Skip to main content
sharethis

5 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' ระบบศาลอาญาระหว่างประเทศ ท่าทีพม่าต่อโลกที่รายล้อม เมื่อองค์การสหประชาชาติออกรายงานกรณีกองทัพพม่าใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ถือว่าเป็นฉบับที่ดุดันที่สุด ถึงกับออกชื่อนายทหาร กล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

บ้านชาวโรฮิงญาที่ถูกเผาในรัฐยะไข่ (ที่มา: wikipedia)

เป็นเวลาราว 1 ปีได้แล้วที่รัฐบาลพม่าใช้ความรุนแรงเข้าขับไล่ชาวโรฮิงญาในพื้นที่รัฐยะไข่ คละคลุ้งไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รายงานความทารุณเป็นปึกๆ จากนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศมากมาย รัฐบาลและกองทัพพม่าก็ตอบโต้ด้วยการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ในขณะที่ตัวเลขชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยออกจากพม่าพุ่งสูงถึง 7 แสนคน ยังไม่รวมคนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทั้งการปล้น ฆ่า ข่มขืนอีกจำนวนมากในนามปฏิบัติการกวาดล้าง (Clearance operation) จากกองทัพพม่า

เมื่อ 27 ส.ค. 2561 องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกแถลงการณ์สืบเนื่องจากรายงานของคณะทำงานอิสระค้นหาความจริงกรณีพม่าขององค์การสหประชาชาติ (IIFFMM) เรียกร้องให้มีการนำตัวผู้นำของกองทัพพม่าขึ้นไต่สวนที่ศาลอาญาระหว่างประเทศในความผิด 3 ข้อหา ได้แก่อาชญากรสงคราม อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

รายงานระบุว่าปฏิบัติการของกองทัพพม่า รวมถึงกองกำลังรักษาความมั่นคงอื่นๆ ที่กระทำในพื้นที่รัฐยะไข่ ฉาน และคะฉิ่น หนักหนาสาหัสเทียบเท่ากับอาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุดที่บัญญัติไว้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยปฏิบัติการที่ใช้การฆ่า กักขัง อุ้มหาย ซ้อมทรมาน ข่มขืน การบังคับให้ร่วมเพศแบบทาส (Sexual slavery) ความรุนแรงทางเพศแบบอื่นๆ รวมถึงบังคับให้เป็นแรงงานทาสอย่างเป็นระบบ

“ความจำเป็นทางทหารไม่มีวันที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการฆ่า การรุมข่มขืนผู้หญิง การฆ่าเด็กและการเผาหมู่บ้านแบบไม่เลือกหน้าได้ ยุทธวิธีของกองทัพพม่ามีความเกินสัดส่วนกับภัยคุกคามที่มีอยู่จริง โดยเฉพาะในกรณีรัฐยะไข่และตอนเหนือของพม่า” รายงานระบุ

“ระดับของการทำตัวเพิกเฉย ลอยนวลและปฏิเสธของกองทัพพม่าอยู่ในระดับที่น่าใจหาย ภาวะดูถูกดูแคลนชีวิต เสรีภาพและบูรณภาพของมนุษย์ รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศควรเป็นเรื่องที่ประชากรทั้งหมดกังวล”

รายงานยังระบุว่าอาชญากรรมในรัฐยะไข่มีลักษณะของการสังหารหมู่และการเนรเทศ ซึ่งคล้ายคลึงกับการเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจงใจให้เกิดการสร้างและแผ่ขยายเรื่องราวที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง เกิดบริบทที่มีความกดขี่ข่มเหงจากคำพูดของผู้ก่อการและนโยบายแบบกีดกันคนกลุ่มหนึ่ง รวมถึงความพยายามในการแก้ไของค์ประกอบเชิงประชากรในรัฐยะไข่ที่วางแผนและกระทำขึ้นอย่างเป็นระบบ

รายงานของ IIFFMM ได้กล่าวหาบุคคลเหล่านี้ว่าเป็นผู้ก่อการพลเอกอาวุโส มิ่น อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า และผู้บัญชาการหน่วยที่ลดหลั่นลงมาในฐานะผู้ที่ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ปฏิบัติงานโดยตรง แต่รายนามผู้ถูกกล่าวหาฉบับเต็มจะถูกส่งไปอยู่กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

รายงานยังได้กล่าวถึงรัฐบาลพลเรือนพม่าว่าแม้จะมีอำนาจควบคุมกิจการกองทัพอยู่น้อย แต่ก็ไม่เห็นว่าอองซานซูจี ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลในทางปฏิบัติ จะใช้อำนาจที่มีอยู่ทั้งในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และอำนาจที่เธอมีในทางศีลธรรมในการควบคุมความรุนแรงที่เกิดขึ้น นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่พลเรือนยังทำหน้าที่แพร่กระจายข้อมูลเท็จ ช่วยกองทัพพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ และยังช่วยดูแลการทำลายหลักฐานอีกด้วย รัฐบาลพลเรือนจึงถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นด้วย

รายงานได้มีข้อเสนอแนะหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการให้นานาประเทศกดดัน ช่วยกันรวบรวมหลักฐานการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลพม่า และสนับสนุนให้ทางการพม่ารับผิดชอบกับความรุนแรงที่กระทำด้วยการชดเชย เยียวยาเหยื่อและนำผู้กระทำออกมารับผิดชอบ ทั้งยังเสนอแนะให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เสนอกรณีพม่าให้เป็นคดีบนศาลอาญาระหว่างประเทศหรือจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกิจขึ้นมารองรับกรณีพม่าโดยเฉพาะดังเช่นที่เกิดขึ้นกับกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาและยูโกสลาเวีย และให้แบนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการกวาดล้างในพม่าผ่านการห้ามเดินทาง แช่แข็งทรัพย์สิน และคว่ำบาตรการซื้อขายอาวุธกับพม่าอีกด้วย

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการส่วนทวีปเอเชียขององค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า รายงานดังกล่าวทรงพลัง และมีข้อเสนอแนะที่ชัดเจนถึงขั้นตอนที่จำเป็นในการทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น ซึ่งดีกว่าการออกแถลงการณ์แสดงความกังวลและประณามที่เคยทำมาซึ่งไม่ได้ผลและยิ่งทำให้วัฒนธรรมความรุนแรงและการกดขี่ในพม่าเข้มข้นขึ้น

ทิรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการด้านการตอบสนองต่อวิกฤตขององค์กรสิทธิมนุษยชนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแสดงความเห็นต่อรายงานดังกล่าวว่า เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าทางการพม่าไม่สามารถนำตัวผู้รับผิดชอบต่ออาชญากรรมครั้งใหญ่มารับผิดได้ จึงเป็นหน้าที่ของประชาคมโลกที่จะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งหากประชาคมโลกทำไม่ได้ก็จะเป็นการส่งสัญญาณถึงกองทัพพม่าว่า นอกจากพวกเขาสามารถจะลอยนวลพ้นผิดจากปฏิบัติการอันโหดร้ายแล้ว ยังหมายถึงว่าพวกเขาสามารถก่อความรุนแรงเช่นนี้ได้อีก

ด้านสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (Forum Asia – Asian Forum for Human Rights and Development) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชียออกแถลงการณ์เห็นชอบกับรายงานของ IIFFMM และระบุว่า ถ้ายูเอ็นไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาในพม่าได้อย่างดีพอ ซึ่งที่ผ่านมาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำได้ไม่ดีพอ ก็จะถือเป็นความล้มเหลวอย่างถาวรในฐานะที่เป็นองค์กรโลกบาล

รายงานของคณะค้นหาความจริงครั้งนี้ถือเป็นท่าทีของยูเอ็นที่ดุดันกว่าที่เคยเป็นมา สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่า รายงานจากหน่วยงานของยูเอ็นเล่มนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงการกระทำของกองทัพพม่าต่อชาวโรฮิงญาว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้น ส่วนบีบีซีก็ระบุว่าเป็นครั้งแรกของกรณีโรฮิงญาที่ยูเอ็นมีการกล่าวหาตัวบุคคลอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่การจะนำตัวทหารเหล่านั้นไปรับผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้นอาจใช้เวลายาวนาน สิ่งที่ควรรู้ในการทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีอยู่ 5 เรื่อง

1. รู้จัก ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

สื่อต่างชาติใหญ่ๆ ต่างพุ่งความสนใจไปที่เนื้อหารายงานที่ระบุว่าผู้กระทำความผิดควรถูกนำขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศในข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นพิเศษ

คำว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ถูกพูดถึงครั้งแรกในหนังสือของราฟาเอล เลมคิน นักกฎหมายเชื้อสายยิว-โปแลนด์ หนึ่งในผู้ลี้ภัยจากนาซีเยอรมันที่เข้ายึดครองโปแลนด์มาอยู่สหรัฐฯ ในปี 2484 เขาให้ความหมายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ว่าเป็น “การกระทำต่างๆ ที่มีการตระเตรียม วางแผนเพื่อเป้าหมายในการทำลายรากฐานอันสำคัญของกลุ่มกลุ่มต่างๆ ของชาติ ด้วยประสงค์ที่จะทำลายล้างกลุ่มๆ นั้น”

ปี 2491 หลายประเทศในโลกที่ช็อคกับความรุนแรงและทารุณกรรมที่เกิดขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาร่วมกันลงนามในอนุสัญญาการป้องกันและการลงโทษอาชญากรรมของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จากนั้นประชาคมโลกจึงได้สถาปนาความหมายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ว่าเป็นการกระทำต่อไปนี้ที่จงใจทำเพื่อทำลายกลุ่มๆ หนึ่งทั้งบางส่วนหรือทุกส่วน

  • การสังหารสมาชิกของกลุ่มหนึ่งๆ
  • ทำอันตรายอย่างร้ายแรงทั้งทางกายภาพและทางจิตแก่สมาชิกกลุ่มหนึ่งๆ
  • ทำความเสียหายต่อคุณภาพของชีวิตที่นำไปสู่การทำลายล้างกลุ่มหนึ่งๆ ทั้งบางส่วนและทุกส่วน
  • บังคับใช้มาตรการคุมกำเนิดในกลุ่มหนึ่งๆ
  • บังคับให้ส่งตัวเด็กจากกลุ่มหนึ่งไปอยู่กับอีกกลุ่มหนึ่ง

ตามอนุสัญญาข้างต้น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ มีประเทศที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวถึง 140 ประเทศ ต่อมาในปี 2541 มีการทำธรรมนูญกรุงโรม นำมาซึ่งการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศและขยายนิยามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ข้อมูลจากหน่วยเฉพาะกิจด้านความไร้สเถียรภาพทางการเมือง หน่วยงานวิจัยและเก็บข้อมูลที่สนับสนุนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ มีข้อมูลว่า ระหว่างปี 2499 - 2559 มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นแล้ว 43 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 50 ล้านคน แทบจะเท่าจำนวนประชากรไทย

2. ศาลอาญาระหว่างประเทศคืออะไร

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เป็นศาลนานาชาติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบสวนและดำเนินคดีกับ ‘ปัจเจกบุคคล’ ที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำอาชญากรรมที่ประชาคมโลกถือว่าเป็นอาชญากรรมที่รุนแรงซึ่งมีอยู่สี่ประเภท ได้แก่

อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ การกระทำใด ๆ ที่เมื่อกระทำในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีอย่างกว้างขวาง หรืออย่างเป็นระบบที่มีเป้าหมายโดยตรงต่อประชาชนพลเรือน และโดยรู้ถึงการกระทำนั้น เช่น การฆาตกรรม การทำลายล้าง การเนรเทศ หรือการบังคับพลเรือนให้โยกย้าย การทรมานหรือข่มขืนกระชำเรา เป็นต้น

อาชญากรสงคราม การกระทำความผิดทั้งที่ผิดอนุสัญญาเจนีวาเรื่องการปฏิบัติต่อเหยื่อสงคราม เชลยศึก ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม และกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธไปจนถึงความขัดแย้งในประเทศ เช่น สงครามกลางเมืองหรือการก่อจลาจล เช่น ปล้นสะดม ซ้อมทรมาน ใช้คนเป็นหนูทดลองทางชีววิทยา นำเด็กมาเป็นทหาร เป็นต้น

การรุกรานประเทศอื่น หมายถึงการวางแผน การตระเตรียมและปฏิบัติการโดยบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อการควบคุมทางทหารหรือการเมืองโดยตรง ซึ่งถือว่าละเมิดกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติ (ที่มา:crimeofaggression.info)

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างทั้งหมดหรือบางส่วนของกลุ่มชนชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือกลุ่มทางศาสนา

3. ระดับความง่ายของการเอาผู้กระทำผิดในพม่ามาขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศมีสองระดับ: ยากกับยากมาก

ศาลอาญาระหว่างประเทศมีขอบเขตการดำเนินงานอยู่กับประเทศที่ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ อีกนัยหนึ่งคือประเทศที่ให้สัตยาบรรณในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทำให้เกิดศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้น แต่พม่าไม่ได้ให้สัตยาบรรณไว้กับธรรมนูญกรุงโรม การนำผู้กระทำความผิดขึ้นไต่สวนได้จึงต้องได้รับการ

พม่าไม่ได้ให้สัตยาบรรณเอาไว้กับธรรมนูญกรุงโรม ในทางกฎหมายระหว่างประเทศจึงไม่ได้มีพันธะอะไรกับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่ในตัวของศาลเองก็ต้องพึ่งพาตำรวจประเทศอื่นและตำรวจนานาชาติอยู่แล้ว

สำหรับวิธีที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดกรณีความรุนแรงในพม่าเป็นคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศได้นั้น อิโมลเกน ฟัลคีส ผู้สื่อข่าวประจำกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ของสำนักข่าวบีบีซีระบุว่าจะต้องอาศัยมติเอกฉันท์จากสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกว่า ‘พีไฟว์’ ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจีนจะใช้สิทธิวีโต้ หรือการคัดค้านข้อเสนอเพื่อให้ข้อเสนอตกไปตามกลไกการตัดสินใจของสมาชิกถาวรที่มีประเทศใดค้านเพียงหนึ่งประเทศก็เพียงพอที่จะทำให้ข้อเสนอถูกปัดตก ซึ่งอิโมลเกนมองว่าจีนคงจะใช้สิทธิวีโต้ อีกทางหนึ่งที่จะหลบการวีโต้ได้ ก็คือการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศแบบชั่วคราวเป็นกรณีเฉพาะ อย่างที่ทำการตั้งศาลระหว่างประเทศกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาและที่ยูโกสลาเวียเดิม ซึ่งสมัชชาใหญ่ของยูเอ็นทำได้ แต่เงื่อนไขคือพม่าจะต้องร่วมมือในการส่งผู้กระทำความผิดไปขึ้นไต่สวนซึ่งอาจใช้เวลาหลายปี

