กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด: ไทย ตัวละครที่ถูกชักใยบนเวทีทุนนิยมโลกถึงเสรีนิยมใหม่

พลังของทุนนิยมถึงเสรีนิยมใหม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ในสังคมไทย บีบให้เราต้องปรับตัว แต่เรายังไม่รู้วิธีจะอยู่กับมัน ขณะที่เสรีนิยมใหม่กำลังสร้างปัญหาความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำให้ขยายตัว

  • ทุนนิยมสร้างแนวคิดที่จะรองรับระบบการทำงานของมัน แนวคิดการค้าเสรีรองรับทุนนิยมการค้า แนวคิดการพัฒนารองรับทุนนิยมอุตสาหกรรม แนวคิดการเปิดเสรีทางการเงินและกำไรสูงสุดรองรับเสรีนิยมใหม

  • การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของไทยเป็นผลจากพลังของระบบทุนนิยม

  • ลัทธิเสรีนิยมใหม่เป็นที่มาของความไม่เท่าเทียมในสังคม

 

ลัทธิเสรีนิยมใหม่ยังเป็นสิ่งที่ต้องศึกษา การเกิดขึ้นและมีอยู่ของมัน ไม่เพียงแต่ครอบงำโลกและไทย แต่ยังสร้างความเหลื่อมล้ำให้ถ่างกว้างขึ้น และไทยในฐานะผู้รับแนวคิดนี้มาโดยยังไม่แน่ใจว่าจะรับมือหรือใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร ผลสุดท้ายอาจก่อผลกระทบที่เป็นลบมากกว่าเป็นบวก

กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด นักวิชาการรัฐศาสตร์ อธิบายความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างไทยกับระบบทุนนิยมโลกจนถึงลัทธิเสรีนิยมใหม่ในงานเสวนาหัวข้อ ‘ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์’ ที่จัดขึ้นโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา

คลิปอภิปรายโดยกุลลดา เกษบุญชู-มี้ด "ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์"

 

ทุนนิยมการค้า

แนวคิดที่สำคัญที่สุดวันนี้คือเรื่องทุนนิยม โดยจะขอเสนอก่อนว่า คำว่า โลกาภิวัตน์ เป็นแนวคิดหนึ่งของระบบทุนนิยมที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเราขณะนี้ ถ้าเราย้อนดูวิวัฒนาการทุนนิยมจะเข้าใจมากขึ้น ในอดีตทุนนิยมสร้างแนวคิดที่จะรองรับระบบการทำงานของตนมาโดยตลอด อาจต้องย้อนดูทุนนิยมรูปแบบแรกคือทุนนิยมการค้า (Commercial Capitalism) ไทยเจอกับทุนนิยมการค้าเมื่ออังกฤษ โดยคณะทูตเบาริ่งมาบอกให้เราต้องเปิดประเทศ แนวคิดที่อังกฤษใช้คือการค้าเสรี จะเห็นว่าทุนนิยมการค้ามีแนวคิดเรื่องการค้าเสรีรองรับ

การค้าที่ถูกมองว่าไม่เสรีในทัศนะของอังกฤษคือเรามีกำแพงภาษี เราเก็บภาษีจากพ่อค้าสัญชาติต่างๆ ต่างกัน เราต้องทำลายกำแพงภาษีลง ดังนั้น หัวใจของการเข้ามาทำสนธิสัญญาเบาริ่งคือการเรียกร้องให้เราลดกำแพงภาษี

ใครอยู่เบื้องหลังการทำสนธิสัญญาการค้าฉบับนี้ ก็มีผู้นำไทยสองกลุ่มคือบุนนาคผู้พี่ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายที่ต่อต้านคือบุนนาคผู้น้อง ซึ่งเป็นผู้คุมพระคลังสินค้า ดูแลเจ้าภาษีนายอากรทั้งหลาย ผู้ที่จะเสียประโยชน์จากสนธิสัญญาเบาริ่งก็คือเจ้าภาษีนายอากร ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์คือผู้ที่ทำการค้าที่ต้องการเปิดการค้าใหม่ๆ กับอังกฤษ โดยเฉพาะการค้าข้าวซึ่งเป็นสินค้าตัวสำคัญและเป็นที่ต้องการของระบบทุนนิยมโลก ความต้องการนี้จึงก่อให้เกิดการผลิตข้าวในลุ่มแม่น้ำสำคัญคือเจ้าพระยา อิรวะดี และโขง

