Skip to main content
sharethis

"ผู้เสพคือผู้ป่วย" เป็นแนวนโยบายใหม่ที่พยายามไม่จับผู้เสพเข้าคุก แต่เปิดช่อง(เชิงบังคับ)ให้เข้าสู่ระบบบำบัด รายงานนี้จะพาไปดูรายละเอียดระบบบำบัดว่ายังมีช่องว่างระหว่างนโยบายกับระดับปฏิบัติเพียงไหน ผู้เสพได้เป็นผู้ป่วยจริงหรือไม่หรือเป็นอาชญากรเช่นเดิม การบำบัดนั้นทำอย่างไร

ยาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้าคือปีศาจ

อันที่จริง มันไม่ได้น่ากลัวขนาดนี้มาตั้งแต่ต้น เมื่อก่อนเป็นแค่ยาม้าหรือยาขยัน ความน่าสะพรึงเริ่มขึ้นเมื่อไทยได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกา ทำให้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 กำหนดโทษต่างๆ ไว้สูงมาก ต่อมาปี 2546 เป็นปีที่เราประกาศสงครามกับยาเสพติดและนำไปสู่การฆ่าตัดตอนเครือข่ายยาเสพติดมากกว่าสองพันศพ

จนถึงปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่า คนจำนวนมากต้องไปแออัดกันอยู่ในคุกเพราะยาบ้า ส่วนใหญ่เป็นผู้เสพและผู้ค้ารายย่อย คุกไทยแออัดติดอันดับต้นๆ ของโลก และนำมาซึ่งปัญหาอีกมากมายหลายประการ

สถิติผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ต้องขังอยู่ทั้งหมด 334,279 คน โดยเป็นผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด มากถึง 247,344 คน หรือราว 74% ของทั้งหมด ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นแทบทุกปีจนเกิดปัญหานักโทษล้นคุก

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่รัฐเองตระหนักดีและพยายามหาทางแก้ไขกันอยู่ อย่างไรก็ตาม พัฒนาการเกิดขึ้นเล็กน้อยในสมัยรัฐบาล คสช. เมื่อกระทรวงยุติธรรมภายใต้การนำของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นหัวหอกแก้ พ.ร.บ. ยาเสพติด ที่เพิ่งจะผ่านวาระ 1 จาก สนช. ไปเมื่อ 15 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา

สาระสำคัญคือ เปิดช่องให้ผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจแยกแยะ “ผู้เสพ” กับ “ผู้ขาย” จากเดิมที่ใช้วิธีการนับเม็ดและปริมาณสาร เช่น ในอดีตหากผู้ต้องหาครอบครองยาบ้าเกิน 15 เม็ด ศาลจะตัดสินโดยอัตโนมัติว่ามีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งโทษหนักกว่าการมีไว้เพื่อเสพมาก หรือกรณี “นำเข้ามาในราชอาณาจักร” ก็โทษหนักมากไม่ว่าจะเพื่อเสพหรือจำหน่าย จนเกิดการลงโทษที่ล้นเกินความจำเป็น (overcriminalisation) เช่น กรณีสาวไทยคนหนึ่ง ถูกจำคุกตลอดชีวิตจากการนำเข้ายาบ้า “ครึ่งเม็ด” มาจากฝั่งลาว


สถิติเดือนมิถุนายนของทุกปี ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์

แนวคิดใหม่ ‘คนเสพคือคนป่วย’ ระบบบำบัด 3 ประเภท

แนวคิดที่ว่า ผู้เสพยาเสพติดเป็นเหยื่อ เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษานั้นมีมานานแล้ว และเป็นรูปธรรมากขึ้นเมื่อการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดของโลก ปี 2016 ได้มีมติและนโยบายใหม่ต่อปัญหายาเสพติดว่า แท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องสุขภาพ ระบบสาธารณสุข อาชญากรรม สิทธิมนุษยชน ความยากจน ฯลฯ เรียกได้ว่ายาเสพติดเป็นปัญหาที่สัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ มากมาย ทั้งยังมีมติให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดมุ่งเน้นด้านสาธารณสุข 

สำหรับประเทศไทย ในปี 2545 เรามี พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เพื่อจำแนกผู้เสพนำไปบำบัด แต่ในทางปฏิบัติอาจต้องเรียกว่าเป็นการกวาดต้อนผู้คนจำนวนมากเข้าสู่กระบวนการบำบัดที่พวกเขาไม่ได้ร้องขอแต่รัฐอยากจัดให้เสียมากกว่า

พ.ร.บ.นี้ผู้ที่ครอบครองยาเสพติดจำนวนน้อย เช่นยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด สามารถ “เลือก” ที่จะเข้ารับการบำบัดจนสิ้นสุดกระบวนการ แลกกับการไม่ต้องรับโทษอาญา แต่ยังคงมีประวัติยาเสพติดอยู่

ระบบการบำบัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. สมัครใจบำบัด คือ กลุ่มที่เดินเข้าไปพบแพทย์ด้วยตัวเองหรือญาติพาไป โรงพยาบาลทั่วประเทศรองรับแล้ว
2. บังคับบำบัด คือ กลุ่มที่ถูกจับกุมและต้องเข้ารับการบำบัดผ่าน พ.ร.บ.นี้เพื่อแลกกับการไม่ต้องรับโทษทางอาญา
3. บำบัดระหว่างต้องโทษ คือ กลุ่มที่ถูกดำเนินคดียาเสพติด หรืออาชญากรรมอื่นๆ แล้วมีประวัติการใช้สารเสพติด กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดและจะได้รับการบำบัดภายในเรือนจำ

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในระบบบำบัด เนื่องจากมีองค์ความรู้และบุคลากร ทางกระทรวงจึงมีการตั้งยอดการบำบัดผู้ใช้ยาเสพติดในแต่ละระบบไว้เป็นตุ๊กตาด้วย เช่น

ปี 2560 ตั้งเป้าหมายภาพรวมทุกระบบการบำบัดเอาไว้ที่ 220,015 ราย แต่ทำได้จริง 106,354 หรือราว 48% แบ่งเป็น

-ระบบสมัครใจ 67,413 คน จากเป้าที่ตั้งไว้ 126,815 คน
-ระบบบังคับบำบัด 24,834 คน จากเป้าที่ตั้งไว้ 72,500 คน
-ระบบต้องโทษ 14,107 คนจากเป้า 20,700 คน

จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่ได้ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้มากที่สุดคือ ระบบสมัครใจ ส่วนระบบที่ทำได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่สุดคือ ระบบต้องโทษ ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่ารัฐไทยยังคงล้มเหลวในการจูงใจให้คนเข้ารับการบำบัดการติดยาเสพติดโดยสมัครใจ และกรมราชทัณฑ์ยังคงต้องเป็นผู้แบกภาระในการบำบัดผู้ป่วยจำนวนมาก ทั้งที่ไม่ได้มีองค์ความรู้โดยตรงในด้านนี้

ความพยายามโอนภารกิจในการฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดให้ไปอยู่กับหน่วยงานสาธารณสุข เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นเมื่อมีการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 108/2557 เรื่อง การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เริ่มใช้ตั้งแต่กรกฎาคม 2557 มีสาระสำคัญคือ เปิดโอกาสให้ผู้ที่ครอบครองยาเสพติดในปริมาณน้อยสามารถเลือกที่จะยินยอมเข้ารับการบำบัดกับกระทรวงสาธารณสุขแทนการรับโทษทางอาญาได้

ข้อต่างระหว่าง ประกาศ คสช.ฉบับ 108/2557 กับ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด คือ หากเป็นไปตามประกาศ คสช.จะไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาล่วงหน้า และผู้ที่ผ่านการบำบัดจะไม่มีประวัติยาเสพติดติดตัว อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าโปรแกรมการบำบัดแล้วก็ยังต้องรายงานตัวต่อสถานบำบัดภายในพื้นที่และได้รับการตรวจปัสสาวะทุกเดือนต่อเนื่อง 12 เดือน หลักการดังกล่าวได้ถูกระบุไว้ พ.ร.บ. ยาเสพติดฉบับใหม่ที่กำลังพิจารณากันอยู่ด้วยเช่นกัน

แนวทางฟื้นฟูสูญเปล่า หากรอจำแนกอยู่ในเรือนจำ

แนวนโยบายต่างๆ ที่ออกมาดูเหมือนจะก้าวหน้า แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีความลักลั่นและขัดแย้ง เป็นอุปสรรคต่อการบำบัดฟื้นฟูอยู่  

จิตรนรา นวรัตน์ กรรมมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันไทยดำเนินการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดควบคู่ไปกับการดำเนินคดีทางอาญา ขบวนการบำบัดจะเริ่มต้นก็ต่อเมื่อผู้ใช้ยาถูกจับกุม ควบคุมตัวที่โรงพัก เดินทางไปศาลและถูกควบคุมตัวในเรือนจำแล้ว โดยระหว่างกระบวนการดังกล่าวจะไม่มีการคัดแยกพฤติกรรมของผู้เสพว่ามีความจำเป็นต้องรับการบำบัดหรือไม่ ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดผู้เสพคือผู้ป่วย แทนที่ผู้เสพจะต้องถึงมือผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขให้เร็วที่สุด กลับเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อกล่าวหาและถูกคุมขัง ซ้ำยังต้องมีประวัติยาเสพติดติดตัว ผู้ใช้ยาหลายคนจึงเลือกที่จะไม่เข้ารับการบำบัดและยอมรับโทษอาญาตามปกติ หรือบางรายก็หลบหนี ไม่ให้ความร่วมมือ

“ผู้เสพก็เลยไม่ได้เป็นผู้ป่วยจริง เพราะต้องโดนควบคุมตัวในเรือนจำอย่างน้อย 15 - 45 วัน การเข้าเรือนจำมันก็เหมือนโดนจับสำหรับเขา สถานที่ควบคุมตัวก็แออัดยัดเยียด ที่เป็นอย่างนี้เพราะตอนกฎหมายออกมาไม่ได้มีงบประมานรองรับมาตรการที่เกิดขึ้นใหม่ จึงต้องใช้เรือนจำแทนโรงพยาบาลในการตรวจจำแนกก่อนเข้ารับบำบัดรักษา คนที่ถูกดำเนินคดีจึงพร้อมจะหนีตลอดเวลา เป็นความสูญเปล่าในด้านการฟื้นฟู” จิตรนรากล่าว

แม้จะมีปัญหาในทางปฏิบัติ แต่อาจกล่าวได้ว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่ารัฐไทยกำลังเอาแนวทางการลดหย่อนโทษ (decriminalization) เข้ามาใช้แทนการปราบปรามยาเสพติด

เมื่อพิจารณาจากรายงาน “ผลการปราบปรามยาเสพติดทั่วประเทศประจำปี 2559” ทั่วประเทศ จะพบว่าจำนวนคดียาเสพติดในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในความดูแลของตำรวจนครบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 18,872 คดีในปี 2556 เหลือเพียง 11,872 ในปี 2557 และลดลงเป็น 10,360 และ 9,831 ตามลำดับ สอดคล้องกันกับตัวเลขของสถาบันธัญญารักษ์ที่ระบุว่ามีผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดโดยให้เหตุผลว่า “ทำตามบังคับ พ.ร.บ.” เพิ่มมากขึ้นจากปี 2556 ที่มีเพียงร้อย 14  เป็นร้อยละ 20 ในปี 2557 และร้อยละ 25 ในปี 2558 นั่นหมายความว่ารัฐไทยได้มีความพยายามในการโอนภารกิจการบำบัดฟื้นฟูให้มาอยู่ในมือของสาธารณสุขมากขึ้น

คำถามสำคัญคือ ระดับนโยบาย กับ ระดับปฏิบัติ มีความสอดคล้องกันมากน้อยเพียงใด

ตำรวจตั้งด่านหาผู้ป่วย ช่วยเหลือหรือยัดเยียด?

ประชาชนคนไทยน่าจะเคยเห็นภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกรวยจราจร และป้าย “หยุดตรวจ” มาตั้งด่านกลางถนนในยามวิกาล เพื่อสุ่มตรวจผู้ที่สัญจรผ่านไปมาเพื่อหายาเสพติด ในรายที่โชคดี เจ้าหน้าที่อาจเชิญตัวลงมาจากรถเพื่อค้นตัวอย่างละเอียด และหากโชคดีมากๆ ก็จะถูกขอให้ตรวจปัสวะ ด่านตำรวจส่วนใหญ่มักไม่มีห้องน้ำ ผู้โชคดีเหล่านี้จึงต้องปัสวะตามข้างทางอย่างไม่เต็มใจ

ในความเป็นจริงแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายในการสุ่มตรวจสารเสพติดกับประชาชนที่ยังไม่ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131/1 ให้อำนาจพนักงานสอบสวนตรวจหาสารเสพติดในร่างกายผู้ต้องหาเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินดีเท่านั้น นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ให้อำนาจในการตรวจปัสสาวะของผู้ขับขี่เพราะถือว่าต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้โดยสารและผู้ขับขี่คนอื่นๆ แต่ในทางปฏิบัติ บุคคลที่โดยสารรถแท็กซี่ ไม่ใช่คนขับ ก็ยังคงถูกเรียกตรวจปัสสาวะอยู่ดี

เมื่อไม่รู้ข้อกฎหมาย หรือถึงรู้ก็ไม่อยากมีปัญหา ประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกขอให้ตรวจปัสสาวะจึงจำให้ความร่วมมือ และหากพบว่าฉี่ม่วง เจ้าหน้าที่ก็จะถือว่ามีสารแอมเฟตตามีนอยู่ในร่างกายและต้องถูกดำเนินคดีหรือรับการบำบัด

การหว่านแห-การตั้งเป้าจำนวนผู้รับการบำบัด

วีระพันธ์ งามมี เลขาธิการมูลนิธิโอโซนซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ใช้ยาเสพติดให้ความเห็นว่า นี่คือการหว่านแหที่สร้างปัญหา เพราะการตรวจปัสสาวะสามารถระบุได้เพียงว่ามีสารในร่างกายหรือไม่ แต่ไม่ได้ระบุว่ามากเท่าไร ต่างจากการตรวจแอลกอฮอล์ที่ยังอนุญาตให้ผู้ขับขี่มีแอลกอฮอล์ในร่างกายได้ไม่เกิน 50 มก.เปอร์เซ็น แปลว่าต่อให้เป็นผู้เสพครั้งแรก เสพเป็นครั้งคราว หรือเสพมาเป็นเวลานานแล้ว แต่หากมาเจอกับด่านตรวจแล้วพบผลตรวจปัสสาวะสีม่วง คนเหล่านี้ก็จะต้องถูกส่งเข้าสู่กระบวนการบำบัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“รัฐมีความเชื่อว่าคนที่มีสารเสพติดต้องได้รับการบำบัด จึงนำมาสู่ตั้งเป้าในเชิงปริมาณ คาดการณ์ว่ามีคนใช้ยาประมาณเท่าไหร่ แต่ละปีควรจะตั้งเป้าการจับกุมเท่าไหร่ เพื่อจะนำเอาคนเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการบำบัด เมื่อได้ตัวเลขเชิงปริมาณมาเกิดการจัดสรรไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับไป ต้องตอบตัวชี้วัด เช่นตำรวจรับไปแต่ละเดือนต้องทำยอดให้ครบ ถ้าไม่ครบก็จะมีปัญหา เมื่อไม่ครบก็ต้องหาให้ครบ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือการตั้งด่านตรวจปัสสาวะตามถนน ตามแยกต่างๆ” วีระพันธ์กล่าว

แม้ว่าสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่คือการมองว่า ผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดและช่วยเหลือจากรัฐซึ่งวีระพันธ์มองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องในระดับหลักการ แต่ในทางปฏิบัติ ร่างดังกล่าวก็ยังคงระบุโทษทางอาญาต่อผู้เสพอีกอยู่ดีสำหรับผู้ไม่ยอมสมัครใจเข้ารับการบำบัด มาตรการดังกล่าวจึงเป็นการ “กึ่งบังคับ” เสียมากกว่า นอกจากนี้ทางเลือกที่จะสมัครใจเข้ารับการบำบัดโดยไม่ต้องรับโทษอาญาก็ใช้ได้กับคนที่ไม่เคยมีประวัติยาเสพติดหรือครอบครองสารเพียงเล็กน้อย ในกรณีของยาบ้าคือไม่เกิน 5 เม็ด เป็นมาตรการที่ใช้เพียงครั้งเดียว หากถูกจับกุมอีกครั้งก็จะถูกดำเนินคดีตามปกติ

ตั้งเป้าจับกุม 60,000 เคสต่อปี

ถามว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงต้องตั้งด่านตรวจปัสสาวะ? ในแง่ของนโยบาย รัฐไทยพยายามกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามทำงานปราบปรามยาเสพติดผ่านกลไก 2 ประการคือ ยอดการบำบัด ตามระบบบังคับบำบัดของ พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ ซึ่งอยู่ที่ประมาน 60,000 เคสต่อปี อีกกลไกหนึ่งคือ เงินสินบนนำจับ ซึ่งจะมอบเงินพิเศษให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านยาเสพติด ขึ้นอยู่กับปริมาณสารและฐานความผิดของคดีที่รับผิดชอบ

นิยม เติมศรีสุข รองเลขธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า เงินดังกล่าวมีจำนวนเพียงเล็กน้อยเพื่อเป็นกำลังให้ใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เจ้าพนักงานทำยอดคดียาเสพติดเพิ่มเติม ส่วนเป้าการจับกุมในแต่ละปีที่ทาง ป.ป.ส. กำหนดอยู่ที่ประมาน 62,000 เคส แต่ก็ไม่ได้มุ่งไปที่การจับผู้เสพ เพราะเน้นที่ผู้ค้าเป็นส่วนใหญ่

“มันก็มีบางกระแสว่าน่าจะเลิกเรื่องเงินสินบนรางวัลนะ เพราะอาจจูงใจในทางไม่เหมาะกับเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ บางคนก็บอกว่าถ้ามีอำนาจหน้าที่อยู่แล้วทำไมต้องมีค่าตอบแทนเพิ่ม ผมคิดว่าโดยระบบบ้านเราในภาพรวม ข้าราชการไม่ว่าจะอยู่สายไหนค่าตอบแทนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับภาระความรับผิดชอบ ถามว่าตำรวจบางคนตื่นตีสี่ บางทีสองทุ่มยังไม่ได้กลับบ้าน แล้วค่าตอบแทนเขาเท่าไหร่ ชั้นประทวนหมื่นกว่าบาท คนที่ไปยืนก่นด่าเขาว่าเขาทำงานไม่ถูกไม่ควร ถามว่าคุณไปทำเองไหมล่ะ” นิยมกล่าว

เช่นเดียวกับการตั้งด่านตรวจปัสสาวะ นิยมยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอำนาจตามกฎหมายในการขอตรวจปัสสาวะจากประชาชนที่สัญจรไปมาจะต้องมีบัตรเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.เท่านั้น เว้นแต่กรณีเมาในขณะขับขี่เนื่องจากผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก

แม้ในทาง ป.ป.ส. จะยืนยันหนักแน่นว่า ยอดการดำเนินคดีไม่มีผลต่อการปฏิบัติงาน แต่ พรเทพ (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่ตำรวจวัย 25 ปี ที่เคยปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายปรามปรามในจังหวัดแถบภาคตะวันออก เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการมักจะถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิอยู่เสมอ หากยอดการดำเนินคดียาเสพติดในพื้นที่น้อยกว่าในปีก่อนหน้า ในพื้นที่ที่เขาดูแลเป็นพื้นที่ต่างจังหวัด จึงไม่ได้มีคดียาเสพติดให้จับมากนัก แต่เมื่อถูกกดดันมาก็ต้องทำให้ได้ตามเป้า

พรเทพให้ข้อมูลว่าผู้ต้องหาข้อหายาเสพติดส่วนหนึ่งจะมาจากการทำงานของหน่วยสืบสวน ร่วมกับหน่วยปราบปรามในการเข้าไปจับกุมผู้ขายภายในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่งถูกจับได้ที่ด่านตรวจปัสสาวะ ซึ่งตัวเขาเองก็เคยปฏิบัติหน้าที่ในส่วนนี้เช่นกัน โดยเขาจะสังเกตจากรูปลักษณ์ภายนอกเป็นหลัก เช่นตัวผอมแห้ง ไว้หนวดไว้เครา หรือสักเต็มตัว หากเข้าลักษณะดังกล่าว พรเทพก็จะเชิญลงมาตรวจปัสสาวะ หากพบสารก็จะส่งตัวไปให้โรงพยาบาลเพื่อตรวจสารอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนจะถูกส่งไปบำบัดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ

พรเทพกล่าวด้วยว่าในพื้นที่ที่เขาทำงานอยู่มักจะประสบปัญหาขาดแคลนชุดตรวจปัสสาวะอยู่บ่อยๆ จนจำเป็นต้องใช้การ “ขอ” จากหน่วยงานรัฐอื่นๆ ในพื้นที่ เช่นปลัดอำเภอ ป.ป.ส. โรงพยาบาล หรือกระทรวงสาธารณะสุข ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการขอปากเปล่าโดยใช้ความสนิทสนมส่วนตัว

“ผมไม่รู้ว่ามันเบิกได้ไหม แต่เท่าที่ผมเห็นคนอื่นๆ เขาทำกัน เขาก็ต้องขอกันหมด ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าถ้าอยากให้ทำคดียาเสพติด ทำไมไม่มีงบตรงส่วนนี้ลงมา” พรเทพกล่าว

ในบางปีต่อให้มีการเข้าจับกุมผู้ขายก็แล้ว ตั้งด่านหาผู้เสพก็แล้ว แต่ยอดก็ยังไม่ถึงเป้า ในกรณีเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติงานอาจแก้ปัญหาด้วยการนับรวมกับ “คดีอบายมุข” อื่นๆ เช่นคดีการพนัน หวยใต้ดิน หรือการค้าประเวณี หากยอดคดียาเสพติดไม่ถึงเป้าอาจมีการเรียกพนักงานบริการในพื้นที่ซึ่งบางส่วนเป็นชาวต่างด้าว หรือแม่ค้าหวยใต้ดินมาลงบันทึกจับกุม พิมพ์ลายนิ้วมือ และเสียค่าปรับเล็กน้อยเพื่อให้ยอดคดีครบตามเป้า

ส่งผู้ป่วยไปให้ใครดูแล?

เมื่อขึ้นชื่อว่า (ผู้เสพคือ) “ผู้ป่วย” ก็ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด แต่ในความเป็นจริง ผู้ใช้ยาส่วนใหญ่ยังคงได้รับการบำบัดผ่านเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเสียเป็นส่วนใหญ่

ตอนหน้าเราจะพาไปดูว่าผู้ป่วยยาเสพติด เข้าสู่ระบบบำบัดอย่างไร มีกี่ช่องทาง และผู้ที่ถูกดำเนินคดี ในเรือนจำมีระบบบำบัดอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net