Skip to main content
sharethis

ข้อมูลพื้นฐานเรื่องประวัติศาสตร์และโครงสร้างทางการเมืองของกัมพูชาก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 29 ก.ค. นี้ หนึ่งในไฮไลท์ที่หลายคนกังวลคือความโปร่งใส เสรี และบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้งจะยังมีอยู่หรือไม่ ในวันที่พรรครัฐบาลปิดสื่อ ฟ้องยุบฝ่ายค้าน ข่มขู่คนให้ไปเข้าคูหา หรือการเลือกตั้งจะเป็นลิเกฉากใหญ่ให้ฮุนเซนสืบอำนาจเท่านั้น

เนื้อหาโดยย่อ

  • การเลือกตั้งในกัมพูชาที่จะมีขึ้นใน 29 ก.ค. เป็นที่จับตามองในแง่ความฟรีและแฟร์
  • สมเด็จฮุนเซน นายกฯ กัมพูชาอยู่ในอำนาจมาแล้วรวมทั้งสิ้น 33 ปี
  • ที่ผ่านมารัฐบาลที่นำโดยพรรคซีพีพีพยายามควบคุมเกมการเมืองหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องพรรคฝ่ายค้านที่นำไปสู่การยุบพรรคฝ่ายค้าน หรือการออกกฎหมายให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายตุลาการ
  • องค์กรนานาประเทศกังวลว่าการเลือกตั้งนี้จะเป็นเพียงตรายางให้ฮุนเซนสืบทอดอำนาจต่อไป หลายองค์กร รวมถึงสหรัฐฯ และอียู ตัดสินใจไม่ส่งตัวแทนไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
  • เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) ระบุว่า จำนวนผู้สังเกตการณ์ที่ กกต. กัมพูชาบอกว่ามี 80,000 คนนั้น ครึ่งหนึ่งมาจากองค์กรที่นำโดยลูกชายของฮุนเซนและรองนายกฯ เมินสัมอัน

(ซ้าย) ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (ขวา) คัตเอาท์หาเสียงของพรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปกครองกัมพูชามาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยในภาพมีเฮงสัมริน และฮุนเซน แกนนำสำคัญของพรรค (ที่มา: Thaigov.go.th/Wikipedia)

ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในราชอาณาจักรกัมพูชาที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.ค. 2561 หากพูดกันในรายละเอียดแล้วจะพบว่าการเลือกตั้งของกัมพูชาอาจไม่สามารถนำมาล้อเลียนหรือตบหน้าการเมืองไทยที่รถถังขวางทางไปคูหามาแล้วสี่ปี เพราะข้อสงสัยเรื่องความฟรีและแฟร์ของการเลือกตั้งในรอบนี้เนื่องจากพรรครัฐบาลที่เปิดการ์ดจู่โจม กดดันฝ่ายค้านและสุ้มเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่เนิ่นๆ ในแบบที่เรียกว่าง้างแข้งมาตั้งแต่นอกกรอบเขตโทษ

ประชาไทรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่จะทำให้เข้าใจสนามการเมืองของประเทศที่เพิ่งผลัดเปลี่ยนการปกครองจากระบอบเขมรแดงที่คร่าชีวิตคนในประเทศเป็นหลักล้านราว 4 ทศวรรษได้มากขึ้นก่อนที่การเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามจะมีขึ้นและจบลง

เส้นทางการเมืองการปกครองกัมพูชาจากอดีตถึงปัจจุบัน

ราชอาณาจักรกัมพูชามีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยเส้นทางทางการเมืองของราชอาณาจักรกัมพูชาถ้าเป็นเส้นทางรถเมล์ก็ต้องผ่านหลายป้าย