ดิฉันเห็นว่าความต้องการนี้เกิดขึ้นเพราะข้าวเป็นที่ต้องการในยุโรป ขณะเดียวกันแหล่งผลิตข้าวของโลกในบริเวณอิตาลีเหนือและอเมริกาเกิดสงครามกลางเมือง จึงมีความต้องการข้าวจำนวนมากจากภูมิภาคนี้ เป็นที่มาของการเรียกร้องจากทุนนิยมการค้าที่มีต่อภูมิภาคนี้ ไม่ใช่เฉพาะไทย

เมื่อมีข่าวลือว่าเบาริ่งจะเข้ามาก็ก่อให้เกิดการแตกตื่นมาก ผู้เสียประโยชน์คือเจ้าภาษีนายอากร ถึงกับมีการลงขันสร้างโซ่ขนาดใหญ่ขึงกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้อังกฤษเข้ามา แต่ในที่สุดฝ่ายที่ต้องการทำสนธิสัญญาเบาริ่งก็เป็นฝ่ายชนะ เป็นชัยชนะที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของกษัตริย์พระองค์ใหม่คือรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีหลักฐานว่าตระกูลบุนนาคเลือกรัชกาลที่ 4 ซึ่งไม่มีผลประโยชน์อะไรในโครงสร้างเศรษฐกิจตอนนั้น ผลกระทบที่ตามมาทันทีจากการลดภาษีลงคือรายได้รัฐตกต่ำ เจ้าจอมทั้งหลายที่เป็นลูกหลานของเจ้าภาษีนายอากรก็ไปกล่าวโทษกับรัชกาลที่ 4 กระทั่งเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยะวงศ์เข้าหน้ารัชกาลที่ 4 ไม่ติดไปพักใหญ่ ในเอกสารก็มีคำกล่าวของรัชกาลที่ 4 ว่าฟรีเทรดคืออะไร เป็นประโยชน์อย่างไร ตอนนี้เศรษฐกิจยับเยินไปเพราะฟรีเทรด แต่ไม่นานเมื่อรายได้รัฐเพิ่มขึ้นจากการค้าขายกับอังกฤษก็ทำให้เรื่องนี้ตกไป

ประเด็นต่อมาคือแล้วเราจะจัดการแรงงานในประเทศอย่างไร ถ้าเราจะเป็นผู้ผลิตให้กับตลาดโลก จึงมีความคิดว่าต้องปลดปล่อยไพร่ทาสให้เป็นอิสระ เพื่อให้เป็นผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญของรัชกาลที่ 5 ในการปฏิรูปทั้งหมด การปฏิรูปเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไม่ให้การสนับสนุนในตอนต้น องค์กรสำคัญที่รัชกาลที่ 5 ใช้คือเคาน์ซิล สเตท (Council State) มีหลักฐานว่าวันที่มีการประชุมเคาน์ซิล สเตทวันแรก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็มากล่าวเปิดว่าสิ่งที่ต้องการเห็นคือให้ไพร่ทาสเป็นผู้ผลิตอิสระ แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไม่ตระหนักว่าสิ่งที่รัชกาลที่ 5 ต้องการไปไกลกว่านั้น ท่านต้องการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่สถาบันกษัตริย์ ซึ่งต้องต่อสู้กันเป็นเวลานาน และในที่สุดรัชกาลที่ 5 ก็ประสบความสำเร็จ ทำให้อำนาจของตระกูลบุนนาคในการคุมทรัพยากรค่อยๆ ถอยไป สถาบันกษัตริย์ก็สามารถคุมทรัพยากรสำคัญในสังคม รวมถึงขยายอำนาจของรัฐไปแตะในบริเวณต่างๆ ซึ่งสยามไม่เคยมีอำนาจมาก่อน

เหล่านี้คือเบื้องต้องของการเปลี่ยนแปลงจากรัฐศักดินามาสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือว่ารัฐสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขว่าเรามีรายได้ที่เป็นตัวเงินมากพอที่จะทำให้พระมหากษัตริย์สร้างรัฐรวมศูนย์ได้เป็นครั้งแรก”

