Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ https://www.secularism.org.uk/secularism-2019.html

มีงานวิชาการในบ้านเราระบุว่า รัฐไทยไม่ใช่รัฐศาสนา (religious state) และไม่ใช่รัฐก้ำกึ่งระหว่างความเป็นรัฐศาสนาและรัฐโลกวิสัย แต่เป็นรัฐฆราวาสหรือรัฐโลกวิสัย (secular state) เลยทีเดียว เพราะรัฐไทยไม่ได้มีความพยายามนำหลักความเชื่อพุทธศาสนามาบัญญัติเป็นกฎหมายในการปกครอง ไม่ได้บัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ แม้ศาศาสนาจะเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่มาก แต่ก็เกี่ยวข้องในแบบที่รัฐใช้ประโยชน์จากศาสนาในเรื่องการปกครองมากกว่า การปกครองก็เป็นไปตามระบบประมวลกฎหมาย (civil law) อยู่แล้ว[1]

แต่มุมมองทาวิชาการที่เข้าใจกันในระดับนานาชาติ รัฐไทยถูกจัดอยู่ในประเภทของ “รัฐที่ไม่ชัดเจน” (ambiguous state) ระหว่างความเป็นรัฐศาสนากับความเป็นรัฐโลกวิสัย[2]   

ประเทศอื่นๆ เช่นพม่า ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือบางประเทศในยุโรป ม้แต่สหราชอาณาจักรหรือประเทศอังกฤษที่คนมักเข้าใจกันว่าเป็นรัฐโลกวิสัย แต่ที่จริงก็อยู่ในประเภทรัฐที่ไม่ชัดเจนด้วยเช่นกัน เพราะถึงอังกฤษจะปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย แต่ก็มีคริสต์ศาสนานิกาย Church of England เป็นศาสนาทางการหรือศาสนาประจำชาติ

อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็กำหนดให้ประมุขแห่งรัฐสาบานว่า จะปกป้องคริสต์ศาสนานิกาย Church of England ผ่านการสาบานในพิธีราชาภิเษก คำสาบานที่ถูกตราขึ้นในปลายศตวรรษที่ 17 นี้เป็นลักษณะของรัฐทางศาสนาไม่ใช่เป็นรัฐโลกวิสัย นอกจากนี้ยังมีอาร์คบิชอป 2 คน กับบิชอปอีก 24 คน ได้รับสิทธิพิเศษเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง บาทหลวงเหล่านี้เป็นผู้นำสวดมนต์ในพิธีเปิดประชุมสภาอย่างเป็นทางการ และมีบทบาทแสดงความเห็นเกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมายต่างๆ 

ปัจจุบันในอังกฤษยังมีการรณรงค์ให้แยกศาสนจักรจากรัฐ เพื่อยกเลิกการสถาปนานิกาย Church of England เป็นศาสนาทางการหรือศาสนาประจำชาติ ยกเลิกที่นั่งบาทหลวงในวุฒิสภา และสิทธิพิเศษอื่นๆ ของศาสนาคริสต์นิกายนี้ที่ตกทอดมาจากอดีต แม้ปัจจุบันอิทธิพลนั้นจะค่อยๆ ลดลงแต่ก็ยังมีอิทธิพลที่เป็นปัญหาอยู่

สุดท้ายคือการเสนอให้ "ยกเลิกตำแหน่งประมุข Church of England ของกษัตริย์หรือพระราชินีอังกฤษ" โดยเชื่อว่าทั้งหมดนี้จะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตยแบบทางโลก (secular democracy) ที่แฟร์กับคนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนา หรือจะเป็นการเคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง[3]
 

การรณรงค์ดังกล่าวดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยสมาคมโลกวิสัยแห่งชาติ (National Secular Society) พวกเขาเห็นว่านี่ศตวรรษที่ 21 แล้ว ศาสนาไม่ควรมีสถานะพิเศษใดๆ ในโครงสร้างอำนาจรัฐ บางทีพวกเขาก็วิจารณ์การเทศนาของบาทหลวงใพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้ช่วยพัฒนาความเข้าใจคำสอนของพระคริสต์มากไปกว่าการประชาสัมพันธ์นิกายของตัวเอง วิจารณ์อิทธิพลของศาสนจักรที่ทำให้การสอบสวนคดีเกี่ยวกับเรื่องที่บาทหลวงล่วงละเมิดทางเพศอาจไม่โปร่งใส, การปฏิเสธการจัดพิธีสมรสและการจดทะเบียนสมรสแก่คนรักร่วมเพศด้วยเหตุผลทางศาสนา เป็นต้น

 

