Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำตัวแทนองค์กรสมาชิกพบรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอให้ยุติการบังคับคดีและคืนความเป็นธรรมผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) หลังจากที่ได้มีการรณรงค์เกี่ยวกับความปลอดภัยและชีวอนามัยในการทำงานจากเหตุการณ์รถไฟตกรางที่สถานีเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2552 

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2562 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายมานพ เกื้อรัตน์ รองเลขาธิการปฏิบัติการ สรส. ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือผู้นำแรงงานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เข้าพบและยื่นหนังสือถึงประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนมารับหนังสือและประชุมร่วมกัน

โดยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และองค์กรสมาชิกได้ยื่นขัอเสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยยุติการบังคับคดีและคืนความเป็นธรรมให้กับผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) จำนวน 7 คน หลังจากที่ได้มีการรณรงค์เกี่ยวกับความปลอดภัยและชีวอนามัยในการทำงานจากเหตุการณ์รถไฟตกรางที่สถานีเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2552 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงระบุชัดเจนว่าพนักงานขับรถนำหัวรถจักรที่ไม่สมบูรณ์ไปทำขบวนจนนำไปสู่สาเหตุการตกรางดังกล่าว ซึ่งสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์หวังว่าทางการรถไฟ และรัฐบาลจะเห็นความสำคัญของความปลอดภัยและอาชีวินามัยในการทำงาน มีการให้บริการบนพื้นฐานความพร้อมของอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการบริการประชาชนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนที่รับบริการเช่นเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์ปี 2552 อีก

ตามที่ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้มีการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยเมื่อครั้งเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขบวนรถไฟตกราง เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2552 ที่สถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนเป็นเหตุมีมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากสาเหตุที่แท้จริงเกิดขึ้นจากความไม่สมบูรณ์ของรถจักรที่ใช้ทำขบวน ซึ่งผลจากการการสอบสวนภายในที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเอง รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอาญาจนเป็นเหตุให้พนักงานขับรถต้องติดคุก และต้องออกจากงาน เมื่อศาลอาญาเห็นว่านำรถจักรที่อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ออกไปทำขบวน ซึ่งต่อมาผู้เสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลก็มีคำพิพากษาให้พนักงานขับรถและการรถไฟแห่งประเทศไทยจ่ายค่าเสียหายให้แก้ผู้ฟ้อง เนื่องจากนำรถจักรที่ไม่สมบูรณ์ออกไปทำขบวนจนเกิดเหตุร้ายแรง แม้กระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็มีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในส่วนของต่างประเทศ ITF, ITUC ได้นำเรื่องร้องเรียนต่อ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และผลการสรุปก็ออกมาในลักษณะที่เห็นว่าสภาพแรงงานรถไฟและผู้นำกระทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสหภาพแรงงาน และได้ส่งคำวินิจฉัยมายังรัฐบาลไทยเพื่อยุติและคืนสิทธิให้แก่ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ จากผลที่สรุปออกมาชี้ให้เห็นถึงการกระทำของสหภาพแรงงานรถไฟและผู้นำสหภาพที่ได้กระทำการที่เป็นประโยชน์แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเอง รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการ

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อขอเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟจำนวน 7 คน ในส่วนกลางและถูกเลิกจ้างไปในปี 2554 พร้อมกับให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินที่สูงมากรวมทั้งเลิกจ้างผู้นำสหภาพรถไฟที่หาดใหญ่อีก 6 คน และถูกเลิกจ้างไปตั้งแต่ปี 2552 จึงเป็นเหตุให้ขบวนการแรงงานในประเทศไทยและต่างประเทศร่วมกันรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทยยุติการดำเนินคดีต่อผู้นำสหภาพรถไฟฯและให้รับทั้งหมดเข้าทำงานและให้คืนสิทธิประโยชน์ทั้งหมดในช่วงที่ถูกออกจากงานให้แก่ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยก็รับผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟทั้งหมดกลับเข้าทำงานในปี 2557 และได้จ่ายเงินและสิทธิประโยชน์ช่วงที่ออกจากงานคืนให้แก่ผู้นำ 6 คนที่สาขาหาดใหญ่ แต่ผู้นำส่วนกลาง 7 คนแม้จะได้กลับเข้าทำงานแต่ก็ยังไม่ได้รับคืนสิทธิประโยชน์ช่วงที่ออกจากงานโดยที่การรถไฟแห่งประเทศไทยอ้างว่ามีค่าเสียหายที่ทั้ง 7 คนต้องจ่ายให้กับการรถไฟฯซึ่งต้องรอคำพิพากษาของศาลฎีกา

