Skip to main content
sharethis

13 มี.ค.2562 เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานสถานการณ์การเลือกตั้ง จาก กทม.และปริมณฑล ของ องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือ พีเน็ต ซึ่งขียนโดย สมศรี หาญอนันทสุข โดยรายงานถึงสถานการณ์ การรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองในยุคใหม่ สภาพปัญหาการทำงานของ กกต. ที่ยังห่างไกลการทำงานเชิงรุก ข้อแนะนำต่อผู้ใช้สิทธิครั้งแรก (First Time Voters) กว่า 7 ล้านคน  ปัญหาการร้องเรียนจากประชาชน  บทบาทของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ กับความเป็นอิสระในการลงคะแนน รวมทั้งการมีส่วนร่วมองค์กรสังเกตการณ์องค์กรท้องถิ่น และนานาชาติ

มีรายละเอียดดังนี้


พีเน็ตรายงานประชาชนจาก กทม.และปริมณฑล

กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี

สมศรี หาญอนันทสุข
องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต)
12 มีนาคม 2562 


แม้ว่าสถานการณ์ในทุกจังหวัดของ กทม.และปริมณฑลมีความคล้ายคลึงกันไม่คึกคักเหมือนการเลือกตั้งในอดีต ทุกอย่างยังเงียบสงบ ทุกพรรคการเมือง นักการเมืองจะใช้วิธีการรณรงค์ด้วยป้ายหาเสียงริมทาง แจกใบแนะนำตัวตามสถานที่ชุมชน ตลาดที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่น และตัวแทนพรรคใหญ่ไปพูดแสดงวิสัยทัศน์ (Debate) ตามเวทีที่ได้รับเชิญต่างๆ ล่าสุดคือเวที the Standard ที่จัดให้พรรคใหญ่เกือบ 10 พรรคมาประชันกันเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการจัดแสดงวิสัยทัศน์ออกอากาศมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งไทย พี่เน็ตส่วนกลางยังยินดีที่ได้เห็นสื่อใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากจะมี pnetforum.org แล้วยังมี tpd.in.th, ilaw, We Watch Thailand, ELECT อีกด้วย

ขณะที่ข่าวสารเรื่องการจับผิดของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมีให้ลุ้นเป็นระยะๆไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคไทยรักษาชาติจากเหตุการณ์ 8 กุมภาพันธ์ การกระทุ้งให้ กกต.เร่งตรวจสอบพรรคพลังประชารัฐ เรื่องการจัดเลี้ยงโต๊ะจีน การหาเสียงผ่านสื่อออนไลน์เกินจริงของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และการจี้ให้ประชาธิปัตย์แสดงจุดยืนกับการจะร่วมมือกับพรรคที่ต้องการให้ทหารสืบทอดอำนาจหรือไม่ เป็นต้น

ส่วนการตรวจสอบการเลือกตั้งทุกกลุ่มองค์กรต่างเตรียมลงพื้นที่สอดส่องการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการวิพากษ์วิจารณ์การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

การไปดูงานของกรรมการทั้ง 7 คนเดินทางไปในเวลาเดียวกันโดยใช้เงินเกินความจำเป็น ไม่ว่าเงินที่ใช้จะถึง 12 ล้านหรือไม่ก็ตาม  ในช่วงสองเดือนก่อนการเลือกตั้งองค์กรกลาง (พีเน็ต) ส่วนกลางได้ออกคำแถลง (แถลงการณ์) ไปหลายฉบับ รวมถึงคำแถลงไม่เห็นด้วยกับการโจมตีหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และพรรคตระกูลเพื่อด้วยเพลงที่ไม่สร้างสรร “หนักแผ่นดิน” ไปจนถึงแถลงการณ์จี้ให้กรรมการ และ คสช.คัดเลือก สว.อย่างโปร่งใส และเป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 

ประธาน กรรมการ และที่ปรึกษา ได้ออกไปสังเกตการณ์ขั้นตอนการสมัคร สส.ของพรรคต่างๆ และให้สัมภาษณ์ การทำงานของพีเน็ตทั่วประเทศ

การรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองในยุคใหม่  

พีเน็ตในปริมณฑลบางคนกล่าวว่า พรรคการเมืองใหญ่ๆหลายพรรคคงไม่กล้าลงทุนรณรงค์หาเสียงมากในการเลือกตั้งครั้งนี้เพราะเลือกไปไม่นานก็จะมีเลือกตั้งใหม่ การได้รัฐบาลชุดใหม่จะไม่มีเสถียรภาพ อยู่ได้ไม่นาน แต่จะเห็นว่าทุกพรรคมีคนรุ่นใหม่ที่มี know how ใช้เทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ ในการหาเสียง ให้ข้อมูลนโยบาย รวมทั้งโจมตีกันทางไลน์ซึ่งจะประหยัดกว่ามีประสิทธิภาพกับคนชั้นกลางมากกว่า  ส่วนการแจกเงินจะแจกให้คนชั้นล่างในชนบทยากจนห่างไกลการตรวจสอบ พีเน็ตนนทบุรีแจ้งว่ารูปแบบการแจกเงินในระยะก่อนโค้งสุดท้ายของการรณรงค์ยังอยู่ในวงเงิน 300 – 500 บาท และยังให้เป็นเงินสด ไม่ใช่ผ่านบัญชีธนาคาร ผู้ที่มาทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวนไม่น้อยยังต้องการกลับไปรับเงินในวันเลือกตั้งที่ 24 มีนาคม ซึ่งน่าจะได้เงินจากหลายพรรคที่เกทับกันก่อนคืนหมาหอน และได้ไปเยี่ยมบ้านด้วย  ส่วนคนที่มีการศึกษาหน่อยเริ่มรู้วิธีการลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตผ่านออนไลน์ และหากไม่ต้องการรับเงินก็ไม่ต้องกลับ พีเน็ตไม่ได้ข่าวการแจกของในการรณรงค์ครั้งนี้ เข้าใจว่าไม่ต้องการทำอะไรที่มีหลักฐานชัดเจน เพราะบทลงโทษหนักกว่าเก่า ซึ่งหากใครเจอใบดำหลังการเลือกตั้ง ก็หมดสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต (ภาพจากสิ่งพิมพ์ ilaw)

พีเน็ต กทม.ซึ่งทำหน้าที่ส่วนกลางด้วย ได้รับการร้องเรียนให้พิจารณาเรื่องการหาเสียงที่พูดถึงนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่โคราชว่าเป็นการสัญญาว่าจะให้หรือไม่ การจ้างคนไปฟังหาเสียง การใช้บุคลากรและทรัพยากรของรัฐไปช่วยพรรคพลังประชารัฐหาเสียง ซึ่งทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบมากเป็นประวัติการณ์ เพราะนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา (ซึ่งมีอำนาจพิเศษ มีหน่วยงานความมั่นคงคอยป้อนข้อมูลข่าวสาร และให้ความคุ้มครอง)  ลงมาเล่นการเมืองโดยตรง

การทำงานเชิงรุกของ กกต. ยังอีกห่างไกล

พีเน็ตคาดว่าคงไม่มีใบเหลืองและใบส้มออกมาจาก กกต. ช่วงก่อนการเลือกตั้งล่วงหน้า เนื่องจากว่ากรรมการทั้ง  7 ท่านยังมือใหม่ ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน และไม่เข้าใจการทำงานเชิงรุกในด้านต่างๆ ประกอบกับเลขาธิการ กกต. ยังไม่มีความเด็ดขาด ยังต้องอาศัยรองเลขาธิการลงมาช่วยชี้แจงประเด็นต่างๆเป็นระยะ จึงเข้าใจว่าการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการทั้ง 7 คนต้องฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่อย่างมาก ผลของการไม่มั่นใจในการทำงานจึงทำให้ประชาชนยังไม่เข้าใจการเลือกตั้งในครั้งนี้ว่าต่างจากครั้งก่อนๆอย่างไร และไม่แปลกใจที่ผลการสำรวจของนิด้าโพลล่าสุดออกมาว่าประชาชนร้อยละ 48.04% ไม่ทราบว่า “กาบัตรลงคะแนนคนละกี่ใบ” และในส่วนประชาชนที่ตอบว่าเข้าใจแล้ว ยังเข้าใจผิดอีก 7.23 %   จน ณ ขณะนี้ประชาชนน้อยคนนักที่จะไปตรวจสอบรายชื่อของตนบนบัญชีรายชื่อที่ติดหน้าหน่วย คนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า/ นอกเขต ก็ยังไม่ทราบว่าชื่อของตนต้องมีหมายเหตุต่อท้ายว่าใช้สิทธิที่จังหวัดใด และผู้ใช้สิทธิ ณ ต่างประเทศต้องมีการหมายเหตุไว้ด้วย

อย่างไรก็ตามมีความพยายามของเจ้าหน้าที่ กกต.ที่ทำ MV ออกมารณรงค์ ทำให้ทราบขั้นตอนการลงคะแนนและแสดงให้เห็นอุปกรณ์ในหน่วยเลือกตั้ง รวมทั้งมีเพลงรณรงค์อยู่หลายชุด แต่ก็เผยแพร่จำกัดอยู่แต่ในสื่อของรัฐ ยังไม่แพร่หลาย จึงเห็นว่าการที่ไม่ขอความร่วมมือกับภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์และตรวจสอบในครั้งนี้ อาจจะทำให้เกิดปรากฏการณ์บัตรเสีย หรือกาบัตรผิดเบอร์มาก

ผู้ใช้สิทธิครั้งแรก กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร

ประชาชนยังไม่เข้าใจว่าสิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะผู้ใช้สิทธิครั้งแรก (First Time Voters) กว่า 7 ล้านคนต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ไปที่ไหน ตรวจสิทธิอย่างไร ร้องเรียนกับใคร ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ต่างจากระบบเก่ามากนัก ไปทำความเข้าใจที่หน้าหน่วยก็ได้  ทั้งพรรคการเมืองและ กกต. ไม่เน้นการให้การศึกษาประชาชน (Voter Education) นักการเมืองหาเสียงด้วยวิธีการโจมตีกันในเรื่องเก่าๆที่ ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพราะสมาชิกพรรคก็ไม่ชัดเจนในกฎ ระเบียบ กติกาของการเลือกตั้ง  คอยหวังพึ่งเจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน และเอกสารที่ส่งไปทางบ้านเท่านั้นไม่พอ  พีเน็ตมั่นใจว่าคนมาใช้สิทธิในครั้งนี้อาจจะถึง 80 % เมื่อดูปรากฏการณ์การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแล้วยิ่งทำให้มีความหวัง จึงให้ความสำคัญกับงานในประเทศที่จะเริ่มมีการลงคะแนนจริงในวันที่ 17 มีนาคม  และ 24 มีนาคม 2562 ว่าทำอย่างไรไม่ให้คนกาผิดเบอร์ หรือทำบัตรเสีย

เอกสาร สส. 1/6 และสมุดแจ้งรายชื่อผู้สมัครในเขตที่อยู่อาศัยและมีทะเบียนบ้านต้องแจ้งไปยังทุกครัวเรือน ดังนี้

 


การร้องเรียนจากประชาชน ได้รับการขานรับหรือไม่ ? 

อดีตข้าราชการในเขตบางกรวย นนทบุรี กล่าวว่า ผู้ที่พบปัญหาการละเมิดกฎระเบียบกติกาเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นการทุจริตในหน้าที่ ซื้อสิทธิขายเสียง หรือความไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่รัฐ  ไม่มั่นใจว่า เมื่อไป ร้องเรียนตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ สายด่วน กกต. จะได้รับการแก้ไขหรือนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้หรือไม่ และจะเป็นภัยกับผู้ร้องหรือไม่  หรือเจ้าหน้าที่จะให้ผู้ร้องไปหาภาพถ่าย หลักฐาน หรือพยานในการทำผิด มาเองเหมือนที่เกิดในบางจังหวัด  นอกจากนั้นประชาชนไม่ทราบว่าผลของการโทรแจ้งเหตุสายด่วน 1444 หรือ 02 1418888 จะได้ผลอย่างไร เอาไปทำอะไร นอกจากทำเป็นสถิติ หรือรับแจ้งพอเป็นพิธีกรรม และองค์กรรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทำงานแบบบูรณาการหรือไม่ ไม่มีใครทราบว่ามีหน่วยเคลื่อนที่เร็วของ กกต.ในจังหวัดต่างๆ จะสามารถตรวจจับ สืบสวนสอบสวน หรือแก้ปัญหาได้จริง จึงตัดสินใจไม่ร้องเรียนให้เสียเวลาปล่อยเลยตามเลยดีกว่า

ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ กับความเป็นอิสระในการลงคะแนน

มีการตั้งคำถามถึงความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่มีการหาเสียงและในวันเลือกตั้งทั้งสองวัน ทหารควรมีเสรีภาพในการเลือกตั้ง ไม่จำเป็นที่จะต้องตบเท้าเรียงคิวเดินไปลงคะแนนเสียงพร้อมกันในเครื่องแบบเหมือนในอดีต ซึ่งอาจจะถูกมองได้ว่ามีการควบคุมให้ไปลงคะแนน หรือถูกบอกล่วงหน้าว่าให้ลงคะแนนให้ใคร พรรคใด ทหารทุกคนสามารถเดินทางไปหน่วยเลือกตั้งในเวลาใดก็ได้ที่ กกต.กำหนดระหว่าง 08.00 – 17.00 น.โดยไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบ ให้วันอาทิตย์เป็นวันหยุดสำหรับทหารส่วนใหญ่ โดยการนับคะแนนก็ไม่ควรนับที่หน่วยแต่อาจจะเป็นการนับรวมทุกเขตทหารเพื่อไม่ให้เกิดการ check bill ในภายหลัง  กกต. ควรจะขอความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน เรียกมาพูดคุย หรือไปขอความร่วมมือด้วยตนเอง เป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อให้ข้าราชการ ทหาร สามารถลงคะแนนได้อย่างอิสระ เสรี (ภาพดูเป็นตัวอย่างจากไทยรัฐออนไลน์ 26 มิย. 2554)

การมีส่วนร่วมองค์กรสังเกตการณ์องค์กรท้องถิ่น และนานาชาติ 

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง องค์กรตรวจสอบการเลือกตั้งยังไม่ได้รับเงินสนับสนุนให้ทำงานตรวจสอบการเลือกตั้งและถึงแม้จะได้รับเงินมาก็คงจะเตรียมการกันไม่ทัน จึงมีคำถามว่ากรรมการ กกต. เข้าใจเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนหรือไม่ เมื่อมีงบประมาณส่วนนี้แต่ไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ (no implementation) ถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือไม่  ส่วนองค์กรสังเกตการณ์นานาชาติ อันเฟรล ยังไม่ได้รับจดหมายจาก กกต. ซึ่งควรจะออกให้เพื่อให้ทางผู้สังเกตการณ์นานาชาติขอวีซ่าเข้าประเทศอย่างถูกต้อง นับว่าเป็นการประวิงเวลาไปเรื่อยๆ จนทำให้นาย Damaso Magbual ประธานอันเฟรลที่เดินทางจากฟิลิปปินส์ เสียเงิน เสียเวลา มาพบปะกับนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. วันที่ 11 กพ. 2562 เพียงเพื่อจดหมายฉบับเดียว  เป็นผลสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ยังไม่สามารถแสดงความเป็นผู้นำ ยังขาดกลัวกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด  

อย่างไรก็ตาม องค์กรท้องถิ่น พีเน็ต We Watch และองค์กรอื่นๆที่เกิดใหม่ได้เตรียมการอบรม ให้ข้อมูลประชาชน ทำหน้าที่แทน กกต. ในเรื่องของ Voter Education ไปบ้างแล้ว พีเน็ตสมุทรปราการได้นำรถตระเวนติดป้ายประชาสัมพันธ์เรียกร้องให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากๆ และเลือกอย่างไรไม่ให้บัตรเสีย   พีเน็ตส่วนกลางได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่น และสื่อกระแสหลักไปหลายครั้งมาก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net