ทุนนิยมอุตสาหกรรม

ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราไปสัมพันธ์กับระบบทุนนิยมอีกชุดหนึ่ง ซึ่งก็คือสหรัฐฯ สหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นประเทศที่มีอำนาจในระบบทุนนิยมด้วยความสำเร็จในอุตสาหกรรม สหรัฐฯ เป็นผู้นำด้านทุนนิยมอุตสาหกรรม (Industrial Capitalism) ความคิดที่จะเอาทุนนิยมอุตสาหกรรมไปขยายในประเทศด้อยพัฒนาปรากฏครั้งแรกในคำพูดของทรูแมนปี 1948 ที่ว่า มันเป็นพันธกิจของประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศด้อยพัฒนา ขอให้สังเกตว่าเป็นครั้งแรกที่แนวคิดเรื่องการพัฒนาปรากฏเป็นเครื่องแบ่ง จัดระดับ ประเทศต่างๆ ในโลกว่ามีประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่ด้อยพัฒนา แต่ก่อนเป็นประเทศเจ้าอาณานิคมกับประเทศอาณานิคม ยังไม่มีแนวคิดเรื่องการพัฒนา คำว่า Development ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่มารับทุนนิยมอุตสาหกรรม เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไปที่วอชิงตัน ผู้นำสหรัฐก็ใส่ความคิดนี้ในตัวผู้นำไทย คุณต้องพัฒนาประเทศ ตอนนั้นยังไม่มีคำนี้ในภาษาไทย แต่เราก็เปิดรับแนวคิดเรื่องการพัฒนาในปลายทศวรรษที่ 1950

สหรัฐฯ เล็งประเทศไทยว่าเป็นพื้นที่ที่อยากขยายมาหาผลประโยชน์อยู่แล้ว เป็นเหตุผลสำคัญที่สหรัฐฯ ไม่รับไทยเป็นคู่สงครามจากการที่ไทยประกาศสงครามในสงครามโลกครั้งที่ 2 เราจึงไม่ถูกบังคับด้วยเงื่อนไขจากการเป็นประเทศแพ้สงคราม สหรัฐฯ มองภูมิภาคนี้ในฐานะแหล่งทรัพยากรให้กับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจะเป็นป้อมปราการของทุนนิยมที่จะยันจีนที่กลายเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 1949 มีความคิดว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรมีการรวมตัวกันหรือไม่ในทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับทุนนิยมญี่ปุ่น แต่ความคิดนี้ตกไปเพราะประเทศในภูมิภาคนี้ต่างก็ถูกญี่ปุ่นทำร้ายในสงครามโลก การจะให้รวมเป็นภูมิภาคทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่นจึงไม่เป็นผล

แต่สหรัฐฯ ยังมองว่าภาคเกษตรของไทยน่าจะเป็นประโยชน์ต่อญี่ปุ่นได้ เพราะฉะนั้นโครงการกู้ที่ธนาคารโลกให้แก่ไทยจึงเป็นโครงการที่ส่งเสริมภาคเกษตรกรรมและเป็นการส่งเสริมให้สินค้าเกษตรของไทยลงเรือไปถึงภายนอกได้ ก็มีตั้งแต่โครงการชลประทาน พอผลิตแล้วก็ต้องส่งไปถึงท่าเรือ ก็ให้เงินกู้พัฒนารถไฟ เมื่อไปถึงท่าเรือแล้วก็ต้องมีท่าเรือที่ทันสมัย จึงมีเงินกู้สำหรับพัฒนาท่าเรือแห่งประเทศไทย เราถูกกำหนดบทบาทโดยระบบทุนนิยมโลกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ที่สำคัญที่สุดเมื่อแนวคิดเรื่องการพัฒนาชัดเจนขึ้น ธนาคารโลกก็เดินสายไปประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ บอกว่าไปสำรวจภาวะเศรษฐกิจ แต่จริงๆ แล้วมีใบสั่งเหมือนกันคือคุณเป็นประเทศยากจนเพราะเป็นประเทศเกษตรกรรม จะออกจากความยากจนคุณก็ต้องพัฒนาอุตสาหกรรม การจะพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นต้องพัฒนาโดยเอกชน ต้องเป็น Private Capital เพราะฉะนั้นคุณต้องยกเลิกรัฐวิสาหกิจที่ทำมาทั้งหมด และเปิดภาคอุตสาหกรรมให้เอกชนเข้ามาลงทุน เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ พูดกับทุกประเทศในภูมิภาคที่เข้าไปได้ ยกเว้นประเทศคอมมิวนิสต์ในตอนนั้น