  • เป็นรัฐใต้อารักขาของฝรั่งเศสช่วงปี 2406
  • ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (2484-2488)
  • ถูกฝรั่งเศสกลับมาผนวกเข้าไปในสหภาพฝรั่งเศสเมื่อปี 2489 โดยให้อำนาจการปกครองดินแดนตนเอง เรื่อยมาถึงการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2490
  • ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสหลังเจ้าอาณานิคมจากยุโรปพ่ายแพ้ในการรบกับเวียดมินห์ที่เวียดนาม เกิดเป็นความตกลงเจนีวาที่ให้ฝรั่งเศสมอบเอกราชแก่เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชาในปี 2496
  • ถูกนายพลลอน นอล ยึดอำนาจจากกษัตริย์สีหนุ ซึ่งตอนนั้นสละราชสมบัติแต่ดำรงสถานะประมุขรัฐในปี 2513 กษัตริย์สีหนุจึงลี้ภัยไปยังปักกิ่ง ประเทศจีน จับมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งกัมพูชาหรือที่รู้จักกันในชื่อเขมรแดง
  • เขมรแดงยึดอำนาจจากลอน นอล ในปี 2518 ตามมาด้วยการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ขนย้ายคนจากเมืองเข้าระบบนารวม ตามมาด้วยการเข่นฆ่า รวมถึงความตายที่เกิดจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดีจำนวนราว 1.7-2 ล้านคน
  • ปี 2521 กองทัพของเวียดนามและแนวร่วมสามัคคีสงเคราะห์ชาติกัมพูชา นำโดยฮุนเซน เฮง สัมรินและเจียซิม (United Front for the National Salvation of Kampuchea) เข้าโจมตีกัมพูชา ในปีต่อมายึดกรุงพนมเปญได้ในปีต่อมา ผู้นำของเขมรแดงหลบหนีไปทางตะวันตกมาตั้งหลักกันใหม่ในเขตแดนไทย
  • ปี 2525 เขมรแดงตั้งรัฐบาลสามฝ่าย ในขณะที่เวียดนามก็ให้การช่วยเหลือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้ระบอบที่เรียกว่า ‘สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนกัมพูชา’ ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชาอยู่ใต้ระบอบการเมืองการปกครองดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ ส่วนกองทัพเวียดนามถอนกำลังจากกัมพูชาในปี 2533
  • ปี 2534 ภาคีต่างๆ ในกัมพูชาเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเห็นชอบกับการจัดการเลือกตั้งภายใต้การดูแลขององค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (UNTAC) ซึ่งเขมรแดงได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งที่จัดโดยยูเอ็น และปฏิเสธที่จะสลายกองกำลังที่มีอยู่
  • ปี 2536 รัฐบาลเลือกตั้งนามว่า รัฐบาลหลวงแห่งกัมพูชา (Royal Government of Cambodia) ขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง พรรคที่ชนะเลือกตั้งคือพรรคของสมเด็จพระนโรดม รณฤทธิ์ พระราชโอรสพระองค์ที่สองของกษัตริย์สีหนุชนะเลือกตั้ง แต่ทางฝ่ายสมเด็จฮุน เซน ซึ่งก็เป็นอดีตเขมรแดงไม่ยอมรับ ต่อมาเกิดการประนีประนอมตั้งรัฐบาลร่วมกัน ประเทศกัมพูชาจึงเป็นประเทศแรกในโลกที่มีหนึ่งรัฐบาลแต่มีสองนายกรัฐมนตรี คือ สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ และสมเด็จ ฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกัน
  • จากปี 2536 ถึงปัจจุบันสมเด็จฮุน เซน ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา นับเวลารวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 25 ปี แต่หากนับรวมเวลาที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาตั้งแต่ปี 2529 นับเวลาได้ 33 ปี

ที่มา: วิกิพีเดีย, Cambodia Tribunal, Worldatlas, aseanthai.net

ทำความรู้จักการเมืองกัมพูชาและภาวะเผด็จการรัฐสภาของฮุนเซนและพรรคซีพีพี

รายงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งของกัมพูชาระบุว่า การเลือกตั้งปีนี้มีพรรคการเมืองลงทะเบียนแข่งขันในสนามเลือกตั้งทั้งสิ้น 20 พรรค มีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 25 เขต ประชาชนจะได้เลือกผู้แทนของพวกเขาเข้าไปในสภาขนาด 125 ที่นั่ง จำนวนนี้ถูกเพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่เลือกตั้งครั้งที่แล้วมี 123 ที่นั่ง โดยสองที่นั่งที่เพิ่มมาจะไปอยู่ในเขตจังหวัดสีหนุวิลล์ เนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้สีหนุวิลล์มีเก้าอี้ผู้แทนทั้งหมดสามที่นั่ง

ระบบรัฐสภาของกัมพูชามีสองสภา รัฐสภาที่จะมีการเลือกตั้งกันนั้นเป็นสภาล่าง อีกสภาหนึ่งคือสภาสูง ประกอบด้วยวุฒิสภาจำนวน 62 คน สภาท้องถิ่นใน 24 จังหวัดทั่วประเทศและรัฐสภาเป็นผู้เลือกตั้งทางอ้อม 58 คน ส่วนอีกสี่คนที่เหลือจะถูกแต่งตั้งโดยกษัตริย์จำนวนสองคน และสภาล่างเป็นคนแต่งตั้งอีกสองคน โดยรัฐสภามีหน้าที่หลักสามด้าน หนึ่ง ออกกฎหมาย สอง อนุมัตินโยบายของรัฐ และคอยตรวจสอบรัฐบาล

การเลือกตั้ง ส.ว. ล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) กวาดที่นั่งในสภาได้ 58 ที่นั่งเต็มโควตาการเลือก จากนั้นรัฐสภาเลือกสมาชิกจากพรรคฟุนซินเปกสองคน กษัตริย์นโรดมสีหมุนีแต่งตั้งอีกอีกสองคนที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ส่วนคณะกรรมาธิการภายในจำนวน 10 คนที่ ส.ว. เลือกกันเองมาจากพรรคซีพีพีทั้งหมด

ข้อกังวลสำหรับการเลือกตั้งกัมพูชาปีนี้คือความโปร่งใสในการเลือกตั้งเพราะพรรครัฐบาลใช้หลายวิธีตัดทอนคู่แข่งและฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในปี 2556 พรรคประชาชนกัมพูชาที่มีฮุนเซนเป็นหัวหน้าพรรคชนะการเลือกตั้ง ได้ที่นั่งในสภาไปทั้งสิ้น 68 ที่นั่ง ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชาหรือ CNRP ได้ที่นั่งที่เหลือไปคือ 55 ที่นั่งกลายเป็นฝ่ายค้าน โดยฝ่ายค้านได้ประท้วงผลการเลือกตั้งโดยกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง จนพรรคฝ่ายค้านได้ทำการคว่ำบาตรสภาในเดือน ก.ย. 2556 โดยกล่าวว่าจะไม่เข้าสภาจนกว่าจะมีการปฏิรูประบบเลือกตั้ง การประท้วงของฝ่ายค้านกลายเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างกว้างขวาง

ในปี 2557 รัฐสภาที่มีพรรคซีพีพีเป็นเสียงข้างมาก ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับฝ่ายตุลาการสามชิ้น ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยองค์กรและศาล พ.ร.บ. ว่าด้วยผู้พิพากษาและอัยการ และกฎหมายว่าด้วยโครงสร้างและหน้าที่ของสภาคณะผู้พิพากษาสูงสุด โดยสาระสำคัญหนึ่งของกฎหมายเหล่านี้คือการเพิ่มบทบาทให้ รมว.กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงยุติธรรมมีส่วนในการกำหนดกลไกด้านการบริหาร งบประมาณฝ่ายตุลาการ พิจารณาโยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง ปลดหรือดำเนินการทางวินัยต่างๆ กับตัวผู้พิพากษา ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายตุลาการ

จนในเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว (2560) ศาลสูงกัมพูชามีคำตัดสินยุบพรรค CNRP หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแจ้งความว่าพรรค CNRP ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ให้วางแผนโค่นล้มรัฐบาลผ่านการประท้วงของผู้ไม่พอใจรัฐบาลหรือที่ทางภาครัฐมักเรียกว่า ‘ปฏิวัติสี (Color Revolution)’ ซึ่งเป็นชื่อเรียกของการโค่นล้มระบอบการปกครองในสหภาพโซเวียตเดิมและตะวันออกกลาง

กึม สุขขา หัวหน้าพรรค CNRP ถูกจับกุมที่บ้านพักของเขาช่วงกลางดึกของวันที่ 3 ก.ย. ปีที่แล้ว เขาถูกรัฐบาลกัมพูชาตั้งข้อหา "ทรยศชาติ" ซึ่งมีโทษจำคุกระหว่าง 15-30 ปี พวกเขาอ้างข้อหานี้จากการที่สุขขาเคยปราศรัยไว้ในปี 2556 ว่าเขาได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ

อีกหลักฐานที่ถูกยกมาใช้ในศาลคือวิดีโอของสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ที่ปราศรัยขอให้กองทัพหันเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล นอกจากทั้งสองคนแล้ว ภาคประชาสังคมหลายองค์กรก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเป็นผู้อำนวยความสะดวกกับการปฏิวัติด้วย สถานีวิทยุเรดิโอ ฟรี เอเชียที่รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ช่วย และหน่วยงานที่ตรวจสอบการเลือกตั้งชื่อคอมเฟรลถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด

คำตัดสินของศาลสุดท้ายนำไปสู่การปลด ส.ส. พรรค CNRP ในสภาจำนวน 55 ที่นั่ง โดยตำแหน่งที่ว่างลง 55 ที่นั้น 44 ที่นั่งถูกแทนที่ด้วยผู้แทนจากพรรคอื่นๆ ที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละห้าจากเสียงทั้งหมด อีก 11 ที่นั่งพรรคซีพีพีได้ไป โดยสมาชิกพรรค CNRP ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองถึงห้าปี เท่ากับไม่สามารถเข้าสู่สนามการเมืองได้ทันการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เท่ากับการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคซีพีพีไม่มีคู่แข่งที่น่ากลัวอยู่ในสนามการเลือกตั้งทั้งในแง่พรรคและตัวบุคคล

12 ก.ย. ปีเดียวกันนั้น พรรคสงเคราะห์ชาติซึ่งถูกเล่นงานด้วยคดีการเมืองประกาศต่อสมาชิกพรรคว่า "ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว นอกจากจะต้องออกมาชุมนุมมวลชนอย่างสันติวิธี"

การประกาศดังกล่าวตามมาด้วยการตอบโต้ของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Fresh News ซึ่งมักใช้เผยแพร่ข่าวของรัฐบาล โดย ฮุน เซน ระบุว่าเขาได้บอกแก่กองกำลังรักษาความมั่นคงว่า การประท้วงดังว่านั้น "จะไม่อนุญาตให้เกิดเด็ดขาด"

ในวันที่ 12 ก.ย. นั้นเอง รถยนต์บรรทุกทหาร ตำรวจ หลายคันรถมาจอดหน้าที่ทำการพรรคสงเคราะห์ชาติเมื่อคืนวันที่ 12 ก.ย. และวนเวียนไปมาจนถึงเช้าตรู่วันที่ 13 ก.ย. โดยก่อนหน้านี้ไม่กี่วันก็มีเฮลิคอปเตอร์ของทหารกัมพูชา และเรือยนต์ติดปืนกล เข้ามาใกล้ที่ทำการพรรคสงเคราะห์ชาติ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่หน่วยอารักขาฮุน เซน ระบุเป็นเพียงการ "ฝึกซ้อม" ก่อนงานฉลองวันก่อตั้งหน่วย

ในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. 2560 รัฐบาลกัมพูชาสั่งปิดหนังสือพิมพ์อิสระภาษาอังกฤษ เดอะแคมโบเดียเดลี โดยอ้างว่าสำนักข่าวไม่ได้จ่ายเงินภาษีมูลค่า 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 19 ล้านบาท แคมโบเดียเดลีเป็นหนึ่งในสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่เรื่อยๆ รัฐบาลยังได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตแพร่ภาพกระจายเสียงของสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย วอยซ์ออฟเดโมเครซีและวอยซ์ออฟอเมริกา ด้วยเหตุผลด้านภาษีและสถานะการจดทะเบียน เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สื่อใหญ่อย่างพนมเปญโพสท์ถูกเทคโอเวอร์กิจการโดยนายทุนชาวมาเลเซียที่มีความสนิทสนมกับฮุนเซน

ฟิล โรเบิร์ตสัน รักษาการแทนผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลในงานแถลงข่าวกรณีประชาธิปไตยในการเลือกตั้งกัมพูชาในวันนี้ (24 ก.ค. 2561) ว่าปัจจุบันมีสถานีวิทยุ 32 สถานีถูกปิดไปแล้ว

เทคโอเวอร์ "พนมเปญโพสต์" กรุยทางฮุนเซนก่อนเลือกตั้งกัมพูชา

2 ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อจากกัมพูชาเล่าวิกฤติ รบ. ปิดสื่อ ห่วงต่อไปแตะต้องรัฐบาลไม่ได้

องค์กรต่างชาติอัด ซีพีพีมุ่งสืบอำนาจผ่านลิเกเลือกตั้ง สหรัฐฯ-อียู ไม่สังเกตการณ์ ไม่สนับสนุน

จากพฤติการณ์ของพรรครัฐบาลปัจจุบันทำให้องค์การระหว่างประเทศหลายแห่งแสดงความกังวลถึงการเลือกตั้งกัมพูชาที่จะมาถึง โดยห่วงว่าการเลือกตั้งอาจเป็นเพียงตรายางเพื่อให้ความชอบธรรมแก่ฮุนเซนในการครองอำนาจต่อไป

เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL- Asian Network for Free Election) ออกแถลงการณ์ในวันที่ 24 ก.ค. ระบุว่าการเลือกตั้งกัมพูชาครั้งนี้ไม่สามารถบรรลุมาตรฐานสากลในด้านสิทธิทางการเมืองและประชาชนรวมถึงบรรทัดฐานต่างๆ ที่ประเทศกัมพูชาเคยให้คำมั่นสัญญา ซึ่งการเลือกตั้งนี้จะไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ฟรีและแฟร์

