Skip to main content
sharethis

ภาพคาราวานผู้อพยพจากอเมริกากลาง-ใต้ ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ นำเสนอในแบบสร้างความหวาดกลัว เชื่อมโยงกับแกงค์อาชญากรและยาเสพติด ถูกสื่อในประเทศหลายแห่งพูดถึงในแบบที่แตกต่าง ไม่ว่าจะในฐานะผู้หนีความยากจนไปตายดาบหน้าในที่ๆ น่าจะมีโอกาสที่ดีกว่า หรือในฐานะผู้บริสุทธิ์ที่หนีตายจากแกงค์อาชญากรจริงๆ ที่รัฐบาลเป็นผู้เอื้อประโยชน์ให้

ขบวนผู้คนพร้อมธงทีมฟุตบอลฮอนดูรัส(ซ้าย) และธงที่คาดว่าเป็นธงชาติฮอนดูรัสที่อยู่แถวที่สอง (ที่มา: Facebook: Honduras NO TE Rindas)

นิตยสาร Yes! จากสหรัฐฯ นำเสนอเรื่องของคาราวานผู้อพยพจากอเมริกากลางสู่สหรัฐฯ ครั้งประวัติศาสตร์ในฐานะกลุ่มคนจนและถูกทำให้เป็นชายขอบจำนวนมหาศาลที่เคลื่อนขบวนพร้อมกัน โดยก่อนหน้านี้พวกเขามักเดินทางคนเดียวหรือมากับครอบครัวผ่านการจ่ายให้กับผู้ลักลอบนำคนเข้าเมืองด้วยทรัพย์สินที่พวกเขามีอยู่น้อยนิด

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้มีกรณีการเดินขบวนของผู้อพยพจากอเมริกากลางและใต้ โดยเฉพาะจากฮอนดูรัสซึ่งพยายามจะเข้าสู่สหรัฐฯ Yes! ระบุว่าพวกเขาเดินทางร่วมกันเป็นขบวนเพื่อที่จะทำให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่ถูกละเลย ทั้งที่ในช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ เริ่มปิดท่าเรือที่มีความพลุกพล่านและยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่พยายามบุกข้ามรั้วไปยังสหรัฐฯ  และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ยังกล่าวหาผู้อพยพอย่างไม่มีมูลใดๆ ว่าเป็นพวก "แก๊งอาชญากร" และ "ผู้ก่อการร้าย" ทั้งๆ ที่ผู้คนจำนวนมากที่อพยพมาล้วนแต่หนีจากสภาพย่ำแย่ที่ต้องเผชิญกับแก๊งอาชญากรในชีวิตประจำวัน

ผู้อพยพฮอนดูรัสหลักพันปักหลักชายแดนเม็กซิโก หวังหนีจน-ตาย สู่สหรัฐฯ

ในทิฮัวนา ประเทศเม็กซิโกเริ่มมีกระแสต่อต้านผู้อพยพเพิ่มมากขึ้นจนฮวน กาสเตลัม นายกเทศมนตรีของเมืองประกาศว่าทิฮัวนากำลังเกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม เพื่อขอให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ช่วยเหลือผู้อพยพจากอเมริกากลางราว 5,000 ราย ที่ส่วนใหญ่อาศัยในที่พักพิงชั่วคราวที่ศูนย์การกีฬาหลังจากต้องใช้เวลาเป็นเดือนอยู่บนท้องถนน

มานูเอล ฟิกูรัว อธิบดีกรมสังคมสงเคราะห์ของเมืองทิฮัวนากล่าวว่าในขณะที่เมืองของพวกเขาให้การช่วยเหลือผู้อพยพเหล่านี้ด้วยปัจจัยพื้นฐานต่างๆ แต่รัฐบาลกลางของเม็กซิโกกลับเมินเฉยและละเลยในเรื่องนี้ทำให้พวกเขาต้องเรียกร้องจากสถาบันระดับนานาชาติอย่างสหประชาชาติแทน

Yes! ระบุว่าในทุกๆ ปีจะมีผู้ลี้ภัยและขอลี้ภัยจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้เสียชีวิตกลางทะเลทรายก่อนถึงสหรัฐฯ ทุกครั้ง ทั้งที่ถ้าหากพวกเขาไปถึงสหรัฐฯ แล้วจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนการเกษตร การบริการ หรือการก่อสร้าง การสำรวจของศูนย์วิจัยพิว (PEW Research Center) เมื่อปี 2555 ระบุว่ามีแรงงานภาคส่วนการบริการในสหรัฐฯเป็นผู้อพยพที่ยังไม่มีใบอนุญาตถึงร้อยละ 33 เทียบกับคนที่เกิดในสหรัฐฯ มีเพียงร้อยละ 17 ในภาคส่วนการก่อสร้างและการขุดเจาะทรัพยากรมีผู้อพยพที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ร้อยละ 15 และมีชาวอเมริกันโดยกำเนิดทำงานอยู่ในภาคส่วนนี้เพียงร้อยละห้าเท่านั้น

อนา เซซิเลีย เปเรซ นักกิจกรรมด้านความเป็นธรรมทางเชื้อชาติสีผิวเขียนถึงประสบการณ์ของเธอในเว็บไซต์ Yes! เล่าว่าตัวเธอและครอบครัวก็เคยอพยพเดินทางจากเอลซัลวาดอร์ ผ่านสามประเทศเพื่อมาถึงสหรัฐฯ เมื่อประมาณมากกว่า 40 ปีที่แล้ว คล้ายกับกลุ่มคาราวานผู้อพยพจำนวนมากที่ทิฮัวนาในตอนนี้ ที่ครอบครัวเธอต้องอพยพไปที่สหรัฐฯ ในตอนนั้นเป็นเพราะพวกเธอต้องหนีตายจากกองทัพเอลซัลวาดอร์ จากสงครามที่คร่าชีวิตคนไป 75,000 คน ครอบครัวเธอต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายอย่างมาก ทั้งถูกปล้น ถูกคุกคาม และถูกคุมขังกว่าที่จะเดินทางไปถึงสหรัฐฯ ได้

"หลายคนถามว่า ทำไมพวกเราถึงต้องทำอะไรแบบนี้ด้วย ทำไมพวกเราถึงต้องเสี่ยงเดินทางในแบบที่ไม่รู้จะไปจบตรงไหนแบบนี้ โดยเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายจากกลุ่มค้ายาเสพติดและกลุ่มค้ามนุษย์ เสี่ยงถูกคุกคามจากรัฐบาลเม็กซิกัน และอาจจะถูกปฏิเสธที่ชายแดนสหรัฐฯ รวมถึงเสี่ยงถูกพรากลูกออกจากพวกเรา" เปเรซระบุในบทความ และตอบคำถามเหล่านี้โดยอ้างอิงถึงสถิติความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่พวกเขาต้องเผชิญ สหรัฐฯ เองก็เคยส่งอิทธิพลไปสู่ประเทศเหล่านี้จนเกิดผลกระทบ โดยผู้คนอาศัยอยู่ในประเทศอย่างฮอนดูรัสและเอลซัลวาดอร์ต้องเผชิญกับความเลวร้ายของแก๊งค้ายาที่กระทำต่อผู้บริสุทธิ์และปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองที่ทำให้ประเทศคลอนแคลน

"ผู้คนเหล่านี้อพยพเพราะความสิ้นไร้หนทาง พวกเขาไม่มีหนทางอื่นใดที่จะเลี้ยงครอบครัวได้" เปเรซระบุในบทความ

สื่อ Vice ก็ระบุถึงกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้จากการที่ทรัมป์พูดถึงคาราวานผู้อพยพที่ปักหลักในทิฮัวนาโดยเรียกพวกเขาว่าเป็น "อาชญากร" เป็น "คนร้าย" และมีการยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้อพยพแม้กระทั่งกับเด็กที่ประท้วงแถบชายแดน อย่างไรก็ตามการกล่าวหานี้คือความเข้าใจที่ตรงกันข้ามเพราะผู้ลี้ภัยเหล่านี้พยายามหนีจากสภาพที่ย่ำแย่ของที่ๆ คนค้ายาเสพติดมีอำนาจต่างหาก

Vice ยังนำเสนอข้อมูลเรื่อง ฮวน ออร์ลันโด เฮอร์นันเดซ อัลวาราโร จากพรรคฝ่ายขวาที่เพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของฮอนดูรัสเมื่อปี 2557 ที่น้องชายของเขา "โทนี" ได้เข้าพบกับแก๊งค้ายาที่มีอิทธิพลที่สุดในประเทศและทำข้อตกลงให้มีการติดสินบนโทนีเพื่อให้เขาช่วยทวงหนี้กับหน่วยงานของรัฐบาลที่ติดค้างไว้กับบริษัทที่คนค้ายารายใหญ่นั้นใช้ฟอกเงิน

คนค้ายารายที่ติดสินบนโทนีนั้นเป็น เดวิส เลออนเนล ริเวรา มาราเดียกา ผู้ที่เป็นสายสืบให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ (DEA) และมีการบันทึกการสนทนาของทั้ง 2 คนเอาไว้ ทำให้เรื่องนี้กลายมาเป็นหลักฐานที่สหรัฐฯ ใช้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับน้องชายของประธานาธิบดีฮอนดูรัสเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ฐานเป็นผู้ปกป้องขบวนการขนยาเสพติดและพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปกป้องผู้ค้ายารายใหญ่

ไม่เพียงแค่กรณีของโทนีเท่านั้น อดีตประธานาธิบดีฮอนดูรัสอีกรายคือ ปอร์ฟิลิโอ โซซา โลโบ และลูกของเขาฟาบิโอ ก็ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการช่วยปกป้องกลุ่มผู้ค้ายาเช่นกัน นอกจากนี้โทนีและพรรคพวกของเขาก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มแก๊งอาชญากรรมและยาเสพติดอย่าง MS-13 และ Barrio 18 ที่รัฐบาลทรัมป์ใช้สร้างความหวาดกลัว และเปรียบเทียบกับผู้อพยพที่ไม่จดทะเบียนตามกฎหมายในระดับเดียวกันกับแก๊งเหล่านั้น ทั้งนี้ สองแก๊งดังกล่าวถูกก่อตั้งขึ้นในลอสแองเจอลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้อพยพทั้งหลายจากประเทศที่มีปัญหาเหล่านี้จะถือเป็นอาชญากรไปด้วย ในทางตรงกันข้าม พวกเขาเป็นคนที่ตกเป็นเหยื่อจนต้องหนีตายมาหาที่ๆ ดีกว่าในการมีชีวิตอยู่ เรื่องนี้เป็นสิ่งเดียวกับที่อดีตหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการนานาชาติขององค์กรป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ ไมค์ วิจิล กล่าวไว้

วิจิลบอกว่าคนแบบโทนีนั้นแทนที่จะช่วยให้ประเทศตัวเองดีขึ้น กลับทำให้เกิดสภาพที่คนในประเทศตัวเองต้องถูกบีบให้หนีไปยังเม็กซิโกและสหรัฐฯ เพราะคนแบบโทนีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด

เรียบเรียงจาก

How Cocaine-Fueled Corruption Helped Spark the Migrant Caravan, Vice, Dec. 4, 2018

Refusing to Hide: Migrants Find Power in Caravans, Yes! Magazine, Nov. 26, 2018 

Tijuana, Mexico, declares migrant 'humanitarian crisis' , NBC News, Nov. 24, 2018

Share of Unauthorized Immigrant Workers in Production, Construction Jobs Falls Since 2007, Pew Research Center, Mar. 26, 2018

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net