ในส่วนของไทยต้องใช้เวลานาน ต้องรอจนเปลี่ยนผู้นำ เพราะในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ฐานอุตสาหกรรมสำคัญคือรัฐวิสาหกิจ รอจนถึงจอมพลสฤษดิ์ แต่ก็มีการเจรจาที่ยืดเยื้อมากกว่าที่ผู้นำไทยจะเข้าใจและยอมรับ เพราะตอนที่ผู้นำสหรัฐฯ พูดเรื่องการพัฒนา จอมพลสฤษดิ์ก็บอกว่าเงินต้องลงที่อีสาน สหรัฐฯ บอกว่าไม่ใช่ จึงใช้เวลานานมากกว่าเราจะปรับความเข้าใจเรื่องการพัฒนา กว่าที่เราจะยอมรับว่าต้องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องจัดการรัฐวิสาหกิจ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเราบอกว่าไม่มีเงิน สหรัฐฯ บอกไม่เป็นไร เดี๋ยวธนาคารโลกให้กู้ ทั้งหมดนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นจากที่เราไปเชื่อมกับทุนนิยมอุตสาหกรรมภายใต้สหรัฐฯ แต่การเข้ามาของทุนสหรัฐฯ ไม่ยั่งยืน เพราะมีสงครามเวียดนาม สุดท้ายแล้วทุนญี่ปุ่นก็ได้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่สหรัฐฯ มาสร้างไว้ให้

ในกระบวนการเตรียมตัวให้พร้อมรับทุนสหรัฐฯ ก็เกิดรัฐวิสากิจอีกแบบหนึ่ง เป็นรัฐวิสาหกิจที่ก่อให้เกิดสาธารณูปโภคทั้งหลาย ไฟฟ้า โทรศัพท์ เป็นรัฐวิสาหกิจคนละแบบที่เกิดภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. ที่บอกว่าต้องเลิกให้หมด รัฐวิสาหกิจที่บอกให้เราสร้าง ถึงอีกยุคหนึ่งก็บอกว่าต้องเลิก

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 [คลิป]

ผาสุก พงษ์ไพจิตร: ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 [คลิป]

ลัทธิเสรีนิยมใหม่

แต่ก่อนจะไปตรงนั้น เรากลับมาดูการทำงานของทุนนิยมที่ศูนย์กลางภายใต้สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอยู่ภายใต้ความคิดของเคนส์ที่เน้นบทบาทรัฐเข้ามาแทรกแซง จัดการ กับระบบเศรษฐกิจที่มีปัญหาเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า แต่ก็มีลักษณะที่สำคัญที่เราต้องเข้าใจว่ามันเป็น Regulated Capitalism เป็นทุนนิยมที่มีการตั้งกฎเกณฑ์จำนวนมาก ถูกพันธนาการและระเบิดขึ้นในช่วง 1970 เป็นต้นมา

ทุนนิยมแบบนี้ก่อให้เกิดผลอะไร มันทำให้แรงงานมีสวัสดิการในระบบการผลิต อิทธิพลของระบบนี้ไปเกิดในสแกนดิเนเวีย ในอังกฤษด้วยอิทธิพลของขบวนการแรงงาน ของพรรคแรงาน แต่ไม่ค่อยมีอิทธิพลมากเท่าไหร่ในสหรัฐฯ มันเป็นระบบที่ทำให้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เพราะมีการเฉลี่ยผลของการผลิตไปถึงแรงงานด้วย ทุนต้องยอมรับส่วนเฉลี่ยนี้ ผลของมันคือทำให้กำไรน้อยเกินไป จึงเกิดการดิ้นรนออกจากระบบนี้

“อยากจะสรุปว่าเราอยู่กับเสรีนิยมใหม่และมันเป็นที่มาของความไม่เท่าเทียมในสังคม คนจำนวนมากอยู่ในภาวะที่แทบจะประคองตัวได้ยาก ขณะที่ความมั่งคั่งกระจุกกับคนกลุ่มเล็กๆ และสิ่งนี้กำลังเกิดกับไทย"

 

ทุนนิยมอเมริกาก็อยู่ภายใต้ลัทธิเสรีนิยม พอจะดิ้นรนออกจากระบบนี้ก็เลยต้องสร้างลัทธิหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาของระบบทุนนิยมที่กำไรไม่มากพอ ก่อตัวเป็นความคิดและนำไปทดลองในประเทศต่างๆ แล้วในที่สุด มาร์กาเร็ต แธชเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กับโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เอาไปใช้ในประเทศของตน เป็นกำเนิดของลัทธิเสรีนิยมใหม่

กลับมาที่เมืองไทย ขณะที่ประเทศที่รับทุนนิยม ดูแลแรงงานดีภายใต้ลัทธิเสรีนิยม แต่ตอนที่เราเปิดรับทุนนิยมของสหรัฐฯ จอมพลสฤษดิ์ก็ออกกฎหมายควบคุมแรงงาน แรงงานเราจึงไม่ได้สิทธิอะไรเลยภายใต้ทุนนิยมอุตสาหกรรม เพราะเราเป็นผู้ตามที่ดี เขาบอกให้ทำอะไร เราก็ทำ เราไม่ได้อานิสงค์ที่มากับทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก นอกจากนั้น เรายังจัดการให้ภาคเกษตรไม่ได้ประโยชน์ด้วยการกดราคาข้าวในประเทศให้ต่ำ และเก็บภาษีจากข้าวที่ส่งออกด้วยกลไกที่เรียกว่าพรีเมี่ยม แต่ข้าวในประเทศไม่ถูกเก็บภาษี ราคาข้าวในประเทศจึงต่ำ อย่างน้อยคนงานในประเทศยังมีข้าวกิน แต่สวัสดิการอื่นๆ ไม่ได้รับการดูแล

อยากจะตั้งเป็นข้อสังเกตว่า เวลาที่เราเปิดรับทุนนิยม ผู้นำไทยไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีว่าส่วนไหนที่เราจะได้ประโยชน์แก่ส่วนร่วม แก่สังคม และจะมีข้อเสียยังไง ตอนนี้ก็มีคนวิจารณ์นโยบายมากมาย ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่มีผู้นำที่คิดเรื่องนี้ ถ้าเราจะอยู่กับทุนนิยม เราต้องรู้ว่าจะตั้งรับอย่างไร แต่ที่ดิฉันศึกษามาถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นว่าเราจะรักษาผลประโยชน์จากทุนนิยมนี้อย่างไร ทั้งที่เราก็เปิดรับมาเต็มที่

ทุนนิยมภายใต้สหรัฐฯ เป็น Regulated Capitalism กฎเกณฑสำคัญข้อหนึ่งคือการควบคุมการไหลของเงิน ทุนนิยมการเงินมองว่าการควบคุมการไหลของเงินเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างมากในการทำธุรกิจ เมื่อเกิดลัทธิเสรีนิยมใหม่ เงื่อนไขสำคัญที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงคือต้องการให้เปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่าองค์ประกอบสำคัญของลัทธิเสรีนิยมใหม่ประกอบด้วย Deregulation, Privatization, Stabilization และLiberalization