กกต. และรัฐบาลกัมพูชาที่ถูกยึดกุมโดยพรรคซีพีพีได้เหนี่ยวรั้งพัฒนาการการแข่งขันของระบบการเลือกตั้งและทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคลงไปจากการยุบพรรค CNRP และการปิดสื่อหลายสำนัก

ANFREL ยังรายงานว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่พรรคซีพีพีได้ทำการข่มขู่บุคคลที่จะไม่ไปเลือกตั้ง โดยขู่ว่าจะสูญเสียผลประโยชน์หลายประการไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหรือการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ หากไม่มีหมึกอยู่บนนิ้วหลังวันเลือกตั้ง (การเลือกตั้งกัมพูชาจะต้องปั๊มนิ้วลงบนแผ่นหมึกเพื่อเป็นหลักฐานว่าไปเลือกตั้งแล้ว)

ฟิล กล่าวในประเด็นข้างต้นว่า ได้รับรายงานว่ามีกรณีนายจ้างข่มขู่ลูกจ้างว่าหากไม่ไปเลือกตั้งจะถูกไล่ออก มีกรณีที่ประชาชนถูกข่มขู่ว่า หากไม่ไปเลือกตั้งจะไม่สามารถเข้ารับบริการจากรัฐได้ เช่น การออกสูติบัตร

การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีหน่วยงานสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่เป็นกลาง แม้ กกต. จะประกาศว่ามีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งที่มาจากภายในประเทศถึง 80,000 คน แต่ ANFREL ก็แย้งว่า ผู้สังเกตการณ์จำนวนเกินครึ่งมาจากสององค์กรใหญ่ หนึ่ง สหภาพแห่งสหพันธ์เยาวชนกัมพูชา (UYFC - Union of Youth Federation of Cambodia) และกลุ่มสตรีกัมพูชาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (CWPD - Cambodian Women for Peace and Development) ซึ่งทั้งสององค์กรมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคซีพีพี องค์กรแรกนำโดยฮุนมณี หนึ่งในบุตรชายของฮุนเซน องค์กรที่สองนำโดยรองนายกฯ เมินสัมอัน ส่วนผู้สังเกตการณ์ที่เหลือมาจากองค์กรเล็กๆ น้อยๆ ซึ่ง ANFREL มีข้อสงสัยถึงวิธีการได้มาซึ่งผู้สังเกตการณ์กลุ่มนี้ รวมถึงแรงจูงใจเบื้องหลังของการมาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

นอกจากนั้น องค์กรระหว่างประเทศที่เข้ามาสังเกตการณ์นั้นก็ขาดทักษะที่จำเป็นในการทำงาน รวมทั้งยังมีข้อกังขาเรื่องความเป็นอิสระด้วย จึงมีความเสี่ยงที่การรายงานเหตุการณ์ของกลุ่มเหล่านี้จะไปเสริมในสิ่งที่พรรคซีพีพีต้องการจะนำเสนอ

ทั้งนี้ ANFREL ร่วมกับภาคประชาสังคมหลายองค์กรทั้งในกัมพูชาและต่างชาติจะไม่เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งนี้ ด้วยเชื่อว่าสภาวะทางการเมืองที่กดดันเช่นนั้นสร้างความเสียหายให้กับกระบวนการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย โดยผู้แทนจากสหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงสหรัฐฯ เองก็ไม่เข้ามาสังเกตการณ์และไม่ให้การสนับสนุนกับการเลือกตั้งครั้งนี้

ประชาไทจึงชวนจับตาดูการเลือกตั้งในกัมพูชาว่าจะจบลงเช่นไร การเลือกตั้งจะเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรในกัมพูชาที่ทุกวันนี้ทิวทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไป เนื่องจากรัฐบาลสถาปนาอำนาจทางการเมืองและกฎหมายไว้ถนัดมือเหลือเกิน

แปลและเรียบเรียงจาก

Phnom Penh Post [1] [2] [3] [4] [5]

Press Release: NEC Has Accredited 20 Political Parties Running for the Election, NEC, May 23, 2018

Table of Official Result of Voter List Update and Voter Registration 2017, NEC, Jan. 24, 2018

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขรายละเอียดเรื่องวันเลือกตั้งที่อยู่ในเนื้อหาโดยย่อ จากวันที่ 29 ต.ค. เป็น 29 ก.ค. แก้ไขวันที่ 25 ก.ค. 2561 เวลา 11.18 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net