Skip to main content
sharethis
  • แนวคิด ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) กำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ ที่ใช้การพัฒนาพื้นที่ป่าเป็นตัวดูดซับก๊าซเรือนกระจก เพื่อทดแทนในส่วนที่อุตสาหกรรมได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินค่ามาตรฐาน
  • แต่กระนั้นมีหลายฝ่ายที่มองว่าอาจเป็นวิธีแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีสิทธิภาพจริง เป็นแค่กลไกลที่ช่วยให้บรรดาบริษัทใหญ่ๆ ไม่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังพบว่าโครงการหลายประเทศมีการละเมิดมนุษยชนต่อผู้คนในท้องถิ่นอีกด้วย
  • ประเทศไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0 ภายในปี ค.ศ.2065 โดยกลไก 'คาร์บอนเครดิต' ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักเพียงอย่างเดียวในการบรรลุเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน กรณีนี้ก็ยังอาจกระทบต่อการจัดการป่าไม้ของท้องถิ่น โดยมีความกังวลว่านอกจากจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาข้อพิพาทเรื่องป่าไม้และที่ดิน ระหว่างรัฐและประชาชนที่มีอยู่ก่อนแล้ว ยังอาจทำให้ ‘ท้องถิ่น’ ต้องเสียสิทธิในการร่วมบริหารจัดการป่า ที่ถูกผูกขาดอยู่เพียงกับรัฐส่วนกลางมาอย่างยาวนาน
  • จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการคาร์บอนเครดิต ในเวทีระดับโลกจึงเริ่มมีความพยายามให้แต่ละประเทศสามารถออกแบบแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก โดยไม่ต้องอาศัยกลไกตลาดคาร์บอนเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถมีรูปแบบการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสภาพอากาศให้เหมาะกับพื้นที่ได้

ป่าไม้ในประเทศไทย ที่มา: แฟ้มภาพ/ดลวรรฒ สุนสุข

สถานการณ์ของโลกภายใต้วิกฤต ‘การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ’ (Climate Change) ถูกเรียกในชื่อต่าง ๆ กันไปทั้ง ‘โลกร้อน’ ‘โลกรวน’ ‘โลกเดือด’ ที่เมื่อมีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติหรือ COP ในแต่ละครั้ง ก็จะตามมาด้วยกลไกมากมายที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหานี้

กลไกที่ถูกทั่วโลกผลักดันให้นำมาใช้มากที่สุดคือแนวคิด ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) โดยเฉพาะคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ ที่ใช้การพัฒนาพื้นที่ป่าเป็นตัวดูดซับก๊าซเรือนกระจก เพื่อทดแทนในส่วนที่อุตสาหกรรมได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินค่ามาตรฐาน แต่กระนั้นมีหลายฝ่ายที่มองว่าอาจเป็นวิธีแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีสิทธิภาพจริง เป็นแค่กลไกลที่ช่วยให้บรรดาบริษัทใหญ่ ๆ ไม่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง นอกจากนั้นโครงการหลายแห่งยังพบว่ามีการละเมิดมนุษยชนต่อชุมชนท้องถิ่น

สำหรับประเทศไทย ได้ประกาศเป้าหมายที่จะนำประเทศไปสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 โครงการคาร์บอนเครดิตถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักเพียงสิ่งเดียวเพื่อจะบรรลุเป้าหมายนั้น ทำให้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับชาติหลายแห่งที่เข้าทำสัญญากับหน่วยงานด้านป่าไม้ นำพื้นที่ป่ามาทำโครงการคาร์บอนเครดิต 

นอกจากมีความกังวลที่จะเป็นการซ้ำเติมปัญหาข้อพิพาทเรื่องป่าไม้และที่ดิน ระหว่างรัฐและประชาชนที่มีอยู่ก่อนแล้ว ยังอาจทำให้ ‘ท้องถิ่น’ ต้องเสียสิทธิในการร่วมบริหารจัดการป่า ที่ถูกผูกขาดอยู่เพียงกับรัฐส่วนกลางมาอย่างยาวนาน