การทำงานของเสรีนิยมใหม่ที่เข้ามาไทยครั้งแรก ดิฉันเข้าใจว่าหัวใจสำคัญเสรีนิยมใหม่คือการเปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งก็เข้าใจไม่ผิด แต่ลืมนึกไปว่าแล้วส่วนอื่นคืออะไร ที่จริงแล้วหัวใจของเสรีนิยมใหม่คือ Maximize Profit คือทำอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด อุตสาหกรรมของประเทศพัฒนาแล้วพบว่าไม่สามารถทำกำไรสูงสุดได้ ถ้ายังอยู่ในประเทศ ดังนั้น ความคิดส่วนหนึ่งของเสรีนิยมใหม่คือการที่ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ สนับสนุนอุตสาหกรรมอีกประเภทหนึ่ง คือตอนที่เปิดรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ เราอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ Import Substitution Industry คือสร้างกำแพงภาษีไว้สูงๆ เพื่อให้สินค้าภายในสามารถเติบโตได้ พอถึงตอนนี้ ประเทศพัฒนาแล้วบอกว่าแรงงานอยู่ดีกินดีเกินไป กำไรของนายทุนไม่พอ สิ่งที่ทำคือสนับสนุนให้ทุนออกไปลงทุนในประเทศที่มีแรงงานราคาถูก จึงเกิดยุทธศาสตร์ใหม่ขึ้นมา เรียกว่า Export Orientation Industry เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์โดยสหรัฐฯ ทั้งนั้นเลย

อยู่ดีๆ เราจะรับเงื่อนไขนี้มาก็ลำบาก เพราะเราก็มีอุตสาหกรรมภายในของเรา ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมที่สำคัญของเราคือวิทยุธานินทร์ที่ได้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์เก่าที่มีกำแพงภาษีปกป้อง พอเราเริ่มเปิดรับยุทธศาสตร์ใหม่ มันก็ต้องมีวิกฤตก่อน เราเกิดวิกฤตค่าเงินในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เวลาที่เราต้องรับเงื่อนไขเหล่านี้ ดิฉันใช้คำว่าเราก็ไปต้องกู้เงิน ดิฉันไม่ใช่คำว่ารับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟเป็นอันขาด เรากู้เงินมาด้วยเงื่อนไขบางประการ ซึ่งทำให้เราต้องเปิดรับยุทธศาสตร์ของเสรีนิยมใหม่ ตรงนี้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนภายในที่สำคัญในยุคทศวรรษที่ 1980 กำแพงภาษีที่เคยตั้งไว้ก็ต้องลงให้หมด ถึงตอนนี้พออุตสาหกรรมจะเข้ามา มีเครื่องจักรเข้ามา มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมทั้งหลาย และไม่ได้ผลิตเพื่อตลาดภายในแต่ผลิตเพื่อตลาดภายนอก

ขอเน้นให้เห็นความสำคัญของยุทธศาสตร์แรกว่าที่ยุทศาสตร์เน้นตลาดภายในเวิร์คได้ เพราะเศรษฐกิจไทยบูมจากสงครามเวียดนามและจากการค้าสินค้าเกษตรที่สำคัญอย่างข้าวในช่วงทศวรรษที่ 1960 แต่ไม่เวิร์คในประเทศที่ตลาดแคบเช่นในมาเลเซีย ดังนั้น จึงต้องทำให้ตลาดใหญ่ขึ้นด้วยการรวมกับสิงคโปร์ในช่วงสั้นๆ แต่อยู่กันไม่ได้ทางการเมืองก็เลยแยกไป แล้วสิงคโปร์ก็หันมาเป็นหัวหอกสำคัญในการเน้นอุตสาหกรรมส่งออกเป็นประเทศแรกๆ นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์เป็นเสือของเอเชีย

อยากชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างใหญ่ๆ ในสังคมไทย มันมีที่มาจากการเปิดรับทุนนิยมภายนอกตลออดมา

พอถึงยุค 1990 เมื่อเขาบอกให้เราเปิดรับ เราก็รับบ้าง ไม่รับบ้าง มันมีพลังของอุตสาหกรรมภายในที่ต่อต้านยุทธศาสตร์ใหม่นี้ แต่ในที่สุดเราก็เปิดรับเมื่อญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วยในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 ตรงนี้เป็นตัวแบ่งที่สำคัญ ก่อนญี่ปุ่นมาเศรษฐกิจไทยแย่มาก แล้วเราก็รุ่งเรืองมากในช่วงหลัง 1980 เพราะเราเริ่มขยายฐานอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐฯ มาบอกให้เราลงทุนในสาธารณูปโภคเอาไว้ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้

สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการคือการเปิดเสรีทางการเงิน แล้วก็มีกระบวนการอย่างช้าๆ รัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน ก็ช่วยในการเปิดเสรีมาก แล้วต้องไปศึกษาบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในยุค 1990 ว่ามีการเปิดเสรีไปแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องบีไอบีเอฟหรือกิจการวิเทศธนกิจ ทุกคนรู้ว่าสมัยนั้นมีเงินเข้ามามหาศาล นั่นเป็นอิทธิพลจากความต้องการของทุนนิยมการเงินที่จะหาประโยชน์ เนื่องจากมีส่วนเกินที่เป็นตัวเงิน มันก็ต้องหาที่ลง ใครๆ สมัยนั้นก็บอกว่าต้องไปกู้จากเมืองนอก เพราะอัตราดอกเบี้ยในไทยสูงมาก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเมืองนอกก็ต่ำมาก ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่วิกฤตการเงิน

เมื่อเราเริ่มเปิดเสรีทางการเงิน ต้นศตวรรษ 1990 ก็เกิดคำว่าโลกาภิวัตน์ สาธารณะถูกทำให้รับรู้ว่ามีปรากฏการณ์ใหม่นี้ คนก็บอกว่าเป็นเพราะการติดต่อสื่อสารเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จริงๆ แล้วคำว่า โลกาภิวัตน์ มีขึ้นเพื่อรองรับการที่เงินจะเคลื่อนไหวข้ามพรมแดนได้ วาระที่สำคัญของสหรัฐฯ ก็ยังเป็นเรื่องของการเปิดเสรีทางการเงินอยู่ หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ เรามีการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐที่เชียงใหม่ ลูกศิษย์ดิฉันที่อยู่ในกระบวนการเจรจาก็มาเล่าให้ฟัง เขาบอกว่าถ้าเราไม่เปิดเสรีทางการเงินเหมือนสิงคโปร์ ไม่ต้องพูดเรื่องเอฟทีเอกัน นั่นเป็นสาเหตุที่เรายังไม่มีเอฟทีเอกับสหรัฐฯ แสดงว่าข้าราชการไทยที่เจรจากับสหรัฐฯ ก็ไม่มีความเข้าใจวาระของลัทธิเสรีนิยมใหม่

วิกฤตเศรษฐกิจของเรา ลูกศิษย์ดิฉันบอกว่าเพราะเรายังเปิดเสรีไม่พอ ดิฉันเลยทำการศึกษาว่าวิกฤตเศรษฐกิจของเราเกิดขึ้นได้อย่างไร อยากจะบอกว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ที่สำคัญที่สุดคือวิกฤตทั้งหลายจะทำให้บริเวณที่มีวิกฤตต้องเปิดรับลัทธิเสรีนิยมใหม่ เป็นข้อถกเถียงสำคัญของดิฉันในหนังสือที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ เขาบอกให้เราแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ ยกเว้นที่เจอพลังต่อต้านจากข้างในมากๆ รัฐบาลก็ต้องถอย แต่อะไรที่ทำได้เลย เราก็ทำไปเซื่องๆ ตามที่เขาบอกให้ทำ แต่วิธีการของเขาก็ไม่ธรรมดา คนในกระทรวงการคลังเขียนเล่าไว้ว่ามีเจ้าหน้าที่จากธนาคารโลกมานั่งประกบอยู่

ดิฉันอยากให้มองทุนนิยมเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่สำคัญ เขาอาจจะใช้วิธีชักชวน แต่ก็มีการบังคับอยู่ด้วย มันไม่ได้ลอยมา เป็นประโยชน์ให้เรารับ แต่เป็นเรื่องกำหนดบทบาทให้เราทำหน้าที่บางอย่างในระบบเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของเขาและเขาจะบอกว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

การเปิดเสรีมีเงื่อนไขว่าเราต้องทำให้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ในปี 1995 มีปรากฏการณ์หนึ่งที่สำคัญมากคือสหรัฐฯ ขึ้นค่าเงินดอลล่าร์โดยไม่มีเหตุผลภายใน ปี 1996 เกิดอาการส่งไม่ออกทั่วทั้งภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทยด้วย ทำให้เกิดการไหลออกของเงินที่เข้ามา แล้วยังมีคนที่ทำนโยบายที่ทำให้เงินยังไหลออก ด้วยการทำสว็อป มันมีหลายกระบวนการที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทางการเงิน ทำให้เงินสำรองของเราที่มีจำนวนมหาศาลยุบลงอย่างรวดเร็ว เราต้องกู้เงินไอเอ็มเอฟ และทำให้เราต้องเข้าสู่การดำเนินนโยบายของเสรีนิยมใหม่

