Skip to main content
sharethis

จากตัวเลขสถิติจำนวนคนไร้บ้านในญี่ปุ่นลดลงมากเมื่อเทียบกับ 15 ปีที่แล้ว โดยที่ส่วนหนึ่งมาจากความสำเร็จในการเคลื่อนไหวของหลายๆ กลุ่มทำให้รัฐบาลกลางญี่ปุ่นเล็งเห็นความรับผิดชอบในการที่จะช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่นจัดการประเด็นเกี่ยวกับคนไร้บ้าน นอกจากนี้ทัศนคติต่อคนไร้บ้านในญี่ปุ่นก็ต่างไปจากยุคฟองสบู่แตกใหม่ๆ เพราะเริ่มเข้าใจปัญหาความยากจนมากขึ้น และเข้าใจว่าคนไร้บ้านในญี่ปุ่นก็เป็นกลุ่มคนทำงานหรือพยายามหางานทำ ขณะเดียวกันสื่อเจแปนไทม์ก็นำเสนอแง่มุมชีวิตและวัฒนธรรมของคนไร้บ้านในโตเกียวที่มีลักษณะเฉพาะหรือสะท้อนทัศนคติบางอย่างที่ฝังรากในญี่ปุ่นอยู่ด้วย


ที่มาภาพ: japantimes.co.jp

สื่อเจเแปนไทม์เล่าถึงกรณีของคนไร้บ้านอายุ 70 ปีที่ชื่อ โยชิโทโมะ ฮาระ ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในที่พักที่รัฐจัดหาให้ แต่ก็เคยมีประสบการณ์ช่ำชองในการเสาะแสวงหาที่นอนตามพื้นที่ต่างๆ ในโตเกียวช่วงฤดูหนาว

โยชิโทโมะเล่าว่าถ้าหากมีเงินเล็กน้อยสัก 100-200 เยน (ราว 30-60 บาท) ก็สามารถเข้าไปพักที่แมคโดนัลด์ย่ายอิเคะบุคุโระได้ซึ่งมักจะเปิดถึงตีสาม และหลังจากนั้นเขาก็จะไปรอที่สถานีรถไฟซึ่งมักจะเปิดเวลาราวตี 4 เพราะชั้นใต้ดินที่มีห้างร้านต่างๆ มีอากาศอบอุ่น เขามักจะไปนอนเอากล่องปิดหน้าที่นั่นโดยที่มีอีกหลายๆ คนก็ทำแบบนี้ ในขณะที่ช่วงฤดูร้อนนั้นโยชิโทโมะบอกว่าเขาจะไปนอนที่สวนสาธารณะและในช่วงบ่ายก็ไปพักที่ร้านซึ่งมีที่นั่งอยู่อย่างยามาดะเดงกิได้

ทั้งนี้จากสถิติของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อปี 2561 พบว่ามีจำนวนคนไร้บ้านในญี่ปุ่นอยู่ราว 4,977 ราย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีที่สำรวจจำนวนคนไร้บ้านได้น้อยกว่า 5,000 ราย อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยและรณรงค์เพื่อคนไร้บ้านซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอเปิดเผยว่าจำนวนตัวเลขที่แท้จริงอาจจะมีมากกว่าตัวเลขของรัฐบาล 2.5 เท่า กระนั้นเมื่อเทียบกับในปี 2546 ที่มีคนไร้บ้านอยู่ที่ราว 25,296 รายจำนวนตัวเลขในปัจจุบันก็ถือว่าน้อยลงมาก

จำนวนคนไร้บ้านในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นหลังจากเกิดฟองสบู่แตกทางเศรษฐกิจเมื่อราวปี 2533 ทำให้ญี่ปุ่นที่พยายามตั้งตัวเองเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับกลุ่มคนยากจนบนท้องถนนของตัวเอง ในยุคสมัยแรกๆ รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงพยายาม "แก้ปัญหา" ด้วยการไปไล่รื้อที่พักชั่วคราวจากลังกระดาษของกลุ่มคนไร้บ้านจนเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนไร้บ้านกับเจ้าหน้าที่ทางการเพราะทัศนคติจากทางการในตอนนั้นยังมองว่าคนไร้บ้านเป็นแค่สิ่งที่น่าอายถ้าหากมีใครมาพบเห็น

แต่หลังจากนั้นสถานการณ์คนไร้บ้านในญี่ปุ่นก็พัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่มีกลุ่มรณรงค์หลายกลุ่มที่ช่วยกันเรียกร้องจนมีการบังคับใช้กฎหมายบัญญัติพิเศษเพื่อส่งเสริมการจัดการตนเองของประชากรกลุ่มคนไร้บ้านตั้งแต่เมื่อปี 2545 เป็นต้นมา นั่นยังกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลกลางญี่ปุ่นเล็งเห็นว่าพวกเขามีความรับผิดชอบในการช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่นในการดูแลประเด็นเรื่องคนไร้บ้าน กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้เป็นการให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านในการหางานและย้ายพวกเขาไปอยู่ในที่พักที่จัดหาไว้ให้สำหรับคนไร้บ้านที่อยากจะมีงานทำ รวมถึงจัดหาระบบการแพทย์และสาธารณสุขไว้รองรับพวกเขาอีกด้วย

การแก้ปัญหาดังกล่าวทำให้จำนวนคนไร้บ้านลดลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังคงมีอีกหลายพันคนที่ยังคงเป็นคนไร้บ้านในญี่ปุ่นโดยที่พวกเขาเปิดเผยถึงปัญหาเกี่ยวกับทัศนคติการขาดความไม่เข้าใจคนไร้บ้านที่เกิดขึ้นในสังคม หนึ่งในคนไร้บ้านที่ชื่อ ทาคาชิ โอวาดะ เล่าว่าผู้คนพยายามอยู่ห่างจากพวกเขาทำให้เขารู้สึกเหมือนมีชีวิตที่ต่ำตม รู้สึกเวทนาตัวเอง เรื่องนี้สะท้อนเกี่ยวกับการเป็นคนไร้บ้านในญี่ปุ่นที่สร้างรอยด่างทางชื่อเสียงให้กับพวกเขาจากที่สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากกับยืนด้วยลำแข้งตัวเอง ทำให้คนไร้บ้านจำนวนมากรู้สึกอับอายและหลบไปจากสายตาของสาธารณชน

ขณะที่มีคนไร้บ้านบางส่วนที่อาศัยอยู่ตามใต้ทางด่วนหรือตามริมแม่น้ำ แต่คนไร้บ้านบางส่วนก็พยายามทำตัวกลมกลืนไปกับผู้คนบนท้องถนนทั่วไป มีส่วนหนึ่งที่ถ้าหากมีเงินก็จะไปอาศัยอยู่ตามร้านอินเทอร์เน็ตหรือตามโรงอาบน้ำ ทั้งนี้ในญี่ปุ่นการขอทานตามท้องถนนถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ถึงแม้จะไม่มีกฎหมายห้ามเรื่องนี้ทัศนคติที่ฝังรากในญี่ปุ่นก็ทำให้คนไม่ยอมขอทาน

ทสึโยชิ อินาบะ ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรโมไยที่เรียกร้องสิทธิคนไร้บ้านกล่าวว่า คนไร้บ้านมองตัวเองว่าเป็นคนทำงาน มีจำนวนมากที่ทำงานก่อสร้างและมีความภาคภูมิใจในตัวเองที่ได้ทำงานพวกเขามองว่าการขอทานเป็นสิ่งที่น่าละอาย อีกทั้งในญีปุ่นไม่มีวัฒนธรรมความเมตตากรุณาต่อคนไร้บ้านทำให้ต่อให้มีคนขอทานก็คงไม่ได้เงิน

นอกจากงานก่อสร้างแล้วคนไร้บ้านในญี่ปุ่นยังมักจะเก็บขยะส่งขายให้โรงงานรีไซเคิล บ้างก็ทำงานเก็บกวาดหลังงานเทศกาลดอกไม้ไฟฤดูร้อนจบลง มีหลายคนที่อยากทำงานแบบแรงงานจ้างรายวันแต่คนไร้บ้านหลายคนก็ไม่มีเรี่ยวแรงมากพอจะทำงานจำพวกนี้ จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการสังคมญี่ปุ่นเมื่อปี 2560 ระบุว่ามีกลุ่มคนไร้บ้านร้อยละ 42.8 เป็นคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี 

นอกจากนี้คนไร้บ้านหลายคนก็ไม่ได้ชอบที่พักพิงของรัฐเนื่องจากวิถีชีวิตที่ต้องอยู่ห้องเดียวกับคนอื่นหรือใช้สิ่งของร่วมกับคนอื่น นอกจากนี้คนไร้บ้านจำนวนมากกลายมาเป็นคนไร้บ้านเพราะไม่สามารถทนรับกับแรงกดดันทางสังคมได้แล้วความเครียดกับการต้องอยู่กับคนแปลกหน้าทำให้พวกเขากลับไปหลับนอนข้างนอกอีกครั้ง เช่นกรณีของ โมโนโนบุ วาตานาเบะ อายุ 46 ปี ที่มีสภาพการทำงานที่ไม่มั่นคงจากปัญหาสุขภาพ เขาเคยมีที่พักมาก่อนจะหลายเป็นคนไร้บ้านแต่ก็ไม่ชอบระบบบ้านพักของรัฐที่ให้เขาอยู่กับคนแปลกหน้า 3 คน และให้ต้องจ่ายค่าอาหารเช้ากับอาหารเย็นไม่ว่าจะกินมันหรือไม่

นั่นทำให้มีองค์กรที่ชื่อเทโนะฮาซิ จัดหาบ้านพักที่เป็นห้องเดียวให้คนไร้บ้าน แต่ก็ทำให้กลุ่มทำงานประเด็นคนไร้บ้านต้องคอยรับมืออีกปัญหาหนึ่งคือการที่คนเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว คนไร้บ้านจำนวนมากไม่ได้มีการติดต่อหรือสายสัมพันธ์กับครอบครัวอีกต่อไปแล้ว ทำให้องค์กรเพื่อคนไร้บ้านอย่างซันยูไคต้องคอยช่วยเหลือจัดการในเรื่องนี้

ทั้งนี้ ยังมีการก่อตั้งคาเฟคนไร้บ้านโดยมูลนิธิทสึคุโรอิโตเกียวของอินาบะในชื่อคาเฟว่า "ชิโอะ โนะ มิจิ" ตั้งอยู่ไม่ไกลจากที่พักคนไร้บ้านทสึคุโรอิ คาเฟแห่งนี้ให้พื้นที่สำหรับคนไร้บ้านได้มาพบปะกันพร้อมมีงานให้ทำ ในชั้น 1 ของคาเฟมีการคั่วเมล็ดกาแฟฟรีเทรดด้วยตัวเอง คนที่เคยเป็นคนไร้บ้านยังมาช่วยแจกจ่ายอาหารและเป็นเวรยามช่วงกลางคืนทำให้พวกเขาได้รับความรู้สึกว่าตัวเองมีหน้าที่การงานความรับผิดชอบรวมถึงความรู้สึกร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

เคนจิ เซย์โนะ ผู้อำนวยการองค์กรเทโนะฮาซิกล่าวว่าถึงแม้ในช่วงที่ฟองสบู่แตกทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ผู้คนจะมองว่าคนไร้บ้านที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้เป็นคนที่ไม่ทำงานแม้จะมีตำแหน่งงานอยู่มากมายในความเห็นของผู้คนเหล่านั้น แต่ในช่วงหลังปี 2543 เป็นต้นมาความคิดของผู้คนในญี่ปุ่นต่อคนไร้บ้านเริ่มเปลี่ยนไปจากที่เริ่มมีคำว่า "คนทำงานยากจน" และ "ความยากจนในเด็ก" ปรากฏการณ์เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลายเมื่อ 10 ปีที่แล้วก็ส่งผลกระทบให้คนตกงานจำนวนมาก ผู้คนเริ่มสำนึกรู้ว่ามีปัญหาความยากจนในญี่ปุ่น และเข้าใจว่าผู้คนส่วนไหนที่ต้องการความช่วยเหลือ


เรียบเรียงจาก

'No one wants to be homeless': A glimpse at life on the streets of Tokyo, Andrew McKirdy, Japan Times, 02-03-2019
https://www.japantimes.co.jp/news/2019/03/02/national/social-issues/no-one-wants-homeless-glimpse-life-streets-tokyo
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net