครับ

ถ้าเขายังอยู่ต่อแม้จะภายใต้เสื้อคลุมการเลือกตั้งก็ตาม ที่น่าห่วงคือเมื่อเขามองว่าประชาชนเป็นภาระ เขากลับไปสู่วิธีการเลือกรักษา เป็นไปได้หรือเปล่า พวกคุณไปขึ้นทะเบียนหรือยังว่าเป็นคนจนใน 11 ล้านคน ด้วยวิธีคิดที่ต้องการทำบิ๊กดาต้าเพื่อสแกนว่าใครมีรายได้เท่าไหร่ เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าไม่มีเงินซื้ออาวุธ อยากจะไปลดทอนอย่างอื่น ก็เป็นไปได้ว่าขอช่วยเฉพาะกลุ่ม เฉพาะคน แล้วทำได้ด้วย เพราะเราสู้เรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ ซึ่งเขียนว่ารัฐจะจัดการรักษาพยาบาลให้ฟรีก็แต่กับผู้ยากไร้เท่านั้น ถ้าเขายังอยู่และอยู่ต่อ มีวิธีคิดว่าประชาชนเป็นภาระ ขอดูแลสุขภาพเฉพาะกลุ่ม ใครจนก็จะรักษาให้ ใครไม่จนก็จ่ายเองหรือร่วมจ่าย

คนชั้นกลางต้องจ่ายค่ารักษาสุขภาพเอง แรกๆ ก็อาจรู้สึกว่าจ่ายได้ มีเงินเดือน น่าจะพอจ่ายได้ แต่เชื่อหรือเปล่าว่าในระบบแบบนี้คุณกลายเป็นคนจนเฉียบพลันได้ในทันที ถ้าคุณป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ไขมันอุดตัน ถ้าต้องจ่ายค่าเส้นเลือดเทียมที่เรียกว่าการทำบอลลูน เส้นละประมาณ 2 แสน ถ้าโชคไม่ดีต้องอุด 2 เส้น ผมถามว่ามีชนชั้นกลางกี่คนที่จ่ายได้ นี่คือโจทย์ที่เราต้องชี้ให้เห็นว่าถ้ารัฐไม่มีปัญญาและบริหารจัดการไม่ดี ปล่อยให้ราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแพงโดยไม่มีการควบคุม ปล่อยให้ราคายาพุ่งโดยไม่ทำอะไร บวกกับรัฐบอกว่าจะรักษาฟรีเฉพาะคนจนเท่านั้น คนชั้นกลางก็อยู่ไม่ได้ครับ นี่เป็นโจทย์ของชนชั้นกลางด้วยเหมือนกัน

ถ้าเราจะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างระบบบริการที่ดีและมีคุณภาพ ไม่ว่าคุณจะอยู่ชนชั้นไหน เรื่องสุขภาพคุณไม่มีปัญญาต่อรองราคาหรอก แต่ถ้าเราร่วมมือกัน ทำให้เป็นระบบเดียว มาตรฐานเดียว เราสู้กับทุนนิยมพวกนี้ได้

ระบบที่มองประชาชนเป็นภาระจะถูกทำลายได้ก็ต่อเมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตย ต่อเมื่อเราดึงกระบวนการมีส่วนร่วมกลับคืนมาได้ ผมอยากจะบอกว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นสมบัติชิ้นเดียวที่เกิดขึ้นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย มันเป็นผลพวงของการบริหารประเทศที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม มันจึงเป็นสิทธิของคนทุกคน ไม่ใช่นโยบายการสงเคราะห์ของรัฐบาล ถ้าจะรักษาระบบนี้ไว้และทำให้เดินไปข้างหน้าได้ก็ต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่

อีกเรื่องที่อยากจะชวนขยับขึ้นไปอีกคือเรากลายเป็นสังคมผู้สูงวัยแล้ว ตอนนี้เรามีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีมากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญ ณ ตอนนี้มีคนอยู่ 2 กลุ่มเท่านั้นที่อายุ 60 ปีแล้วรู้ว่าพรุ่งนี้ยังมีข้าวกินคือข้าราชการที่มีบำนาญกับคนงานประกันสังคมที่มีบำนาญน้อยนิด แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ยังมืดมนอยู่ ถ้า 60 ปีแล้วลูกหลานไม่เลี้ยง ออกจากงานแล้ว จะมีชีวิตอยู่ต่อยังไง จะมีข้าวกินมั้ย มีค่าน้ำ ค่าไฟมั้ย ผมอยากชวนมาสร้างหลักประกันด้านรายได้ ที่เรียกว่าบำนาญถ้วนหน้า

ประชาชนสร้างประวัติศาสตร์มาแล้วด้วยการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากผลพวงของรัฐธรรมนูญปี 2540 จากการเสนอกฎหมายโดยประชาชนในปี 2545 ก้าวต่อไปคือต้องลุกขึ้นมาสร้างหลักประกันด้านรายได้เมื่อสูงวัย แล้วเราต้องจัดการกับมายาคติ ต้องอาศัยนักเศรษฐศาสตร์มาช่วยกันคิดว่าอย่าไปเชื่อว่าประเทศนี้ไม่มีเงิน ประเทศนี้มีรายได้จากภาษีปีละ 2 ล้านล้านบาท ถ้าเราเซ็ตระบบจัดการงบประมาณแผ่นดินที่เป็นธรรม สร้างระบบการมีส่วนร่วมให้ประชาชนมีสิทธิที่จะบอกว่าภาษีควรนำไปใช้อะไรบ้าง ตอนนี้รัฐบาลจ่ายเบี้ยยังชีพต่อปีประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ถ้าเราบอกว่าต้องเกิดบำนาญที่อยู่บนเส้นความยากจน อาจต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นอีกจาก 5 หมื่นล้านเป็นแสนล้านต่อปี

ถามว่าประเทศเรามีเงินมากพอหรือเปล่า นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่ามีมากพอ ถ้าเราไม่ใช้กับกลาโหม กับเรื่องความมั่นคงมากเกินไป จัดสรรมันอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่งตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพ เราใช้เงินปีละ 1.5 แสนล้าน อัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มก็ยังเท่าเดิม เราก็ยังมีเงินมาบริหารจัดการ อัตราการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ได้เพิ่มขึ้น บางช่วงมีการเพิ่มลดหย่อนขึ้นไปอีก เราก็มีเงินมาบริหารจัดการสวัสดิการสุขภาพ เพราะฉะนั้นเรามีงบประมาณมากพอ

สิ่งสำคัญคือเราจะกำหนดกฎเกณฑ์ให้รัฐมีเจตจำนงที่จะดูแลประชาชนหรือเปล่าเท่านั้น เพราะถ้ารัฐไม่มีเจตจำนงที่จะดูแลประชาชน ต่อให้มีเงินมากแค่ไหน เขาก็ไม่เอาเงินมาดูแลรัฐสวัสดิการ สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องเป็นคนเลือกรัฐ และต้องเลือกรัฐที่มีเจตจำนงที่จะจัดสวัสดิการเพื่อประชาชน ต้องขยายวิธีคิดนี้ไปสู่พี่น้องของเราว่าเราต้องเป็นคนเลือกรัฐ ถ้าเราไม่มีอำนาจ ก็ต้องลุกขึ้นมาเรียกคืนอำนาจของเรา ถ้าเราจะทำให้พวกเราทุกคนก้าวข้ามความยากจนเรื้อรัง เราต้องทำให้ประเทศนี้มีรัฐสวัสดิการ

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท