Skip to main content
sharethis

ฉายออนไลน์แล้ววันนี้! "MISSÄ MARJAT" หรือ "เบอร์รีอยู่ไหน?" สารคดีตีแผ่ชีวิตและการต่อสู้ของแรงงานไทยที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์ แล้วถูกเอารัดเอาเปรียบจนต้องลุกขึ้นสู้ทุกทาง เผยแพร่เป็นครั้งแรกในช่องทางออนไลน์ โดยเวอร์ชันก่อนหน้านี้เคยฉายตามมหาวิทยาลัยที่เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และรัฐสภาฟินแลนด์มาแล้ว

"MISSÄ_MARJAT" สารคดีตีแผ่ชีวิตและการต่อสู้ของแรงงานไทย 50 คน ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์ แล้วถูกเอารัดเอาเปรียบ เผยแพร่เป็นครั้งแรกในช่องทางออนไลน์ [คลิกเพื่อรับชมสารคดี]

สารคดี  "MISSÄ_MARJAT" ฉบับเผยแพร่ออนไลน์ (ที่มา: YouTube/Act4Dem)

สารคดีดังกล่าวซึ่งมีผู้กำกับคือ "จรรยา ยิ้มประเสริฐ" นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานและประชาธิปไตย ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ประเทศฟินแลนด์ เผยแพร่เรื่องราวของการต่อสู้ของคนงานไทย 50 คน ที่ถูกบริษัทนายหน้าพามาเก็บเบอร์รีป่าที่ฟินแลนด์ในปี 2556

อย่างไรก็ตามเมื่อพวกเขาเผชิญกับสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายแรงงานไม่ให้ความคุ้มครองพวกเขา การฟ้องร้องข้อหาถูกค้ามนุษย์ของพวกเขาถูกปฏิเสธ ทำให้พวกเขาต้องกลับบ้านเช่นเดียวกับคนงานที่ผ่านมาจำนวนมาก เพื่อไปเผชิญหน้ากับภาวะสูญญากาศของความยุติธรรมในประเทศไทย และไม่ว่าจะอย่างไรพวกเขาไม่ยอมแพ้ พวกเขายังตั้งมั่นในหัวใจว่าจะต้องต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เพื่อหยุดยั้งขบวนการค้าทาสคนงานหลายพันคน ที่ถูกชักชวนมาเก็บเบอร์รีป่าที่ฟินแลนด์

โดยสารคดี "MISSÄ MARJAT" นำเสนอ 3 ภาษาคือภาษาไทย ภาษาฟินน์ และภาษาอังกฤษ ความยาว 50 นาที สำหรับสารคดีเวอร์ชันนี้เป็นเวอร์ชันตัดต่อและปรับปรุงใหม่ล่าสุดโดยผู้กำกับ โดยก่อนหน้านี้สารคดีดังกล่าวเคยนำไปฉายให้คนงานไทยที่เกาหลีใต้เมื่อปี 2559 ที่ Sungkonghoe University กรุงโซล ฉายที่ Harvard University, Colby College and Siena College ที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนมีนาคม 2560 และฉายที่รัฐสภาฟินแลนด์เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2560

ตัวอย่างภาพยนต์สารคดี "MISSÄ MARJAT"

50 คนงานเก็บเบอร์รีชาวไทยที่แคมป์ Saarijarvi ประเทศฟินแลนด์เมื่อเดือนกันยายนปี 2556 ตัดสินใจฟ้องบริษัทเก็บเบอร์รี Ber-ex หลังประสบสภาพการจ้างงานย่ำแย่และถูกบริษัทกดดันให้เดินทางกลับประเทศก่อนกำหนด (แฟ้มภาพ)

ภาพเมื่อเดือนกันยายนปี 2556 บริษัทเก็บเบอร์รีแจ้งตำรวจให้มาไล่คนงานออกจากแคมป์ที่พัก แต่เมื่อตำรวจมาถึงได้แจ้งคนงานเก็บเบอร์รีว่าไม่สามารถบังคับให้คนงานออกจากแคมป์ได้ คนงานต้องออกด้วยความสมัครใจ โดยหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คนงานเก็บเบอร์รีกลุ่มนี้ตัดสินใจฟ้องร้องคดีต่อบริษัท Ber-ex (แฟ้มภาพ)