ตัวอย่างในต่างประเทศ โครงการคาร์บอนเครดิตไร้ประสิทธิภาพ ทั้งยังละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่น

ชนเผ่าพื้นเมืองในเปรูต้องเสียสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ Cordillera Azul หลังมีโครงการคาร์บอนเครดิตของบริษัทน้ำมัน Shell | ที่มาภาพ: CIMA

คาร์บอนเครดิต คือ ใบอนุญาตที่ให้ผู้ซื้อสามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณที่ต้องการ เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน หรือเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งระดับองค์กร บุคคล การจัดกิจกรรม หรือการผลิต โดยคาร์บอนเครดิตมี สามารถนำไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายได้

โดยทั่วไป คาร์บอนเครดิตมีที่มาจากการดำเนินโครงการ 2 รูปแบบ คือ (1) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้พลังงานทดแทน และ (2) การกักเก็บก๊าซเรือนกระจก เช่น การปลูกป่า เป็นต้น

โครงการคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ เป็นประเภทโครงการที่เพิ่มจำนวนขึ้นมากที่สุดในโลก ขณะเดียวกันมีหลายฝ่ายที่ออกมาต่อต้านว่า เป็นวิธีการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นเพียงแค่ข้ออ้างให้กับองค์กรใหญ่สามารถจ่ายเงินเพื่อปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศต่อไป ในปี ค.ศ.2023 ที่ผ่านมา The Guardian ร่วมกับ SourceMaterial ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ที่เปิดเผยว่า 94% ของโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ที่ได้รับการรับรองโดย Verra องค์กรรับรองคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ก่อประโยชน์อะไรเลยให้กับสภาพภูมิอากาศ และไม่ได้ช่วยเรื่องการปกป้องผืนป่าอีกด้วย

จากรวบรวมของ Carbon Brief ชี้ให้เห็นว่าโครงการคาร์บอนเครดิตทั่วโลกมากกว่า 70% ในประเทศกำลังพัฒนา มีการละเมิดสิทธิ์ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น มีการถูกบังคับให้ย้ายออกจากที่ดิน ในประเทศอย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ในพื้นที่ป่าแอมะซอนของบราซิล โคลอมเบีย และเปรู เคนยา รวมทั้งในอาเซียนอย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย 

นอกจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยตรงแล้ว ยังมีการจำกัดสิทธิของท้องถิ่นในจัดการหรือเข้าไปใช้ประโยชน์ในป่า อย่างที่ประเทศเปรู ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเสียสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่ป่า จากการถูกเจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้เข้าไปล่าสัตว์ ตกปลา หรือหาอาหาร พื้นในที่อุทยานแห่งชาติ Cordillera Azul ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าแอมะซอน หลังการเข้ามาของโครงการคาร์บอนเครดิตของบริษัทน้ำมัน Shell

แม้จะมีคำสัญญาว่าเงินหลายสิบล้านเหรียญสหรัฐที่ทางการเปรูได้รับจากทำโครงการ จะนำมาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนชนพื้นเมือง และป้องกันการทำลายป่า แต่กลับพบว่าชนพื้นเมืองกับมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงป่า ที่เป็นแหล่งทรัพยากรมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และยังพบการลักลอบตัดไม้ที่มากขึ้นอีกด้วย ต่อมาชนพื้นเมืองเองพยายามต่อสู้ว่าชุมชนท้องถิ่น เป็นผู้ดูแลรักษาป่าทำให้ไม่มีการลอกลอบตัดไม้ ศาลของเปรูมีคำสั่งคืนสิทธิในการเข้าถึงป่าในกับชนพื้นเมือง