ในการเทศนา บาทหลวงบางคนปฏิเสธการแบ่งยุค “ก่อนยุคสว่างทางปัญญา” (pre-enlightenment) อันเป็นยุคสังคมศาสนา กับ “หลังยุคสว่างทางปัญญา” (post-enlightenment) อันเป็นยุคหลังสังคมศาสนาหรือยุคสังคมทางโลก (secular society) โดยพยายามเสนอว่าศาสนาไม่ได้แยกจากการปกครอง  “ [พระเยซู] ไม่ได้ประกาศ 'ศาสนา' ใหม่หรือไม่ได้บอกความลับแก่ผู้คนถึงวิธีการไปสวรรค์หลังจากเขาเสียชีวิต ไม่เกี่ยวกับว่าเราจะไปสวรรค์ได้อย่างไร แต่เกี่ยวกับวิธีการปกครองของสวรรค์ที่มายังโลก…เขามาเพื่อสถาปนากฎของพระเจ้าบนโลก,(หรือสถาปนา)เทวาธิปไตย”[4] แน่นอนว่าทัศนะเช่นนี้ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่รณรงค์ให้แยกศาสนาจากรัฐอย่างรุนแรง

 

ข้อสังเกตคือ การรณรงค์ให้แยกศาสนาจากรัฐ ดำเนินไปพร้อมๆ กับการยืนยันที่จะให้มี “ประชาธิปไตยแบบทางโลก” ซึ่งหมายถึงเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) ที่รัฐสามารถจะเป็นกลางทางศาสนาได้จริง โดยรัฐไม่ให้สิทธิพิเศษแก่ศาสนาใดๆ และไม่มีที่นั่งในสภาให้กับตัวแทนของศาสนาใดๆ 

นอกจากจะเสนอให้ยกเลิกตำแหน่งประมุข Church of England ของกษัตริย์หรือพระราชินีอังกฤษแล้ว บางคนยังไปไกลถึงการวิจารณ์ว่า ประมุขของรัฐไม่ได้มาจาก “การเลือกตั้ง” แต่ได้รับสิทธิพิเศษทางชาติกำเนิดซึ่งย่อมขัดกับหลักการพื้นฐานของเสรีนิยมที่ถือว่าปัจเจกบุคคลมีสิทธิเสมอภาคกัน

กล่าวโดยสรุป กลุ่มรณรงค์ให้แยกศาสนาจากรัฐในอังกฤษเห็นว่าประเทศของเขายังไม่ใช่รัฐโลกวิสัย และยังไม่เป็นประชาธิปไตยแบบทางโลกอย่างแท้จริง เพราะยังมีศาสนาประจำชาติ รัฐให้สิทธิพิเศษแก่บางนิกายศาสนา มีปัญหาเรื่องบทบาทศาสนาในพื้นที่สาธารณะ ปัญหาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาเป็นต้น

หากพิจารณาจากแนวคิดโลกวิสัย (secularism) ที่เป็นรากฐานของการแยกศาสนาจากรัฐ แนวคิดดังกล่าวนี้เชื่อมโยงกับแนวคิดเสรีนิยม (liberalism) อันเป็นปรัชญาทางการเมืองและศีลธรรมที่วางอยู่บนพื้นฐานของอิสรภาพหรือเสรีภาพ (liberty) และความเสมอภาค (equality) ดังนั้นความเป็นกลางทางศาสนา (religious neutrality) ของรัฐโลกวิสัยจึงวางอยู่บนหลักเสรีภาพและความเสมอภาค

กล่าวคือ รัฐต้องให้หลักประกันเสรีภาพที่เท่าเทียมแก่ประชาชนทุกคนในการเลือกความเชื่อทางศาสนา หรือปรัชญา ความเชื่ออื่นใดเพื่อการมีชีวิตที่ดีของตนเองตราบที่ไม่ทำอันตรายแก่ผู้อื่น และรัฐต้องปฏิบัติต่อคนทุกศาสนา ทุกความเชื่ออย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใครได้เปรียบ เสียเปรียบ หรือถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งการนับถือและไม่นับถืศาสนา หรือเพราะยึดปรัชญา ความเชื่อใดๆ

ปัญหาคือ รัฐเป็นกลางทางศาสนาได้เช่นนั้นจริงๆ หรือ สมมติศาสนา ก.เชื่อว่าการทำแท้งเป็นสิ่งที่ดี ควรทำ แต่ศาสนา ข. เชื่อว่าการทำแท้งผิด ไม่ควรทำ แล้วรัฐโลกวิสัยก็ออกกฎหมายรับรองสิทธิในการทำแท้ง จะไม่เท่ากับว่ารัฐเลือกเข้าข้างศาสนา ก. ดอกหรือ หรือพูดอีกอย่างว่ารัฐเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนา ข. หรือไม่

ตอบแบบเสรีนิยมก็ต้องบอกว่า การเป็นกลางทางศาสนาคือการให้ “สิทธิหรือเสรีภาพในการเลือกแก่ทุกคนเท่าเทียมกัน” แม้การให้สิทธินี้จะสอดคล้องกับความเชื่อของศาสนา ก. แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐเห็นด้วยกับศาสนา ก.ว่าการทำแท้งเป็นสิ่งที่ดี ควรทำ เพียงแต่บอกว่าการทำแท้งไม่ใช่สิ่งที่ผิดและเป็น “สิทธิ” ที่แต่ละคนเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ ขณะเดียวกันการให้สิทธิในการทำแท้ง ก็ไม่ใช่การบังคับให้คนต้องทำ ดังนั้นถึงรัฐจะเลือกตัดสินใจตรงข้ามกับความเชื่อของศาสนา ข. ก็ไม่ได้เท่ากับรัฐเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนา ข. เพราะคนที่นับถือศาสนา ข. ยังมีสิทธิในการเลือกทำตามหลักศาสนาของตนเอง 

อย่างไรก็ตาม ความเป็นกลางทางศาสนาตามแนวคิดเสรีนิยม ย่อมมีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎี หมายความว่า ความเป็นกลางที่หมายถึงการให้ “สิทธิหรือเสรีภาพในการเลือกแก่ทุกคนเท่าเทียมกัน” มีความเป็นไปได้ในทางตรรกะเหตุผล แต่ในทางปฏิบัติรัฐโลกวิสัยแต่ละแห่งอาจเข้าถึงอุดมคติดังกล่าวได้มากน้อยต่างกัน ซึ่งประเด็นนี้มี่รายละเอียดค่อนข้างมากไม่มีพื้นที่พอจะถกเถียงในที่นี้

จึงกล่าวได้เพียงกว้างๆ ในที่นี้ว่า ในความเป็นจริงของสังคมหนึ่งๆ ย่อมมีความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อ จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะเห็นพ้องกับทุกศาสนา ทุกความเชื่อ หรือเห็นแย้งกับทุกศาสนา ทุกความเชื่อ ดังนั้น “ความเป็นกลาง” จึงเป็นไปได้เพียงทางเดียวเท่านั้นคือรัฐต้องทำหน้าที่รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคในการเลือกของประชาชนทุกคนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ถึงตรงนี้ เราย่อมเห็นได้ว่า หากประเทศอังกฤษยังไม่ใช่รัฐโลกวิสัย และยังมีคำถามเกี่ยวกับปัญหาความเป็นประชาธิปไตยแบบทางโลกดังอภิปรายมา การบอกว่ารัฐไทยเป็นรัฐโลกวิสัยย่อมเป็นเรื่องตลกร้ายแน่ๆ เพราะนอกจากรัฐไทยจะให้สิทธิพิเศแก่พุทธศาสนาเถวาทในรัฐธรรมนูญแล้ว พุทธศาสนายังเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ราชาชาตินิยม มีสถาบันศาสนาแบบทางการที่ทำหน้าที่สนับสนุนความชอบธรรมของสถานะและอำนาจของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบรรดานักบวชและฆราวาสที่อ้างพุทธศาสนาในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีประชาธิปไตยอย่างเปิดเผยและปลอดภัยจากการถูกเอาผิดทางกฎหมายเสมอมา ขณะที่ฝ่ายอ้างพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยมักถูกปิดกั้นการแสดงออก และยังมีปัญหาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาอีกมาก

ความแตกต่างสำคัญจึงอยู่ตรงที่สังคมอังกฤษมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการรณรงค์การแยกศาสนาจากรัฐ กระทั่งเสนอให้ยกเลิกตำแหน่งประมุขศาสนจักรของกษัตริย์หรือพระราชินี หรือวิจารณ์ตำแหน่งประมุขของรัฐและศาสนจักรที่ขึ้นกับสิทธิพิเศษทางชาติกำเนิดว่า ควรจะมีประมุขของรัฐที่มาจากการเลือกตั้งดีกว่าไหม เป็นต้น

แต่สังคมไทยกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงได้ “ขันน็อต” เสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพในการพูดและการแสดงออกให้แน่นขึ้นเรื่อยๆ คงอีกนานที่เราจะมีเสรีภาพรณรงค์แบบอังกฤษ แต่สักวันเราจะต้องมี


 
  
อ้างอิง

[1] รัฐกับศาสนา : ความไม่ชัดเจนของรัฐไทยในความเป็นรัฐโลกาวิสัยหรือรัฐศาสนา, http://jssmbu.mbu.ac.th/wp-content/uploads/2018/09/jss1-10%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%20%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%20%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B2%20%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%A4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C.pdf

[2] ดู Secular state, https://en.wikipedia.org/wiki/Secular_state

[3] ดู Disestablish the Church, https://www.secularism.org.uk/disestablishment/?fbclid=IwAR2QVl-cJFf_mLLKkCFQGvYGAxRMkW1xvUZeEg5nKi94zgmqvvA1UXoQUI0

[4] ดู Bishop wants to see a Theocratic dictatorship imposed, https://www.skeptical-science.com/religion/bishop-theocratic-dictatorship-imposed

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net