4. พม่าปฏิเสธรายงานของคณะค้นหาความจริง

อย่างที่ทำกับแถลงการณ์ รายงานจากองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์การระหว่างประเทศและรายงานข่าวจำนวนมากในช่วงหนึ่งปีของความรุนแรง รัฐบาลพม่าได้ออกมาปฏิเสธรายงานของคณะค้นหาความจริงในวันนี้ หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาที่เป็นสื่อของรัฐ รายงานถ้อยแถลงของอูซอเธ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีที่ไม่ยอมรับข้อค้นพบของรายงาน เนื่องจากคณะค้นหาความจริงถูกตั้งขึ้นโดยข้อตกลงของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งพม่าได้ประกาศแล้วว่าไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ จากคณะมนตรีฯ ซึ่งพม่าไม่ได้เป็นภาคี นอกจากนั้น ทางการพม่าไม่ได้อนุญาตให้ทีมคณะค้นหาความจริงเข้าประเทศอยู่แล้ว

โฆษกทำเนียบประธานาธิบดียังระบุว่าถ้าจะให้มีการสืบสวนการกระทำความผิดก็ต้องมีคนส่งหลักฐานที่ชัดเจนมา จากนั้นจะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อหาตัวคนผิด

การเรียกหาหลักฐานที่ชัดเจนเช่นนี้ดูเป็นเรื่องปากว่าตาขยิบทันที เพราะเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 วะลง (Wa Lone) และ จ่อซออู (Kyaw Soe Oo) นักข่าวพม่าที่ทำงานให้สำนักข่าวรอยเตอร์ ถูกจับกุมและต่อมาถูกตั้งข้อหาละเมิดมาตรา 3 [1] ความผิดฐานล่วงละเมิดข้อมูลความลับทางราชการหลังทำข่าวกรณีการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา พวกเขาสองคนถูกขังระหว่างดำเนินคดี โดยศาลแขวงในพม่าเพิ่งตั้งข้อหาละเมิดความลับทางราชการให้ทั้งสองเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ นักข่าวทั้งสองถูกคุมขังระหว่างรอพิจารณาคดีมาตลอดตั้งแต่ถูกจับกุม

ฟ้อง 2 นักข่าวรอยเตอร์ 'เผยความลับราชการ' หลังรายงานข่าวสังหารหมู่โรฮิงญา

5. เฟซบุ๊กเร็ว จัดการปิดเพจ แบนผู้ใช้ ปิดช่องสื่อสารทหารและการกระจายความเกลียดชัง

ก่อนที่ประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศจะมีมาตรการใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม เฟซบุ๊ก ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่เดินหน้าก่อนใคร หลังรายงานของคณะค้นหาความจริงออกมา เฟซบุ๊กได้ทำการลบบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 18 บัญชี ลบบัญชีผู้ใช้งานอินสตาแกรมหนึ่งบัญชี ปิดเพจเฟซบุ๊กทั้งสิ้น 52 เพจ และแบนตัวบุคคลและองค์กรเป็นรายจำเพาะอีก 20 คนไม่ให้ใช้เพจและบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ตนเองมีได้ ในจำนวนนั้นรวมถึงมินห์อ่องลาย และสถานีโทรทัศน์เมียวดีที่เป็นของกองทัพอีกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายความเกลียดชังและข้อมูลเท็จ สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า การกระทำของเฟซบุ๊กเป็นการปิดช่องทางหลักของทหารในการสื่อสารต่อสาธารณะ โดยเพจ 52 เพจที่ถูกปิดไปนั้นมีผู้ติดตามทั้งสิ้นเกือบ 12 ล้านคน ทั้งนี้ เฟซบุ๊กไม่ได้ลบข้อมูลบัญชีและเพจที่ถูกปิดไป

โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีของพม่าได้กล่าวว่า จะดำเนินการสอบถามเฟซบุ๊กถึงสาเหตุการแบนบัญชีทั้งหลายเหล่านี้

แปลและเรียบเรียงจาก

Myanmar Rohingya: UN says military leaders must face genocide charges, BBC, Aug. 27, 2018

Removing Myanmar Military Officials From Facebook, Facebook, Aug. 27, 2018

Genocide, Trial International

Genocide, Wikipedia

Myanmar Rohingya: What will happen next after damning UN report?, BBC, Aug. 27, 2018

Understanding the Criminal Court, International Criminal Court

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net