Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2561 อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในนาม คณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ห่วงใยสิทธเสรีภาพของประชาชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ยุติการดำเนินคดีประชาชนที่ร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่  22 พ.ค.2561 ที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 62 คน หนึ่งในนั้นปรากฏชื่อของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มอ.ด้วย ซึ่งมีประวัติทำงานด้านทรัพยากรท้องถิ่นร่วมกับชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ท้ายแถลงการณ์มีคณาจารย์และอดีตอาจารย์ร่วมลงชื่อจำนวน 41 คน

“คณาจารย์ฯ หวังว่ารัฐบาล คสช. และผู้มีอำนาจจะแสดงออกซึ่งขันติธรรมซึ่งเป็นคุณธรรมสำคัญของผู้ปกครองด้วยการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เพื่อสร้างความสมานฉันท์และบรรยากาศของการเตรียมพร้อมกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง แต่หากยังคงขืนดึงดันที่จะดำเนินคดีกลุ่มบุคคลดังกล่าวต่อไปก็เห็นว่าจะยังเป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวในทางการเมืองของรัฐบาล คสช. เอง และจะยังสร้างความขัดแย้งบาดหมางระหว่างสถาบันทหารกับประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น” แถลงการณ์ระบุ

รายละเอียดมีดังนี้

แถลงการณ์
คณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ห่วงใยสิทธเสรีภาพของประชาชน

ตามที่ได้มีการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ใช้นามว่า “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 นำมาซึ่งการจับกุมและตั้งข้อหาผู้เป็นแกนนำในการชุมนุมและผู้เข้าร่วมการชุมนุมในวันดังกล่าวรวม 15 คน ในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และต่อมามีการออกหมายเรียกประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเพิ่มเติมอีกจำนวน 47 คนเพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันท 7 มิถุนายนนี้ ซึ่งผู้ถูกออกหมายเรียกนั้นมีทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ในจำนวนนี้มีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รวมอยู่ด้วยนั้น

คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้ มีความกังวลต่อการดำเนินการดังกล่าวของฝ่ายรัฐอย่างมาก จึงขอแสดงจุดยืนและขอเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจ ดังนี้

กลุ่มคณาจารย์ฯ เห็นว่าการชุมนุมในวันที่ 22 พฤษภาคมดังกล่าว เป็นการใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2560) ได้รับรองไว้ โดยเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ อีกทั้งเป็นการแสดงออกซึ่งข้อเรียกร้องซึ่งชอบด้วยวิถีแห่งระบอบประชาธิปไตยและสอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาล คสช. ได้ประกาศต่อสังคมตลอดมาว่าต้องการคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็ว เมื่อกล่าวไม่ได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มคนดังกล่าวไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างไร ผู้มีอำนาจจึงควรหลีกเลี่ยงที่จะนำคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 มาบังคับใช้ เพราะเท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นว่า คำสั่ง คสช. มีน้ำหนักที่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังตอกย้ำให้เห็นถึงสภาวะที่ คสช. ดำรงอยู่เหนือกฎหมายและสามารถเลือกเอากฎหมายมาใช้บังคับแก่ประชาชนได้ตามอำเภอใจ ซึ่งย่อมไม่สอดคล้องกับการปูทางที่จะกลับไปสู่ระบอบประชาธปไตยตามที่ คสช. ได้สัญญาไว้

เมื่อพิจารณาในส่วนของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีนั้น เห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดอ่าน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างบริสุทธิ์ใจ แม้ว่าอาจมีจุดยืนหรือความคิดทางการเมืองที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจในปัจจุบัน แต่ก็ควรตระหนักว่าคนรุ่นใหม่เหล่านั้นคือทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและเป็นกำลงสำคัญที่จะนำพาบ้านเมืองต่อไป พวกเขาจึงมีสิทธิ์ที่จะส่งเสียงเพื่อกำหนดอนาคตของตนเอง กล่าวโดยเฉพาะในส่วน

นักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งถูกดำเนินคดี คือ นางสาวอลิสา บินดุส๊ะ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในคณะนิติศาสตร์ ก็เป็นเยาวชนที่ทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทในการกระตุ้นให้นิสิตนักศึกษาตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคมตลอดมาจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป นี่มิใช่หรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สังคมไทยต้องการ และเป็นเสียงที่ผู้มีอำนาจควรรับฟังและใคร่ครวญ แทนที่จะมอบโซ่ตรวนตอบแทนให้เช่นนี้

อนึ่ง หากรัฐบาล คสช. มีความตั้งใจจะนำประเทศกลับสู่วิถีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็พึงตระหนักว่าการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อกดข่มการแสดงออกทางการเมืองนั้น แม้อาจสร้างภาพลักษณ์ของความสงบเรียบร้อยในสังคมได้ แต่สังคมไทยก็ได้เรียนรู้มาตลอดระยะเวลา 4 ปีแล้วว่าความสงบเรียบร้อยเช่นนั้นไม่อาจนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า

ของสังคมได้ จะดีกว่าหรือไม่หากผู้มีอำนาจจะยอมเคารพตามรัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพทางการเมืองของบุคคลไว้ โดยพยายามใช้กฎหมายเพื่อควบคุมเสรีภาพเฉพาะกรณีที่จะเป็นเพื่อรักษาประโยชน์โดยรวมของสังคมเท่านั้น มิใช่ใช้กฎหมายเพื่อรกษาความมั่นคงในการอยูในอำนาจของตน

กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความเป็นห่วงและกังวลเป็นอย่างมากในการดำเนินคดีต่อนักศกษาและประชาชนผู้เรียกร้องเสรีภาพดังกล่าว เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีแก่นักศึกษาและประชาชนทั้งหมด และขอให้นายกรัฐมนตรีให้คำตอบที่แน่นอนเกี่ยวกับการดำเนินการตามโรดแมปไปสู่การเลือกตั้งเพื่อนำสังคมไทยกลับคืนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย รวมถึงปล่อยให้กระบวนการปฏิรูปประเทศดำเนินต่อไปโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

คณาจารย์ฯ หวังว่ารัฐบาล คสช. และผู้มีอำนาจจะแสดงออกซึ่งขันติธรรมซึ่งเป็นคุณธรรมสำคัญของผู้ปกครองด้วยการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เพื่อสร้างความสมานฉันท์และบรรยากาศของการเตรียมพร้อมกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง แต่หากยังคงขืนดึงดันที่จะดำเนินคดีกลุ่มบุคคลดังกล่าวต่อไปก็เห็นว่าจะยังเป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวในทางการเมืองของรัฐบาล คสช. เอง และจะยังสร้างความขัดแย้งบาดหมางระหว่างสถาบันทหารกับประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น.

............................................................

รายนามคณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ห่วงใยสิทธเสรีภาพของประชาชน

1. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์
2. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์
3. กฤษรัตน์ ศรีสว่าง คณะนิติศาสตร์
4. ว่องวิช ขวัญพัทลง คณะนิติศาสตร์
5. ศุภวัชร์ มาลานนท์ คณะนิติศาสตร์
6. โชคชัย วงศ์ตานี สถาบันสันติศึกษา
7. ยุทธกาน ดิสกุล ภาควิชาสารัตถศึกษา
8. ดวงมน จิตร์จำนงค์ ข้าราชการบำนาญ อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
9. ณปรัชญ์ บุญวาศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
10.อาหวัง ล่านุ้ย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
11.ดิเรก หมานมานะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
12.นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
13.บัณฑิต ไกรวิจิตร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
14.ปิยวรรณ ปิยะกาญจน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
15.เปรมสิรี ชวนชไยสิทธ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
16.พิเชฐ แสงทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
17.ภมรี สุรเกียรติ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
18.วันพิชิต ศรีสุข คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
19.สัณห์ธวัช ธัญวงษ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
20.วีรพงษ์ ยศบุญเรือง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
21.อับดุลอาซิส อับดุลวาฮับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
22.อันธิฌา แสงชัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
23.อัจฉรา ชูพูล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
24.อลิสา หะสาเมาะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
25.สมัชชา นิลปัทม คณะวิทยาลัยการสื่อสาร
26.สามารถ ทองเฝือ คณะรัฐศาสตร์
27.นัจมีย์ หมัดหมาน คณะรัฐศาสตร์
28.สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี
29.สุไรนี สายนุ้ย คณะรัฐศาสตร์
30.อรชา รักดี คณะรัฐศาสตร์
31.อสมา มังกรชัย คณะรัฐศาสตร์
32.ฮาฟิซ สาและ คณะรัฐศาสตร์
33.ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ คณะรัฐศาสตร์
34.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
35.สายฝน สิทธมงคล คณะวิทยาศาสตร์
36.สุภาพร ฝั่งชลจิตต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
37.ประกาศ สว่างโชติ นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
38.เยาวนิจ กิตติธรกุล สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
39.ศุภกาญจน์ บัวทิพย์ คณะศึกษาศาสตร์
40.สินาด ตรีวรรณไชย คณะเศรษฐศาสตร์
41.ซัมซู สาอุ วิทยาลัยอิสลามศึกษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net