โลกาภิวัตน์กับเสรีนิยมใหม่เป็นสองด้านของเหรียญ มันเป็นแนวคิดที่ยังไม่แพร่หลาย กระทั่งมันออกฤทธิ์กับเศรษฐกิจอเมริกันในปี 2008 แต่ก่อนวิกฤตนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีกระบวนการทำให้รายได้ของแรงงานสหรัฐฯ ลดลงหรือคงที่ มันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกำไรสูงสุดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามระบบเคนส์อีกต่อไป คนอเมริกันต้องมีสองงานถึงจะพออยู่ได้ การซื้อบ้านก็ลืมไปเลย แต่ทุนการเงินก็ยังสนับสนุนให้คนซื้อบ้านทั้งที่จะเลี้ยงชีพตัวเองก็ลำบากแล้ว มันจึงเกิดการบูมของเงิน การผลิตไม่ได้ผลิตตามความต้องการ แต่ผลิตเพื่อให้คนต้องบริโภค รายได้ก็ต่ำลง จะทำยังไง ก็ต้องสร้างเครดิต ก่อนเกิดวิกฤตจึงมีการขยายตัวของบัตรเครดิต สนับสนุนให้คนเป็นหนี้ ให้คนซื้อบ้าน แต่ก็เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทุนการเงิน ในที่สุดก็ปล่อยกู้ให้คนที่ไม่มีความสามารถจะจ่ายคืน มันก็ล้มในปี 2008 คนถึงเริ่มตระหนักถึงคำว่าเสรีนิยมใหม่และปัญหาที่เกิดจากมัน

จุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำ

อยากจะสรุปว่าเราอยู่กับเสรีนิยมใหม่และมันเป็นที่มาของความไม่เท่าเทียมในสังคม คนจำนวนมากอยู่ในภาวะที่แทบจะประคองตัวได้ยาก ขณะที่ความมั่งคั่งกระจุกกับคนกลุ่มเล็กๆ และสิ่งนี้กำลังเกิดกับไทย ถ้าคุณจะมองทักษิณกับเสรีนิยมใหม่ คุณจะเข้าใจเขาอย่างไร คุณทักษิณขึ้นมาด้วยการสร้างนโยบายตามแนวคิดแบบเคนส์ ให้ประโยชน์กับชนชั้นล่าง ขณะเดียวกันก็ผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปตามเสรีนิยมใหม่ด้วย จะเห็นว่าวันที่ทักษิณขึ้นมาด้วยการประกาศนโยบายประชานิยม สหรัฐฯ โจมตีทักษิณมาก แล้วก็ค่อยๆ ลดลง เพราะมองว่าสิ่งที่ทักษิณทำคือการสร้างฐานสนับสนุน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับเสรีนิยมใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย เป็นเผด็จการก็ได้ แล้วแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วไปก็เป็นไปในลักษณะนี้ ไม่ใช่เฉพาะไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเผด็จการสอดคล้องกับเสรีนิยมใหม่ได้ดีกว่าประชาธิปไตยที่ต้องเอาใจคนข้างล่าง

สหรัฐฯ สร้างแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยว่า คุณก็เป็นประชาธิปไตยไป แต่ไม่ต้องเป็นประชาธิปไตยที่กลับไปเอาใจคนข้างล่าง ดังนั้น เผด็จการสอดคล้องกับการส่งเสริมผลประโยชน์ของทุนนิยมตามแบบเสรีนิยมใหม่ได้ดีกว่าระบอบประชาธิปไตย

ดิฉันอยากให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย เราถามคำถามว่าทำไมรัฐประหารครั้งนี้อยู่นาน และตอนนี้ก็เกิดระบบที่เป็นเผด็จการขึ้นในบริเวณสำคัญของโลก รวมทั้งในอเมริกาด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท