Skip to main content
sharethis

กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) จัดกิจกรรม "ปอดใส ไร้ทาร์" เพื่อเรียกร้องให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมาย ขอให้รัฐเปิดใจเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนในหลายๆ ประเทศ ด้านผู้แทนองค์การอนามัยโลกและภาคีเครือข่าย เรียกร้องให้เก็บอัตราภาษีบุหรี่เท่ากันทุกซอง 40% ของราคาบุหรี่ 


ที่มาภาพประกอบ: Flickr/joelosfeliz (CC BY-NC 2.0)

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2562 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) กล่าวว่าทางเครือข่ายได้มีการจัดกิจกรรม "ปอดใส ไร้ทาร์" ซึ่งมีสมาชิกกว่า 40 คนเข้าร่วม เพื่อเรียกร้องให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมาย และรวบรวมรายชื่อแสดงจุดยืนคัดค้านศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ที่ได้รับมอบหมายให้ทำวิจัยบุหรี่ไฟฟ้า โดยสมาชิกเครือข่ายได้โชว์ฟิล์มเอกซเรย์ตรวจสุขภาพปอด ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าบุหรี่มวน รวมถึงการรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้ ในวันที่ 31 พ.ค. 2562 คือ "ยาสูบและสุขภาพปอด" ซึ่งทุกปีหน่วยงานสาธารณสุขก็จะออกมารณรงค์ให้ความรู้ด้วย เพื่อให้คนเกรงกลัวพิษภัยของบุหรี่และเลิกสูบบุหรี่ แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่บ้านเรากลับไม่ได้ลดลงมากนัก ยังคงที่ประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์ ตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา

ด้านนายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ฟ้า กล่าวว่าพวกเราไม่อาจยอมรับผลการศึกษาจากหน่วยงานที่ไม่เป็นกลางได้ เราจะไม่ยอมฝากชีวิตไว้กับกฎหมายที่ล้าหลัง จำเป็นต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ หากรัฐบาลต้องการปกป้องปอดของคนไทยให้ได้รับอันตรายจากการสูบบุหรี่และได้รับควันบุหรี่มือสองให้น้อยลง ก็น่าจะเปิดใจกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนในหลายๆ ประเทศ อย่างไรก็ตาม เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะนำรายชื่อ ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และจดหมายจากตัวแทนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทั่วเอเชียที่เห็นด้วย ไปยื่นให้กับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกแบนบุหรี่ไฟฟ้า

ผู้แทนองค์การอนามัยโลกและภาคีเครือข่าย เรียกร้องให้เก็บอัตราภาษีบุหรี่เท่ากันทุกซอง 40% ของราคาบุหรี่ 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2562 สำนักข่าวไทย รายงานว่าในการแถลงข่าว Tobacco burns your lungs “บุหรี่เผาปอด” นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าการสูบบุหรี่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนและคนยากจนเสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต การสูบบุหรี่ส่งผลทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจวาย และโรคปอด เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของหลายๆ ประเทศทั่วโลกว่าการขึ้นภาษีบุหรี่นั้น เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันและทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ องค์การอนามัยโลกขอแนะนำว่าระบบการเก็บภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียวนั้น ดีกว่าแบบ 2 อัตรา ซึ่งอาจจะทำให้นักสูบหันไปใช้บุหรี่ที่มีราคาถูกกว่าได้ เช่น จากที่บุหรี่ที่ขายราคา 60 บาทหรือต่ำกว่า คิดอัตราภาษีร้อยละ 20 ตามมูลค่า และบุหรี่ที่ขายอัตราเกินซองละ 60 บาท อัตราภาษีร้อยละ 40 ควรจะเป็นอัตราเดียวที่ร้อยละ 40 ของบุหรี่ทุกราคา

ด้าน พญ.เริงฤดี ปธานวนิช  ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทย มีการเก็บอัตราภาษี 2 แบบ ไม่เท่ากันระหว่างบุหรี่ที่ผลิตในประเทศและบุหรี่นำเข้า โดยการจัดเก็บขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 20 บุหรี่ผลิตในประเทศ ขณะที่บุหรี่นำเข้าอัตราเก็บอยู่ที่ร้อยละ 40  แต่หากมีการเก็บภาษีเท่ากันหมดในอัตราร้อยละ 40 ก็จะทำให้คนไม่หันไปหาบุหรี่ราคาถูก และควรทำให้ราคาบุหรี่ มีราคาสูงพอๆ กับค่าครองชีพ   เพื่อให้ตัดสินใจเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น ในต่างประเทศขณะนี้กำลังรณรงค์ให้มีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ในอัตราเดียว และการจัดเก็บภาษีก็ไม่ได้ทำให้รายได้ของประเทศลดลง  

พร้อมกันนี้ยังชี้ว่าบุหรี่ยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากค่ารักษาพยาบาลปีละ 77,626 ล้านบาท ความสูญเสียจากการที่ต้องขาดรายได้เนื่องจากเจ็บป่วยปีละ 11,762 ล้านบาท และความสูญเสียอันเกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละ 131,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นความสูญเสียรวมทั้งหมดปีละ 220,461 ล้านบาท (หรือเฉลี่ย 20,565 บาทต่อผู้สูบบุหรี่ 1 คนต่อปี) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับรายได้ที่รัฐจัดเก็บได้จากภาษีบุหรี่แล้วต่างกันถึง 3.2 เท่า ดังนั้นถือว่าไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียที่เกิดขึ้น 

พญ.เริงฤดี ยังกล่าวว่า ในการจัดเก็บภาษีควรเก็บยาเส้นด้วย เนื่องจากไม่แตกต่างจากบุหรี่มีสารพิษเท่ากับบุหรี่มวนทุกอย่าง และข้อมูลปี 2560 จากคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่รวม 72,656 คน โดยร้อยละ 49 เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ คือ เป็นมะเร็งปอด 13,727 คน ถุงลมปอดพอง 10,852 คน โรคปอดอักเสบและวัณโรคปอด 10,833 คน รวมเท่ากับ 35,412  คน ซึ่งหากรวมจำนวนคนไทยที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองปีละ 8,278 คน ที่ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคปอดแล้ว จะรวมเป็นคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละกว่า 4 หมื่นคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net