ในอินโดนีเซีย ทางตอนใต้ของเกาะเกาะบอร์เนียวมีโครงการ The Katingan Peatland Restoration and Conservation Project ที่บริษัทเอกชนได้รับสัมปทานเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าพรุ เพื่อนำเข้าโครงการคาร์บอนป่าไม้ประเภท REDD+ ซึ่งคือการ “ลดก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากป่าไม้ไปเป็นรูปแบบอื่น โดยโครงการต้องมีกิจกรรมที่ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า กิจกรรมป้องกันความเสื่อมโทรมของป่า และกิจกรรมเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าอย่างใดอย่างหนึ่ง” ตามนิยามขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)

แม้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่นอกเขต 149,800 เอเคอร์ ของพื้นที่สัมปทาน เป็นหนึ่งในโครงการคาร์บอนเครดิตซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่ชาวบ้านไม่สามารถใช้ระบบการบริหารพื้นที่ป่าแบบที่ปฏิบัติต่อกันมาได้ ที่จะแต่งตั้งคนในชุมชนขึ้นดำรงตำแหน่งในการดูแลพื้นที่ป่า แต่ถูกบริษัทที่ได้รับสัมปทานเข้ามาจัดการทั้งหมด

ชาวบ้านยังถูกห้ามทำกิจกรรมตามวิถีดั้งเดิม ที่เชื่อว่าจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือส่งผลต่อพื้นที่ป่าสัมปทาน เช่นการห้ามใช้ไฟในการเตรียมพื้นที่ทำนา ทำให้ต้นทุนการทำนาสูงขึ้น ทั้งยังพบว่ามีพื้นที่ป่าจำนวนมากในโครงการถูกใช้ปลูกปาล์มน้ำมัน

ภาคประชาชนกังวลกระทบ ‘สิทธิของท้องถิ่น’ ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่า

ป่าชุมชนโค้งตาบาง ตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นป่าชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยที่เข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต เมื่อปลายปี 2565 | ที่มาภาพ: MCOT

ในประเทศไทย ซึ่งตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 40% ภายในปี ค.ศ.2040 เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0 ภายในปี ค.ศ.2065 กลไกคาร์บอนเครดิตถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักเพียงอย่างเดียว ในการบรรลุเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น โดยไม่มีการใช้กลไกอื่น ๆ ในการลดคาร์บอน เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน หรือการกำหนดโควตาการปล่อยคาร์บอน เช่นที่มีในหลายประเทศ 
ซึ่งโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ในประเทศไทย โดยปกติต้องดำเนินการผ่านองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นหน่วยของรัฐที่ทำหน้าเป็นตัวกลางจัดสรรการซื้อขายคาร์บอนเครดิต แต่ด้วยที่การซื้อขายผ่าน อบก.นั้นมีกระบวนที่ยุ่งยากซับซ้อน ทำให้บริษัทใหญ่ปรับเปลี่ยนวิธีเป็นการทำ MOU โครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับทางหน่วยงานด้านป่าไม้ของรัฐโดยตรง

มีภาคประชาชนหลายแห่งอย่าง กรีนพีชประเทศไทย และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านแนวทางการสนับสนุนคาร์บอนเครดิตของรัฐบาล โดยมีความกังวลหลัก คือจะมีการไล่รื้อชุมชนที่มีประเด็นพิพาทในพื้นที่ซับซ้อน กับหน่วยงานด้านป่าไม้ เพื่อนำไปใช้ปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต ดังที่มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในภาคอีสาน รวมไปถึงประเด็นเรื่องสิทธิของชุมชน ที่มีการเรียกร้องมาอย่างยาวนานให้ชุมชนสามารถมีสิทธิในการจัดการป่า จะไม่ได้ถูกหยิบยกมาผลักดัน

พชร คำชำนาญ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ | แฟ้มภาพประชาไท

“เรากังวลว่ากระบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิชุมชนจะอ่อนแอลง” พชร คำชำนาญ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งองค์กรเครือข่ายใน P-Move กล่าวถึงสถานการณ์ในภาคเหนือที่เริ่มมีการนำป่าชุมชนหลายแห่งเข้าโครงการคาร์บอนเครดิต แม้ปัจจุบันโครงการเหล่านั้นจะยังไม่มีผลกระทบออกมาให้เห็นชัดเจน แต่มีความกังวลว่าจะเป็นการกระทบต่อกระบวนการที่พยายามเรียกร้องสิทธิชุมชน ที่ให้สิทธิท้องถิ่นเข้ามาร่วมกับรัฐในการจัดทรัพยากรป่าไม้ 
“เราเรียกร้องสิทธิ์ที่จะจัดการทรัพยากรที่แท้จริง ไม่ใช่ค่าตอบแทนจากการดูแลป่าให้กับบริษัทที่ปล่อยมลพิษ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธ์ซึ่งอาศัยพึงพิง ใช้พื้นที่ป่าในการใช้ชีวิตสูง สิทธิในการเข้าถึงป่าจึงมีคุณค่ามาก เมื่อเทียบกับเม็ดเงินจากส่วนแบ่งหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากโครงการคาร์บอนเครดิต ยังไม่มีอะไรที่รับประกันว่าต่อไปชาวบ้านจะเข้าไปใช้ หากินกับป่าได้เหมือนเดิมไหม” พชร กล่าว

ทั้งนี้ชุมชนในสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จึงมีมติร่วมกันที่จะไม่นำพื้นที่ป่าเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิต

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ท้องถิ่นควรมีสิทธิในการจัดการป่า และมีส่วนร่วมแก้แก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ดร.สุรินทร์ อ้นพรหม นักวิชาการอิสระด้านวนศาสตร์ชุมชน | ภาพโดย: ยศธร ไตรยศ

“แนวคิดเรื่องป่าคาร์บอนทำให้มุมมองของเราต่อป่ามันแคบ คิดแค่ทำยังให้ต้นไม้โต มีมวลมากขึ้นเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิตเยอะ ๆ แต่ละเลยคุณค่าอื่น ๆ ของป่า เคยคุยบริษัทเขาตั้งเป้าว่าหนึ่งไร่ต้องทำให้ได้คาร์บอนเท่าไหร่บ้าง คิดแบบนี้มันมีปัญหา” สุรินทร์ อ้นพรหม นักวิชาการอิสระด้านวนศาสตร์ชุมชน อธิบายว่าแนวคิดคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่า เป็นการลดทอนคุณประโยชน์ของป่าในด้านอื่น ๆ ให้เหลือเพียงแค่การใช้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น

ทั้งที่ป่ามีประโยชน์ด้านอื่น ๆ อย่างเป็นแห่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ รองระบบนิเวศน์ต่าง ๆ เป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย จนถึงด้านความเชื่อจิตวิญญาณของมนุษย์ เมื่อมีมุมมองต่อพื้นที่ป่าที่แคบ ทำให้เห็นว่าโครงการคาร์บอนเครดิต กีดกันการใช้ประโยชน์จากป่าในรูปแบบอื่น ๆ และการพัฒนาฟื้นฟูป่ามักจะเน้นไปที่การปลูกพันธ์ไม้ที่เชื่อว่าดูดซับคาร์บอนได้ดี ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับลักษณะของป่าในพื้นที่นั้น

“มันเป็นการกีดกันชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเดิมเรื่องสิทธิชุมชนก็ไม่เคยถูกยอมรับมาก่อนอยู่แล้ว” สุรินทร์ กล่าว

ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ปัญหาที่ดินป่าไม้ มีการพยายามนำเสนอแนวคิดสิทธิชุมชน โดยให้ประชาชนสามารถเข้าใช้ประโยชน์และร่วมบริหารจัดการทรัพยากรป่าร่วมกับรัฐได้ แต่การที่รัฐให้ (หรือเป็นตัวกลาง) เอกชนเข้าทำโครงการคาร์บอนเครดิตในป่า เป็นเหมือนการยกสิทธิในการจัดการป่าให้กับเอกชนอยู่เหนือชุมชนท้องถิ่น

“การฟื้นฟูป่ามันต้องไปพร้อมกับการกระจายอำนาจ ให้งานพวกนี้อยู่ระดับท้องถิ่น อย่าง อบต. หรือเทศบาล ให้มีการวางแผนในระดับจังหวัด ว่าจะปลูกอะไร พัฒนาอย่างไร หรือบางพื้นที่สามารถจะทำอุตสาหกรรมไม้ ใช้ประโยชน์จากป่าก็ต้องทำได้ แต่ตอนนี้มันล๊อคอยู่แค่ส่วนกลาง กลับกันหน้าที่การฟื้นฟูป่า ไม่ควรจะถูกผูกขาดไว้กับส่วนกลาง แต่ควรกระจายอำนาจลงไปให้ท้องถิ่นออกแบบการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่า รวมไปถึงรูปแบบการใช้ประโยชน์จากป่าให้เหมาะสมกับพื้นที่” สุรินทร์ กล่าว

จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการคาร์บอนเครดิต ในเวทีระดับโลกจึงเริ่มมีการพยายามเรียกร้องให้หยิบยกมาตรา 6.8 ในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่กำหนดให้แต่ละประเทศสามารถออกแบบแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก โดยไม่ต้องอาศัยกลไกตลาดคาร์บอนเพียงอย่างเดียวขึ้นมาปรับใช้ เพื่อให้แต่ละประเทศไปจนถึงระดับท้องถิ่นสามารถมีรูปแบบการมีส่วนรวมในการแก้ปัญหาสภาพอากาศให้เหมาะกับพื้นที่ได้

มีรายงานการศึกษาที่ชี้ว่า พื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ทั่วโลก 36% อยู่บนที่ดินของชนพื้นเมือง และการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ประสบความสำเร็จ 80% เกิดจากโครงการที่มีส่วนร่วมโดยท้องถิ่น

บัณฑิตา อย่างดี ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา

“ที่ผ่านมาชาวบ้าน พยายามขึ้นทะเบียนป่าไม้ชายเลน แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แต่พอมีนโยบายคาร์บอนเครดิตการขึ้นทะเบียนพวกนั้นกลับง่ายขึ้นมาทันที ทั้งที่ในอดีตชาวบ้านเป็นผู้ฟื้นฟูป่าชายเลนเองมาตลอด” บัณฑิตา อย่างดี ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา กล่าวถึงบริบทของพื้นที่ป่าชายเลนในภาคใต้ ที่มีกระบวนการของชุมชนมากมายที่พยายามฟื้นฟูป่าชายเลน หลังจากเสียหายจากการที่รัฐเปิดให้มีการสัมปทานในอดีต

หลายท้องถิ่นพยายามจะผลักดันให้มีการลงทะเบียนป่าชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงสิทธิในการเข้าไปฟื้นฟูป่าได้ แต่กลับมีกรณีที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้นำพื้นที่ป่าชายเลนชุมชน 99 แห่งในภาคใต้ รวมเนื้อที่ กว่า 1.6 แสนไร่ ขึ้นทะเบียน ‘ป่าชุมชนคาร์บอน’ เพื่อจัดสรรให้กับ 35 บริษัทชั้นนำของไทย ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนจำนวนมากได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อนำไปเข้าโครงการ

“ที่จริงรัฐควรจะให้เงินสนับสนุนกับชุมชนในการรักษาฟื้นฟูป่าชายเลน” บัณฑิตา กล่าว 

เธอยังมองว่าสิ่งที่น่ากังวลต่อไปเหมือนกับในพื้นที่อื่น ๆ ว่าชุมชนจะไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่ป่าได้ดังเดิม และมองว่าหากรัฐจริงจังที่จะแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ควรที่จะสนับสนุนให้กับท้องถิ่นที่มีความรู้ความเข้าใจ เป็นผู้ทำการฟื้นฟูป่าชายเลนเองโดยตรง มากกว่าจะทำผ่านโครงการคาร์บอนเครดิต ที่ผ่านมาก็เคยมีโครงการปลูกป่าชายเลนจำนวนมาก ที่เป็นโครงการ CSR บริษัทร่วมกับภาพรัฐ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถฟื้นฟูป่าชายเลนได้จริง.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net