ทั้งนี้ทุกๆ ปีในประเทศไทยจะมีบริษัทค้าแรงงานจัดหาเกษตรกร 3,000 คน เดินทางไปเก็บเบอร์รี่ป่าที่ฟินแลนด์ โดยพวกเขาต้องเสียจ่ายค่าใช้จ่ายทุกอย่างในการทำงาน 70 วันที่ฟินแลนด์ ครอบครัวของพวกเขาต้องหาทุกช่องทางเพื่อกู้เงินเป็นค่าใช้จ่ายถึง 160,000 บาท โดยส่วนมากเป็นเงินกู้นอกระบบ โดยคนงานที่ถูกพันธนาการด้วยหนี้เหล่านี้ ต้องเก็บเบอร์รีป่าอย่างน้อย 4,000 กิโลกรัม ให้กับอุตสาหกรรมเบอร์รี่ป่า เพื่อที่จะให้เหลือเงินเก็บกลับบ้าน

สำหรับรูปแบบการทำงานกับบริษัทเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์ จะไม่ใช่การจ่ายค่าจ้างประจำ แต่เป็นการใช้แรงงานตัวเองเก็บเบอร์รีให้ได้มากที่สุดในแต่ละวัน แล้วนำมาชั่งน้ำหนักขายกับบริษัท โดยผลไม้ป่าประเภทเบอร์รีในฟินแลนด์ที่นิยมเก็บมี 2 ชนิดหลักคือ ลิงงอนเบอร์รี (lingonberry) หรือที่คนเก็บเบอร์รีนิยมเรียกว่า “หมากแดง” และบลูเบอร์รี (blueberry) ที่คนเก็บเบอร์รีเรียกว่า “หมากดำ” โดยพืชทั้ง 2 ชนิดจะขึ้นเป็นพุ่มเรี่ยดิน คนงานจะต้องก้มตัวอยู่ตลอดเวลาในการเก็บผลไม้ และแบกน้ำหนักผลไม้ที่เก็บได้หลายกิโลกรัมเดินเข้าไปในป่า เนินเขา หรือพื้นที่ๆ คาดว่าจะมีผลไม้ดังกล่าวขึ้นอยู่ วันหนึ่งกินเวลา 12-15 ชั่วโมง จากนั้นรวบรวมผลผลิตมาชั่งน้ำหนักขายให้กับบริษัท ซึ่งเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อ โดยจะนำยอดขายมาหักหนี้ที่เกิดขึ้นจากการมาทำงาน ทั้งนี้คนงานเก็บเบอร์รีต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อออกไปตระเวนเก็บเบอร์รี และกลับมาที่แคมป์ในช่วงหัวค่ำถึงกลางดึก โดยมีเวลาพักผ่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมง

ส่วนคนงานไทยที่ถูกบริษัทนายหน้าพามาเก็บเบอร์รีป่าที่ฟินแลนด์ในปี 2556 นั้น พวกเขาต้องรอถึง 4 ปี ก่อนที่ในวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายนปี 2560 ศาลแขวงจังหวัด Kainuu ประเทศฟินแลนด์ ได้นัดไต่สวนคดีที่กลุ่มคนงานเก็บเบอร์รีชาวไทย 50 คน เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท Ber-ex ในคดีแพ่ง โดยเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยรวม 12 ล้านบาท หรือประมาณ 3 แสนยูโร ประกอบด้วยค่าจ้างค้างจ่ายผลไม้ และค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างไปทำงานเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ ทั้งนี้ฝ่ายโจทก์กล่าวหาว่า บริษัทเพราะไม่มีจริยธรรมทางธุรกิจและทำให้เกิดความเสียหายกับพวกเขา อย่างไรก็ในวันที่ 7 กรกฎาคมปีเดียวกัน ตามศาลแขวงได้ยกฟ้องคดีดังกล่าว โดยทนายของฝ่ายคนงานได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ

จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้กำกับสารคดีและเป็นผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของแรงงานไทยที่ไปทำงานเก็บเบอร์รีในฟินแลนด์กล่าวว่า สารคดี "MISSÄ MARJAT" ต้องการนำเสนอเสียงจากคนงาน 50 คน ให้พวกเขาได้นำเสนอปัญหา และเป็นพยานด้วยการเล่าเรื่อง ด้วยตัวของพวกเขาเอง และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเรื่องสิทธิแรงงาน โดยทั้งเธอและกลุ่มคนงานต่อสู้กับรัฐบาลฟินแลนด์มาโดยตลอด เพื่อให้ยอมรับการมีส่วนร่วมและการกำหนดนโยบายโดยคนงาน

ผู้กำกับสารคดีกล่าวถึงการปรับนโยบายของรัฐบาลฟินแลนด์ด้วยว่า ที่ผ่านมาหลังเกิดกรณีฟ้องร้องของคนงานไทย ทำให้หลังจากนั้น มีกรณีของคนงานเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์อีกกลุ่ม ที่เจอสภาพเงื่อนไขการทำงานแบบเดียวกัน ตัดสินใจฟ้องเอกชนในข้อหาค้ามนุษย์ แล้วศาลรับฟ้อง โดยศาลรีบจัดการคดีดังกล่าวภายในปีเดียว

อย่างไรก็ตามกรณีที่การฟ้องร้องของกลุ่ม 50 คนงานเก็บเบอร์รี ยังคงมีกระบวนการที่ยืดยาวนั้น ก็สะท้อนให้เห็นภาพรวมของสภาพการจ้างงานในอุตสาหกรรมเก็บเบอร์รีของฟินแลนด์ และมีภาวะที่รัฐบาลฟินแลนด์ต้องตัดสินใจว่าจะให้ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือจะเอาแต่ปกป้องอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกลไกของรัฐบาลฟินแลนด์เข้ามาเกี่ยวข้องในการพาคนงานจากต่างประเทศเข้ามาเก็บเบอร์รี ตั้งแต่การกำหนดโควตาให้บริษัทนำคนงานเข้าประเทศ ที่กระทรวงกิจการเศรษฐกิจและการจ้างงานของฟินแลนด์เป็นคนกำหนดโควตาให้บริษัท รวมไปถึงสถานทูตฟินแลนด์ในประเทศไทยก็อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทเอเยนต์จัดหาคนงาน อำนวยความสะดวกเรื่องทำวีซ่า เพื่อให้คนงานไทยเข้าประเทศ

ส่วนของกลไกราชการไทย ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ แรงงานก็ใช้เอกสารจากบริษัทเอเยนต์เพื่อที่จะสามารถขอกู้เงินได้จาก ธกส. รวมทั้งกระทรวงแรงงานเองก็เข้ามารับรองบริษัทจัดหางานเหล่านี้ ทำให้คนงานสามารถเดินทางออกนอกประเทศไปฟินแลนด์เพื่อไปทำงานเก็บเบอร์รีได้

อย่างไรก็ตามพอไปถึงฟินแลนด์ แทนที่จะได้สถานะคนงาน พอเข้าเมืองคนงานเก็บเบอร์รีกลับถูกประทับตราในหนังสือเดินทางว่าเป็น "นักท่องเที่ยวที่จ้างงานตนเอง" (self-employed tourist) หรือ "ผู้ประกอบการ" (entrepreneur) นอกจากนี้เมื่อเข้ามาทำงานก็ไม่มีกลไกคุ้มครองสิทธิแรงงาน อย่างกรณีคนงานเก็บเบอร์รีถูกละเมิด เมื่อคนงานพยายามใช้ช่องทางกฎหมายแรงงานคุ้มครอง มีการเจรจากับคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ฟินแลนด์กินเวลานับปี แต่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นกรณีพิพาทแรงงาน

"ในขณะที่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านคือสวีเดน ซึ่งมีอุตสาหกรรมเก็บเบอร์รีเช่นกัน ปัจจุบันนับตั้งแต่ปี 2553 มีการปรับปรุงสภาพการจ้างงาน โดยกำหนดให้ทุกบริษัททำสัญญาจ้างคนงาน ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายแรงงานสวีเดน ขณะที่ฟินแลนด์ยังไม่มีมาตรการเช่นนี้" จรรยากล่าว

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net