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ผู้นำสหภาพรถไฟทั้ง 7 คนจ่ายค่าเสียหายให้แก่การรถไฟฯเป็นเงินจำนวน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ฟ้องจนถึงวันที่ชำระเสร็จ ซึ่งปัจจุบันรวมเป็นเงินประมาณ 24 ล้านบาท และทราบว่าภายหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาออกมา การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการหักเงินจากผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ ทั้ง 7 คนแล้ว นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 จากจำนวนยอดเงินตามคำพิพากษาเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก โดยจำนวนเงินที่ต้องถูกหักชดใช้ค่าเสียหายต้องใช้เวลากว่า 10 ปี จึงจะครบตามจำนวน ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาและครอบครัว ซึ่งผู้นำบางคนขณะนี้ได้เกษียณอายุแล้วและต้องเอาเงินยังชีพ (บำนาญ) หลังเกษียณมาชดใช้ค่าเสียหายทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ทั้งๆ ที่การกระทำดังกล่าวเกิดจากการดำเนินการตามมติที่ประชุมของสมาชิกสหภาพแรงงานรถไฟ ในปี 2552 ในเรื่องของความปลอดภัย โดยการดำเนินการเพื่อเรียกร้องให้การรถไฟฯในฐานะนายจ้างปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเพื่อมิให้พนักงานการรถไฟฯในฐานะลูกจ้าง ต้องปฏิบัติหน้าที่บนความเสี่ยงอันจะทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง และเพื่อเป็นการปกป้องภาพลักษณ์ของการรถไฟฯและพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมิใช่การกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว 

ดังนั้น ทางสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จึงขอความร่วมมือมายังท่านประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทยได้โปรดพิจารณาดำเนินการงดการบังคับคดี ยุติการหักเงินชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด และคืนสิทฺธิประโยชน์ทั้งหมดในช่วงที่ออกจากงานให้แก้ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟทั้ง 7 คน ซึ่งทาง มาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอทั้งหมดจะได้รับการพิจารณาตามคำร้องขอต่อไป

อนึ่งในวันนี้ (17 ม.ค. 2562) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้นำเครือข่ายสมาชิกสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจจำนวน 44 แห่ง ปราศรัยภายในศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างมาตรการในการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยให้ทบทวนปัญหาดังกล่าว ภายหลังจากที่รัฐได้ตราพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และกระทรวงการคลังได้ชี้นำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและให้พนักงานสมัครเป็นสมาชิก โดยอ้างว่าผลประโยชน์ตอบแทนจะสูงกว่าระบบบำเหน็จบำนาญที่พนักงานรัฐวิสาหกิจได้รับอยู่ แต่ปรากฏว่าจำนวนเงินและสิทธิประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับจากกองทุนและผลประโยชน์ตอบแทนจากกองทุนกลับน้อยกว่าเดิม จึงอยากให้พนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถกลับไปสู่ระบบบำเหน็จและระบบบำนาญแบบเดิมที่เคยมีมาก่อนหน้านี้เช่นเดียวกับข้าราชการคนอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังขอให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงกรณีที่พนักงานรัฐวิสาหกิจออกจากกองทุนระหว่างการทำงานหรือเกษียณอายุต้องได้รับเงินไม่น้อยกว่าคนบำเหน็จโดยให้กองทุนประกันความเสี่ยงเป็นผู้ชดเชย และให้มีการปรับเพิ่มอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนขององค์การหรือนายจ้างในอัตราสูงสุดเพื่อจะได้เป็นหลักประกันเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการเรื่องดังกล่าวเป็นการเร่งด่วนและหวังว่าผลกระทบและความเดือดร้อนของพนักงานจะได้รับความสนใจในการแก้ไขปัญหาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและความมั่นคงมีหลักประกันในชีวิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net