Skip to main content
sharethis

หลัง วิษณุ ชี้หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ คสช. เป็นเพียงองค์กรชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ด้าน ทนายวิญญัติ แย้ง 'ประยุทธ์' ไม่เป็นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่งยังมีหลายตำแหน่งด้วย ดังนั้นการเสนอชื่อบุคคลสถานะเช่นนี้ จึงไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม

 

 

26 ก.พ.2562 จากกรณีวานนี้ (25 ก.พ.62) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ไปร่วมเวทีดีเบต ว่า พรรคพลังประชารัฐได้ถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วว่าสามารถทำได้หรือไม่ โดย วิษณุ ระบุว่า หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดย คสช. เป็นเพียงองค์กรชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น พร้อมทั้งอ้างมติ ป.ป.ช. ที่เห็นว่า คสช. ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ สำรับ พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมดีเบตได้หรือไม่นั้น ต้องรอ กกต. ยืนยัน และเป็นเรื่องของเจ้าตัวที่จะตัดสินใจร่วมวงดีเบตหรือไม่ นั้น

วันนี้ (26 ก.พ.62) วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.)  กล่าวว่า ความยุติธรรมเป็นคุณลักษณะสำคัญของอำนาจปกครอง การปกครองนั้นจะดำเนินไปไม่ได้หากเป็นการปกครองปราศจากความยุติธรรม โดยหลักแล้วคนทั่วไปคาดว่าผู้ปกครองและผู้ใช้กฎหมายจะรับใช้ความยุติธรรม ปัญหาของประเทศในวันนี้จึงเกิดจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายที่ตราขึ้นกับความยุติธรรมจากมนุษย์ที่ใช้อำนาจ นั่นคือ ปัญหาของนักกฎหมายที่เห็นแก่ได้ ขาดจริยธรรม


เลขาธิการ สกสส. กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีนักกฎหมายของรัฐบาล อาจสร้างความสับสนให้กับบรรดานักกฎหมายและประชาชนไม่มากก็น้อย ทำนองออกมารับรองความชอบธรรมให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำทางให้กกต.หรือไม่ นี่อาจกลายเป็นสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดกับประเทศ

แต่เรื่องนี้ กกต. ควรต้องพิจารณา ประเด็นสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะนอกจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้า คสช. ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว และในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของหัวหน้า คสช. ไว้ กรณีนี้ ตามกฎหมายจึงถือว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช. เป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย และตำแหน่งนี้ มีเงินเดือน รวมถึงผลตอบแทนประจำจากงบประมาณแผ่นดินชัดเจน ไม่เพียงเท่านี้ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งอีกหลายตำแหน่ง จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักกฎหมายที่ไหนจะบอกว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่หลักการให้เหตุผลทางกฎหมายก็เรียกว่า ตรรกะวิบัติ ได้

วิญญัติ กล่าวอีกว่า หากว่าตามตรง พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 และการเสนอชื่อบุคคลสถานะเช่นนี้ จึงไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามนัยของมาตรา 14 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2461

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net